ไพบูลย์จ่อยื่นชวน! สกัดญัตติฝ่ายค้าน


เพิ่มเพื่อน    

 แนวรบแก้ รธน.ระอุ "พลังประชารัฐ" ขวางญัตติแก้ไขรธน.ฝ่ายค้านที่ยื่นแก้รายมาตรา 4 ฉบับ "ไพบูลย์" นำทีมยื่นประธานรัฐสภา อ้างพบมีรายชื่อ ส.ส.เซ็นซ้ำกับร่างแก้ 256 พิงคำตัดสินศาล รธน.หวังเตะสกัด สภาสูงได้แนวร่วมแล้ว นิด้าโพลเผย คนเห็นด้วย ส.ว.โหวตปิดสวิตช์ตัวเองเลือกนายกฯ แต่หนุนให้สภาสูงแก้รายมาตรามากกว่าตั้ง ส.ส.ร.

    ความเคลื่อนไหวก่อนถึงวันประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญในช่วง 23-24 กันยายนที่จะถึงนี้
     โดยเมื่อวันที่ 13 ก.ย. นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เปิดเผยว่า วันที่ 14 ก.ย. เวลา 10.30 น. จะยื่นเรื่องคัดค้านการบรรจุญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา 4 ฉบับของพรรคร่วมฝ่ายค้านที่ยื่นเมื่อวันที่ 10 ก.ย. เข้าสู่ระเบียบวาระการประชุม ต่อนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เนื่องจากตรวจสอบพบว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมดังกล่าวมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เหตุเพราะมีการลงลายมือชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม 4 ฉบับซ้ำกันกับฉบับเมื่อวันที่ 17 ส.ค. ที่พรรคร่วมฝ่ายค้านได้ยื่นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม 1 ฉบับ ซึ่งประธานรัฐสภาได้สั่งบรรจุร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับดังกล่าวเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมรัฐสภาแล้ว  
    นายไพบูลย์กล่าวว่า เรื่องนี้มีลักษณะเป็นอย่างเดียวกันกับที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไว้ในคำสั่งที่ 5/2563 เกี่ยวกับการลงลายมือชื่อซ้ำของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้เสนอคำร้องตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ และเห็นว่าหากมีการบรรจุร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม 4 ฉบับเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมรัฐสภา ทั้งที่มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญดังกล่าวข้างต้น จะเกิดปัญหาทางกฎหมายในภายหลัง โดยรายละเอียดต่างๆ จะแถลงในวันที่ยื่นเรื่อง
"สมเจตน์"สวนกลับสภาทาส
    พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า คิดว่าไม่ต้องปิดสวิตช์ ส.ว. เพราะการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีในรัฐธรรมนูญ 2560 เป็นเรื่องของพรรคการเมือง ส.ว.เสนอชื่อไม่ได้ ถ้าพรรคการเมืองไหนไม่ต้องการให้ใครเป็นนายกฯ ก็อย่าเสนอชื่อเขาเข้าไป พรรคไหนไม่อยากได้ใครเป็นนายกฯ ก็อย่าไปร่วมกับเขาจัดตั้งรัฐบาล แค่นี้ก็จบแล้ว ส.ว.ไม่มีน้ำยาหรอก อย่าเกลียดตัวกินไข่ เกลียดปลาไหลกินน้ำแกง อย่างไรก็ตาม กรณีเผด็จการรัฐสภาหรือสภาทาส ในปี 2556 พรรคร่วมรัฐบาลสมัย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ได้เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ในมาตรา 111 เรื่องที่มาของ ส.ว. ซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐสภาในครั้งนั้น พรรคร่วมรัฐบาลและ ส.ว.บางส่วนใช้มติเสียงข้างมากปิดปากไม่ให้ฝ่ายค้านอภิปราย รัฐสภาถูกกล่าวหาว่าเป็นเผด็จการรัฐสภา และฝ่ายค้านคือ ส.ส.ประชาธิปัตย์วางพวงหรีดประณามรัฐสภาว่าเป็นสภาทาส
       "ดังนั้นรัฐธรรมนูญ 2560 จึงบัญญัติให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องใช้เสียงเห็นชอบกึ่งหนึ่งของรัฐสภา ในจำนวนเสียงเห็นชอบนี้ ต้องมีเสียง 1 ใน 3 ของ ส.ว. และ ส.ส.ฝ่ายค้านร้อยละ 20 เพื่อให้ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกัน เป็นการแก้ปัญหาเผด็จการรัฐสภาและสภาทาส วันนี้ลืมกันแล้วหรือ จึงจะแก้ไขตัดเสียงเห็นชอบของ ส.ว. และ ส.ส.ฝ่ายค้านออกกลับไปให้เป็นสภาทาสเหมือนเดิม" พล
.อ.สมเจตน์กล่าว
    ส่วนนายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวว่า แก้รัฐธรรมนูญตั้ง ส.ส.ร. คำตอบอยู่ที่ประชาชน 51.2 ล้านคน! ไม่ใช่แค่ ส.ส./ส.ว. 750 คน
    ความเห็นดังกล่าวมีรายละเอียดว่า “ถามประชาชน 16.8 ล้านคนหรือยัง” ช่วงนี้จะได้ยินได้เห็นประโยคทำนองนี้บ่อยหน่อย นี่เป็นการแสดงความไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ที่มาจากผลการลงประชามติ 7 สิงหาคม 2559 ด้วยเสียง 16.8 ล้านเสียง โดยเฉพาะประเด็นการแก้ไขเพิ่มเติมให้มี ส.ส.ร.มายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ  
    "ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งครับ เรื่องนี้ต้องไปถามประชาชนผ่านการออกเสียงประชามติอยู่แล้ว และเพราะเหตุนี้แหละผมจึงตัดสินใจได้ไม่ยากนักว่าจะโหวตในวันที่ 24 กันยายนเห็นชอบกับญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้มีการตั้ง ส.ส.ร. ขออนุญาตย้ำข้อมูล ณ ที่นี้อีกครั้งว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 256 ให้ตั้งส.ส.ร.ขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ไม่ได้จบลงที่ผลโหวตในรัฐสภา แต่มีกระบวนการบังคับที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงเป็นอื่นได้ ต้องนำไปถามให้ประชาชนตัดสินใจตอบโดยตรงผ่านการออกเสียงประชามติก่อนว่าจะเห็นชอบด้วยหรือไม่ ถ้าคำตอบออกมาเป็นว่าเห็นชอบด้วย การแก้รัฐธรรมนูญให้ตั้ง ส.ส.ร.จึงจะมีผล ถ้าคำตอบออกมาเป็นว่าไม่เห็นชอบด้วย ญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญก็จะตกไป ไม่มี ส.ส.ร. ไม่มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ" นายคำนูณระบุ
    สมาชิกวุฒิสภาผู้นี้ให้ความเห็นอีกว่า ประชาชนที่จะตอบคำถามนี้ก็ไม่ใช่แค่ 16.8 ล้านคนที่ลงมติเห็นชอบกับรัฐธรรมนูญ 2560 เมื่อ 4 ปีก่อนเท่านั้น แต่เป็นการถามประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งทั้งหมดราว 51.2 ล้านคน (ตัวเลขโดยสังเขปจากการเลือกตั้งครั้งล่าสุด 24 มีนาคม 2562) นี่แหละคือหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่สุดที่ทำให้ผมตัดสินใจว่าจะโหวตเห็นชอบกับญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ให้มีการตั้ง ส.ส.ร.เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ทั้งที่ก็เห็นทั้งจุดแข็งและจุดอ่อน แต่ไม่อาจหาเหตุผลใดมาตอบคำถามได้จริงๆ ว่าเหตุใดจึงจะต้องไปโหวตคัดค้านตั้งแต่ต้นในรัฐสภา ทั้งๆ ที่คำตอบสุดท้ายอยู่ที่ประชาชนทั้งประเทศ ในเมื่อผมยอมรับผลการประชามติ 7 สิงหาคม 2559 เห็นชอบกับรัฐธรรมนูญ 2560 ด้วยเสียง 16.8 ล้านเสียง และนำไปกล่าวอ้างเสมอมาว่าเป็นการตัดสินใจโดยตรงจากประชาชน เป็นความถูกต้องชอบธรรมที่จะล้มล้างกันง่ายๆ ไม่ได้...ผมจะเป็นคนกลับกลอกสองมาตรฐานทันทีเลยละ ถ้าไม่ยอมรับผลการตัดสินใจโดยตรงจากประชาชนหลังจากรัฐสภาเห็นชอบแล้ว โดยถ้าผมโหวตไม่เห็นชอบหรืองดออกเสียง เป็นเหตุให้เสียงเห็นชอบของส.ว.มีไม่ถึง 84 เสียง ทำให้ญัตติตกไปตั้งแต่ชั้นรัฐสภา ไม่ต้องไปถามประชาชน ก็จะมีค่าเท่ากับไปขวางทางการตัดสินใจโดยตรงของประชาชนทั้งประเทศ เป็นประชาชนทั้งประเทศอายุ 18 ปีขึ้นไปผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งทุกคน ไม่ใช่เฉพาะคนเฉพาะกลุ่มที่ออกมาแสดงความคิดเห็นผ่านการเรียกร้องการชุมนุมไม่ว่าสนับสนุนหรือต่อต้านเท่านั้น
    "ผมเป็นใคร? ผมจะถือสิทธิอะไรไปขวางทางการตัดสินใจโดยตรงของประชาชน 51.2 ล้านคน? ไม่เพียงแต่เท่านั้น ญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีการตั้ง ส.ส.ร. หากผ่านประชามติจากประชาชนแล้ว ยังจะต้องมีการเลือกตั้ง ส.ส.ร.โดยตรงทั่วประเทศอีก 150- 200 คน และหากร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้วยังอาจจะต้องไปทำประชามติอีกครั้งหนึ่ง สรุปรวมความได้ว่า แม้รัฐสภาจะลงมติเห็นชอบกับญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้ตั้ง ส.ส.ร. แต่จะได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ต้องผ่านกระบวนการให้ประชาชน 51.2 ล้านคนมาลงคะแนนลับหย่อนลงหีบบัตรเลือกตั้งอีก รวมแล้ว 2-3 ครั้ง ไม่ได้จบที่ผลโหวตในรัฐสภาโดย ส.ส./ส.ว. 750 คนเท่านั้น ประชาชน 16.8 ล้านคนที่ลงมติเห็นชอบกับรัฐธรรมนูญ 2560 เมื่อ 4 ปีก่อนได้สิทธิตอบแน่นอน" นายคำนูณย้ำไว้
    นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะสำเร็จได้ต้องมี 3 เงื่อนไขประกอบกัน นั่นคือ 1.ต้องใช้เวทีสภาแสวงหาความเห็นร่วมกันให้ได้ เพราะถ้าขาดเสียงฝ่ายค้าน 20% หรือขาดเสียงวุฒิ 1 ใน 3 การแก้ รธน.ก็สำเร็จตามมาตรา 256 ไม่ได้ จึงเสนอว่าให้วิปของพรรคประชาธิปัตย์ นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ เร่งไปหารือกับวิปรัฐบาล เพื่อประสานงานกับวิปฝ่ายค้านและวิปวุฒิสภา เพื่อหาความสอดคล้องต้องกันว่ามีประเด็นใดที่เห็นตรงกันบ้าง อะไรที่เห็นต่าง อะไรที่จะปรับหันหน้าเข้าหากันได้ เพื่อหาทางให้แก้รัฐธรรมนูญเดินหน้าต่อไปได้เกิดผลสัมฤทธิ์จริง เพราะความเห็นพ้องในรัฐสภาเป็นเรื่องจำเป็น ไม่เช่นนั้นก็แก้ไม่ได้
    หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวอีกว่า 2.การแก้รัฐธรรมนูญจะสำเร็จได้ประชาชนต้องเห็นพ้องด้วย เพราะเขาเป็นเจ้าของประเทศและเมื่อผ่านรัฐสภาแล้วต้องเอาไปทำประชามติถามประชาชน ถ้าประชามติไม่ผ่านก็แก้ไม่ได้ และ 3.ทุกฝ่ายต้องจริงใจ ต้องตั้งเป้าหมายร่วมกันว่าประเด็นการแก้ไขธรรมนูญ ต้องไม่ใช่ประเด็นทางการเมือง แต่เป็นประเด็นที่ต้องจับมือร่วมใจกัน หวังให้เกิดการแก้ไขได้จริงเท่านั้น ถ้าไม่ครบสามเงื่อนไขนี้ ก็ยากที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะสำเร็จได้ สำหรับพรรคประชาธิปัตย์ต้องการเห็นการแก้ รธน.บังเกิดผลสำเร็จได้จริง โดยจะใช้กลไกวิปของพรรคและวิปรัฐบาลในฐานะพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเป็นตัวขับเคลื่อน
โพลหนุนให้สว.แก้รายมาตรา
    วันเดียกวันนี้ ศูนย์สํารวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสํารวจของประชาชนเรื่อง “จะมี ส.ว.ต่อไปดีไหม?” ทําการสํารวจระหว่างวันที่ 8-10 กันยายน 2563 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป จํานวน 1,317 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 272 เพื่อยกเลิกอํานาจสมาชิกวุฒิสภา
    จากการสํารวจเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 เพื่อยกเลิกอํานาจของ ส.ว. ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี พบว่า ร้อยละ 61.27 ระบุว่าเห็นด้วยมาก, ร้อยละ 16.48 ระบุว่าค่อนข้างเห็นด้วย, ร้อยละ 8.96 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย, ร้อยละ 13.21 ระบุว่าไม่เห็นด้วยเลย และร้อยละ 0.08 ระบุว่าเฉยๆ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
    ด้านความคิดเห็นของผู้ที่ตอบเห็นด้วยมากและค่อนข้างเห็นด้วยต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพียงแค่มาตรา 272 เพื่อยกเลิกอํานาจ ส.ว. ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี และหลังจากนั้นให้มีการยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ พบว่า ร้อยละ 69.27 ระบุว่าเห็นด้วยมาก, ร้อยละ 15.90 ระบุว่าค่อนข้างเห็นด้วย, ร้อยละ 6.24 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย, ร้อยละ 7.22 ระบุว่าไม่เห็นด้วยเลย และร้อยละ 1.37 ระบุว่าเฉยๆ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
    สําหรับสิ่งที่ ส.ว.ควรดําเนินการเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 54.75 ระบุว่าควรสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา รองลงมา ร้อยละ 30.37 ระบุว่าควรสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ด้วยการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.), ร้อยละ 10.70 ระบุว่าไม่ควรสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญทุกรูปแบบ และร้อยละ 4.18 ระบุว่าเฉยๆ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
    ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงความจําเป็นต้องมี ส.ว.ในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาของประเทศไทย พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 38.27 ระบุว่าจําเป็นต้องมี ส.ว. เพราะเพื่อเป็นการถ่วงดุลทางการเมือง ควบคุม/ตรวจสอบการทํางานของ ส.ส. กลั่นกรองกฎหมายสําคัญต่างๆ และการได้มาของ ส.ว. ต้องเป็นการเลือกตั้งจากประชาชนเพื่อเข้ามาเป็ น ส.ว. เท่านั้น ขณะที่ร้อยละ 31.66 ระบุว่าไม่จําเป็นต้องมี ส.ว. เพราะไม่มีผลงานที่เด่นชัด ไม่มีบทบาทการทํางานที่ชัดเจน สิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดิน และมี ส.ส.ก็เพียงพอกับประชาชนแล้วจึงไม่จําเป็นต้องมี ส.ว. และร้อยละ 30.07 ระบุว่ามีหรือไม่มี ส.ว.ก็ได้ เพราะประชาชนยังไม่เห็นการทําหน้าที่และผลงานของ ส.ว.ที่ชัดเจน.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"