ข่าวการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในเมียนมาร์จนมีการประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์คุมเข้มเป็นเวลา 21 วันนั้น ได้ทำให้ฝ่ายไทยต้องเฝ้าระวังเขตพื้นที่ของจังหวัดชายแดนทางด้านตะวันตกทั้ง 10 จังหวัดด้วย คือ เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และระนอง
นายแพทย์ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ได้ระบุในข่าวถึงความกังวลของบรรดาหมอในพื้นที่จุดเสี่ยงบริเวณชายแดนแม่สอดซึ่งมีความยาวกว่า 600 กิโลเมตรว่า แม่สอดมีประชากรรวม 600,000 คน โดยที่กว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนประชากรรวมของแม่สอดเป็นคนต่างชาติ แม้ทางการไทยจะมีมาตรการเข้มงวดในการสกัดแรงงานลักลอบเข้าเมือง แต่ก็ยังมีแรงงานเมียนมาร์อีกจำนวนมากที่พยายามลักลอบเข้ามาด้วยเหตุผลเรื่องโอกาส
ทางเศรษฐกิจ แม้ไทยจะได้พยายามขึ้นทะเบียนแรงงานให้ถูกต้องตามกฎหมาย และให้สิทธิการเข้าถึงบริการสุขภาพและการคัดกรองโรคระบาดแก่แรงงานเหล่านี้ แต่ก็ไม่สามารถทำได้ครบถ้วนสมบูรณ์ เนื่องจากข้อจำกัดในเรื่องจำนวนหมอและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ไม่เพียงพอเมื่อเทียบกับจำนวนประชากร
ศักยภาพทางเศรษฐกิจของแม่สอด สามารถดูได้ง่าย ๆ จากตัวเลขมูลค่าการค้าผ่านชายแดนที่ด่านศุลกากรแม่สอดในระหว่าง พ.ศ. 2559-2561 ซึ่งมีค่าเท่ากับ 8.4, 7.9 และ 7.8 หมื่นล้านบาทตามลำดับ ล่าสุดกรมการค้าต่างประเทศได้เผยยอดตัวเลขการค้าชายแดนเมียนมาร์ทุกด่านรวมกันในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2563 ว่ามีมูลค่าเท่ากับ 60,194 ล้านบาท โดยลดลง 7.08% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนอันเป็นผลจากโควิด-19 และมาตรการล็อกดาวน์ที่ผ่านมา ความต้องการที่จะขยายโอกาสทางเศรษฐกิจของแม่สอดให้มีมากขึ้นนั้น ได้ทำให้ทางการไทยคิดผลักดันให้แม่สอดกลายเป็นประตูเศรษฐกิจของไทยและเมียนมาร์ภายหลังจากการลงนามในสัญญาหยุดยิงระหว่างรัฐบาลเมียนมาร์และกองกำลังทหารกะเหรี่ยง (KNU) ในปี พ.ศ. 2555 หลังจากนั้นรัฐบาลไทยก็ได้เริ่มคิดเรื่องการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ (SEZ) ในพื้นที่แม่สอด เพื่อดึงดูดการลงทุนของอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานจากเมียนมาร์
สำหรับการผลิตของห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมสิ่งทอ และอุตสาหกรรมอาหารและสินค้าอุปโภคบริโภคเพื่อส่งออกไปยังตลาดโลกและประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งก็ได้ส่งผลทำให้เกิดการขยายตัวของภาคก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ในแม่สอดด้วย จนทำให้ราคาที่ดินขยับสูงขึ้นหลายเท่าตัว
นอกจากนี้รัฐบาลไทยยังได้ริเริ่มโครงการพัฒนาเขตระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (EWEC) ด้วยการสร้างเส้นทางคมนาคมระดับภูมิภาคที่มีความยาวถึง 1,320 กิโลเมตร เพื่อเชื่อมโยงเศรษฐกิจระหว่างชายแดนแม่สอดไปยังประเทศกัมพูชา โดยมีปลายทางที่ท่าเรือดานังของเวียดนาม (ดูภาพประกอบ)
แต่จากรายงานข่าวของ Insight Thai PBS เมื่อเดือนมกราคมของปีนี้ ซึ่งเป็นช่วงก่อนหน้าที่จะมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในไทย (https://news.thaipbs.or.th/content/288281) ได้ระบุถึงปัญหาของพื้นที่เขตเศรษฐกิจแม่สอดตลอดเวลา 5 ปีที่ผ่านมาว่า ขาดความคืบหน้าในการแก้ปัญหาเรื่องการบริหารจัดการและขาดความชัดเจนในเรื่องระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ในขณะที่ทางฝั่งของเมียนมาร์ตรงข้ามแม่สอดกลับเริ่มมีการลงทุนขนาดใหญ่ของทุนจีนกว่า 4.5 แสนล้านบาทเพื่อสร้างเมืองใหม่และพื้นที่อุตสาหกรรมในบริเวณพื้นที่เช่ากว่า 7.5 หมื่นไร่ โดยที่ฝั่งเมียนมาร์จะมีความได้เปรียบในเรื่องการมีแรงงานราคาถูกจำนวนมากเมื่อเปรียบเทียบกับไทย
การระบาดของโควิด-19 ล่าสุดในเมียนมาร์ ก็ได้เพิ่มความเสี่ยงในเรื่องปัญหาการขาดแรงงานราคาถูกในเขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดตากให้สูงขึ้นด้วย และเมื่อวันที่ 9 กันยายนที่ผ่านมา คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดตากก็ได้มีคำสั่งปิดด่านถาวรจำนวน 2 ด่าน ส่วนด่านธรรมชาตินั้นก็ได้ให้หน่วยงานด้านความมั่นคงและฝ่ายปกครองเข้มงวดเรื่องการตรวจลาดตระเวนช่องทางธรรมชาติตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อเฝ้าระวังแรงงานที่จะลักลอบเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมายเพื่อป้องกันการระบาดของเชื้อโควิด-19 จากเมียนมาร์เข้าสู่ไทย
ปัญหาเรื่องความเสี่ยงของโควิด-19 จากเมียนมาร์ในครั้งนี้ เป็นเสมือนการเปิดให้เห็นฝุ่นที่ตลบอยู่ใต้พรมที่เราใช้รองรับความฝันเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนมากว่า 5 ปีในกรณีของแม่สอด ซึ่งน่าจะเป็นอุทาหรณ์ให้พวกเราต้องเริ่มกลับมาตั้งคำถามกับตัวเองอย่างจริงจังถึงความผิดถูก ของความเชื่อและความฝันในนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจที่มุ่งแต่จะดึงดูดนักลงทุนชาวต่างชาติและชาวไทยให้เข้ามาลงทุนในพื้นที่ เพียงเพราะหวังว่านักลงทุนเอกชนเหล่านั้นจะสามารถใช้แรงงานราคาถูกจากเพื่อนบ้านมาลดต้นทุนการผลิตเพื่อส่งออกให้ได้มากขึ้น โดยที่ได้ละเลยถึงเรื่องการขาดความพร้อมของภาครัฐและท้องถิ่นในการบริหารจัดการ
นอกจากนี้เราก็ยังละเลยถึงต้นทุนรวมที่แท้จริง ที่จะตกอยู่กับสังคมไทยโดยรวม ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความเป็นอยู่และสังคมของแรงงานต่างชาติ และปัญหาเรื่องการแพร่ระบาดของโรคติดต่อที่มากับแรงงานต่างชาติ ซึ่งปัญหาทั้งหมดนี้เกิดจากข้อจำกัดในเรื่องงบประมาณที่ไม่เพียงพอในการให้บริการสาธารณสุขเพื่อสร้างความปลอดภัยสำหรับประชาชนไทยและแรงงานต่างชาติในพื้นที่ ซึ่งในที่สุดแล้ว ปัญหาทั้งหมดนี้ก็จะย้อนกลับมาสั่นคลอนความอยู่รอดของพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษเอง แม้ที่ผ่านมา พวกเราจะเห็นปัญหาเหล่านี้อย่างเลือนรางบ้างแล้วก็ตาม แต่โควิด-19 ก็ได้ทำให้ปัญหาทั้งหมดนี้ กลับมาปรากฎเด่นชัดขึ้นในทุกวันนี้
ศ.ดร. อารยะ ปรีชาเมตตา
กนิษฐา หลิน
กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมภิบาล
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |