นโยบายต่อเอเชียของโดนัลด์ ทรัมป์ กับโจ ไบเดน ในฐานะประธานาธิบดีสหรัฐฯ แตกต่างกันอย่างไร
ถ้าทรัมป์ชนะเลือกตั้งกลับมารอบสอง จะยังเดินหน้านโยบายต่างประเทศต่อภูมิภาคอย่างที่เห็นกันนี้อยู่ต่อไปหรือไม่?
และหากไบเดนเข้าไปนั่งทำเนียบขาวแทนทรัมป์ นโยบายต่อเอเชียของเขาจะเปลี่ยนโฉมจากวันนี้ไปอย่างไร?
ข้อแรกที่นักวิเคราะห์หลายสำนักเห็นตรงกันน่าจะเป็นว่า นโยบายของสหรัฐฯ ต่อจีนจะยังไม่เปลี่ยนในสาระมากนัก
แม้ลีลาท่าทีระหว่างทรัมป์กับไบเดนจะไปคนละทางก็ตาม
พรรคเดโมแครตของไบเดนยังมองจีนเป็น "คู่แข่ง" และ "ภัยคุกคาม" ที่อาจจะมาทดแทนสหรัฐฯ ได้ในหลายๆ ด้าน
ส.ส.และ ส.ว.ทั้งพรรครีพับลิกันและเดโมแครตเห็นประเด็นของ "ภัยจากจีน" ไม่ต่างกันนัก
แต่เชื่อว่าวิธีการบริหารความสัมพันธ์กับจีนของไบเดนจะโฉ่งฉ่างน้อยกว่าทรัมป์
ไบเดนจะต่อรองและกดดันจีนต่อเนื่อง แต่ด้วยวิธีการที่แตกต่างกัน
สมัยบารัก โอบามา นโยบายของเขาต่อเอเชียคือ การเพิ่มความสำคัญให้เอเชียด้วยนโยบาย Pivot to Asia หรือการโยกกองกำลังทางทะเลจากฝั่งแอตแลนติกมาทางแปซิฟิกมากขึ้น
ขณะที่ทรัมป์ปรับจากคำว่า Asia-Pacific เป็น Indo-Pacific โดยดึงเอาอินเดียมาเป็นพันธมิตรในการสกัดการสยายปีกของจีน
หากไบเดนชนะเลือกตั้ง มีแนวโน้มว่าสหรัฐฯ จะกลับมาฟื้นนโยบาย "พหุภาคี" หรือ multilateral arrangements แทนที่จะเป็นแบบ "ทวิภาคี" ที่ทรัมป์ใช้ในการต่อรองกับประเทศต่างๆ ด้วยการเจรจาสองต่อสอง
เพราะทรัมป์เชื่อว่าการต่อรองแบบทวิภาคีนั้น เขาสามารถกดดันให้คู่ค้าและพันธมิตรยอมสหรัฐฯ ได้มากกว่าข้อตกลงเขตการค้าเสรีที่รัฐบาลสหรัฐฯ ก่อนๆ ทำเป็นแนวทางหลัก
เป็นไปได้ว่าหากไบเดนเป็นประธานาธิบดี วอชิงตันจะกลับมาร่วมข้อตกลงโลกร้อนหรือ Paris Agreement ที่โอบามาเป็นคนริเริ่มเอาไว้
มีความเป็นไปได้สูงอีกเช่นกันที่ไบเดนจะให้สหรัฐฯ กลับไปสู่ความเป็นสมาชิกและแกนนำขององค์การอนามัยโลกหรือ WHO ที่ทรัมป์สลัดทิ้งเพราะอ้างว่ากลไกของสหประชาชาติแห่งนี้ใกล้ชิดกับจีนมากเกินไป
มือนโยบายต่างประเทศของไบเดนเป็นกลุ่มเดียวกับที่เคยทำงานให้โอบามา
เช่น Antony Blinken ซึ่งเคยเป็นรัฐมนตรีช่วยต่างประเทศและอดีตรองหัวหน้าที่ปรึกษาด้านความมั่นคง
วงในของไบเดนบอกนักข่าวอเมริกันว่า หากไบเดนได้เป็นประธานาธิบดี หนึ่งในคนที่น่าจะได้รับการพิจารณาเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศก็น่าจะเป็นนายบลิงเคนคนนี้
นายบลิงเคนให้สัมภาษณ์ทีวีเมื่อเร็วๆ นี้ว่าถ้าไบเดนชนะเลือกตั้ง
"สิ่งแรกที่เราต้องทำก็คือ การแหกออกจากกรงขังของนโยบายทรัมป์"
เรื่องละเอียดอ่อนสำหรับความสัมพันธ์วอชิงตันกับปักกิ่งเรื่องหนึ่งคือไต้หวัน
ไบเดนมีท่าทีพร้อมสนับสนุนไต้หวันเต็มที่ ซึ่งจะกลายเป็นจุดเสียดทานที่สำคัญต่อสี จิ้นผิงของจีนทีเดียว
เพราะหลังจากที่จีนคืบคลานเข้าไปในฮ่องกงด้วยกฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่แล้ว หลายคนกลัวว่าเป้าหมายต่อไปของปักกิ่งก็คือไต้หวัน
สหรัฐฯ ถือว่ามีพันธกรณีที่จะต้องปกป้องไต้หวัน ดังนั้นความตึงเครียดระหว่างสองประเทศนี้จึงเกือบจะเป็นเรื่องหลีกเลี่ยงได้ยาก
ที่ปรึกษาคนสำคัญของไบเดนยืนยันว่า หากไบเดนเข้าไปนั่งในทำเนียบขาว สหรัฐฯ จะกลับไปฟื้นความสัมพันธ์กับพันธมิตรทั้งหลายรวมถึงเอเชีย
เชื่อว่าไบเดนคงจะมีความระมัดระวังในการคบหากับคิม จองอึนแห่งเกาหลีเหนือมากกว่าทรัมป์
ภาพการประชุมสุดยอดระหว่างไบเดนกับคิมอย่างที่เคยเห็นระหว่างทรัมป์กับคิมคงจะไม่ได้เห็น
ทั้งนั้นทั้งนี้ก็อยู่ที่ว่าคิมจะมีท่าทีอย่างไรต่อไบเดนด้วย
ถ้าคิมต้อนรับไบเดนในฐานะประธานาธิบดีด้วยการยิงขีปนาวุธ ไบเดนก็คงจะต้องตอบโต้โดยพลัน
หากคิมแสดงท่าทีพร้อมเจรจา ไบเดน (หากได้เป็นประธานาธิบดี) ก็คงจะต่อรอง "อย่างระมัดระวังแต่ไม่ไร้เดียงสา"
กับเกาหลีใต้เอง หากไบเดนเป็นประธานาธิบดีก็คงจะมีการสรุปข้อตกลง 5 ปีที่จะ "แบ่งเบาภาระ" ของการรักษาทหารอเมริกันไว้ในประเทศนั้น
แต่ไบเดนคงไม่ยืนยันว่าเกาหลีใต้ต้องจ่าย 5,000 ล้านเหรียญให้สหรัฐฯ ทุกปีอย่างที่ทรัมป์เคยตั้งเป็นเงื่อนไข.
(พรุ่งนี้: ไทยและอาเซียนควรจะคาดหวังอะไรหากไบเดนชนะเลือกตั้ง)
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |