"วิษณุ" ขีดเส้น 7 วัน 5 องค์กรรายงานความคืบหน้าคดี "บอส" ยันไร้ชื่อ ส.ส.มีเอี่ยว สป.ยธ.ร่อนแถลงการณ์ 2 ฉบับ บี้นายกฯ สั่งให้ออกจากราชการ "ตร.แก๊งอุ้มทายาทกระทิงแดง" กระทุ้ง อสส.พักราชการ "อัยการ ช." พร้อมตั้ง กก.สอบฟันวินัยร้ายแรง
ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 14 กันยายน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความคืบหน้าผลสอบคดีนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือบอส ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) กำลังพิจารณาในช่วง 10 วันที่ผ่านมาว่า เพิ่งแจ้งไปเมื่อวันที่ 9-10 ก.ย. แต่เขายังไม่ได้รายงานมา โดยให้เวลา 7 วันในการรายงานกลับมาในเบื้องต้น แต่เวลาแค่ 7 วัน แค่อ่านสำนวน อ่านพยาน อ่านหลักฐานก็คงไม่ทัน อย่างน้อยให้บอกกลับมาว่ากำลังทำอะไรอยู่ ซึ่งได้แจ้งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 5 แห่ง ทั้งสำนักงานอัยการสูงสุด, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.), กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) สภาทนายความ ให้แจ้งความคืบหน้ากลับมาเพื่อรายงานนายกฯ ส่วนจะแถลงต่อสาธารณะหรือไม่ ป.ป.ท.จะเป็นผู้พิจารณา
เมื่อถามว่า ในคดีดังกล่าวมีข้าราชการระดับสูงหรือนักการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้องหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ในรายงานผลสอบของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในความสนใจของประชาชน ที่มีนายวิชา มหาคุณ เป็นประธานนั้น พบว่าพฤติกรรมบางคนชัดเจน บางคนอาจยังไม่ชัดเจน คณะกรรมการมองอยู่ว่ามีความเกี่ยวข้องหรือไม่ ขณะที่บางคนชัดเจนแต่จะผิดหรือไม่ผิดแต่ละหน่วยงานก็ไปพิจารณาตามกฎหมายของเขา เช่นอัยการก็ใช้กฎหมายของอัยการ ดีเอสไอก็แจ้งไปแล้ว ซึ่งเขาขอเอกสารบางอย่างเพิ่มเติม เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจเพราะการอ่านเอกสารแค่ 30-40 หน้าคงไม่ทำให้เข้าใจ และในเมื่อเขาต้องเป็นพนักงานสอบสวนก็ต้องการข้อมูลที่มากกว่านั้นเพื่อที่จะไปสอบใหม่ จึงมอบหมายให้ ป.ป.ท.ไปประสานในเรื่องดังกล่าว
ส่วนข้อกังวลจะเอาผิดนักการเมืองและบุคคลที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลนี้ได้หรือไม่นั้น รองนายกฯ กล่าวว่า บุคคลที่เกี่ยวข้องรู้อยู่แล้วว่ามี 8 ประเภท มีทั้งนักการเมืองและไม่ใช่นักการเมือง เป็นผู้ที่อยู่ในวิชาชีพเป็นข้าราชการประจำ แต่ขณะนี้ไม่ปรากฏรายชื่อ นักการเมืองที่เป็น ส.ส. ในเวลานี้อยู่เลย แต่ถ้าเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ชุดที่แล้ว และครบวาระพ้นหน้าที่ไปแล้ว คณะกรรมาธิการบางคนที่พ้นวาระไปแล้ว แม้บางคนจะมานั่งอยู่ในวุฒิสภาขณะนี้ก็ถือว่าเป็นคนละสภากัน สำหรับในแง่ของการสอบสวนจะย้อนหลังได้หรือไม่นั้น-ไม่ทราบ เพราะเวลานี้เจ้าหน้าที่กำลังทำงานประสานกันอยู่ และสภาจะรับเรื่องไว้ได้หรือไม่เพราะการทำหน้าที่จบแล้ว ทั้งนี้เมื่อตั้งเข้ามาใหม่ก็เข้ามาตามรัฐธรรมนูญคนละฉบับและเป็นคนละสภา ก็อาจจะเป็นปัญหาบ้าง แต่ถึงอย่างไรก็อยู่ในอำนาจของ ป.ป.ช.ที่จะสามารถสอบได้ทั้งหมด ที่จะเป็นปัญหาบ้างจะเป็นการสอบในเชิงจริยธรรม เพราะถ้าสอบในกรณีนี้ได้ก็คงสอบ ส.ส.ย้อนหลังไปได้ 3-5 สมัย แต่สภาคงไม่สมัครใจที่จะทำ
วันเดียวกัน สถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (สป.ยธ.) ได้ออกแถลงการณ์คดีบอส อยู่วิทยา (ฉบับที่ 2) เรื่องขอให้นายกรัฐมนตรีสั่งให้ตำรวจผู้ร่วมขบวนการสร้างพยานหลักฐานเท็จในคดีนายวรยุทธ อยู่วิทยา ออกจากราชการไว้ก่อนระหว่างการดำเนินคดีอาญาและวินัยร้ายแรง โดยระบุให้ดำเนินการดังนี้ 1.เร่งออกคำสั่งตั้งกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงข้าราชการตำรวจทุกคนที่ไปร่วมประชุมปรึกษากับสมาชิก สนช. อัยการ อาจารย์มหาวิทยาลัย และทนายความ ตามที่ปรากฏหลักฐานคลิปเสียงการสนทนาในการสร้างพยานหลักฐานเท็จคดีอาญาเพื่อช่วยให้ผู้กระทำผิดไม่ต้องรับโทษ ที่สำนักงานพิสูจน์หลักฐานเมื่อวันที่ 29 ก.พ.59 ซึ่งผู้บังคับบัญชามีอำนาจสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน ระหว่างรอผลการสอบสวนคดีอาญาและวินัยร้ายแรง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อราชการได้ตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 มาตรา 95
2.สั่งผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้เร่งรัดการสอบสวนทางวินัยให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน โดยรายงานความคืบหน้าให้ทราบผ่านเลขานุการศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอ.ตช.) ทุก 7 วัน 3.สั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมควบคุมการปฏิบัติงานของอธิบดีดีเอสไอให้เร่งสอบปากคำ พ.ต.อ.ธนสิทธิ์ แตงจั่น ยืนยันหลักฐานคลิปเสียง และนำไปเสนอศาลออกหมายจับผู้ร่วมกระทำผิดอาญาทุกคนที่อยู่ในการประชุมปรึกษาดังกล่าวโดยเร็วที่สุด
4.ใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ออกคำสั่งตั้งปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบเพิ่มเติมว่า ในกรณีที่เกิดปัญหาการสอบสวนทำลายพยานหลักฐานคดีนี้มาตั้งแต่วันแรกเกิดเหตุและต่อเนื่องมาอีกหลายปี ทั้งการที่ไม่ดำเนินการให้นายวรยุทธเป่าทดสอบความเมาทันทีที่พบตัว การไม่ดำเนินคดีข้อหาเสพโคเคน รวมทั้งการปล่อยให้บางข้อหาขาดอายุความ ตำรวจผู้บังคับบัญชาทุกระดับตั้งแต่สถานีไปจนถึงผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติในแต่ละช่วงเวลา มีใครเป็นผู้รับผิดชอบทางการบริหารในการที่ไม่ตรวจสอบควบคุมหรือแม้กระทั่งรู้เห็นเป็นใจให้มีการกระทำผิดดังกล่าวบ้าง
สป.ยธ.ยังได้ออกแถลงการณ์คดีบอส อยู่วิทยา (ฉบับที่ 3) เรื่อง ขอให้อัยการสูงสุดสั่งพักราชการพนักงานอัยการผู้ร่วมขบวนการสร้างพยานหลักฐานเท็จกับตำรวจในคดีนายวรยุทธ อยู่วิทยา ระหว่างรอผลการดำเนินคดีอาญาและวินัยร้ายแรง โดยระบุว่า ระหว่างนี้พนักงานอัยการ ช. ผู้ถูกระบุว่าได้เข้าไปร่วมสร้างพยานหลักฐานเท็จกับตำรวจในคดีดังกล่าว ยังคงปฏิบัติราชการตามอำนาจหน้าที่อยู่เป็นปกติ ทั้งที่ผลการตรวจสอบได้พบพยานหลักฐานชัดเจนว่าเป็นตัวการร่วมสร้างพยานหลักฐานเท็จคดีอาญา จนนำไปสู่การสั่งไม่ฟ้องของรองอัยการสูงสุดที่สร้างความเสียหายต่อกระบวนการยุติธรรมของชาติอย่างร้ายแรงดังกล่าว
"เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นต่อประชาชนว่า สำนักงานอัยการสูงสุดมีความจริงใจในการจัดการกับปัญหาการทุจริตของของบุคลากรในองค์กรอย่างจริงจัง จึงขอให้เร่งออกคำสั่งตั้งกรรมการตรวจสอบว่าอัยการ ช.ที่ปรากฏในหลักฐานคลิปเสียงร่วมสนทนากับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ตำรวจ อาจารย์มหาวิทยาลัย และทนายความ ในการสร้างพยานหลักฐานเท็จคดีอาญา ณ สำนักงานพิสูจน์หลักฐานเมื่อวันที่ 29 ก.พ. 2559 ดังกล่าวคือใคร มีตำแหน่งหน้าที่อะไร และเร่งดำเนินคดีวินัยร้ายแรง แจ้งให้ประชาชนทราบพร้อมทั้ง 'สั่งพักราชการ' อัยการคนดังกล่าว เพื่อมิให้เกิดความเสียหายต่อราชการตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ. 2553 มาตรา 80 โดยเร็ว" สป.ยธ.ระบุ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |