"หมอธี" ลั่น การปฏิรูปการศึกษาต้องมีความร่วมมือทุกฝ่าย ทำในสิ่งที่ทำได้ ไม่ใช่คิดแผนงานกันแบบลอยๆ พร้อม ประเมินผลควบคู่ เล็งใช้ ขอนแก่นเป็นโมเดลสำคัญ ชู โครงการ KKU Smart Learning พัฒนาสมรรถนะนักเรียนด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี เตรียมขยายไปยังโรงเรียนมัธยมฯด้อยโอกาส เล็งยกระดับไปทุกระดับชั้น ครอบคลุมทุกภูมิภาค
ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติขอนแก่น (KICE) - นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวบรรยายพิเศษตอนหนึ่งหัวข้อ “การปฏิรูปการศึกษา การปฏิรูปการเรียนรู้ เพื่อมุ่งสู่วิสัยทัศน์ THAILAND 4.0" ในงาน Smart Learning Expo ครั้งที่ 1 ว่า การปฏิรูปการศึกษาไม่ใช่เรื่องของจินตนาการหรือการปรับโครงสร้าง แต่การปฏิรูปการศึกษาควรเป็นการนำข้อผิดพลาดของการศึกษาว่ามาช่วยกันแก้ไข โดยเริ่มจากที่เราเป็นอยู่ รู้จักมองตัวเอง วัดตัวเองว่าอยู่ในระดับใด และจะก้าวต่อไปอย่างไร โดยอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานทุกภาค และการปฏิรูปการศึกษาจะต้องทำในสิ่งที่ทำได้ไม่ใช่คิดแผนงานกันแบบลอยๆ เหมือนนามธรรม รวมถึงมีการประเมินผลด้วยว่าสิ่งที่เราดำเนินการมาถูกทิศทางจนสามารถยกระดับคุณภาพการศึกษาได้หรือไม่ และการปฏิรูปการศึกษาจะเกิดขึ้นได้ส่วนหนึ่งก็มาจากปัจจัยภายนอก ที่เข้ามาช่วยกระตุ้น โดยเฉพาะโครงการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ (PISA) มาช่วยวัดทักษะและจัดลำดับคุณภาพการศึกษาของแต่ละโรงเรียนให้ ซึ่ง ศธ.ก็มีการทำเช่นนั้นควบคู่ไปกับการปฏิรูปการศึกษาจากภายใน ศธ.ไปด้วย เพราะการปฏิรูปการศึกษาจะต้องทำให้ประชาชนเห็นการเปลี่ยนแปลงว่าลูกหลานเข้าสู่ระบบการเรียนแล้วมีความสุขในห้องเรียนหรือไม่
รมว.ศธ.กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาการปฏิรูปการศึกษาของเรามีแต่โครงการต่างๆ และคำสั่งที่มาจากส่วนกลาง ดังนั้นเราจะใช้ขอนแก่นเป็นโมเดลสำคัญของการปฏิรูปการศึกษา เพราะมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้จัดโครงการ KKU Smart Learning ขึ้น ซึ่งถือโครงการพัฒนาสมรรถนะนักเรียนด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นการจัดห้องเรียนเทคโนโลยี เนื้อหาหลักสูตรแบบออนไลน์ คู่มือการจัดการเรียนสำหรับครู นำร่องระดับมัธยมศึกษาใน 3 วิชา ได้แก่ วิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาษาอังกฤษ ซึ่งตนได้ขอให้เพิ่มวิชาภาษาไทยเข้าไปด้วย ทั้งนี้ จะให้มีการขยายโครงการนี้ไปยังโรงเรียนมัธยมศึกษาระดับอื่นๆ ที่ด้อยโอกาส และในอนาคตจะต้องยกระดับไปทุกระดับชั้น ให้ครอบคลุมทุกภูมิภาค ซึ่งมหาวิทยาลัยอื่นๆ ควรนำไปศึกษา เพื่อพัฒนาให้เหมาะสมตามตามสภาพของโรงเรียนในแต่ละพื้นที่ด้วย ซึ่งถือว่ามหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นแบบอย่างของการปฎิรูปการศึกษามี่เป็นรูปธรรม เพราะนี่คือศาตร์แห่งการยกระดับคุณภาพการศึกษาที่หลากหลายคณะในมหาวิทยาลัยช่วยกันทำ ดังนั้นเราไม่จำเป็นจะต้องยึดติดกับคณะศึกษาศาตร์เพียงอย่างเดียว
ด้านนายกิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) กล่าวว่า มข. โดยฝ่ายวิจัยและการถ่ายทอดเทคโนโลยี และโครงการพัฒนาสมรรถนะนักเรียนระดับมัธยมศึกษาด้วยนวัตกรรม KKU Smart Learning ได้จัดงาน Smart Learning Expo ครั้งที่ 1 มหกรรมการเรียนรู้แบบสมาร์ท ครั้งแรกของประเทศไทย ซึ่งโครงการ KKU Smart Learning เริ่มต้นในปี 2560 เน้นการถ่ายทอดนวัตกรรมการเรียนการสอนที่เกิดจากการวิจัยของ อาจารย์มข.สู่การใช้จริงในพื้นที่ ซึ่งเน้นการพัฒนาความรู้นักเรียนในวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ และส่งเสริมทักษะนวัตกรรมและการเรียนรู้ ทักษะด้านสื่อ สารสนเทศและเทคโนโลยี รวมทั้งทักษะด้านชีวิตและอาชีพ ทั้งนี้ หลักสำคัญของ KKU Smart Learning คือ ในการนำไปสู่สมรรถนะที่คาดหวัง ผู้เรียนจะต้องได้รับความรู้ในเนื้อหาของหลักสูตรในระดับชั้นที่เรียน ได้รับการพัฒนาทักษะการเรียนรู้โดยผ่านกระบวนการเรียนการสอนที่ส่งเสริมการคิดวิเคราะห์ การเรียนรู้ด้วยตนเองผ่านสื่อและเทคโนโลยี และชุดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เหมาะสมสอดคล้องกับเนื้อหา และสอดคล้องกับโปรแกรมการวัดสมรรถนะของพิซ่า ซึ่งเป็นจุดเด่นของ KKU Smart Learning ที่ช่วยให้ก้าวข้ามข้อจำกัดในด้านการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ ห้องปฏิบัติการ ห้องทดลอง โดยสร้างสภาพแวดล้อมการเรียนรู้แบบเสมือนจริง
นายกิตติชัย กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบัน มข.กำหนดดำเนินการโครงการ KKU Smart Learning ระยะเวลา 3 ปี โดยในปีแรก ปีการศึกษา 2560 มีเป้าหมายดำเนินงานเป็นชั้นม.1 ใน 45 โรงเรียน เขตจังหวัดขอนแก่น ร้อยเอ็ด มหาสารคาม และกาฬสินธุ์ มีครูเข้าร่วมโครงการ 270 คน และนักเรียนจำนวน 6,000 คน ปีการศึกษา 2561 ขยายโครงการครบคลุม 20 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ 195 โรงเรียน นักเรียน 31,200 คน และจนครบเป้าหมายโครงการจะมีครูเข้าร่วมโครงการ 4,050 คน นักเรียน 81,000 คน โดย มข.ได้มีการลงนามความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) เขต 19-33.