การหาทางออกเพื่อทำให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) อยู่ได้รอดนั้น ที่ผ่านมารัฐบาลหลายยุคหลายสมัยก็ต่างหาแนวทางจัดทำแผนฟื้นฟูเพื่อให้องค์กรนี้สามารถเดินหน้าต่อได้ แต่ดูเหมือนว่าจะล้มเหลวไม่เป็นท่า ล่าสุดจะเรียกได้ว่าเป็นการตั้งไข่ให้ ขสมก.อีกครั้งก็ไม่ผิด หลังจากรัฐบาลชุดปัจจุบันได้หาแนวทางการแก้ไขปัญหาต่างๆ เพื่อให้ไม่ประสบปัญหาการเลิกกิจการสืบเนื่องจากมีหนี้สะสมจำนวนมากถึง 1.3 แสนล้าน
ล่าสุด "อนุทิน ชาญวีรกูล" รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการพิจารณารายละเอียดแผนฟื้นฟูกิจองค์การโครงการขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) (ฉบับปรับปรุงใหม่) โดยที่ประชุมเห็นชอบแผนฟื้นฟูตามที่ปลัดกระทรวงคมนาคมเสนอ โดยขั้นตอนหลังจากนี้จะนำแผนฟื้นฟูดังกล่าวเสนอให้คณะกรรมการ ขสมก. (บอร์ด ขสมก.) ภายในวันที่ 22 ก.ย.นี้ และคาดว่าจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ภายในเดือน ต.ค.นี้ และจะมีผลทันที
ที่ผ่านมา ขสมก.มีปัญหาหมักหมมมาถึง 41 ปี ดังนั้น การจะแก้ไขปัญหาเดิมก็จะเสียเวลาเปล่า แต่เมื่อ ขสมก.เป็นรัฐวิสาหกิจ 100 เปอร์เซ็นต์ จึงเป็นภาระของรัฐที่ต้องเข้ามาร่วมแก้ไขหนี้ที่มีอยู่ 130,000 ล้านบาท ที่มีเจ้าหนี้คือกระทรวงการคลัง โดยการรีเซตและหยุดเลือดจากการขาดทุน เช่น พักชำระหนี้ หยุดดอกเบี้ย และให้ผ่อนชำระ หรือยกหนี้เป็นระยะเวลากี่ปีก็ว่าไป ซึ่งทั้งหมดจะอยู่ในแผนการฟื้นฟู สิ่งที่ ขสมก.จะได้จากแผนฟื้นฟูนี้คือ การไม่มีภาระหนี้สินและดอกเบี้ย โดยให้ผ่อนชำระเงินต้นเมื่อมีกำไร และจะเป็นการวัดประสิทธิภาพการทำงานของ ขสมก.นับจากนี้ไป
สำหรับแผนฟื้นฟูครั้งนี้จะเป็นการรีเซตและหยุดเลือด เพื่อให้ ขสมก.ดำเนินกิจการต่อไปได้ ซึ่งเจ้าหนี้ของ ขสมก.ก็คือกระทรวงการคลัง ที่ค้ำประกันหนี้ให้ 100% โดยจะขอให้มีการพักชำระหนี้ทั้งหมดไว้ก่อน และจะเพิ่มต้นทยอยชำระในส่วนของเงินต้นภายหลังจากที่ ขสมก.มีผลประกอบการเป็นบวกแล้ว คาดว่าจะใช้เวลาอย่างน้อย 7 ปีนับจากปีนี้ และสิ่งที่ ขสมก.จะได้รับคือ จะเป็นการปลดภาระหนี้และดอกเบี้ย และจะสามารถวัดได้ว่า ประสิทธิภาพการทำงานของ ขสมก.จะเป็นอย่างไรต่อไป และจะรู้หมู่รู้จ่าว่าจะสามารถทำกำไรได้หรือไม่ หากฟื้นฟูแล้วยังทำกำไรไม่ได้อีก ผู้บริหารก็อยู่ไม่ได้ แล้วอาจจะพิจารณาช่องทางการแปรสภาพในอนาคต
ในส่วนของการลงทุนต่างๆ โดยเฉพาะการจัดหารถเมล์ใหม่ จำนวน 2,511 คัน จะต้องดูศักยภาพก่อน แต่ต่อจากนี้ไปภาครัฐ และ ขสมก.จะไม่ต้องลงทุนอะไรมาก แต่จะใช้วิธีเปิดให้เอกชนเข้ามารับสัมปทานเดินรถ ซึ่งเงินลงทุนก็ให้เป็นภาระของเอกชนไป ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นภาระกับ ขสมก.อีก แต่หลักการของการจัดหารถใหม่จะต้องเป็นรถปรับอากาศเท่านั้น และจะต้องไม่เป็นการเพิ่มภาระให้กับประชาชน
"ศักดิ์สยาม ชิดชอบ" รมว.คมนาคม ในฐานะกำกับดูแล ขสมก. ได้ระบุว่า ขสมก.มีปัญหาจากการขาดทุนสะสมจากการให้บริการมาเป็นเวลานานแล้ว สำหรับการแก้ปัญหาหนี้สินของ ขสมก.กว่า 1.27 แสนล้านบาทนั้น มี 2 วิธี คือ ทำแผนฟื้นฟูเพื่อรีเซตองค์กรใหม่ กับปล่อยให้ดำเนินงานเหมือนเดิม ถ้าไม่ไหวก็ให้ล้มละลาย ซึ่งแนวทางของ ขสมก.คงไม่สามารถให้ล้มละลายได้ เพราะการฟื้นฟูยังมีความเป็นไปได้ มีโอกาสรอด แต่เนื่องจาก ขสมก.ขาดทุนสะสมมานาน โดยล่าสุดเมื่อปี 2562 ขาดทุนถึงประมาณ 5,000 ล้านบาท
โดยในการประชุมพิจารณาแผนฟื้นฟู ขสมก.นั้น ขสมก.ได้ชี้แจงประเด็นคำถามกระทรวงการคลัง 7 ข้อ เพื่อความมั่นใจในการดำเนินการแผนฟื้นฟูได้สำเร็จ ซึ่งคลังต้องการข้อมูลการดำเนินการของ ขสมก.แต่ละปี เพื่อจะใช้เป็นตัวชี้วัด (KPI) และประเมินผลว่า ขสมก.สามารถทำได้จริงตามแผนที่เสนอ ซึ่งในส่วนของกระทรวงคมนาคม และ ขสมก.มั่นใจว่าใน 7 ปี ผลการดำเนินงานของ ขสมก.จะมีกำไรจากการดำเนินงาน (Ebitda) เป็นบวก โดยในปีที่ 7 คาดว่า Ebitda เป็นบวกประมาณ 50 ล้านบาท
ดังนั้น เป็นไปได้ว่า ขสมก.จะปรับรูปแบบการเดินรถโดยจ้างเอกชนวิ่งตามระยะทาง โดยมีโครงข่ายหลักจำนวน 162 เส้นทาง อัตราค่าโดยสารแบบเหมาไม่จำกัดเที่ยวและเส้นทาง 30 บาท/วัน ซึ่งจากการศึกษาพบว่าปัจจุบันผู้ใช้บริการกว่า 95% มีการเดินทางไกลและต้องจ่ายค่าโดยสารสูงกว่า 30 บาทต่อวัน ขณะที่เส้นทางของรถเอกชนร่วมบริการจำนวน 54 เส้นทางนั้น เอกชนจะเข้าสู่ระบบเดียวกัน รับจ้าง ขสมก.วิ่งตามระยะทาง เก็บค่าโดยสาร 30 บาท ประชาชนก็จะได้ประโยชน์.
กัลยา ยืนยง
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |