นับตั้งแต่จบการเลือกตั้งใหญ่เมื่อวันที่ 24 มี.ค.2562 คนไทยทั่วประเทศกำลังเฝ้ารอการเลือกตั้งที่สำคัญไม่แพ้กัน นั่นคือ การเลือกตั้งท้องถิ่น ซึ่งที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เคยกล่าวว่าจะมีขึ้นราวปลายปี แต่ระบุว่าอาจเป็นการเลือกตั้งในบางระดับ และก็ไม่ได้ขยายความเพิ่มว่าเป็นการเลือกตั้งในประเภทใดก่อน แต่เอาเป็นว่า หากพูดแบบนี้แล้วก็ต้องถือว่ามีการเลือกตั้งท้องถิ่นแน่ในปลายปีนี้
เพราะหากไม่ให้มีการเลือกตั้งในปีนี้ ก็ต้องถือว่าที่ผ่านมาพูดเพื่อให้ดูดีเพียงเท่านั้น เพราะถึงจะยื้อก็ทำได้แค่ปลายปีนี้ ขณะเดียวกันอีกด้านหนึ่งหากยังเลื่อนออกไปเรื่อยๆ ก็อาจถูกมองว่าเป็นการเล่นตุกติก ซึ่งจะทำให้เสียภาพลักษณ์ทางการเมืองลงไปอีก
อย่างไรก็ดี บรรยากาศในเวลานี้ถือว่าน่าสนใจเป็นอย่างยิ่งสำหรับการเมืองในระดับท้องถิ่น ที่หากพิจารณาจากความเคลื่อนไหวและบรรยากาศโดยทั่วไป ถือว่าเริ่มมีการตื่นตัวขึ้นมาในระดับที่สูงขึ้นเรื่อยๆ หลายพรรคการเมืองต่างเฝ้ารอการเลือกตั้งครั้งนี้อย่างใจจดใจจ่อ อย่างพรรคเพื่อไทย ประชาธิปัตย์ ที่พร้อมจะผงาดขึ้นมาในการเลือกตั้งครั้งนี้
ขณะเดียวกันแนวโน้มการตื่นตัวของประชาชนในทุกระดับมีมากขึ้น ที่น่าจับตาก็คือ การกระตุ้นสถานการณ์แบบผิดปกติของบางกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มคณะก้าวหน้าของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และปิยบุตร แสงกนกกุล ที่ถูกตัดสิทธิ์การเมือง 10 ปี จากการทำผิดกฎหมายพรรคการเมือง โดยพวกเขากำลังเดินสาย ปลุก ให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่น พร้อมทั้งประกาศสนับสนุนผู้สมัครรับเลือกตั้ง อบจ.
ทั้งนี้ ถ้าพูดถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ต้องการห้ามคนที่ทุจริตหรือทำผิดกฎหมายพรรคการเมือง การเลือกตั้ง โดยการยุ่งเกี่ยวกับการเมืองสามารถทำได้มากน้อยแค่ไหน ก็ต้องยอมรับว่าการเคลื่อนไหวดังกล่าวได้สร้างแรงกระเพื่อมทั้งในระดับท้องถิ่น และเชื่อมโยงไปถึงระดับชาติ ในแบบที่ต้องจับตาอย่างยิ่งว่าฝ่ายก้าวหน้าจะได้เก้าอี้ระดับท้องถิ่นกี่ที่นั่ง
เพราะเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งนี้จะเป็นการแข่งขันที่รุนแรงเนื่องจากว่างเว้นมานาน และการแข่งขันรุนแรงอาจไม่ใช่การหาคะแนนอย่างเดียว แต่รวมถึงการแข่งขันเชิงนโยบาย ที่จะต้องตรวจสอบว่านโยบายทำได้จริงหรือเป็นนโยบายขายฝัน และอยู่ในอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือไม่
นอกจากนี้ ส่วนหนึ่งที่ทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นที่น่าสนใจมาจากการว่างเว้นจากการเลือกตั้งในระดับนี้มานานหลายปีแล้ว ทุกระดับในปัจจุบันเป็นแบบรักษาการทั้งสิ้น ตั้งแต่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่แม้ว่าเวลานี้จะมี พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ดำรงตำแหน่งอยู่ก็ตาม แต่ก็มาจากการใช้อำนาจคำสั่งตามมาตรา 44 ในอดีต ส่วนในระดับท้องถิ่นอื่นๆ ทั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ล้วนครบวาระ และรักษาการกันยาว รวมไปถึงนายกเทศมนตรีต่างๆ ลงไปจนถึงระดับนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ที่หากมีการเสียชีวิต หรือมีเหตุต้องพ้นหน้าที่ไป ก็มีการรักษาการโดยปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล หรือปลัด อบต.ในหลายพื้นที่ ที่สำคัญก็คือ เมื่อเป็นแบบนี้การตรวจสอบย่อมไร้ประสิทธิภาพ ทำให้เกิดข่าวการทุจริต มีเรื่องร้องเรียน รวมไปถึงการจับผิด ตรวจสอบจากภาคประชาชนจำนวนมาก
ด้านการเตรียมความพร้อมของ กกต. อิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต.ย้ำ ได้เตรียมความพร้อมในการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นทุกระดับ โดยเฉพาะ อบจ.ที่ได้แบ่งเขตเสร็จสิ้นมาตั้งแต่เดือน เม.ย. ส่วนระเบียบต่างๆ ก็เสร็จสิ้นแล้ว บุคลากรก็เตรียมความพร้อมอยู่ตลอดเวลา แต่จะเลือกอะไรก่อนนั้น กกต.ไม่มีอำนาจกำหนด เพราะเรื่องนี้รัฐบาลจะต้องเป็นผู้กำหนด ทำให้เป็นเผือกร้อนที่ฝั่งรัฐบาลว่าสาเหตุใดที่ยังไม่ดำเนินการกำหนดการเลือกตั้งท้องถิ่น
ประเด็นแรกที่ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้เคยออกมาระบุทำนองว่า รัฐบาลไม่มีงบประมาณสนับสนุนการเลือกตั้งท้องถิ่น เพราะงบถูกดึงไปใช้สนับสนุนการแก้ไขปัญหาไวรัสโควิด-19 เป็นส่วนใหญ่ บวกกับถ้ามีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ งบประมาณที่จะใช้ประมาณ 15,000 ล้านบาท
อีกประเด็นที่มีการคาดการณ์กันคือ เพื่อยื้อออกไปให้นานที่สุด และสาเหตุสำคัญอาจอยู่ที่เรื่องการเมือง โดยเฉพาะในการปรับคณะรัฐมนตรีครั้งที่ผ่านมาได้มีการนำกลุ่ม 4 กุมารที่มีแกนนำอย่าง สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ลงจากตำแหน่ง และตั้งนักการเมืองมืออาชีพเข้ามาเป็นรัฐมนตรี มาบริหารพรรคพลังประชารัฐ โดยคาดการณ์ว่ากลุ่ม 3 ป.ได้มีการมองรัฐบาลไว้ระยะยาว ให้กลุ่มนักการเมืองเหล่านี้ วางเกมเป็นข้อต่อกับนักการเมืองท้องถิ่น ซึ่งถ้าหากพรรคการเมืองขั้วรัฐบาลสามารถกุมฐานเสียงไว้ได้ ก็เป็นไปได้ในการปูทางให้กับกลุ่ม 3 ป. ในการสู้ศึกการเลือกตั้งครั้งต่อไป แต่ถึงอย่างไรการเลือกตั้งท้องถิ่นถือว่าเป็นภาคบังคับ ไม่ว่าจะอย่างไรก็ต้องเกิดขึ้นจนได้ เพราะยิ่งยื้อก็จะยิ่งกลายเป็นการสร้างเงื่อนไขเพิ่มมากขึ้น ยิ่งฝ่ายค้านก็มีการมองว่าเป็นการแช่แข็งการเลือกตั้งท้องถิ่นเพื่อหาทางให้ฝ่ายตัวเองได้เปรียบกว่าคู่แข่งมากที่สุด
กกต.พร้อมแล้วสำหรับการเลือกตั้งท้องถิ่น ว่าแต่ว่ารัฐบาลจะไฟเขียวประเดิมให้ หย่อนบัตร ได้เมื่อไหร่ จะเป็นภายในปีนี้ หรือจะลากยาวไปถึงปีหน้า จึงเป็นเรื่องที่ต้องหาคำตอบจากรัฐบาลต่อไป.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |