ว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ขณะนี้มี ส.ส.เข้าชื่อเสนอญัตติในเรื่องนี้แล้วถึง 7 ญัตติ ประกอบด้วย ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เพื่อเปิดทางตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ของพรรคฝ่ายค้าน, ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เพื่อเปิดทางตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ของพรรคฝ่ายรัฐบาล, ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 เกี่ยวกับอำนาจ ส.ว.โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ของฝ่ายค้านและ ส.ส.ประชาธิปัตย์บางส่วน
รวมทั้งจากฝ่ายค้านอีก 4 ญัตติ คือ 1.แก้ไขมาตรา 272 และมาตรา 159 เพื่อยกเลิกอำนาจวุฒิสภาในการเลือกนายกรัฐมนตรี และเพิ่มเติมในมาตรา 159 ว่าในการเลือกนายกรัฐมนตรีหากไม่สามารถเลือกจากบัญชีของพรรคการเมือง ก็สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีที่เป็นจาก ส.ส.ได้ และปิดทางการเลือกนายกฯ จากคนนอก 2.แก้ไขมาตรา 270-271 เกี่ยวกับอำนาจของวุฒิสภาในเรื่องการปฏิรูปประเทศ และอำนาจยับยั้งกฎหมาย
3.แก้ไขมาตรา 279 ซึ่งเป็นบทเฉพาะกาลที่ทำให้ประกาศคำสั่งและการกระทำของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อยู่เหนือกว่าบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน และ 4.แก้ไขระบบเลือกตั้งด้วยการยกเลิกมาตรา 83, 85, 88, 90, 92, 94 และ 105 โดยแก้ไขระบบเลือกตั้งให้เป็นไปตามแนวทางของรัฐธรรมนูญปี 2540 ใช้บัตร 2 ใบ เลือกคนและเลือกพรรค เพื่อให้เป็นไปตามเจตนาของประชาชนในการออกเสียงเลือกตั้งอย่างแท้จริง รวมทั้งตัดปัญหาบัตรเกิน บัตรเขย่ง
อย่างไรก็ตาม ก่อนที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาจะพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมที่เสนอมาทั้งหมด 7 ฉบับ “ไพบูลย์ นิติตะวัน” ส.ส.บัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ออกมาคัดค้านญัตติของฝ่ายค้าน 4 ญัตติ หลังมัดรวมยื่นในครั้งเดียวเมื่อวันที่ 10 ก.ย.ที่ผ่านมา
โดยหาว่า ส.ส. 1 คน ลงชื่อสนับสนุนได้เพียงญัตติเดียวเท่านั้น จะลงซ้ำซ้อนกับญัตติอื่นไม่ได้ อีกทั้งยังเข้าใจว่าญัตติทั้งหมดเป็นเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ได้มองว่าแต่ละญัตติเสนอแก้ไขคนละมาตรากัน โดยนายไพบูลย์ได้อ้างอิงคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ คำสั่งที่ 5/2563 ฉบับลงวันที่ 29 ม.ค.2563 เรื่องประธานสภาผู้แทนราษฎรเสนอความเห็นของ ส.ส. จำนวน 77 คน ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 148 วรรคหนึ่ง (1) ว่า ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแก่รัฐธรรมนูญ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไว้ในคำสั่งหน้าที่ 4 ว่า เมื่อตรวจสอบคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องแล้วเห็นว่า ประเด็นที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเป็นประเด็นเดียวกันกับเรื่องพิจารณาที่ 3/2563 ซึ่งมีรายชื่อ ส.ส.ผู้เสนอ ความเห็นซ้ำกับเรื่องดังกล่าว จำนวน 30 คน จึงทำให้จำนวน ส.ส.ที่เข้าชื่อเสนอความเห็นตามคำร้องนี้มีจำนวนไม่ถึง 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา กรณีนี้จึงไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 148 วรรคหนึ่ง
แต่ “ชวน หลีกภัย” ประธานรัฐสภา พูดชัดเจน สิ่งที่ศาลวินิจฉัยจะนำมาเปรียบเทียบกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้ เนื่องจากเป็นคนละเรื่องกัน
ต่อมาลูกศิษย์ก้นกุฏิ “ราเมศ รัตนะเชวง” ในฐานะเลขานุการประธานรัฐสภา ขยายความว่า “กรณีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ได้นำมากล่าวถึงนั้นก็เป็นคนละกรณีกัน เนื่องจากกรณีดังกล่าวเป็นการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญทำการวินิจฉัยความชอบของกฎหมายงบประมาณ เมื่อลงชื่อซ้ำกันในคำร้องยื่นศาลรัฐธรรมนูญในประเด็นเดียวกัน ศาลจึงเห็นว่าเป็นการลงชื่อซ้ำซ้อน คนละเรื่องกันกับกรณีเสนอญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญทั้ง 4 ฉบับของฝ่ายค้าน ที่เป็นการเสนอกฎหมายแต่ละร่างแก้ไขมาตราที่ต่างกัน”
ฉะนั้น โปรดทราบ ส.ส.ลงชื่อซ้ำกันในญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญต่างๆ ได้ ส่วนที่ยกคำวินิจฉัยไม่รู้ว่า “ไพบูลย์” ปล่อยไก่หรือแกล้งตีรวน เตะถ่วงการแก้รัฐธรรมนูญกันแน่
สำหรับกรณีที่ “ไพบูลย์” จะยื่นเป็นญัตติด่วนเพื่อคัดค้าน 4 ญัตตินั้น ก็ต้องดูว่าจะมีเสียง ส.ส.รับรองหรือไม่
ที่สำคัญต้องติดตามต่อไปด้วยว่า การลงชื่อของ ส.ส.ที่อาจเซ็นไม่ตรงกับต้นฉบับ เพราะลืมว่าก่อนหน้านี้เซ็นไว้อย่างไร หรือเจตนามีคนปลอมหรือไม่ ซึ่งขณะนี้เจ้าหน้าที่สภาอยู่ระหว่างการตรวจสอบ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |