13 ก.ย.63- น.ส.ดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้ช่วยผู้จัดการอาวุโสสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และรักษาการผู้อำนวยการแผนสุขภาวะชุมชน สำนัก 3 กล่าวว่า จากที่เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ และสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวทีสุดยอดผู้นำชุมชนท้องถิ่น วาระ : ทศวรรษร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ พื้นที่ภาคเหนือ ที่ห้องประชุมสักทอง อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จ.เชียงใหม่ ได้มีการระดมความคิด และประมวลทิศทางการขับเคลื่อนเครือข่ายภาคเหนือสู่ความยั่งยืน 6 ประเด็น คือ 1) การเตรียมความพร้อมสังคมผู้สูงอายุ 2) ระบบเศรษฐกิจชุมชน 3) การจัดการโรคติดต่อ 4) การสร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลง 5) การสร้างชุมชนเกื้อกูล และ6) การรับมือวิกฤตสิ่งแวดล้อม
น.ส.ดวงพร กล่าวต่อว่า ตัวอย่างที่ชัดเจนเช่นกรณีการจัดการไฟป่าหมอกควันมลพิษทางอากาศที่มีทุกปีการที่ชุมชนท้องที่ยังติดปัญหาการเข้าพื้นที่ช่วยเหลือที่ต้องรอ กรมอุทยานฯยินยอมเห็นชอบ และยังโยงถึงการใช้งบประมาณที่ สตง.เห็นแย้งเป็นปัญหาเชิงปฏิบัติขณะนี้ หรือแม้แต่การฝ่าวิกฤตจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ทั่วโลกกำลังเผชิญ ซึ่งแต่ละภาคหรือพื้นที่อาจมีบริบทในปัญหาไม่เหมือนกันดังนั้นหลังจัดเวทีครบทุกภาคจะได้ทำข้อสรุปสำคัญๆเสนอเป็นปกขาวให้รัฐบาลสามารถนำไปต่อยอดหรือดำเนินนโยบายตามความเป็นจริงที่ท้องถิ่นชุมชนได้สะท้อน ซึ่งหากสร้างความเข้มแข็งหนุนเสริมความคิดสร้างสรรค์ของประชาชน ประเทศชาติก็รอดในทุกสถานการณ์
น.ส.ดวงพร กล่าวต่อว่า สำหรับประเด็นที่น่าสนใจอื่นของภาคเหนือคือการเตรียมความพร้อมสังคมผู้สูงอายุ เวทีสุดยอดผู้นำฯ ได้ระดมความคิดเห็น และสรุปว่าแต่ละพื้นที่ต้องพัฒนาด้านการเรียนรู้ตลอดชีวิต สร้างสรรค์กิจกรรมการเรียนรู้แบบใหม่ และรูปแบบขนส่งสาธารณะสำหรับผู้สูงอายุ ให้มีการสร้างคุณค่าแก่ผู้สูงอายุ พัฒนาช่องทางการตลาดที่หลากหลายและครอบคลุมผลิตภัณฑ์ของผู้สูงอายุ รวมถึงสร้างความภาคภูมิใจให้ผู้สูงอายุผ่านการชื่นชมต่อสาธารณะ สร้างการตระหนักถึงความจำเป็นการในการเตรียมความพร้อมเข้าสู่วัยผู้สูงอายุทั้งด้านสุขภาพ สังคม เศรษฐกิจ และการเรียนรู้
ส่วนประเด็นระบบเศรษฐกิจชุมชน ต้องส่งเสริมอาชีพผู้ขาดโอกาส มีการบริหารจัดการหนี้ รองรับคนกลับถิ่น และที่สำคัญยังต้องจัดการเศรษฐกิจชุมชนหลังสถานการณ์โควิด-19 ด้วย เพราะส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจทำให้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ดังนั้นในการจัดการระบบเศรษฐกิจชุมชน จึงต้องอาศัยทั้งผู้นำ และทุนทางสังคมที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์
เธอระบุด้วยว่า ประเด็นการจัดการโรคติดต่อ ชุมชนต้องสร้างรูปธรรมในการจัดการโรคติดต่อทั้งโควิด-19 โรคไข้เลือดออก และโรคมือเท้าปาก หรือโรคอุบัติใหม่ต่างๆ ซึ่งหากตั้งรับได้ดีจะทำให้ชุมชนปลอดโรค ไม่มีผู้ติดเชื้อหรือผู้ติดเชื้อลดลง ประชาชนก็อุ่นใจที่มีมาตรการป้องกันโรค เกิดความร่วมมือจากทุกภาคส่วน สร้างความภาคภูมิใจให้กับอาสาสมัครที่ดำเนินงานป้องกันโรค ที่สำคัญทุกภาคส่วนได้รับการพัฒนาศักยภาพในการป้องกันโรคสำหรับประเด็นการสร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลงนั้น พบว่าจำเป็นต้องสร้างผู้นำรุ่นใหม่ สร้างจิตอาสา และสร้างแกนนำเยาวชน ขึ้นมาใหม่เรื่อยๆ เพื่อให้การดำเนินกิจกรรมชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่เป็นไปอย่างยั่งยืน ต่อเนื่องและมีศักยภาพ
ขณะที่ประเด็นการสร้างชุมชนเกื้อกูล ต้องมีการจัดสวัสดิการชุมชนถ้วนหน้า มีการสานพลังเพื่อการพึ่งพาตนเอง และการช่วยเหลือดูแลผู้ด้อยโอกาส และประเด็นสุดท้าย การรับมือวิกฤตสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะจากฝุ่นควัน ขยะล้นเมือง หรือภัยพิบัติ เช่น น้ำ ลม ความแห้งแล้ง ต้องมีการรับมืออย่างถูกต้อง ทันท่วงที และวางแผนจัดการทั้งระยะก่อนเกิดวิกฤต ขณะเกิดวิกฤติและหลังเกิดวิกฤติ
นางเสาวนีย์ กุลสมบูรณ์ กรรมการบริหารแผน คณะที่ 3 สสส. กล่าวว่า จากเนื้อหาที่ประมวลผ่านการระดมความคิดของกลุ่มย่อยต่างๆ นั้น ค้นพบว่ามีประเด็นร่วมที่น่าสนใจ 4 ประการ คือ 1) เนื้อหาของประเด็นย่อยต่างๆ สามารถนำไปกำหนดเป็นยุทธศาสตร์หลัก และกำหนดการอยู่ดี กินดี ของท้องถิ่นได้ 2) แต่ละท้องถิ่นมีเครือข่าย ภาคีทั้งภายใน และภายนอกชุมชน คอยเสริมพลังให้การทำงานแต่ละด้านประสบความสำเร็จ 3) มีการถ่ายทอดประสบการณ์ บทเรียนจากต้นแบบที่ประสบความสำเร็จ ทำให้ชุมชนอื่นๆ เห็นตัวอย่างที่ดี และมีแรงบันดาลใจในการนำกลับไปประยุกต์ใช้กับชุมชนของตนเอง และ4) สุดยอดผู้นำท้องถิ่น คือบุคคลสำคัญในการพัฒนา ต้องมีหัวใจเปี่ยมด้วยความรัก และเชื่อมั่นว่าชุมชนของตนมีศักยภาพที่จะต่อสู้ แก้ไข เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น ดังนั้นจึงจำเป็นต้องขยายผู้นำให้มากขึ้นเรื่อยๆ สร้างผู้นำใหม่ให้เกิดขึ้น เพื่อให้การทำงานต่อเนื่องไปเรื่อยๆ
ทางด้าน นายสมพร ใช้บางยาง ประธานเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ กล่าวถึงการค้นหาสุดยอดผู้นำชุมชนท้องถิ่นว่า ดูจากการทำงานและผลงานในพื้นที่เป็นหลัก ส่วนนวัตกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นเป็นการบ่งบอกถึงภาวะความเป็นผู้นำของคนในชุมชน ซึ่งมีผลต่อการช่วยหนุนเสริมพลังท้องถิ่น ท้องที่ ส่วนราชการ และมีการนำศาสตร์ของพระราชาไปสู่การปฏิบัติ แล้วประสบความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการระเบิดจากข้างใน หรือนำคนอื่นในการคิดการทำสิ่งต่างๆ เป็นต้นแบบในการปฏิบัติ ซึ่งขณะนี้กำลังพยายามขยายแนวคิดการสร้างสุดยอดผู้นำชุมชนท้องถิ่น ไปสู่ทั้งในและนอกเครือข่าย โดยนอกเครือข่าย ได้ประสานกับภาคราชการ อย่างกรมส่งเสริมปกครองส่วนท้องถิ่น แต่ยังทำได้ไม่เต็มที่ เพราะยังติดกับกรอบหรือแนวคิดแบบราชการ ทั้งๆ ที่บางอย่างจำเป็นต้องคิดนอกกรอบถึงจะทำได้
อย่างไรก็ตามเวทีสุดยอดผู้นำชุมชนท้องถิ่นครั้งนี้ยังได้ประกาศรายชื่อมอบรางวัลสุดยอดนวัตกรรมชุมชนท้องถิ่น ก่อนปิดเวทีด้วยการร่วมกันประกาศความมุ่งมั่นสุดยอดผู้นำ ร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ พื้นที่ภาคเหนือ ท่ามกลางผู้นำท้องถิ่นในเขตภาคเหนือทั้งตอนบนและตอนล่าง 89 แห่ง จำนวน 573 คน.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |