‘ชวน’กรีดคนโกงโทษรธน.


เพิ่มเพื่อน    

 

"ชวน" กรีดยับ! รัฐธรรมนูญทุกฉบับดี แต่พฤติกรรมของนักการเมืองบางส่วนที่ละเมิดรัฐธรรมนูญ หาผลประโยชน์ ทำผิดกฎหมาย ทำให้หลายคนติดคุก "จุรินทร์" แนะแก้ รธน.ให้เกิดผลสัมฤทธิ์ ให้วิปทั้ง 3 ฝ่ายหารือสรุปประเด็นร่วมกันก่อน "วันชัย" ชี้ฝ่ายค้านวางแผนพลาด แฉมีคนวางแผนโยนบาปให้ ส.ว.

     เมื่อวันที่ 12 กันยายน ที่โรงแรมแกรนด์ เมอร์เคียว กรุงเทพฯฟอร์จูน นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนาโครงการเสริมสร้างความเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยตามวิถีรัฐธรรมนูญประจำปี 63 กิจกรรมการเสริมสร้างความเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร 

             นายชวนกล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง "การมีส่วนร่วมของพลเมืองกับการเมืองสุจริต" ตอนหนึ่งว่า รัฐธรรมนูญทุกฉบับเป็นรัฐธรรมนูญที่ดี แต่พฤติกรรมของนักการเมืองบางส่วนที่ละเมิดรัฐธรรมนูญ หาผลประโยชน์ ทำผิดกฎหมาย จึงทำให้มีนักการเมืองหลายคนติดคุก
    "ความสุจริตจึงต้องเป็นหัวใจของบ้านเมืองในอนาคต หากเราสามารถป้องกันการทุจริตได้ ประเทศไทยก็จะพัฒนาไปได้ไกลกว่านี้มาก" ประธานรัฐสภากล่าว
    ด้านนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์  กล่าวถึงสถานการณ์การแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ทุกฝ่ายในสังคมเห็นไปในทางเดียวกันว่าควรมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพียงแต่ยังมีทั้งจุดเหมือนและจุดต่างกันในเรื่องเนื้อหาและรูปแบบ ซึ่งการแก้รัฐธรรมนูญจะสัมฤทธิผลได้จริงนั้น อย่างน้อย 3 ฝ่ายต้องเห็นพ้องต้องกันคือ ส.ส.รัฐบาล ส.ส.ฝ่ายค้านไม่น้อยกว่า 20% และสมาชิกวุฒิสภาไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ก่อนนำไปสู่การทำประชามติถามประชาชน หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่เห็นพ้องด้วย การแก้รัฐธรรมนูญก็จะไม่สามารถทำได้จริง ทำได้แค่ยื่นญัตติ
    ฉะนั้นเพื่อให้การแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้เกิดผลสัมฤทธิ์จริง จึงขอเสนอให้วิปทั้ง 3 ฝ่าย ประกอบด้วย วิปรัฐบาล วิปฝ่ายค้าน และวิปวุฒิสภา ได้ประชุมหารือเพื่อหาข้อสรุปร่วมว่ามีประเด็นใดบ้างที่จะนำไปสู่การแก้ไขได้สำเร็จ แล้วร่วมมือร่วมใจกันบนแนวทางสันติ เพื่อให้เรามีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้นกว่าฉบับปัจจุบันได้
       นายจุรินทร์กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์มีจุดยืนชัดเจนเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ ตั้งแต่การกำหนดเป็นเงื่อนไขก่อนการเข้าร่วมรัฐบาล และได้ร่วมเสนอร่างแก้ไขในนามพรรคร่วมรัฐบาลไปแล้ว โดยให้มีการเลือก ส.ส.ร.ขึ้นมาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ โดยไม่แตะหมวด 1 หมวด 2 และเพื่อให้การแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้สำเร็จได้จริง  การหารือร่วมกันระหว่างวิปทั้ง 3 ฝ่าย ที่เป็นผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญตัวจริง ในรัฐสภาจึงเป็นเรื่องจำเป็น โดยผมได้มอบหมายให้วิปของพรรคประชาธิปัตย์เร่งไปหารือเรื่องนี้กับวิปรัฐบาลแล้ว
     นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ให้สัมภาษณ์กรณีที่พรรคร่วมฝ่ายค้านเสนอญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 4 ฉบับว่า เมื่อมีการเสนอหลายร่างก็ต้องไปพูดคุยกัน คงไม่น่ามีปัญหา ในส่วนของ พปชร.จะมีความเห็นอย่างไรเดี๋ยวค่อยว่ากัน เพราะต้องมีหลายฝ่ายหลายส่วนและความเห็นจากหลายพรรคมาประกอบกัน ต้องมีการระดมความคิดเห็นและนำมาแลกเปลี่ยนกันก่อน เพราะเป็นเรื่องของหลายพรรคการเมืองที่ต้องนำมาพูดคุยกันและใช้หนทางของสภาในการแก้ปัญหา
อุดมคติของประชาธิปไตย
    ผู้สื่อข่าวถามว่า การเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญหลายร่างอาจจะทำให้ขั้นตอนกระบวนการมีระยะเวลาอีกยาวกว่าจะเห็นเป็นรูปร่าง นายอนุชาตอบว่า คงยังไม่ต้องออกไปถึงตรงนั้น เอาเป็นว่า ให้ทุกฝ่ายเดินไปในแนวทางที่จะแก้ปัญหาเรื่องนี้กันในสภา เพื่อดำเนินการตามวิถีทางที่ทั้งสองสภากำหนด ควรเป็นไปเพื่อบ้านเมืองและพี่น้องประชาชน
    ขณะที่นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เผยว่า ไม่ง่ายที่จะคุยกันเรื่องรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญต่างกับกฎหมายธรรมดา เพราะรัฐธรรมนูญมีอุดมคติของประชาธิปไตยและอุดมคติแห่งรัฐอยู่ในนั้นด้วย ถ้าเราไม่ทราบอุดมคติแห่งประชาธิปไตยและอุดมคติแห่งรัฐ ก็ยากที่จะคุยกันรู้เรื่อง เริ่มต้นก็ล่ารายชื่อคนแก้และคนไม่แก้รัฐธรรมนูญกันแล้ว มันก็ขัดแย้งกันอย่างนี้
    "เราไม่เคยตกผลึกในเรื่องรัฐธรรมนูญ เราใช้รัฐธรรมนูญเปลืองมากที่สุดในโลก ถามว่ารัฐธรรมนูญปี 40, 50, 60 ต่างกันอย่างไร มีข้อดี-ข้อเสียอย่างไร ถ้าเราไม่รู้เราก็ไปไม่ถูกหรอก ก็ไปตายเอาดาบหน้ากันอีก การจะรู้ว่าทำไมรัฐธรรมนูญ 40, 50, 60 เป็นอย่างนั้น ก็ต้องย้อนกลับไปดูว่าตอนนั้นเกิดอะไรขึ้นในประเทศ ถ้าเราไม่รู้ประวัติศาสตร์ เราก็ให้เหตุผลไม่ถูกหรอก ที่กล่าวว่า รธน.ปี 40 เป็นประชาธิปไตยมากที่สุด ก็ต้องรู้ประวัติศาสตร์ว่ารัฐธรรมนูญปี 40 เกิดขึ้นในช่วงที่ประเทศมีประชาธิปไตยสูงสุด ต้องยกความดีให้รัฐบาลชวนและรัฐบาลบรรหาร ที่เป็นผู้ก่อกำเนิดให้มีรัฐธรรมนูญปี 40 แต่การจะให้ประชาชนรู้รายละเอียดมันยากมาก เพราะประชาชนต้องทำมาหากิน ประชาชนจึงต้องมีผู้แทนราษฎรเป็นตัวแทนตัดสินเรื่องนี้ให้ ปัญหาคือผู้แทนราษฎรของเรารู้เรื่องเหล่านี้ดีพอที่จะตัดสินใจแทนประชาชนหรือไม่ คนนอกวงการอย่างเราก็ได้แต่นั่งดู ดูให้สนุกครับ ดูกึ๋นผู้แทนฯ ของเราว่าจะแก้ปัญหานี้อย่างไร"
    รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ยังระบุว่า เวลาพูดถึงผู้แทนราษฎร บางคนก็ด่าว่าผู้แทนราษฎรแบบสาดเสียเทเสีย ผมนี่ไม่ด่าผู้แทนราษฎรนะ ผมให้กำลังใจเสียด้วยซ้ำ เพราะผู้แทนราษฎรของเราเราไม่ได้ไปขุดเขาออกมาจากโพรงไม้ แต่เราเดินเข้าไปในคูหาแล้วไปเลือกเอาตามที่เราชอบ เหมือนเราไปเลือกสินค้าอย่างไรอย่างนั้น ผู้แทนราษฎรจึงเป็นสินค้าส่งออกของชุมชนของเรา ผู้แทนฯ เป็นอย่างไร ประชาชนก็เป็นอย่างนั้นแหละ ไม่มีทางที่ผู้แทนฯ จะดีกว่าหรือเลวกว่าประชาชน ด่าผู้แทนฯ ของเราก็เหมือนเราด่าตัวเราผู้ผลิตสินค้าส่งออกของเรานั่นแหละ
    "หาอุดมคติของประชาธิปไตยและอุดมคติแห่งรัฐให้เจอ เราก็จะผลิตรัฐธรรมนูญที่ดีได้ ถ้าเราเลิกด่าคนอื่น หันมาด่าตัวเองเสียบ้าง นั่นเป็นการเริ่มต้นที่ถูกต้องครับ" นายนิพิฏฐ์กล่าว
    นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา เผยว่า การแก้รัฐธรรมนูญโดยตั้ง ส.ส.ร. แม้ ส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้านและพรรคร่วมฝ่ายรัฐบาลจะเห็นตรงกัน แต่เนื้อในลึกๆ ก็รู้อยู่ว่ามีความขัดแย้งกันอยู่ในตัว ทั้งเรื่องบัตรใบเดียวและบัตรสองใบ บางพรรคอยากได้บางพรรคไม่อยากได้ แต่ก็เก็บอาการกันเอาไว้ โดยคิดว่าเมื่อมี ส.ส.ร.แล้วคงไปตกลงกันเอาข้างหน้า ได้กันบ้างเสียกันบ้าง เป็นอันว่าเรื่องตั้ง ส.ส.ร.ก็เดินหน้ากันต่อไป
    แต่พอมาโผล่รายมาตราเฉพาะมาตราเดียวเรื่องไม่ให้ ส.ว.เลือกนายกฯ ก็ยังพอไปได้ แต่เอามา 4 เรื่อง 4 ญัตติก็จะไปกันใหญ่ เพราะบางเรื่องบางมาตราบางพรรคเอาด้วย บางพรรคไม่เอาด้วย ฝ่ายค้านเอา ฝ่ายรัฐบาลไม่เอา เป็นความขัดแย้งกันอยู่ในตัว ยิ่งในส่วนของ ส.ว. มีความเป็นอิสระ 250 คน ก็ไปคนละทิศคนละแนว ยิ่งทำให้พลังในการลงมติกระจัดกระจายไปมากยิ่งขึ้น
ฝ่ายค้านวางแผนผิด
    "ผมว่าเป็นการวางแผนที่ผิดพลาด เป้าหมายไม่ชัดเจน ไม่มีเข็มมุ่งที่เป็นเอกภาพ ทั้งที่จะได้เสียง ส.ส.ให้เป็นหนึ่งเดียวกันก็ยากอยู่แล้ว ยิ่งในส่วนของ ส.ว.ก็จะไปกันใหญ่ ความจริงจะเอาเรื่องไหนก็ควรจะเอาสักเรื่องหนึ่ง แล้วประสานให้เป็นพลังเดียวกัน ขนาดใน ส.ส.ด้วยกันยังรวมกันไม่ค่อยได้ แล้ว ส.ว. 250 คนมากันคนละสาขาอาชีพ คนละที่คนละแห่ง ไม่มีพรรคการเมือง จะไปทางเดียวกันได้อย่างไร"
     นายวันชัยกล่าวด้วยว่า ตนยืนหยัดมานานแล้วว่าแก้มาตรา 272 เรื่อง ส.ว.เลือกนายกรัฐมนตรี ตัดไปมาตราเดียวก็แก้ปัญหาของบ้านเมือง ลดความขัดแย้งไปได้เกินกว่าครึ่งแล้ว แม้จะแก้ให้มีส.ส.ร. ก็ไม่ขัดข้อง ยืนยันในหลักการนี้มาตลอด แต่บางเรื่องบางญัตติที่เสนอขอแก้มานั้นไม่มีความจำเป็นเลย แล้วก็ไม่รู้ว่าจะเสนอแก้มาทำไม ดูเหมือนว่าจะมีใครวางแผนหรือเปล่าว่าที่รัฐธรรมนูญแก้ไขไม่ได้ในครั้งนี้ โดยจะผลักภาระหรือโยนบาปมาให้ส.ว.ว่าเป็นคนที่ทำให้แก้ไม่ได้ ทั้งที่แท้จริงแล้วมีความขัดแย้งกันอยู่ในตัวของผู้ที่เสนอแก้ต่างหาก ซึ่งไม่เกี่ยวกับ ส.ว. ตนพอจะได้กลิ่น
    ขณะที่นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน หรือวิปฝ่ายค้าน ยืนยันว่าพรรคฝ่ายค้านไม่มีใครโยนบาปให้ ส.ว. แต่วันนี้คนรู้ว่าการที่รัฐธรรมนูญจะทำได้หรือไม่ อยู่ที่เสียงของ ส.ว.เป็นหลัก เพราะ ส.ส.ทั้งซีกรัฐบาลและฝ่ายค้านเห็นร่วมกันกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว ซึ่งญัตติในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 256 เพื่อเปิดทางให้มี ส.ส.ร.ก็ยังอยู่ พรรคร่วมรัฐบาลและพรรคร่วมฝ่ายค้านก็เสนอในประเด็นเดียวกัน แตกต่างกันเพียงแต่รายละเอียดเล็กน้อยในเรื่องที่มาและเงื่อนเวลาเท่านั้น หากที่ประชุมรัฐสภาในช่วงปลายสมัยประชุมนี้มีมติรับหลักการก็ไปทำงานหาจุดร่วมกันต่อในชั้นกรรมาธิการ (กมธ.) ได้ ซึ่งการที่ฝ่ายค้านยื่นเพิ่มเติมอีก 4 ญัตติเป็นประเด็นรายมาตรานั้น ถือเป็นก๊อก 2 รองรับไว้เท่านั้น หากก๊อกแรกในการแก้ไขมาตรา 256 พบปัญหาหรือล่าช้าไม่ทันสถานการณ์ ก็จะได้หยิบก๊อก 2 มาแก้รายมาตราไป
       เขากล่าวว่า เนื้อหาทั้ง 4 ญัตติที่ฝ่ายค้านยื่นเพิ่มเติมไปนั้น พรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมฝ่ายค้านก็ไม่ได้คิดเอง เพราะเรานำมาจากข้อเสนอแนะในรายงานของคณะ กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี 2560 ที่สภามีมติเห็นชอบร่วมกันเสนอไปให้รัฐบาลแล้ว โดยใน กมธ.ก็มีสัดส่วนจากทุกพรรคการเมืองร่วมกันพิจารณา ไม่ใช่ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
    "ดังนั้นวันนี้ ส.ว.ต้องเข้าใจบริบทด้วย อย่าเอาแต่ได้ ขวางทุกเรื่อง เพราะพวกท่านรู้ดีอยู่แล้วว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีที่มาอย่างไร แล้วพวกท่านได้อำนาจมาอย่างไร จึงทำให้วันนี้สังคมเขาไม่ยอมรับที่มาของพวกท่าน อย่าหวงอำนาจตนเองจนลืมเหตุลืมผลเลย แม้จะมีการตั้ง ส.ส.ร.เพื่อทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะทำให้พวกท่านอาจจะไม่ได้อยู่จนครบวาระ 5 ปี แต่พวกท่านก็ไม่ได้เสียหายมาก เพราะยังอยู่ได้อีกหลายปี จึงอยากหักมุมคิดแล้วเข้าสภาเพื่อมาแก้ปัญหาร่วมกันดีกว่า อย่าบีบให้คนต้องลงถนนเยอะกว่านี้เลย" นายสมคิดกล่าว    
    วันเดียวกันนี้ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก และประธานยุทธศาสตร์กลุ่มไทยภักดี โพสต์เฟซบุ๊กว่า ต้องขอขอบคุณ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่ให้คำแนะนำพวกเราว่าการลงชื่อคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ต้องรวบรวมให้ถึง 50,000 รายชื่อก็ได้ สิ่งนั้นพวกเรากลุ่มไทยภักดีเข้าใจ เพราะเราไม่ได้เสนอกฎหมาย แต่เจตนาของพวกเราต้องการเปิดพื้นที่ให้ประชาชนเจ้าของเสียง 16.8 ล้านเสียง ส่งเสียงเตือนนักการเมือง เพื่อแสดงพลังให้ทราบ และให้เคารพการตัดสินใจที่ผ่านมาของประชาชน ดังนั้นการแสดงพลังจึงจำเป็นต้องเชิญชวนประชาชนมาร่วมลงชื่อมากๆ และขณะนี้ผ่านไป 2 วัน มีประชาชนมาร่วมลงชื่อเกิน 1 แสนคนแล้ว และจะยังเปิดต่อไปจนถึง 20 ก.ย.นี้ พร้อมระบุแฮชแท็ก #ถามประชาชนหรือยัง
         ทั้งนี้ นพ.วรงค์ยังได้โพสต์คลิปที่มีประชาชนเข้ามาร่วมคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ที่จนถึงเวลา 12.00 น. มีผู้มาลงชื่อแล้วเกิน 110,000 คน.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"