ปฏิรูปสีกากีครั้งใหญ่ "ครม." ไฟเขียวแก้ไข พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ 2547 เน้น 3 เรื่องสำคัญ ยุบ "ก.ต.ช." เหลือ "ก.ตร." ดูแลนโยบายบริหารงานทั้งหมด รื้อแต่งตั้ง ตร.ยึดอาวุโสเป็นหลัก พร้อมแก้ปัญหาสอบสวนเปิดเกณฑ์เติบโตเฉพาะสาย "บิ๊กตู่" เชื่อจะทำให้ ปชช.ยอมรับมากขึ้น
นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันอังคารที่ผ่านมาว่า ครม.มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. .... ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) เสนอปรับปรุงพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 และมีประเด็นเกี่ยวกับการแต่งตั้งและโยกย้ายข้าราชการตำรวจและการพิจารณาบำเหน็จความชอบมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน เพื่อให้เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติไว้ในหมวด 16 การปฏิรูปประเทศ มาตรา 258 ง. ด้านกระบวนการยุติธรรม ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ปรับปรุงแก้ไขร่างพระราชบัญญัติที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว โดยมีสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติฯ สรุปได้ดังนี้
ร่าง พ.ร.บ.ที่ สตช.เสนอ เป็นการปรับปรุง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 โดยเป็นการดำเนินการตามหมวด 16 การปฏิรูปประเทศของ รธน. และแผนการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม มีการแก้ไขในประเด็นสำคัญ 3 ประการ คือ 1.การบริหารงานบุคคลของข้าราชการตำรวจ มีการแบ่งสายงานเพื่อให้ข้าราชการตำรวจในแต่ละสายงานให้สามารถเจริญเติบโตตามสายงานด้วยความรู้ความชำนาญในสายงานของตนให้ชัดเจน แบ่งออกเป็น 5 กลุ่มสายงาน คือ กลุ่มสายงานบริหาร กลุ่มสายงานอำนวยการและสนับสนุน กลุ่มสายงานสอบสวน กลุ่มสายงานป้องกันและปราบปราม และกลุ่มสายงานวิชาชีพเฉพาะ (ซึ่งเดิมไม่มีการกำหนด)
ทั้งนี้ ให้กำหนดกระบวนการในการแต่งตั้งและการเลื่อนตำแหน่งให้ชัดเจน โดยคำนึงถึง “อาวุโส” ความรู้ความสามารถ และความพึงพอใจในบริการที่ประชาชนได้รับ และมีการกำหนดหลักเกณฑ์การประเมินที่ชัดเจน เพื่อเป็นการลดการใช้ดุลพินิจของผู้บังคับบัญชา รวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับกระบวนการแต่งตั้ง และการเลื่อนตำแหน่งของสายงานสอบสวนไว้เป็นการเฉพาะ (จากเดิมไม่มีการกำหนด)
2.ปรับปรุงระบบคณะกรรมการ (คกก.) ยกเลิก คกก.เดิม คือคกก.นโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) โดยให้มีเพียง “คกก.ข้าราชการตำรวจ” (ก.ตร.) ทำหน้าที่ทั้งในการกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์การบริหารราชการตำรวจ และกำกับดูแล ตช.ให้ปฏิบัติตามกฎหมาย นโยบาย ยุทธศาสตร์ชาติ มติ ครม. และระเบียบแบบแผน รวมทั้งกำหนดนโยบายและมาตรฐานการบริหารงานบุคคลของข้าราชการตำรวจและจัดระบบราชการตำรวจ กำกับดูแลการแต่งตั้งและโยกย้ายข้าราชการตำรวจ
ตลอดจนกำกับดูแลการจัดสรรงบประมาณให้แก่ส่วนราชการในหน่วยปฏิบัติให้เพียงพอ ให้มี คกก.พิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ เพื่อพิจารณาวินิจฉัย อุทธรณ์เรื่องร้องทุกข์ รวมทั้งการกำหนดระบบคุณธรรมเพื่อเป็นที่พึ่งของข้าราชการตำรวจในการปลดเปลื้องทุกข์ของข้าราชการตำรวจที่เกิดจากผู้บังคับบัญชา ให้มี คกก.พิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ เพื่อเป็นกลไกสำหรับประชาชน ในการร้องเรียนการปฏิบัติที่ไม่ชอบของข้าราชการตำรวจอันเป็นการปลดเปลื้องทุกข์ของประชาชน
3.การเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการประชาชน ปรับปรุงการจัดระเบียบราชการใน ตช.ใหม่ โดยแบ่งส่วนราชการออกเป็น ระดับกองบังคับการตำรวจนครบาล ตำรวจภูธรจังหวัด และสถานีตำรวจ (จากเดิมแบ่งเป็นสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และกองบัญชาการ) เพื่อเป็นหน่วยงานที่ให้บริการประชาชนและใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด จะช่วยให้การบริการประชาชนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วยิ่งขึ้น กำหนดให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วมในกิจการตำรวจ โดยการให้เงินอุดหนุนแก่สถานีตำรวจเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการตำรวจในสถานีตำรวจนั้น ที่จะได้ร่วมกับท้องถิ่นในการจัดทำแผนหรือมาตรการรักษาความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยของประชาชนในพื้นที่ที่สอดคล้องกับความต้องการของแต่ละท้องถิ่นหรือชุมชน จัดตั้ง “กองทุนเพื่อการสืบสวน สอบสวน การป้องกันและปราบปราม การกระทำความผิดทางอาญา” เพื่อเป็นแหล่งสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการตำรวจ
"ถือเป็นการปฏิรูปครั้งใหญ่ของวงการตำรวจ ส่วนการปฏิรูปกฎหมายอีกฉบับหนึ่งคือการปฏิรูปการสอบสวนคดีอาญานั้น ยังไม่เข้าคณะรัฐมนตรี ซึ่งจะเป็นการแก้ไขในส่วนของคดีอาญาเช่น เดิม การร้องเรียนคดีอาญาจะต้องแจ้งความในพื้นที่ที่เกิดเหตุ แต่ต่อไปจะสามารถแจ้งความในทุกๆ พื้นที่ประเทศแล้วตำรวจจะประสานงานออนไลน์กันเอง เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้ประชาชนมากยิ่งขึ้น" รองโฆษกรัฐบาลกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธาน วาระที่มีการหารือกันนานที่สุดคือวาระพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. …. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เสนอ โดยใช้เวลากว่าครึ่งชั่วโมง
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวช่วงหนึ่งระหว่างการประชุม ครม.ว่า ดี จะทำให้ประชาชนยอมรับตำรวจมากยิ่งขึ้น และได้รับความไว้วางใจยิ่งขึ้น ขณะที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการอธิบายเรื่องดังกล่าว ยังให้นำคดีนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือบอส มาเป็นหลักในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว เพื่อปรับปรุงแก้ไขร่างกฎหมายฉบับนี้ด้วย
นอกจากนี้ นายวิษณุได้ระบุอีกว่า แม้ก่อนหน้านี้ สตช.จะทักท้วงและไม่เห็นด้วยในบางหลักการ แต่พอได้มีการพูดคุยและประชุมกันในหลายครั้งจนตกผลึกก็ยอมรับและเห็นด้วย.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |