“ประยุทธ์” โวเงินสำรองมีมากมาย รัฐบาลไม่ได้ตูดขาดแม้ใช้จ่ายงบปี 63 สำรอง สำนักงบฯ เตรียมชง ครม.อนุมัติหลักเกณฑ์ใช้งบ 63 แทน 64 ไปพลางก่อนไม่เกิน 25% เชื่อเบิกได้ไปถึงสิ้นปี โทษกันอุตลุด ”เบี้ยคนพิการ-สูงอายุ” ล่าช้า อ้างเป็นช่วงปลายปีงบประมาณ-ข้อมูลไม่อัพเดต โอ่หลังปีนี้ไม่เกิดเหตุซ้ำอีก
เมื่อวันจันทร์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์อย่างมีอารมณ์ถึงกรณีสำนักงบประมาณทำหนังสือด่วนที่สุดถึงทุกหน่วยงาน ให้ใช้งบประมาณปี 2563 แทนงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ไปพลางก่อนในวันที่ 1 ตุลาคม 2563 จนทำให้เกิดการตีความว่ารัฐบาลถังแตกว่า "เขาพูดกันมาร้อยครั้งร้อยเที่ยวแล้ว เธอไม่ได้ยินอะไรเลยหรือ กระทรวงการคลังก็พูด ดังนั้นต้องไปดูว่าคนที่ออกมาเขียนในลักษณะเงินหมด รัฐบาลตูดขาด ก็มีการยืนยันแล้วว่าเงินสำรองมีมากมาย จึงสามารถเอาเงินเหล่านี้ออกมาใช้ก่อนที่งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 จะออกมา"
ขณะที่นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงเรื่องนี้ในตอนแรกว่า "หมายความว่าอะไร ไม่เข้าใจ ทำไมไม่ทันล่ะ" หลังจากนั้นจึงตอบอีกครั้งว่า หากงบปี 2564 ใช้ได้ไม่ทันหรือล่าช้าไปก็ไม่มาก ซึ่งการเบิกจ่ายสามารถใช้กรอบของงบประมาณปี 2563 เบิกจ่ายไปได้ก่อน คาดว่าจะเป็นระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น เพราะทางกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณางบประมาณ 2564 ได้ดำเนินการเสร็จแล้ว ไม่มีปัญหา ส่วนนายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า ขณะนี้ร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 กำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสภาในวาระที่ 2 และ 3 ในสัปดาห์นี้ หากเกิดความล่าช้าก็ไม่น่าเกิน 1 สัปดาห์ ส่วนการชี้แจงรายละเอียดจะดำเนินการในวันที่ 15 ก.ย.อีกครั้งหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อสำนักงบประมาณจะนำเรื่องดังกล่าวเข้าที่ประชุม ครม.เพื่อรับทราบ เพราะจะต้องมีการใช้งบประมาณปี 2563 ไปพลางก่อน
นายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กล่าวว่า สำนักงบฯ จะเสนอที่ประชุม ครม.ในวันที่ 15 ก.ย.เพื่ออนุมัติกรอบการใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ไปพลางก่อน ในสัดส่วนไม่เกิน 25% ของวงเงินงบประมาณ เพราะการประกาศใช้งบประมาณปี 2564 ไม่ทันวันที่ 1 ต.ค.63 โดยวงเงินนี้จะนำไปใช้ในส่วนของงบประจำที่เป็นค่าใช้จ่ายบุคลากร ส่วนงบลงทุนขณะนี้งบบางส่วนสามารถใช้ไปพลางก่อนในวงเงินที่ผูกพันสัญญาโครงการ ซึ่งมีไม่มาก ส่วนโครงการใหม่ยังไม่สามารถดำเนินการได้ ขอให้ชะลอเอาไว้ 2 สัปดาห์ก่อน แต่ก็ได้มอบหมายให้ทุกส่วนราชการได้เตรียมความพร้อมในเรื่องของทีโออาร์การจัดซื้อจัดจ้างเอาไว้ล่วงหน้า
“ที่ผ่านมาสำนักงบฯ ได้ให้ทุกหน่วยงานงดรายการที่ชะลอได้ เช่นไปต่างประเทศ ได้วงเงินมาประมาณ 4 หมื่นล้านบาท ตรงนี้ใช้เวลา 2 สัปดาห์ในการทบทวนและเสนอเข้า ครม. ก่อนทำประชาพิจารณ์ผู้มีส่วนได้เสียตามกฎหมาย ทำให้การทูลเกล้าฯ ถวายล่าช้าออกไปประมาณ 1-2 สัปดาห์ ดังนั้นการเสนอให้ใช้งบประมาณไปพลางก่อน 25% ก็พอสำหรับใช้จนถึงเดือน ธ.ค.นี้”
ข้าราชการไม่ต้องกลัว
นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และโฆษกกระทรวงการคลัง ชี้แจงว่า พ.ร.บ.งบประมาณปี 2564 ที่ล่าช้าออกไปจะไม่กระทบต่อการเบิกจ่ายเงินเดือนของข้าราชการ รวมถึงการจ่ายค่าน้ำค่าไฟ ค่าสาธารณูปโภคต่างๆ เพราะเงินส่วนนี้เป็นงบประมาณประจำ ซึ่งตามกฎหมายสามารถนำกรอบของงบปี 2563 มาใช้ไปพลางก่อนได้ ขอให้ข้าราชการไม่ต้องกังวลใจไปว่าจะไม่ได้เงินเดือน รวมถึงโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐต่างๆ ก็ยังได้รับเงินเป็นปกติอยู่ รวมถึงโครงการลงทุนที่เป็นงบผูกพันจากปีงบประมาณก่อนหน้าก็เดินหน้าต่อได้ เพราะสำนักงบฯ ให้เบิกใช้งบได้ 1 ใน 4 ของกรอบงบปี 2563 ยกเว้นโครงการลงทุนใหม่อาจต้องชะลอออกไปจนกว่าจะใช้ พ.ร.บ.งบประมาณปี 2564 ได้
“การจัดทำ พ.ร.บ.งบประมาณของไทยยืดหยุ่น สามารถเบิกใช้ได้กรณีมีเหตุจำเป็นที่ประกาศใช้ไม่ทัน เช่นงบประมาณปี 2563 ที่เคยประกาศใช้ล่าช้า ก็ยังเบิกจ่ายงบประจำได้อยู่และไม่กระทบต่อการทำงานภาพรวมของเศรษฐกิจ ส่วนประเด็นการเลื่อนเก็บภาษีเพื่อเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 นั้น ก็ไม่ได้เป็นสาเหตุที่ทำให้การประกาศใช้ พ.ร.บ.งบปี 2564 ล่าช้า เพราะการเลื่อนเก็บภาษีสามารถใช้เงินคงคลังสำรองออกไปก่อนได้” นายลวรณกล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ยังกล่าวถึงร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 ที่เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 16-18 ก.ย.ว่า ได้สอบถามนายสันติในฐานะประธาน กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 ก็ยืนยันว่าไม่มีปัญหาอะไร ซึ่งขอให้เร่งออกมา เพราะหลายคนมองว่าวันนี้เราใช้งบประมาณน้อยเกินไปหรือเปล่าในเรื่องแก้ปัญหาโควิด-19 โดยความจริงแล้วเรามีมาตรการการใช้จ่ายงบประมาณไปพลางก่อนเหมือนครั้งที่ผ่านมา ส่วนจะเป็นจำนวนเท่าไหร่เดี๋ยวสรุปให้ทราบ
“วันนี้การแก้ปัญหาโควิด-19 ที่หลายคนมองว่า 4 แสนล้านบาทแล้วทำไมถึงได้น้อยเกินไป ซึ่งเราต้องเผื่อไว้ก่อนและมีการใช้ไปแล้วบางส่วน โดยใช้งบกลางและงบโอนจาก พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 เข้ามาช่วย ดังนั้นยอดจึงไม่ได้น้อย” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
ด้านนายสันติยืนยันว่า การพิจารณางบประมาณ 2564 เป็นไปตามขั้นตอน โดยในวันที่ 16 และ 17 หรืออาจเพิ่มวันที่ 18 ก.ย.นี้อีก 1 วัน ที่สภาจะพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณวาระ 3 และในวันที่ 21-22 ก.ย.63 ก็เป็นการพิจารณาของวุฒิสมาชิก ซึ่งเชื่อว่าการพิจารณางบประมาณในสภาวาระ 3 จะไม่มีปัญหาจนทำให้งบประมาณ 2564 ไม่ผ่าน เพราะที่ผ่านมา กมธ.ทุกคนโดยเฉพาะสำนักงบประมาณได้ดูอย่างรอบคอบและ กมธ.พร้อมชี้แจงฝ่ายที่ต้องการตรวจสอบทั้งหมด
สำหรับกรณีข่าวเบี้ยผู้สูงอายุและคนพิการมีปัญหานั้น นายสันติกล่าวว่าจริงๆ ไม่ได้ติดขัด แต่เป็นขั้นตอนวิธีการของสำนักงบประมาณ กรมบัญชีกลาง และกระทรวงมหาดไทยในช่วงปลายปีงบประมาณ แต่ยืนยันว่ารัฐบาลมีเงินจ่ายเพียงพอ นอกจากนี้ปี 2564 ยังมีการแปรญัตติเพิ่มงบเบี้ยผู้สูงอายุและคนพิการเพิ่มอีกกว่า 500 ล้านบาท งบของกระทรวงสาธารณสุขอีกกว่า 5,000 ล้านบาท และงบของท้องถิ่นเรื่องการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไม่ได้ ก็ได้จัดสรรงบประมาณไปชดเชยอีกกว่า 1 หมื่นล้านบาท ส่วนการจัดเก็บภาษีลดลงไปบ้างเล็กน้อย ไม่กระทบงบประมาณในการใช้จ่ายของประเทศ
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวถึงกรณีการเบิกจ่ายเบี้ยยังชีพที่ล่าช้าว่า ต้องถามกระทรวงการคลัง แต่เชื่อว่าไม่มีปัญหา เพราะร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 กำลังเข้าสู่การพิจารณาในวาระที่ 2 และ 3 ในวันที่ 16-18 ก.ย.นี้ และจะเข้าวุฒิสภาพิจารณาในวันที่ 21 ก.ย.นี้ หลังจากนั้นจะใช้เวลาอีก 7 วันพิมพ์ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ซึ่งอาจช้าไปหนึ่งเดือนจากปีงบประมาณใหม่ หากเทียบกับงบปี 63 งบดังกล่าวล่าช้าไปถึง 6 เดือน ดังนั้นการล่าช้าไปหนึ่งเดือนไม่น่ามีปัญหามาก สามารถใช้งบปี 2563 ไปพลางก่อน
โทษข้อมูลไม่อัพเดต
นายอนุชากล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ยอมรับว่าการตั้งงบประมาณปี 2563 เป็นข้อมูลจำนวนของผู้สูงอายุ และคนพิการ เป็นข้อมูลของเดือน ก.พ. ปี 2562 ดังนั้นตัวเลขการชำระเงินและจำนวนคนที่ได้รับเบี้ยไม่ตรงกับความเป็นจริง โดยเบี้ยของคนพิการเมื่อเดือน ก.พ.62 มีจำนวน 1.8 ล้านคน แต่ตัวเลขใหม่ในเดือน ก.ย. ปี 2563 ต้องชำระเพิ่มขึ้นมา 2.6 แสนคน ขณะที่ผู้สูงอายุยอดในเดือน ก.พ.62 มีจำนวน 8.7 ล้านคน ขณะที่เดือน ก.ย.63 มีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอีก 1.8 แสนคน ดังนั้นจึงสะท้อนให้เห็นว่าตัวเลขจำนวนผู้ได้สิทธิ์เพิ่มขึ้น ส่วนที่เกิดความล่าช้านั้นนอกจากจำนวนคนที่เพิ่มขึ้นแล้วยังไม่ได้ใช้ระบบอีเพย์เมนต์ แต่พบว่าปีนี้ได้เริ่มใช้ระบบอีเพย์เมนต์ ซึ่งจะทำให้ประชาชนรับเงินเข้าบัญชีจากกรมบัญชีกลางได้ทันทีประมาณ 80% ส่วนอีก 20% จะให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรับผิดชอบ โดยใช้เงินสดหรือมารับด้วยตัวเอง ดังนั้นปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดขึ้นเพราะไม่มีงบประมาณ แต่เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนระบบและวิธีการชำระเงิน รวมทั้งจำนวนผู้ได้รับสิทธิ์เพิ่มขึ้น และเชื่อว่าหลังจากปี 2563 ที่เปลี่ยนระบบแล้ว เมื่อผู้ลงทะเบียนได้รับสิทธิ์แล้วก็จะได้รับเงินทันทีในเดือนถัดไป และจะไม่เกิดความล่าช้าอีก
นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี เลขาธิการพรรคกล้า โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ “เงินมี แต่เบิกไม่ได้” ว่าการบริหารระบบเบิกจ่ายเงินของรัฐติดขัดอย่างหนัก ขอให้นายกฯ เร่งแก้ไขก่อนเศรษฐกิจโคม่าหนัก สภาวะไร้ตัวจริงของ รมว.การคลังท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจ เริ่มส่งผลต่อการบริหารรายจ่ายภาครัฐ ทั้งเรื่องการจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุล่าช้า การไม่สามารถเบิกใช้งบปี 2564 รวมถึงการโยกงบประมาณในปี 2563 มาช่วยโควิด-19 และ พ.ร.ก.กู้เงิน ซึ่งอาการวันนี้กลายเป็นว่ามีเงิน แต่เงินคาท่อบริหารไม่ได้ อาการนี้ไม่ปกติ ไม่มี รมว.การคลังติดตามใกล้ชิด ขณะที่ระบบราชการเองไม่ได้ถูกออกแบบให้ทันต่อเหตุการณ์ ในการรับมือวิกฤติระหว่างนี้ ขอความกรุณานายกฯ เร่งขันนอตเรื่องการเบิกจ่ายที่กรมบัญชีกลางไปก่อน มิฉะนั้นเศรษฐกิจจะโคม่าหนัก
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ประชาชนต้องตั้งคำถามว่าตกลงรัฐบาลถังแตกหรือบริหารงานห่วยแตก เดือนตุลาคมนี้จะมีเงินเพียงพอจ่ายเงินเดือนข้าราชการหรือไม่ รัฐบาลจะโยนโควิด-19 ให้ตกเป็นแพะรับบาปไปทุกเรื่องไม่ได้ พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล ท่ามกลางวิกฤติซ้อนวิกฤติหนักขนาดนี้จะมีแนวทางแก้ปัญหาอย่างไร.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |