"แก้วสรร" ยื่น 2,924 รายชื่อศิษย์เก่า มธ. หนุนอธิการบดีปิดธรรมศาสตร์ห้ามจัดชุมนุม 19 ก.ย. ย้ำไม่เชื่อผู้นำม็อบจะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้หากมีการปลุกปั่น ทั้งไม่โปร่งใส เป็นคนกลุ่มใดบ้าง ไม่เคยมีใคร 2-3 คนทำลับๆ ล่อๆ แบบนี้ ขณะที่ "สุชาติ สวัสดิ์ศรี" หอบ 1,964 รายชื่อเรียกร้องเปิดธรรมศาสตร์ให้ม็อบ
เมื่อวันที่ 15 ก.ย.2563 บริเวณลานปรีดี หน้าตึกโดม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ นายแก้วสรร อติโพธิ อดีตรองอธิการบดี มธ. ในฐานะศิษย์เก่า มธ. และผู้สนับสนุนจำนวนหนึ่ง เดินทางมายื่นหนังสือเรื่อง "คำชี้แจงและคำขอให้ปิดมหาวิทยาลัย" พร้อมให้กำลังใจอธิการบดี และผู้บริหาร มธ. ที่ไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่ มธ.จัดชุมนุมในวันที่ 19 ก.ย.นี้
นายแก้วสรรอ่านคำชี้แจงและคำขอให้ปิดมหาวิทยาลัยว่า 1.คำขอนี้เป็นของศิษย์เก่าธรรมศาสตร์กลุ่มหนึ่ง เท่าที่รวบรวมรายชื่อได้ทางไลน์ในเวลา 3 วัน จำนวน 2,924 คน
2.คำขอนี้มีกรอบอยู่ที่สนับสนุนการออกคำสั่งไม่อนุญาตให้ชุมนุมของอธิการบดีเท่านั้น ส่วนการบังคับตามคำสั่งไม่อนุญาตว่า ท่านอธิการบดีจะปิดมหาวิทยาลัยจริงๆ อย่างไรนั้น เป็นข้อที่เราไม่ขอก้าวล่วงหรือบีบคั้นด้วยประการใดๆ เพราะจะเป็นการเข้าไปมีอำนาจโดยไม่ต้องรับผิดชอบ ซึ่งไม่สมควรอย่างยิ่ง
3.กิจกรรมการรวมตัวนี้ยุติลงเมื่อยื่นบันทึกแล้ว ส่วนไลน์ “ปิด มธ..พอกันทีวีรชน” นั้น จะปิดตามมาในวันที่ 20 หลังจากเก็บข้อมูลรายงานกลุ่มศิษย์เก่าเรียบร้อยแล้วว่า เกิดอะไรขึ้นกับมหาวิทยาลัย ในวันที่ 19-20 กันยา.
นายแก้วสรรกล่าวต่อว่า 4.ขอชี้แจงย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า เราไม่ได้ปฏิเสธซึ่งเสรีภาพทางความคิดของนักศึกษากลุ่มนี้ หรือของผู้ใด แต่เราเห็นว่าการใช้เสรีภาพในการชุมนุมของเขาในครั้งนี้เป็นการใช้สิทธิที่ยอมรับไม่ได้ จนธรรมศาสตร์ไม่ควรเกี่ยวข้องด้วย ส่วนเขาจะคิดจะพูดอย่างไรไม่ใช่เรื่องที่เราคัดค้าน ในหมู่เราเองก็มีผู้เห็นตรงกับนักศึกษาในเรื่องนั้นเรื่องนี้เช่นกัน แต่พอมาถึงวิธีการแสดงออกด้วยการชุมนุมในครั้งนี้ เราทุกคนกลับเห็นตรงกันว่ายอมรับให้ใช้ธรรมศาสตร์ไม่ได้
5.คำปฏิเสธนี้เป็นไปตามเหตุผลตามบันทึกที่จ่ายแจกไปแล้วว่า การใช้ชื่อของคนในธรรมศาสตร์และใช้สถานที่ธรรมศาสตร์เพื่อความเคลื่อนไหวที่สุ่มเสี่ยงสูงสุด แต่หาคนรับผิดชอบแท้จริงไม่ได้เช่นนี้ ผิดมาตรฐานประชาธิปไตย และมาตรฐานธรรมศาสตร์โดยสิ้นเชิง
6.เฉพาะในส่วน นายแก้วสรร อติโพธิ ผู้รวบรวมรายชื่อนี้ ขอใช้สิทธิส่วนตัวปฏิเสธการให้ร้ายบิดเบือนจากรุ่นพี่ธรรมศาสตร์ที่เคยเคารพว่า ในทางความคิดแล้วขอยืนยันว่าตนเองก็ไม่เห็นด้วยกับการสืบทอดอำนาจของ คสช.เช่นกัน และไม่เคยใช้เวที กปปส. กวักมือเรียกให้ทหารออกมาปฏิวัติ ดังที่พี่ได้ใส่ร้ายผมด้วยโมหะและโทสะอันฝังลึกอยู่ในตัวตนเลย
"สิ่งที่ผมและพี่น้องในกลุ่มศิษย์เก่าเห็นตรงกัน ปฏิเสธร่วมกันจริงๆ ก็คือ การเคลื่อนไหวสร้างความเปลี่ยนแปลงในบ้านเมืองตามทัศนะของตน ด้วยความไม่รับผิดชอบ ไม่เคารพสิทธิ์ของคนอื่น รวมทั้งสร้างกำลังทางการเมืองด้วยความจงเกลียดจงชัง ปลุกปั่นคนไทยไปจนถึงลูกเด็กเล็กแดงแตกเป็นฝักฝ่ายเช่นปัจจุบัน นี่คือความคับแค้นแท้จริง ในคำขอ “ปิด มธ. พอกันทีวีรชน” ฉบับนี้"
นายแก้วสรรให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า ไม่เชื่อว่าผู้นำนักศึกษาจะสามารถควบคุมม็อบได้ หากมีการปลุกปั่นมาจากไซเบอร์ เหล่านี้ไม่ใช่เพียงความหวั่นวิตก ถือเป็นความน่าจะเป็นที่จะเกิดขึ้น
ผู้สื่อข่าวถามว่า การให้นักศึกษาไปชุมนุมภายนอก จะไม่เป็นอันตรายมากกว่าการเปิดพื้นที่ให้ชุมนุมภายในมหาวิทยาลัยหรือไม่ นายแก้วสรรกล่าวว่า ได้ แต่แสดงความเป็นห่วง เพราะไม่ทราบว่าเป็นคนกลุ่มใดบ้าง ไม่เคยมีใคร 2-3 คนทำลับๆ ล่อๆ แบบนี้ สุ่มเสี่ยงไม่โปร่งใส เลี่ยงกฎหมายเช่นนี้ ถ้าชุมนุมให้ถูกต้อง จัดอภิปรายให้ถูกต้องอย่างโปร่งใส มีความชัดเจน หากเป็นเช่นนี้ตนเองก็จะไม่มายุ่ง
เมื่อถามถึงการจัดการชุมนุมของนักศึกษาได้ขออนุญาตมหาวิทยาลัยและมีคณาจารย์รับรอง ถือว่ามีความโปร่งใสหรือไม่ นายแก้วสรรตอบว่า วิธีปฏิบัติและวิธีพูดต้องแยกออกจากกัน จะไปทำอย่างไรตนไม่เกี่ยว แต่พฤติการณ์และคำพูดเท่าที่ตนเองเห็น เราเห็นว่าไม่ควรจะจัดในพื้นที่แห่งนี้
ส่วนกรณีที่นักศึกษาชูธง 10 ข้อเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ นายแก้วสรรตอบว่า ไม่ขอก้าวล่วงความคิดเห็นของนักศึกษาว่าจะผิดหรือถูก ซึ่งความคิดหลายอย่างตนเองเห็นด้วย แต่หากเคลื่อนไหวเช่นนี้ตนเองไม่เอาด้วย บ้านเมืองเวลานี้มี 2 พวก พวกหนึ่งคือพวกใช้สิทธิใช้อำนาจตามอำเภอใจ กับอีกพวกหนึ่งอยากใช้สิทธิโดยสงบ มีกฎหมายชุมนุมสาธารณะ ก็บังคับใช้ตามเรื่องเพื่อความโปร่งใส และในสภาขอให้ทำงาน อย่าไปทำเรื่องบ้าๆ บอๆ มันหมดยุคที่จะนั่งลุ้นว่าวันพรุ่งนี้จะเกิดอะไรขึ้น ความคับข้องใจตรงนี้ก็คืออยากจะเปลี่ยนอนาคต เปลี่ยนวิธีการเคลื่อนไหวทางการเมือง ขอให้ทำตัวให้ได้มาตรฐาน
ถามว่าวันที่ 19 ก.ย. ทางกลุ่มจะมีการชุมนุมหรือไม่ นายแก้วสรรยืนยันว่ากลุ่มของตนเองจะสลายตัว ซึ่งหากยังมีการรวมตัวให้มาด่าตนเองได้เลย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังให้สัมภาษณ์ นายแก้วสรรได้นำช่อดอกไม้ไปวางที่อนุสาวรีย์ปรีดี พนมยงค์ พร้อมกล่าวว่า เพื่อประชาธิปไตยอย่างแท้จริง และธรรมศาสตร์ต้องพ้นเงื้อมมือเผด็จการม็อบ
จากนั้นนายแก้วสรรได้เข้าไปในตึกโดมยื่นหนังสือตามเวลานัดหมาย แต่อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้มอบหมายให้นางณัฐธยาน์ มิตรมูลพิทักษ์ ผอ.กองบริหารศูนย์ท่าพระจันทร์ มารับหนังสือของกลุ่มศิษย์เก่า แต่นายแก้วสรรระบุว่านัดหมายกับอธิการบดีไว้ และต้องการยื่นหนังสือให้ถึงมืออธิการบดีด้วยตัวเอง
ต่อมารองอธิการบดีฝ่ายบริหารได้ลงมาแจ้งว่าอธิการบดีอนุญาตให้นายแก้วสรรขึ้นไปยื่นหนังสือบนห้องทำงานได้ พร้อมให้เหตุผลว่าสาเหตุที่ไม่ลงมารับหนังสือตั้งแต่ครั้งแรกนั้น เนื่องจากไม่ต้องการให้เป็นประเด็นว่าเหตุใดจึงรับของบางกลุ่มและไม่รับบางกลุ่ม แต่เนื่องจากนายแก้วสรรได้นัดหมายล่วงหน้า จึงยอมให้ขึ้นไปพบ
ภายหลังยื่นหนังสือแล้ว นายแก้วสรรเปิดเผยว่า ได้ให้กำลังใจอธิการบดี และบอกว่าเคารพการตัดสินใจ เพราะเข้าใจว่าทำงานหนัก
วันเดียวกัน ที่ลานปรีดี หน้าตึกโดม มธ. ท่าพระจันทร์ กลุ่มนักเขียน บรรณาธิการ ศิลปิน สื่อมวลชน และประชาชนผู้เชื่อมั่นในหลักการประชาธิปไตย นำโดยนายสุชาติ สวัสดิ์ศรี ศิลปินแห่งชาติ, นายชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการ, นางนิธินันท์ ยอแสงรัตน์ สื่อมวลชนอาวุโส ฯลฯ เดินทางมายื่นหนังสือเปิดผนึกที่มีผู้ร่วมเข้าชื่อสนับสนุน 1,964 รายชื่อ ให้กับ รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดี มธ. ผ่าน น.ส.ณัฐธยาน์ มิตรมูลพิทักษ์ ผอ.กองบริการ มธ.ท่าพระจันทร์
หนังสือดังกล่าวระบุว่า 1.ขอยืนยันว่า ข้อเรียกร้องทางการเมือง 3 ข้อของนักศึกษาไม่ได้มีเนื้อหาส่วนใดละเมิดกฎหมาย ทั้งสะท้อนให้เห็นเจตจำนงของคนรุ่นใหม่ ขอเรียกร้องให้รัฐและผู้เห็นต่าง โต้แย้งด้วยข้อมูล ข้อเท็จจริง หยุดให้ร้ายบิดเบือน หยุดละเมิด ด้วยวิธีการและท่วงทำนองต่ำทราม
2.ตามที่ มธ.ประกาศไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่ในการชุมนุม 19 ก.ย. โดยมิได้ระบุเหตุผลชัดเจน ขอเรียกร้องให้คณะผู้บริหาร มธ.พิจารณาทบทวน เปิดพื้นที่ให้นักศึกษาและประชาชนได้แสดงออกถึงจุดยืนทางการเมือง ทั้งสนับสนุนระบบดูแลความปลอดภัยในการชุมนุม แทนการปิดกั้นผลักไสให้ออกไปรับความเสี่ยงนอกรั้ว มธ.
3.ขอเรียกร้องสื่อตรวจสอบข้อมูล ยับยั้ง แก้ไขข่าวสารเท็จ จากกลุ่มที่ประสงค์ให้เกิดการเผชิญหน้าจนสถานการณ์รุนแรง เพื่อนำไปสู่การใช้เครื่องมือทางอำนาจนอกระบบ ไม่ว่าจะในรูปแบบการทำรัฐประหาร หรือการจัดตั้งรัฐบาลพิเศษ ซึ่งจะนำพาประเทศถอยหลัง
ทางด้านนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า แสดงความคิดว่า ม.ธรรมศาสตร์เป็นส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับวิชาการ จำเป็นต้องให้เสรีภาพและการแสดงออก คนที่ขอใช้พื้นที่ในการชุมนุมก็ชัดเจนว่าเป็นนักศึกษา ม.ธรรมศาสตร์ ไม่เห็นเหตุผลใดจะสกัดขัดขวางการใช้พื้นที่นี้ สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับตรงไปตรงมา เหตุที่ผู้บริหารไม่ให้ใช้ เพราะคาดการณ์ได้ว่านักศึกษาผู้จัดต้องการปราศรัยเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ถ้าใช่ก็ยืนยันตรงไปตรงมา อย่าใช้เหตุผลอื่นหลบซ่อน
นายปิยบุตรกล่าวต่อไปว่า ถ้าไม่สบายใจเพราะเรื่องนี้ ต้องมาทำความเข้าใจกับนักศึกษา เช่น ต้องยอมรับเนื้อหาที่เขาพูดอยู่ภายใต้กรอบระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การแสดงความคิดเห็นเรื่องการแก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ รัฐธรรมนูญ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ สามารถทำได้อยู่แล้ว สิ่งที่เขาพูดเมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2563 ก็ไม่ออกจากกรอบนี้ หากท่านไม่สบายใจในเรื่องท่าทางในการแสดงออก ก็ไปปรับจูนกันให้เข้าใจ อย่างงานที่คณะสังคมวิทยาฯ จัดในวันนี้ก็เป็นตัวอย่างดี ที่ใช้พื้นที่มหาวิทยาลัยในการถกเถียงเรื่องนี้ได้
"มหาวิทยาลัยเป็นพื้นที่ปลอดภัยในการแสดงออกได้มากที่สุด ดังนั้นการไม่อนุญาตให้ใช้ เป็นการผลักให้นักศึกษาจำเป็นต้องออกไปใช้พื้นที่อื่นเพื่อพูดประเด็นนี้ ในเมื่อมหาวิทยาลัยเล็งเห็นใช่หรือไม่ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่อง sensitive เป็นประเด็นอ่อนไหว ถ้าเป็นเช่นนั้นยิ่งต้องให้จัดในมหาวิทยาลัย ผลักออกไปข้างนอกไม่ได้" นายปิยบุตรกล่าว
ผู้สื่อข่าวถามถึงการเข้าร่วมชุมนุมในวันที่ 19 ก.ย.นี้ นายปิยบุตรกล่าวว่า ตนในฐานะพลเมืองไทย ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง 10 ปี ศาลรัฐธรรมนูญไม่สามารถเพิกถอนสิทธิความเป็นพลเมืองไทยของตนได้ มีสิทธิเข้าร่วมชุมนุมแสดงออกความคิดเห็นต่างๆ การชุมนุมของนิสิตนักศึกษาทั่วประเทศ ตนก็สนับสนุนเห็นด้วยในหลายเรื่อง จะเข้ามาร่วมในฐานะประชาชนคนหนึ่ง
เมื่อถามถึงทัศนะต่อการครบรอบ 14 ปี การรัฐประหาร 2549 และการพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ นายปิยบุตรกล่าวว่า วิกฤตการณ์ทางการเมืองไทยร่วมสมัย ปฏิเสธไม่ได้ว่าเริ่มต้นจากรัฐประหาร 19 ก.ย.2549 วันนี้ 14 ปีแล้ว พยายามทำทุกอย่าง ขโมยอำนาจของประชาชนไป ออกแบบรัฐธรรมนูญก็แล้ว ใช้กระบวนการตุลาการภิวัฒน์ก็แล้ว มีการชุมนุม การสลายการชุมนุม ใช้การยุบพรรคตัดสิทธิ์ ล้มเลือกตั้ง 2 ครั้ง เป็นวิกฤตการณ์ทางการเมืองต่อเนื่องยาวนาน น่าจะถึงเวลาแล้วว่า รัฐประหาร 19 ก.ย. ต่อเนื่องถึงรัฐประหารซ่อม 22 พ.ค.2557 ได้สร้างระบอบเผด็จการสืบทอดอำนาจ ซึ่งไม่สอดคล้องกับยุคสมัยปัจจุบันและไปต่อไม่ได้ ต้องยอมรับและควรคิดหาทบทวนกันได้แล้วว่า ควรหยุดวงจร 14 ปีนี้เสียที แล้วเริ่มต้นออกแบบรัฐธรรมนูญใหม่ที่เป็นฉันทามติร่วมกันของคนไทยทั้งหมด
ส่วนประเด็นการพูดถึงสถาบันกษัตริย์ นายปิยบุตรกล่าวว่า ถ้าเราดูก่อนรัฐประหาร 22 พ.ค. การพูดคุยเรื่องรัฐธรรมนูญ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ทำกันอย่างสม่ำเสมอ เพิ่งมาลดน้อยถอยลงหายไปหลังการรัฐประหาร ครั้งนี้ก็เพิ่งกลับมาใหม่อีกครั้งหนึ่ง เรื่องนี้ควรทำให้เป็นเรื่องปกติ สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันหนึ่งที่อยู่ในรัฐธรรมนูญ ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ ก็เป็นปกติที่ประชาชน ในระบอบประชาธิปไตยย่อมสามารถใช้เสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์ เพื่อจะแก้ไขกฎเกณฑ์ต่างๆ เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์
ถามถึงการชุมนุมวันที่ 19 ก.ย.นี้ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้ายืนยันว่าจะมาร่วมด้วยหรือไม่ นายปิยบุตรกล่าวว่า ตนกับนายธนาธรก็เป็นคนไทย เราในฐานะพลเมืองไทยก็ไปร่วมชุมนุม ตนคิดว่าอย่าโฟกัสมากว่าตนหรือนายธนาธรจะไป นี่คือการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ไม่ว่ากลุ่มไหนจัด ถ้าตนและนายธนาธรว่าง เราก็พยายามจะเข้าร่วมชุมนุมอยู่แล้วในฐานะพลเมืองคนไทย.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |