พรรคใหญ่ฮุบสสร. รปช.ขวางแก้รธน.


เพิ่มเพื่อน    

 นายกฯ ย้ำแก้ รธน.ให้เป็นเรื่องสภา ถ้าจำเป็นใช้เงินสูง 1.5 หมื่นล้านทำประชามติก็ไม่ขัดข้องแม้กำลังมีปัญหาเรื่องงบฯ "เทพไท" หนุน "ชวน" 4 ญัตติฝ่ายค้านไม่ตก อัด "ไพบูลย์" หยุดเล่นเกมตีรวน "สุทิน” ปัดฝ่ายค้านปลอมลายเซ็นญัตติ "รปช." สั่งลูกพรรคลงมติค้านแก้ รธน. อ้างยังไม่พบสิ่งไม่พึงปรารถนากับประชาชน เตือน ส.ส.ร.มาจากเครือข่ายพรรคใหญ่เหมือนเซ็นเช็คเปล่า "สันติ" กระสันอยากนั่ง รมว.คลัง บอกไม่ดีหรือหากจะทำงานกับ "นฤมล" เข้าขากันดี

    ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 15 กันยายน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวถึงประเด็นและรูปแบบการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ขณะนี้มีความเห็นต่างทั้งเรื่องการแก้ไขรายมาตรา ระบบเลือกตั้ง หรือการเลือกนายกฯ ว่าเรื่องต่างๆเหล่านี้เป็นกระบวนการในสภา ตนเองไม่ได้มีข้อขัดข้องแต่ประการใด ขอให้เป็นการหารือ ซึ่งได้มีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการศึกษารายละเอียดกันแล้ว มีทั้งพรรคร่วมรัฐบาล พรรคฝ่ายค้าน เยอะแยะไปหมด รัฐบาลก็ติดตามในเรื่องนี้อยู่ หวังว่าทุกอย่างจะเป็นไปด้วยความเรียบร้อย  
    เมื่อถามว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญหากมีการทำประชามติ อาจต้องใช้จ่ายงบประมาณสูงถึง 15,000 ล้านบาท จะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นได้ยากหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า การใช้จ่ายงบประมาณมีเหตุผลสำคัญคือต้องใช้ ถ้าจำเป็นจะต้องทำประชามติก็ต้องหางบประมาณมาดำเนินการ ซึ่งพวกท่านก็ทราบดีว่าเรากำลังมีปัญหาเรื่องงบประมาณอยู่ แต่ตนไม่ได้ขัดข้อง ก็แล้วแต่ท่าน
    นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีนายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ยื่นหนังสือต่อนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา คัดค้านการบรรจุร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม 4 ฉบับที่พรรคร่วมฝ่ายค้านเสนอเข้าระเบียบวาระการประชุมรัฐสภาว่า ขอสนับสนุนความเห็นของนายชวน ที่ออกมายืนยันว่าการลงชื่อในญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 4 ฉบับของพรรคร่วมฝ่ายค้านนั้นไม่ขัดแย้งกับญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ที่ได้ยื่นต่อประธานรัฐสภามาก่อนแล้ว ซึ่งเป็นการยื่นญัตติที่ถูกต้องตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา เพราะสมาชิกรัฐสภาสามารถลงชื่อในญัตติต่างๆ ที่มีเนื้อหาและรายละเอียดของญัตติแตกต่างกันได้ ไม่ถือว่าเป็นการลงชื่อในญัตติซ้ำซ้อนกัน
    "ที่นายไพบูลย์มายื่นหนังสือคัดค้านน่าจะเป็นแนวความคิดที่นำมาจากความเห็นของที่ประชุมวิปพรรคร่วมรัฐบาล ที่ต้องการให้สมาชิกพรรคร่วมรัฐบาลลงชื่อในญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาลเพียงญัตติเดียว โดยอ้างว่าการลงชื่อในญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับอื่นๆ อาจทำให้เป็นการลงชื่อซ้ำซ้อน และไม่สามารถลงชื่อในญัตติอื่นได้อีก แต่ผมและเพื่อน ส.ส.หลายคนเห็นว่าการลงชื่อในญัตติอื่นใดที่มีเนื้อหาและรายละเอียดแตกต่างกันสามารถกระทำได้ จึงทำให้มี ส.ส.ประชาธิปัตย์จำนวนหนึ่งได้ลงชื่อในญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ร่วมกับ ส.ส.พรรคการเมืองต่างๆ จำนวน 99 คน จาก 13 พรรคการเมือง" นายเทพไท กล่าว
"เทพไท"อัด"ไพบูลย์"ตีรวน
    นายเทพไทกล่าวอีกว่า อยากให้ทุกฝ่ายยึดคำวินิจฉัยของนายชวนเป็นข้อยุติในประเด็นข้อขัดแย้งเรื่องการยื่นญัตติซ้ำซ้อนหรือไม่ และไม่อยากให้นำประเด็นการยื่นญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาเป็นเกมการเมือง ขัดขวางการทำหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือนำประเด็นนี้มาตีรวน สร้างความปั่นป่วนในที่ประชุมรัฐสภาอีก อยากเห็นความร่วมมือจากทุกฝ่าย เพื่อผลักดันให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ประสบความสำเร็จ ให้ได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย มีที่มายึดโยงกับประชาชนอย่างแท้จริง
     นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวถึงกรณีที่นายชวน หลีกภัย เปิดเผยญัตติของฝ่ายค้านอาจมีปัญหา เพราะใน 3 ญัตติลายเซ็น ส.ส.ที่เข้าชื่อเสนอญัตติบางคนลายเซ็นไม่ตรงกันว่า ยืนยันว่า ส.ส.ฝ่ายค้านไม่มีการปลอมลายเซ็นกันแน่นอน เพราะฝ่ายค้านระมัดระวังในเรื่องนี้มาก เนื่องจากเคยมีปัญหามาแล้วในอดีต เพียงแต่ประธานรัฐสภาอาจมีเหตุสงสัยบ้างตามขั้นตอนการตรวจสอบความถูกต้อง แต่ไม่ได้ถือเป็นจุดพิรุธ
       “เรายังมั่นใจว่าในการพิจารณาญัตติการแก้ไขรัฐธรรมนูญในที่ประชุมรัฐสภา 23-24 ก.ย.นี้ จะสามารถพิจารณาทั้ง 4 ญัตติที่มีปัญหาได้ทัน แต่หากจะมีปัญหา ก็น่าจะแค่บางญัตติเท่านั้น” นายสุทินกล่าว
     ส่วนกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตฝ่ายค้านเสนอปิดสวิตช์ ส.ว.จะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญล้มเหลว เพราะ ส.ว.จะไม่เห็นชอบด้วย นายสุทินกล่าวว่า การเสนอปิดสวิชต์ ส.ว.นั้น ก็เป็นข้อเสนอจากคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ ที่มีนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นประธาน และยังเป็นข้อเรียกร้องที่มีการพูดคุยกันมานานแล้ว หากจะกระทบก็อยู่ที่ ส.ว.จะพิจารณา
    ที่อาคารแปซิฟิก ถ.สุขุมวิท นายทวีศักดิ์ ณ ตะกั่วทุ่ง หัวหน้าพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) นายดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง เลขาธิการพรรคและนายทะเบียนพรรค พร้อมด้วย ส.ส.พรรค แถลงผลการประชุมว่า พรรคมีมติเอกฉันท์ไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยให้เหตุผลว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นนวัตกรรมทางกฎหมายที่มีขึ้นจากวิกฤตการณ์ทางการเมืองครั้งใหญ่ในประเทศ ตั้งแต่เดือน ต.ค.2556 ถึงเดือน พ.ค.2557 เพื่อเรียกร้องให้เห็นว่ารัฐบาลใช้เผด็จการรัฐสภาดำเนินการแก้กฎหมายสำคัญ เช่นแก้ที่มา ส.ว. ทำให้เกิดสภาเครือญาติหรือสภาผัวเมีย หรือการแก้ไขให้รัฐบาลทำสัญญาใดกับต่างประเทศโดยไม่ต้องให้ความเห็นชอบจากรัฐสภา รวมทั้งกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับสุดซอย เพื่อช่วยเหลืออดีตนายกรัฐมนตรีที่ศาลพิจารณาว่ามีความผิดและช่วยคนของตนอีกจำนวนมากจากการเผาบ้านเผาเมือง
สสร.เหมือนเซ็นเช็คเปล่า
     นายทวีศักดิ์กล่าวว่า ข้อดีของการตรารัฐธรรมนูญปี 2560 เกิดจากการรับบทเรียนที่เลวร้ายของประเทศ จึงต้องการผดุงหลักนิติรัฐนิติธรรม และปฏิรูปประเทศ ตั้งแต่หมวดว่าด้วยการขัดกันแห่งผลประโยชน์ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ยุทธศาสตร์ชาติและปฏิรูปประเทศ อีกทั้งรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านการทำประชามติที่สิ้นเปลืองงบประมาณไปเป็นอันมากกว่าหมื่นล้านบาท โดยเสียงข้างมาก 16.8 ล้านเสียงยอมรับให้ประกาศใช้ จึงถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญของประชาชน รัฐธรรมนูญฉบับนี้เพิ่งใช้ได้ 3 ปี ยังไม่ประจักษ์ว่ามีปัญหาไม่ดีงามหรือเกิดสิ่งไม่พึงปรารถนากับประชาชน อาจมีเพียงแต่นักการเมืองไม่พอใจหรือไม่สมประโยชน์ เช่น ไม่ประสบความสำเร็จในผลการเลือกตั้งทั่วไปตามที่คาดหวัง
    หัวหน้าพรรค รปช.กล่าวต่อว่า ส่วนการแก้ไข ม.272 ที่ให้ ส.ว.มีอำนาจโหวตนายกฯ ที่จริงเป็นเพียงบทเฉพาะกาลที่ใช้เพียง 5 ปี เมื่อครบก็จะสิ้นผลไปเอง และจากการโหวตเลือกนายกฯ ครั้งที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ได้รับเสียงเกินครึ่ง ไม่ต้องใช้เสียง ส.ว.ก็ได้ แต่หากไม่มีเสียง ส.ส.เกินครึ่งก็บริหารประเทศไม่ได้ แต่เอาเข้าจริงก็ไม่ได้มีพิษภัยขนาดนั้น จึงไม่เห็นความจำเป็นว่าต้องแก้ในขณะนี้ตาม รธน. ม.77 วรรค 2 บัญญัติว่าก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับต้องจัดให้มีการรับฟังความเห็นของประชาชนที่เกี่ยวข้อง และนำมาพิจารณาในการตรากฎหมายทุกขั้นตอน แต่ขณะนี้ยังไม่มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และไม่มีการเปิดเผยผลการรับฟังและการวิเคราะห์ในกระบวนการตรากฎหมายที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงถือว่าขัดต่อ ม.77
    "สำหรับการตั้ง ส.ส.ร. พวกเขาจะมาจากเครือข่ายพรรคการเมือง โดยเฉพาะพรรคการเมืองใหญ่ๆ และทิศทางที่จะเขียนกฎหมายก็จะได้รับอิทธิพลจากความคิดของพรรคหรือบางฝ่ายมองว่าการตั้ง ส.ส.ร.เป็นกระบวนการยื้อหรือซื้อเวลา แต่ไม่ว่าใครจะมีวาระแฝงเร้น แต่ รปช.มองว่าถ้าตั้ง ส.ส.ร.มา เหมือนการเซ็นเช็คเปล่า เป็นอันตรายที่รัฐธรรมนูญของดีที่มีอยู่อาจจะกลายเป็นอะไรก็ไม่รู้ หรือบางคนจะมองว่าถ้าร่างมาแล้วก็ต้องลงประชามติอยู่ดี แต่การลงประชามติก็ต้องใช้เงินเป็นหมื่นล้าน และในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้มันควรหรือไม่"
    นายทวีศักดิ์กล่าวทิ้งท้ายว่า จากนี้พรรคมีแนวทางให้ ส.ส.ทุกคนไม่ร่วมลงชื่อเสนอญัตติในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่พรรคร่วมรัฐบาลเสนอ ยืนยันว่าไม่ได้มีเจตนาเป็นกบฏหรือทรยศหักหลัง สิ่งนี้ไม่ใช่นโยบายร่วมกันในการบริหารประเทศ แต่เป็นเรื่องปรัชญาการเมืองที่แต่ละพรรคควรมีอิสระในจุดยืนของตัวเอง พร้อมโหวตไม่เห็นด้วยในการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 3 วาระ
"สันติ"แบไต๋อยากนั่งรมว.คลัง
    ด้าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวถึงกระแสข่าวจะมีการสลับเก้าอี้ขอ ครม. ว่ายืนยันว่าไม่มี และยืนยันว่า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้ถามอะไร ส่วนตำแหน่ง รมว.การคลัง นายกฯ จะเป็นผู้ตัดสินใจ ยืนยันว่าตนจะไม่เสนอใครและจะไม่มีการเคลื่อนไหวเขย่าตำแหน่งภายใน พปชร.และไม่ทราบว่าใครปล่อยข่าว และที่ผ่านมาไม่มีใครเคยมาคุยกับตน
    ขณะที่นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน กล่าวถึงกระแสข่าวการปรับ ครม. ในตำแหน่ง รมว.การคลังที่ว่างอยู่ และจะปรับให้ไปควบ รมว.การคลังด้วยว่า "ยังไม่รู้" เมื่อถามว่ามีการพูดคุยกับนายกฯ เรื่องการปรับ ครม.แล้ว หรือยัง นายสุพัฒนพงษ์กล่าวพร้อมโบกมือปฏิเสธว่า "ไม่มีๆ"
     นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.การคลัง กล่าวถึงกระแสข่าวนั่งเป็น รมว.การคลัง ว่าเรื่องพร้อม-ไม่พร้อมไม่ใช่ปัญหา คนที่มีอำนาจและเป็นผู้ดูแลรัฐบาลให้เข้มแข็งคือนายกฯ ว่ามุมมองของท่านอยากจะเห็นระบบต่างๆ ของประเทศเดินไปในลักษณะของความเข้มแข็งอย่างไร แล้วท่านจะเลือกของท่านเองว่าใครเหมาะอย่างไร
    “ผมอาจจะแรงเยอะ แต่ก็อาจจะยังไม่มีคุณสมบัติที่นายกรัฐมนตรีเห็นว่าควรจะมาทำงานใหญ่ๆ อย่างนี้ ทุกอย่างอยู่ที่นายกรัฐมนตรีเป็นคนตัดสินใจ” นายสันติกล่าว
    นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมช.แรงงาน กล่าวว่า โผ ครม. ใหม่ที่ออกมา ที่บอกว่าจะมานั่งเป็น รมช.การคลังนั้น เป็นข่าวลือ และไม่ได้เป็นมติออกมาจากพรรค ไม่ได้มีการหารือใดๆ ในพรรค โดย พล.อ.ประวิตรได้ชี้แจงเรื่องนี้ไปแล้ว ส่วนข่าวลือที่ออกมาได้อย่างไร ไม่รู้ ไม่ทราบว่าใครปล่อยข่าว การปรับ ครม.ว่าใครจะไปอยู่ที่ไหนเป็นอำนาจของนายกฯ แต่เพียงผู้เดียว ตอนนี้ยังไม่ได้ยินท่านพูดอะไร ยังไม่ได้มีการสอบถามหรือทาบทาม
    อย่างไรก็ดี นายสันติได้กล่าวในตอนท้ายว่า “ไม่ดีหรือ หากผมจะทำงานกับนางนฤมล ซึ่งเป็นการทำงานที่เข้าขากันดี”.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"