แอมเนสตี้ กับการชุมนุม 19 ก.ย.


เพิ่มเพื่อน    

 หนุนม็อบล้ม รบ.-รับเงินต่างชาติ? ถามทุกข้อสงสัย 'แอมเนสตี้'

            ในจังหวะเคลื่อนไหวทางการเมืองทั้งในและนอกรัฐสภาที่กำลังเข้มข้นทุกขณะ เช่นที่เร็วๆ นี้จะมีการนัดชุมนุมใหญ่ทางการเมืองในวันที่ 19 ก.ย.

            บริบทหนึ่งที่น่าสนใจและกำลังถูกพูดถึงก็คือ ในช่วงที่ผ่านมาโดยเฉพาะในยุค คสช.และรัฐบาลปัจจุบันที่มีนายกรัฐมนตรีชื่อ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะพบว่ามีองค์กรระหว่างประเทศองค์กรหนึ่ง ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากถึงท่าทีและบทบาทมาโดยตลอด โดยเฉพาะทุกครั้งหลังมีการออกแถลงการณ์แสดงความเห็นใดๆ ออกมา นั่นก็คือ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เช่นล่าสุดที่ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ทางการไทยยกเลิกข้อหาต่อผู้ชุมนุมทางการเมือง ที่ส่วนใหญ่อยู่ในคณะประชาชนปลดแอก, กลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุม ทั้ง 31 คน ที่ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาไม่น้อย

            แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ คือองค์กรอะไร ทำงานด้านไหน มีบทบาทอะไรในประเทศไทย -- ได้ทุนจากตะวันตก เช่น จอร์จ  โซรอส มาสร้างความปั่นป่วนในประเทศไทยหรือไม่ -- อยู่ฝ่ายเดียวกับแกนนำม็อบที่ต่อต้านรัฐบาลและสนับสนุนพรรคการเมืองบางพรรคอย่างพรรคอนาคตใหม่หรือก้าวไกลในปัจจุบันหรือไม่ -- เป็นองค์กรโลกสวย ไม่เชื่อมั่นกระบวนการยุติธรรมของไทย เช่นต่อต้านโทษประหารชีวิต ใช่หรือไม่

            ทุกข้อสงสัย ทุกเสียงวิพากษ์วิจารณ์ข้างต้น เราได้พูดคุยกับ ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย รวมถึงถามมุมมองของแอมเนสตี้ต่อการชุมนุมทางการเมืองที่จะเกิดขึ้น 19 ก.ย.นี้

            เริ่มต้นที่ ปิยนุช พูดถึงแอมเนสตี้ประเทศไทยว่า ที่ผ่านมาเวลาคนได้ยินชื่อแอมเนสตี้ ก็มักจะมองภาพองค์กรไปต่างๆ โดยเฉพาะช่วงหลังรัฐประหาร คสช.เมื่อปี 2557 ซึ่งที่ผ่านมาแอมเนสตี้เริ่มเป็นที่รู้จักในสังคมไทยตั้งแต่ตอนช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เนื่องจากแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เป็นองค์กรที่มีฐานสมาชิกทั่วโลกหลายล้านคน ซึ่งสมาชิกก็เป็นคนธรรมดาที่ร่วมกันสนับสนุนผลักดันในเรื่องสิทธิมนุษยชนในประเด็นต่างๆ โดยช่วง 6 ตุลาคม 2519 ที่มีการจับกุมตัวนักศึกษาที่เคลื่อนไหวในช่วงดังกล่าว ซึ่งพื้นฐานของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ก็คือทำงานกับคนที่คิดเห็นแตกต่างทางการเมืองแล้วถูกจับกุมควบคุมตัว ที่เรียกว่า นักโทษทางความคิด อันเป็นความคิดที่เกิดขึ้นตั้งแต่เริ่มตั้งองค์กร ซึ่งในอดีตที่ยังไม่มีโซเชียลมีเดีย การเคลื่อนไหวก็ใช้รูปแบบคือการเขียนจดหมายเรียกร้องรณรงค์

            พอเกิดเหตุการณ์จับกุมนักศึกษาตอนปี 2519 แอมเนสตี้ก็เขียนจดหมายเรียกร้องให้ปลดปล่อยนักศึกษาที่ถูกคุมตัว โดยนักศึกษาหลายคนเวลานั้นปัจจุบันก็เป็นผู้มีชื่อเสียงในแวดวง ก็ทำให้แอมเนสตี้เริ่มเป็นที่รู้จัก ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ต่อมาก็มีการรวมตัวกันทำกิจกรรมต่างๆ จนกลายเป็นกลุ่มและจดทะเบียนจัดตั้งเป็นองค์กรขึ้นมา ชื่อเดิมก็คือ องค์การนิรโทษกรรมสากล (Amnesty International) ต่อมาก็จดทะเบียนเป็นสมาคมเมื่อปี 2546 นับถึงปัจจุบันก็ประมาณ 17-18 ปี โดยแอมเนสตี้ที่มีอยู่หลายประเทศทั่วโลกต้องการให้ใช้ชื่อเดียวกัน ก็เลยใช้ชื่อ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ที่เป็นหนึ่งเดียวกันทั่วโลก เคลื่อนไหวในเรื่องสิทธิมนุษยชน

            ...ปัจจุบันงานของแอมเนสตี้เน้นเรื่องเสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในการชุมนุม ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าก็จะเชื่อมโยงกับการต่อต้านการทรมานและการอุ้มหาย ส่วนประเด็นอื่นๆ เช่น "ผู้ลี้ภัย" เราก็ทำในเชิงการรณรงค์โดยเน้นเรื่องการไม่ให้ส่งผู้ลี้ภัยกลับพื้นที่เสี่ยง แต่วิสัยทัศน์ของแอมเนสตี้คือ อยากให้ประชาชนทุกคนได้รับการปกป้องคุ้มครอง ตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights หรือ UDHR) ทำให้งานของแอมเนสตี้ที่อยู่ในขอบข่ายเกี่ยวข้องกับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนที่มีประมาณ 30 ข้อ เราก็จะสนับสนุนโดยเฉพาะเรื่องสิทธิมนุษยชนศึกษา องค์กรก็ทำงานกับมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะในภูมิภาค มีการทำหลักสูตรและมีการทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) เป็นข้อตกลงความร่วมมืออย่างเป็นเรื่องเป็นราว

            ผอ.แอมเนสตี้ ประเทศไทย ย้ำว่า บทบาทของแอมเนสตี้ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง หรือรัฐบาลที่มาจากรัฐประหารไม่ได้แตกต่างกัน เพราะแอมเนสตี้เป็นองค์กรระหว่างประเทศ จุดยืนของเราจะไม่บอกว่าการปกครองระบอบแบบนี้ดีหรือไม่ดี เราจะไม่ได้เลือกข้าง (take side) แต่สิ่งที่เราจะอยู่เคียงข้างก็คือ "สิทธิมนุษยชน" เมื่อใดที่มีการละเมิดสิทธิไม่ว่าจะโดยใครก็ตาม เราจะมีการตั้งคำถาม มีการเรียกร้อง การขอให้รับผิดรับชอบ

            อย่างในยุครัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เช่นยุครัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร ที่ตอนนั้นมีเรื่องการ ฆ่าตัดตอน มีผู้เสียชีวิตเกือบ 3,000 คน แถลงการณ์ที่แอมเนสตี้ออกมาตอนนั้นก็คือ การเรียกร้องให้เคารพหลักสิทธิมนุษยชน ให้มีการสืบสวนสอบสวนที่เป็นธรรม รวมถึงในช่วงนั้นที่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ปัญหาโยงมาตั้งแต่ยุคดังกล่าวมาจนถึงปัจจุบันเพราะเป็นปัญหาเรื้อรัง เราก็เสนอแนวทางต่างๆ ออกมา เช่นการสืบสวนสอบสวนผู้ต้องหา ผู้ต้องสงสัยในคดีต่างๆ ว่าต้องมีประสิทธิภาพ ไม่ลำเอียง และเป็นอิสระ รวมถึงการควบคุมตัวโดยพลการในสถานที่ต่างๆ  เราก็เรียกร้องให้ผู้ถูกตั้งข้อหาได้รับสิทธิต่างๆ เช่น การเข้าถึงทนายความ การได้ติดต่อคนในครอบครัว  และการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ รวมถึงสมัยรัฐบาลทักษิณที่เกิดกรณีการหายตัวไปของทนายสมชาย นีละไพจิตร ท่าทีของแอมเนสตี้ตอนนั้นเข้มแข็งมาก ซึ่งหลังเกิดเคสทนายสมชายก็ทำให้เราทำงานอย่างจริงจังมากขึ้น ในเรื่องการต่อต้านการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย ทั้งหมดเราแสดงจุดยืนเรื่องเหล่านี้มาตั้งแต่ยุครัฐบาลนายกฯ ทักษิณ

            ...ส่วนในช่วงรัฐบาลถัดจากนั้นมา เช่นยุครัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร หรือรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่มีความขัดแย้งของขั้วการเมือง เราก็เน้นในเชิงเรื่องเสรีภาพการแสดงออก โดยเชื่อมโยงไปกับบทบาทของประเทศไทย หรือพันธกรณีของประเทศไทยที่มีต่อกฎหมายระหว่างประเทศตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชน ที่เกี่ยวข้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางการเมืองและสิทธิพลเมือง ซึ่งประเทศไทยมีคำมั่นสัญญาเอาไว้

            ...แต่ด้วยความที่ปัจจุบันขั้วทางการเมืองเป็นแบบสุดขั้ว ก็ทำให้เราอาจถูกมองว่าเลือกข้าง (take  side) จ้องโจมตีรัฐบาลชุดนี้หรือไม่ แต่จริงๆ แล้วเรายึดหลักมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ คือไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลแบบไหน จะเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหรือรัฐบาลจากรัฐประหาร แต่เมื่อใดที่คุณละเมิดสิทธิ เราจะตั้งคำถาม เราจะเรียกร้องให้ต้องรับผิดรับชอบ เราก็ทำตามหน้าที่ในการปกป้องคุ้มครองสิทธิของประชาชน

            ปิยนุช ย้ำว่า จุดยืนแถลงการณ์ของแอมเนสตี้ออกมาในทุกช่วงที่มีการชุมนุมทางการเมือง ไม่ได้ออกมาแค่ในยุคแฟลชม็อบ-ม็อบนักศึกษาในเวลานี้ แต่มีการแสดงท่าทีออกมาตลอดตั้งแต่ยุคเสื้อเหลือง, เสื้อแดง, กปปส. ภายใต้แนวทางคือฝ่ายรัฐบาลควรเปิดพื้นที่และทำหน้าที่ของตัวเอง โดยต้องให้ประชาชนมีเสรีภาพในการแสดงออกอย่างสันติ ต้องปกป้องประชาชนให้ได้รับความปลอดภัย ส่วนในแง่ผู้ชุมนุมเราก็เน้นให้ต้องยึดหลักสันติวิธี ไม่ให้มีความรุนแรงเกิดขึ้น

                -คนตั้งคำถามกันมากถึงบทบาทของแอมเนสตี้ว่าเลือกปฏิบัติหรือไม่ เช่นตอนเสื้อแดง  นปช.ปี 2553 ที่มีบางช่วงแกนนำยกพวกไปปิดล้อมเข้าค้นโรงพยาบาลจุฬาฯ แอมเนสตี้มีท่าทีอะไรออกมาหรือไม่?

            ช่วง นปช.ชุมนุมปี 2553 เราก็มีแถลงการณ์ออกมาในแต่ละช่วง เช่นตอนที่เกิดเหตุวันที่ 10 เม.ย.53 จนถึงวันสลายการชุมนุม เราก็มีแถลงการณ์ออกมาในบริบทต่างๆ โดยมีการเรียกร้องกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง จึงยืนยันได้ว่าการชุมนุมทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมของฝ่ายใด ทุกครั้งที่มีข้อกังวลเรื่องการละเมิดสิทธิหรือมีความรุนแรงเกิดขึ้น อย่างน้อยเรามีแถลงการณ์ออกมา แต่แน่นอนว่าแถลงการณ์หรือข้อเสนอแนะที่ออกมาเหล่านั้น ก็ออกมาจากสำนักเลขาธิการใหญ่ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลที่ตั้งอยู่ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เพื่อแสดงให้เห็นว่าเราไม่ได้ยึดโยงว่าเข้าข้างกลุ่มไหน แต่เรายึดหลักสิทธิมนุษยชน

            ในส่วนของการชุมนุมของ กปปส.ที่มีคนร้ายยิง M79 ใส่กลุ่มผู้ชุมนุมประท้วง แอมเนสตี้ก็แถลงการณ์เรียกร้องให้ทางการไทยนำตัวผู้สังหารประชาชนมาลงโทษเพื่อไม่ให้มีการลอยนวลพ้นผิด และในทุกการชุมนุมไม่ว่าจะเป็นฝ่ายเสื้อแดงหรือเสื้อเหลือง แอมเนสตี้ต่างเรียกร้องให้แกนนำทางการเมืองของทุกฝ่าย ต้องมีความรับผิดชอบในการประกันว่าจะไม่ให้สถานการณ์ลุกลามบานปลายจนควบคุมไม่ได้ และนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชน ส่วนของฝ่ายความมั่นคงต้องให้การคุ้มครองอย่างเพียงพอต่อผู้ประท้วง ต้องเคารพและคุ้มครองสิทธิที่จะมีชีวิต สิทธิในการชุมนุมอย่างสงบและสันติ และเสรีภาพในการแสดงออกด้วย

                 -รัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ในยุครัฐบาลรัฐประหาร  คสช.กับรัฐบาลหลังเลือกตั้ง เรื่องการละเมิดสิทธิอะไรต่างๆ เป็นอย่างไร แตกต่างกันหรือไม่?

            ในยุค คสช.ที่ตัวผู้นำ คสช.มีอำนาจต่างๆ ตามมาตรา 44 หรือคำสั่งหัวหน้า คสช. 3/2558 และคำสั่ง คสช.ต่างๆ ที่มีการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพ รวมถึงในช่วงการลงประชามติร่าง รธน. และในช่วงที่เริ่มมีการเคลื่อนไหว มีนักศึกษาออกมาชู 3 นิ้วก็ถูกจับไปปรับทัศนคติ พอมายุคมีการเลือกตั้งมีนาคม 2562  แม้จะเป็นรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง แต่ก็ยังมีการจำกัดสิทธิต่างๆ อยู่ แม้รัฐบาลจะบอกว่าเป็นการก้าวเข้ามาสู่ประชาธิปไตยแล้ว แต่แอมเนสตี้ก็ยังตั้งคำถามเรื่องการจำกัดสิทธิเสรีภาพการแสดงออกของประชาชนอยู่ เพราะคนที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์หรือคนที่ถูกมองว่าอยู่ฝ่ายตรงข้ามมักจะถูกดำเนินคดี

ยอมรับว่าตรงนี้ก็เป็นความเสี่ยงเหมือนกัน เพราะเหมือนกับจะไปเข้าข้างฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล แต่ยืนยันว่าเราตั้งคำถามในเรื่องกระบวนการการทำงานของรัฐ เพื่อต้องการให้คนที่เห็นแตกต่างจากรัฐบาลได้มีพื้นที่แสดงออกอย่างเป็นธรรม อย่างแม้จะผ่านพ้นการเลือกตั้งไปแล้ว แต่ก็ยังมีบุคคลบางกลุ่มเช่น คนที่ตั้งคำถามเกี่ยวกับการทำงานของบางฝ่ายเช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง โดนทำร้าย โดยเฉพาะ นายเอกชัย หงส์กังวาน, นายอนุรักษ์ เจนตวนิชย์ หรือฟอร์ด เส้นทางสีแดง, นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือจ่านิว

จุดยืนของแอมเนสตี้เราไม่ได้บอกว่าเข้าข้างหรือเห็นด้วยกับใคร แต่พวกเขาไม่ควรต้องโดนทำร้ายร่างกายหลายครั้งมาก อย่างช่วงสองปีนี้รวมกันแล้วถึง 15 ครั้ง แอมเนสตี้ก็อยากเห็นความจริงใจของรัฐในการหาตัวผู้กระทำความผิดที่ก่อเหตุดังกล่าวมาลงโทษ

            ความเสมอต้นเสมอปลายของแอมเนสตี้ก็คือ ต่อให้คุณจะเป็นรัฐบาลที่มาจากรัฐประหารหรือรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง จะเป็นรัฐบาลที่ทำให้เศรษฐกิจเฟื่องฟูหรือไม่เฟื่องฟู แต่เมื่อใดที่คุณละเมิดสิทธิ มีการออกกฎหมายหรือมีการกระทำที่นำไปสู่การละเมิดสิทธิ เราก็ตั้งคำถาม มีการออกแถลงการณ์ยืนยันจุดยืนของเราเหมือนเดิม

            ส่วนการเคลื่อนไหวการชุมนุมทางการเมืองต่างๆ ในช่วงนี้ ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีที่ไม่มีความรุนแรง ในแง่ไม่มีการใช้กำลังปราบปรามผู้เข้าร่วมการชุมนุม แต่สิ่งที่เรากังวลและเรียกร้องก็คือ จะพบว่าหลังจัดการชุมนุมแล้วแกนนำหรือนักกิจกรรมที่จัดการชุมนุมจะโดนคดีหรือถูกคุกคามในรูปแบบอื่นๆ เห็นได้จากในช่วงสองเดือนที่ผ่านมา คือ ก.ค.-ส.ค.มีนักกิจกรรมทางการเมืองถูกจับ โดนดำเนินคดีหลายคนมาก ตั้งแต่การชุมนุมย่อยต่างๆ ก่อนจะมีการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน เมื่อ 18  ก.ค.ที่ผ่านมา เช่นการชุมนุมเล็กๆ หน้าสถานทูตกัมพูชา กรณีการหายตัวไปของนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ก็ถูกดำเนินคดีตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือกรณีนักกิจกรรมสองคนชูป้ายไม่ต้อนรับพลเอกประยุทธ์ขณะลงพื้นที่จังหวัดระยอง ก็โดนดำเนินคดี 4 ข้อหาทั้งที่แค่ชูป้าย เราเลยตั้งคำถามถึงการตั้งฐานความผิดของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ว่ามันสมเหตุสมผลหรือไม่กับการดำเนินคดีกับคนที่เคลื่อนไหวเชิงตั้งคำถามกับรัฐ

-แถลงการณ์ของแอมเนสตี้ฉบับล่าสุด ที่เรียกร้องให้นายกฯ และทางการยกเลิกการดำเนินคดีกับแกนนำม็อบนักศึกษา 31 คน มีเหตุผลอะไร เพราะตำรวจบอกว่าเขาก็ต้องสอบสวนดำเนินคดีไปตามกฎหมาย?

            การให้พื้นที่ให้คนได้แสดงความเห็นอย่างสงบ ก็เป็นสิทธิของประชาชนและเป็นสิ่งที่รัฐควรดำเนินการ เราก็ตั้งคำถามว่าที่เจ้าหน้าที่รัฐบอกว่าต้องทำตามกฎหมาย แต่ว่ากฎหมายที่มีมันนำมาใช้เพื่ออะไรกันแน่ เพื่อปิดปากไม่ให้คนวิพากษ์วิจารณ์แสดงความเห็นเกี่ยวกับรัฐหรือไม่ เพราะต้องดูทั้งกฎหมายและสัดส่วนของความผิดของผู้กระทำด้วย เพราะเมื่อเขาใช้สิทธิในการแสดงออก แล้วมาถูกดำเนินคดีข้อหาทำผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ในเรื่องการยุยงปลุกปั่น โดยที่บางคนใน 31 รายชื่อก็ถูกดำเนินคดีตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อีกทั้งในปัจจุบันยังมีกฎหมายอื่นๆ อีกที่ทำให้คนไม่กล้าแสดงความเห็นที่แตกต่างออกมา เช่น พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ส่วนประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ที่ผ่านมาถูกนำมาใช้เยอะมาก โดยเฉพาะกับนักกิจกรรมต่างๆ เหมือนกับเป็นการใช้กฎหมายทำให้คนกลัว ถ้าใช้ศัพท์ทางองค์กรสิทธิก็คือ เป็น "กฎหมายปิดปาก" ให้คนไม่กล้าแสดงความเห็นต่าง

            เราจึงต้องตั้งคำถามว่า แม้เจ้าหน้าที่รัฐต้องทำตามกฎหมาย แต่กฎหมายที่ใช้มันเป็นไปตามมาตรฐานสากลหรือไม่ เพราะในพันธกรณีของรัฐบาลที่มีต่อกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง จะมีข้อหนึ่งคือเรื่อง เสรีภาพการแสดงออก แล้วกฎหมายที่ใช้อยู่ต้องถามว่ามันเป็นไปตามมาตรฐานสากลหรือไม่ ต้องถามรัฐบาลกลับไปว่า รัฐบาลได้ทำตามพันธกรณีที่ตัวเองมีตามมาตรฐานสากลหรือไม่ เพราะจริงๆ แล้วพวกเขาไม่ควรโดนจับตั้งแต่แรกเลยด้วยซ้ำไป เพราะเขาใช้สิทธิของเขาในการแสดงออกอย่างสงบ ไม่ได้ไปทำร้ายหรือฆ่าแกงใคร หรือคำพูดของเขาไม่ได้นำมาซึ่งการสร้างความเกลียดชังหรือยุยงส่งเสริมก่อให้เกิดความรุนแรง

...คือต่อให้เป็นรัฐบาลอื่นๆ ที่ไม่ใช่รัฐบาลไทย ถ้าหากว่าคุณมีกฎหมายที่ไม่ได้เป็นไปตามพันธกรณีที่ได้มีเอาไว้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลก็มีการตั้งคำถามเหมือนกัน จะฮ่องกง เบลารุส หรือสหรัฐฯ แอมเนสตี้ก็ตั้งคำถามเหมือนกัน เพราะเราเป็นขบวนการเคลื่อนไหวระดับสากล เราก็จะตั้งคำถามเหล่านี้โดยยึดโยงกับหลักสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

จุดยืนของแอมเนสตี้ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับประเด็นสิทธิต่างๆ แต่ละปี เช่น การทำแท้ง รัฐประหาร  กว่าจะสรุปกันได้ต้องผ่านการโหวต ผ่านความเห็นชอบจากตัวแทนสมาชิกแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลทั่วโลก เพราะว่าเราต้องทำตามแนวทางเดียวกัน เช่นเรื่องรัฐประหาร เราไม่ได้มีจุดยืนว่าเราเข้าข้างหรือไม่เข้าข้าง ทุกอย่างเคลียร์ คือหากคุณทำงานอยู่แอมเนสตี้ที่ฮ่องกงหรือสหรัฐฯ ก็ต้องพูดในจุดยืนเดียวกัน เพราะฉะนั้นทิศทางต่างๆ ของเรื่องสิทธิมนุษยชนก็จะเป็นไปตามเทรนด์ สถานการณ์และตามมติของตัวแทนแอมเนสตี้ และจากการวิจัย การศึกษาข้อมูล ซึ่งแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ตั้งมาปีหน้าจะครบ 60 ปีแล้ว โดยเคยได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี ค.ศ.1977 ชื่อเสียงองค์กรมีมาอย่างยาวนาน ซึ่งเรายึดมั่นตามหลักการสิทธิมนุษยชนตลอดการทำงาน เพื่อคงไว้ซึ่งชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือขององค์กร        

ผอ.แอมเนสตี้ ประเทศไทย กล่าวถึงการนัดชุมนุมใหญ่ทางการเมือง 19 ก.ย. ที่หลายฝ่ายเป็นห่วงว่าอาจเกิดเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นว่า เรื่องความรุนแรงจะเกิดหรือไม่เกิด ต้องฝากเจ้าหน้าที่รัฐในการช่วยกันปกป้องคุ้มครองผู้ชุมนุม เอื้ออำนวยเรื่องพื้นที่การชุมนุม และไม่ใช้มาตรการที่จะทำให้เกิดความรุนแรง ยิ่งโดยเฉพาะมันมีความหวาดกลัว ความไม่เชื่อใจ ในความร้อนแรงของบรรยากาศทางการเมือง            

ส่วนประชาชนหรือผู้ชุมนุมก็ต้องเคารพในเรื่องการใช้สิทธิของเขาอย่างสงบและสันติ และต้องมีข้อควรระวังในเรื่องการแทรกแซงจาก บุคคลที่สาม หรือ ม็อบชนม็อบ อันนี้ต้องระมัดระวัง ถ้าจะมีกลุ่มเห็นต่างเข้ามา เขาก็มีสิทธิ์เรียกร้องได้ แต่ว่าเจ้าหน้าที่รัฐต้องมีการป้องกันไม่ให้เกิดการปะทะหรือเกิดความรุนแรง

ทางแอมเนสตี้ก็มีโครงการร่วมกับไอลอว์ส่งคนไปร่วมสังเกตการณ์การชุมนุม โดยพยายามไปทุกการชุมนุมเพื่อจะได้รู้ว่าสถานการณ์ในพื้นที่จริงๆ เป็นอย่างไร มีตัวละครไหนบ้าง เพราะเราจะพูดถึงแค่ แกนนำหรือเจ้าหน้าที่รัฐอย่างเดียวไม่พอ เพราะในการชุมนุมแต่ละครั้งมีตัวละครหลายอย่างมาก เช่น เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบหรือคนไม่เห็นด้วย  

สำหรับการเคลื่อนไหวของนักศึกษา คนรุ่นใหม่ในช่วงนี้ ก็มองว่าเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจและควรสนับสนุน เพราะเขาก็สามารถใช้สิทธิในการแสดงออกของเขาอย่างสันติและสร้างสรรค์ เราควรดีใจที่มีคนรุ่นใหม่ ลูกหลานที่มีความคิดเชิงวิพากษ์ (critical thinking) ในเชิงตั้งคำถามและสื่อสารว่าเขาอยากเห็นสังคมเป็นอย่างไร เราก็ควรสนับสนุน ไม่ควรมีการคุกคามเกิดขึ้นเพราะเขาเป็นเยาวชน และควรเปิดพื้นที่ให้เขาตราบใดที่เขาใช้เสรีภาพแสดงออกอย่างสงบและไม่มีความรุนแรง

-มองยังไงกับเสียงวิจารณ์ที่ว่าแอมเนสตี้สนับสนุนม็อบนักศึกษา กลุ่มที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลชุดนี้ มีการพาคนต่างชาติพวกตะวันตกไปร่วมสังเกตการณ์การชุมนุมทางการเมืองต่างๆ ที่ออกมาต่อต้านรัฐบาล?

            เมื่อแอมเนสตี้ส่งเสริมเสรีภาพการแสดงออก ดังนั้นการวิพากษ์วิจารณ์เราถือเป็นเรื่องปกติมาก เรายินดีรับฟัง แต่ก็อยากย้ำบทบาทของเราว่าแอมเนสตี้ไม่ได้เลือกขั้วการเมืองไหน เราเน้นเรื่องสิทธิมนุษยชน หากเมื่อใดมีการละเมิดสิทธิเกิดขึ้นเราก็ออกมาเรียกร้อง ซึ่งด้วยความที่เราเป็นองค์กรระหว่างประเทศ มันก็จะมีหน้าของความเป็นตะวันตกเข้ามา แต่อย่าลืมว่าแอมเนสตี้ไทยก็มีสมาชิกที่เป็นคนไทยเยอะเหมือนกัน และมีผู้สนับสนุนด้วย จึงไม่ได้มีแต่ความเป็นต่างชาติ อย่างที่ก่อนหน้านี้ มี "ผัง" อะไรออกมา เราก็เห็นในความ "มโน" ของคนที่จับมาเชื่อมโยง เป็นผังที่บอกว่าแอมเนสตี้ผูกกับฮิวแมนไรต์วอตช์ ผูกกับสหรัฐอเมริกา และพรรคอนาคตใหม่

ข้อแรกต้องบอกเรื่องม็อบก่อน คือเราพยายามทำงานอย่างหนักเหมือนกัน ในการทำให้เห็นว่าเราไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งหรือไปร่วมประท้วง เรียกร้องกับคนเหล่านั้น เพราะเราไม่ได้บอกว่าการเมืองแบบไหนดีหรือไม่ดี แต่เราสนับสนุนให้มีการใช้เสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมอย่างสงบ อันนี้คือจุดยืนเรา แต่แอมเนสตี้ก็ถูกมองว่าไปสนับสนุนม็อบ ซึ่งจริงๆ มันไม่ได้เกี่ยวข้องว่าใครจะเรียกร้องอะไร  เพราะต่อให้เช่นสมมุติเป็น ม็อบเชียร์ลุงตู่ แต่หากเกิดการละเมิดสิทธิเกิดขึ้น มีคนไปม็อบเชียร์ลุงตู่โดนละเมิด ไม่ได้รับการปกป้องคุ้มครอง หรือว่าโดนทำร้ายมีระเบิดลง เราก็ต้องออกมาเรียกร้อง ออกแถลงการณ์เหมือนกัน เพราะเราไม่ต้องการให้มีความรุนแรง มีการละเมิดสิทธิเกิดขึ้น

            ส่วนที่มีคนตั้งคำถามแอมเนสตี้เรื่องของการเงิน ก็ต้องบอกว่าเวลานี้แอมเนสตี้เราไม่รับเงินจากรัฐบาล หรือกลุ่มผลประโยชน์ใดในการทำงานรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน เพื่อคงไว้ซึ่งความเป็นอิสระในการทำงาน เราทำงานได้ด้วยเงินค่าสมาชิกและเงินบริจาครายบุคคล ปัจจุบันเรามีผู้สนับสนุน 8 ล้านคนทั่วโลก มีทั้งสมาชิก ผู้บริจาค นักกิจกรรม ซึ่งผู้บริจาคจะพบว่าบางประเทศ เช่น สหรัฐฯ ออสเตรเลียและในยุโรปจะมีสมาชิกเยอะมาก บางประเทศประชาชนเขาร่วม 80 เปอร์เซ็นต์เป็นสมาชิกแอมเนสตี้ หรือผู้บริจาคเขาก็จะให้เงินบริจาคมาแต่ละเดือน ตรงนี้ก็คือรายได้หลักของแอมเนสตี้ คิดเป็น 90  เปอร์เซ็นต์ เมื่อได้เงินมาก็จะจัดสรรให้กับแอมเนสตี้ในประเทศที่ยังมีสมาชิกไม่เยอะมาก

...อย่างประเทศไทยก็มีสมาชิกและผู้บริจาค แต่ยังไม่เยอะมาก เราก็ได้เงินจากสมาชิกเหล่านั้น โดยเรามีการสกรีนกันมากในการจะไปรับเงินจากบริษัทใหญ่ๆ หรือจากรัฐ เพราะหากมีประวัติการละเมิดสิทธิเราจะไม่รับเงินจากคนกลุ่มนั้นเลย โดยหากเป็นทุนจากรัฐก็ทำได้แค่โครงการสิทธิมนุษยชนศึกษา  อย่างของแอมเนสตี้ประเทศไทยเอง ก็มีที่บางบริษัทที่เป็นบริษัทใหญ่อยากเข้ามาทำโครงการกับเรา ซึ่งต่อให้มีเงินทุนมากขนาดไหนแต่เราก็ทำงานร่วมกันไม่ได้ 

            -ที่ผ่านมาแอมเนสตี้ถูกมองว่าสนับสนุน อยู่ฝ่ายเดียวกับพรรคการเมืองอย่างอนาคตใหม่ที่เป็นพรรคก้าวไกลในปัจจุบัน เพราะอย่างนายชำนาญ จันทร์เรือง อดีต ส.ส.และอดีตรองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ก็เป็นอดีตประธานแอมเนสตี้ประเทศไทย?

            จริงๆ เราก็โดนวิจารณ์จากทุกฝ่าย อย่างกรณีคุณชำนาญที่ก่อนหน้านี้เคยเป็นประธานแอมเนสตี้ ประเทศไทย และต่อมาก็มาเป็นที่ปรึกษาแอมเนสตี้ แต่พอเขาไปร่วมงานการเมืองกับพรรคอนาคตใหม่  ก็ได้ลาออกจากการเป็นที่ปรึกษา แต่แน่นอนว่าด้วยความที่เขาเคยเป็นประธานแอมเนสตี้ คนก็ยังมองภาพนี้อยู่ แต่เขาก็ยังเป็นสมาชิกอยู่ ก็ยังมีสิทธิ์มาโหวตมาร่วมกิจกรรมเหมือนกับคนอื่นๆ

เราก็ยังยืนยันในจุดยืนเดิมของเรา เพราะเราก็คิดว่าทุกคนก็อยากเห็นสังคมที่เป็นธรรม ทุกคนก็ไม่อยากเห็นใครโดนละเมิดสิทธิ แต่ด้วยความที่บางทีเราโดนตัดสิน ก็ทำให้คนมองไม่เห็นการทำงานของเราในเรื่องการปกป้องสิทธิ แต่ไปเห็นแค่ในแง่ของเรื่องประเด็นทางการเมือง ทั้งที่จริงๆ แล้วขั้วการเมือง ไม่ว่าจะเป็นขั้วไหนก็ตาม เราก็คิดว่าทุกคนก็ไม่มีใครอยากเห็นการละเมิดเกิดขึ้น ที่ก็เห็นเหมือนกับเรา  เพราะสิ่งนี้คือสิ่งที่เราอยากจะเห็น เพราะเรื่องสิทธิเป็นเรื่องสากล ไม่ได้มีการแบ่งว่าเป็นสิทธิแบบไทย  สิทธิแบบตะวันตก เพราะเรื่องสิทธิเราทุกคนเกิดมาต่างก็มีสิทธิเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติใด สังคมใด อันนี้เป็นแก่นที่เหมือนกันของพวกเราทุกคน.

โดย วรพล กิตติรัตวรางกูร

 

           

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"