"ชวน" ชี้ค้านแก้ รธน. แค่เสนอความเห็นก็พอไม่จำเป็นต้องล่าชื่อ ไทยภักดีปลื้มทะลุแสนแล้ว วิปวุฒิสภานัดถกสัปดาห์หน้า หนุนระบบเลือกตั้ง รธน.40 "วันชัย" ติงฝ่ายค้านเดินเกมพลาด ยื่นเพิ่ม 4 ญัตติทำเสียแนวร่วม ส.ว.อิสระโวยไม่เอา ส.ส.ร. โละทั้งฉบับตัดหน้าที่เรื่องปฏิรูป "จตุพร" แนะทางออกให้ "บิ๊กตู่" ยุบสภา ทำประชามติรื้อ รธน.วันเดียวกับเลือกตั้ง
เมื่อวันที่ 11 กันยายน นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา กล่าวถึงกรณีกลุ่มไทยภักดีเตรียมรวบรวมรายชื่อประชาชน 50,000 รายชื่อ ยื่นคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า การคัดค้านหรือการมีความเห็นไม่ตรงกันเป็นเรื่องปกติ ซึ่งสามารถยื่นเสนอความเห็นมาได้ โดยไม่จำเป็นต้องรวบรวมรายชื่อให้ได้ถึง 50,000 รายชื่อ เพราะไม่ใช่การเสนอร่างพระราชบัญญัติ
ส่วนการพิจารณาญัตติเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ขณะนี้มีหลายประเด็นเพื่อขอแก้ไข ประธานรัฐสภากล่าวว่า จะมีการหารือกันอีกครั้งหนึ่งว่าจะพิจารณาเรียงตามลำดับวาระแยกกัน หรือจะพิจารณาพร้อมกันไปคราวเดียวแล้วค่อยลงมติแยกกัน หรืออาจจะลงคะแนนในคราวเดียวหลายฉบับก็ได้ ซึ่งเมื่อวันที่ 10 ก.ย.ที่ผ่านมา ได้หารือถึงวิธีการลงคะแนนกับ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทยด้วย แต่ยังไม่มีข้อยุติ สำหรับกรอบเวลาการพิจารณา ทุกคนต้องใช้เวลาให้จบภายในวันที่ 23-24 ก.ย. ซึ่งจะสิ้นสุดสมัยประชุมพอดี
ด้าน นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม หัวหน้ากลุ่มไทยภักดี แถลงการณ์ผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ หลังรายชื่อคัดค้านแก้รัฐธรรมนูญทะลุ 50,000 รายชื่อว่า นี่คือการสร้างประวัติศาสตร์ร่วมกัน เป็นพลังส่วนหนึ่งของประชาชนที่แสดงออกมาว่าคนไทยไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องการปกป้องการผลาญเงินภาษีกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท และคัดค้านนักการเมืองที่ตัดสิทธิ์ของเขาที่เคยทำประชามติเอาไว้ จึงขอเตือนนักการเมืองว่าอย่าท้าทายประชาชน หลังจากนี้จะรวบรวมรายชื่อทั้งหมดเสนอไปยังประธานวุฒิสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎรต่อไป
ทั้งนี้ เวลาประมาณ 19.00 น. ได้มีประชาชนลงชื่อทะลุ 1 แสนคนแล้ว
นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ชื่นชมการทำหน้าที่ของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 และเห็นว่าผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการชุดนี้เป็นประโยชน์ต่อการตั้งต้นแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะได้รวบรวมข้อดีและข้อเสียของรัฐธรรมนูญ ทำให้สังคมได้เห็นภาพชัดขึ้นว่ามีสาระของรัฐธรรมนูญส่วนไหนบ้างที่ต้องทำการแก้ไขเพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นจริง นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการชุดดังกล่าวยังมีทุกพรรคการเมืองและบุคคลที่เกี่ยวข้องร่วมกันคิดจนตกผลึก และยังรับฟังเสียงของประชาชนในทุกกลุ่ม
นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ต้องขอขอบคุณพรรคเพื่อไทยที่ได้ยื่นญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มอีก 4 ฉบับ และ 1 ใน 4 ฉบับนั้นก็คือญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ซึ่งสอดคล้องกับญัตติของพรรคก้าวไกล ร่วมกับ ส.ส.อีก 13 พรรคที่ได้มีการถอนชื่อจนทำให้ญัตติดังกล่าวถูกตีตกไปแล้ว ตนได้ยืนยันตลอดว่าจะไม่ถอนชื่อออกจากญัตติดังกล่าวอย่างแน่นอน และการลงชื่อในญัตติดังกล่าวไม่ได้สูญเปล่า อย่างน้อยที่สุดได้แสดงจุดยืนในการต่อต้านการสืบทอดอำนาจของเผด็จการ ผ่านมาตรา 272 และสามารถทำให้พรรคเพื่อไทยเปลี่ยนใจ มีมติยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มอีกจำนวน 4 ฉบับ
"จะใช้สิทธิ์โหวตสนับสนุนญัตติของพรรคร่วมรัฐบาลและของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ดังนี้ 1.โหวตสนับสนุนญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 และการจัดตั้ง ส.ส.ร. 2.โหวตสนับสนุนญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 และ 3.โหวตสนับสนุนญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 88, 83, 85, 90, 91 และ 94 ที่เกี่ยวข้องกับระบบการเลือกตั้งที่ใช้บัตร 2 ใบ ถ้าญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ฉบับนี้ได้ผ่านมติของที่ประชุมรัฐสภาด้วยการสนับสนุนจาก ส.ว. ไม่น้อยกว่า 84 คนแล้ว เชื่อว่าสามารถปลดล็อกการเมืองของประเทศได้ระดับหนึ่ง เพราะถ้าตัดอำนาจสมาชิกวุฒิสภาโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี และแก้ระบบเลือกตั้งเป็นบัตร 2 ใบได้ จะเป็นหลักประกันว่าระหว่างที่ ส.ส.ร.จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ถ้าเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองต้องยุบสภา ก็จะทำให้การเลือกตั้งมีความเป็นธรรมกับทุกๆ ฝ่ายมากกว่าการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา” นายเทพไทระบุ
วิปวุฒิฯ นัดถกแก้ รธน.
ขณะที่ นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวถึงการยื่นขอเปิดประชุมสมัยวิสามัญเพื่อพิจารณาการแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 2 และ 3 ว่า ตอนนี้ยังไม่ได้กำหนดวันที่จะยื่น แต่ได้ให้สมาชิกลงชื่อเอาไว้แล้ว โดยจะยื่นเมื่อการพิจารณาวาระ 1 ผ่านแล้ว ซึ่งต้องขอให้คณะกรรมาธิการเร่งพิจารณาให้เร็วเพื่อที่เราจะสามารถยื่นเปิดประชุมสมัยวิสามัญต่อเลย ทั้งนี้ ต้องได้เสียงจากพรรครัฐบาลด้วย แต่ตอนนี้ยังไม่ได้คุยกัน เพราะระยะเวลายังอีกไกล เนื่องจากต้องดูก่อนว่าร่างที่ยื่นไปจะผ่านวาระ 1 หรือไม่
นายพีระศักดิ์ พอจิต สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิสภา) กล่าวว่า สัปดาห์ก่อนที่จะมีการประชุมรัฐสภา เพื่อพิจารณาเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ วันที่ 23-24 ก.ย. ทางวิปวุฒิสภาจะหารือกันเพื่อวางกรอบการทำหน้าที่ ไว้เป็นแหล่งข้อมูลเตรียมความพร้อมให้สำหรับ ส.ว.ที่ไม่ได้มาทางสายนักกฎหมายหรือถนัดกฎหมายโดยตรงได้ทำความเข้าใจ โดยจะไม่มีการไปกำหนดว่า ส.ว.จะต้องลงมติไปในทิศทางไหน ในทางปฏิบัติทุกคนเป็นอิสระ ไม่มีใครบังคับใครได้
สำหรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของฝ่ายค้านนั้น ได้ดูคร่าวๆ เห็นว่ามีบางเรื่องที่คิดว่าเป็นทางออกที่ดี เช่น ร่างในฉบับที่เกี่ยวกับการแก้ไขระบบเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งนำแนวคิดของรัฐธรรมนูญปี 2540 มาใช้ คือเขตเดียวเบอร์เดียว บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ จะทำให้เป็นทางเลือกให้ชาวบ้านได้เลือกคนที่รัก พรรคที่ชอบได้ และยังทำให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คำนวณคะแนนได้ง่ายขึ้นด้วย เรียกว่ายิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว แก้ปัญหาความสับสนของประชาชนในการเข้าคูหาลงคะแนนเลือกตั้ง เพราะบางครั้งผู้สมัครที่ได้ใจคนในพื้นที่ก็ไม่ได้สังกัดพรรคที่เขาอยากลงคะแนนให้ นอกจากนี้ ยังสามารถจะแก้ปัญหาการนับคะแนนของ กกต.ที่ล่าช้าในบางกรณี จนถูกสังคมวิจารณ์เรื่องบัตรเขย่ง เพราะมีเงื่อนไขการคำนวณคะแนน ส.ส.บัญชีรายชื่อที่ซับซ้อนมากเกินไป
นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม ส.ว.กลุ่มอิสระ กล่าวว่า เห็นด้วยกับกระบวนการที่ ส.ส.ฝ่ายค้านเข้าชื่อเสนอแก้ไขตามช่องทางของรัฐธรรมนูญ? มาตรา 256 ส่วนเนื้อหานั้นต้องขอพิจารณาในเหตุผลของแต่ละญัตติที่เสนอมาก่อน แต่เนื้อหาของร่างแก้ไขที่เกี่ยวกับ ส.ว. อาทิ การตัดอำนาจพิจารณาผลงานการปฏิรูปนั้น รัฐธรรมนูญสร้างเงื่อนไขให้ ส.ว.ต้องดำเนินการ เช่น ติดตามงานปฏิรูป ซึ่งสอดคล้องกับบทบาทที่ให้ลงมติเลือกบุคคลเป็นนายกฯ? เพื่อสานต่องานปฏิรูปให้สำเร็จ ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่ ส.ว.จะพิจารณาตัดหน้าที่ตัวเอง เหมือนกับคนที่เป็นนายอำเภอจะสนับสนุนกฎหมายยกเลิกนายอำเภอไม่ได้ ดังนั้น ส.ว.ที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ทำหน้าที่เพื่อประเทศ ต้องทำหน้าที่ดังกล่าวเพื่อบ้านเมือง ส่วนกระแสกดดันจากภายนอก เชื่อว่าไม่มีผลต่อการตัดสินใจ เพราะ ส.ว.ต้องเป็นหลักของบ้านเมือง
อย่างไรก็ตาม ไม่เห็นด้วยที่จะให้มี ส.ส.ร.ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ เพราะเท่ากับเป็นกระบวนการที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งกำหนดบทให้แก้ไขเพิ่มเติมเท่านั้น ไม่ใช่รื้อรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ นอกจากนั้นกลไกของ ส.ส.ร.ทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณระดับหมื่นล้านบาท และใช้เวลานานกว่า 2-3 ปี อีกทั้งถ้าให้ ส.ส.ร.ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดยไร้กรอบอาจทำให้เกิดปัญหาขัดแย้งได้
ฝ่ายค้านเดินเกมพลาด
นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า ไม่ทราบเจตนาของพรรคฝ่ายค้านที่ยื่นญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญอีก 4 ญัตติ เป็นการแยกรายประเด็น ซึ่งการกระทำดังกล่าวนั้นอาจทำให้เสียพลังต่อการลงมติเห็นด้วยต่อเนื้อหาที่เกิดขึ้น ทั้งนี้จากการฟังเสียงของ ส.ว.ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการแก้ไขโดยลดอำนาจของ ส.ว.ในการโหวตนายกฯ ซึ่งตนเห็นด้วย ส่วนญัตติที่ตัดอำนาจของ ส.ว. ว่าด้วยการเสนอแนะ เร่งรัด และติดตามการปฏิรูปนั้น ไม่เห็นข้อดีหรือสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างแก้ไข หรือไม่แก้ไข และเป็นเรื่องที่จำเป็นเร่งด่วนต้องแก้ไขหรือไม่
“แม้ญัตติที่รัฐสภาจะพิจารณาสามารถแยกลงมติตามญัตติได้ แต่จะทำให้พลังของการออกเสียงแตกแยกมากยิ่งขึ้นเมื่อเทียบกับการเสนอแก้ไขเป็นญัตติเดียว ผมยืนยันในหลักการเดิม แต่เมื่อมีประเด็นใหม่เกิดขึ้น เชื่อว่า ส.ว.ต้องคุยกันในกลุ่มของตนเองมากขึ้น และเท่าที่ฟัง ส.ว.มีความเห็นเป็นอิสระ ดังนั้นต้องคิดวิเคราะห์ให้ดีก่อนจะมีความเห็นไปในทางใดทางหนึ่ง” นายวันชัยระบุ
สำหรับญัตติที่ยื่นให้แก้ไขมาตรา 279 ว่าด้วยการรับรองความชอบธรรมตามกฎหมายของคำสั่งและประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นั้น อาจเป็นประเด็นขัดแย้งจนกระทบต่อกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ เพราะการลงมติแก้ไขต้องอาศัยเสียงสนับสนุนของพรรคร่วมรัฐบาลด้วย ดังนั้นการแก้ไขมาตรา 279 เชื่อว่าจะเป็นการวางยุทธศาสตร์ของพรรคฝ่ายค้านที่ผิดพลาด เช่นเดียวกับที่ขอแก้ไขมาตรา 159 ที่กำหนดให้สภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบบุคคลเป็นนายกฯ ตามบัญชีของพรรคการเมือง ซึ่งต้องกำหนดไว้เพื่อไม่ให้เกิดวิกฤติ
นายวุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า การแก้รัฐธรรมนูญทุกเรื่องมีผู้เล่นอยู่ 4 กลุ่ม คือ ประชาชน พรรคการเมือง รัฐบาล และ ส.ว. ฉะนั้นประเด็นที่จะให้เห็นพ้องต้องกัน จึงมีกลุ่มคนเหล่านี้เป็นสำคัญ คิดว่ากลไกสำคัญของความเห็นที่แตกต่าง ทางออกของประชาธิปไตยคือการมีพื้นที่ให้พูดคุยและหาทางออกร่วมกัน ว่าตกลงอะไรที่ได้ทันทีในระยะสั้น และอะไรที่ต้องรอในระยะยาว ทั้งนี้ ความต้องการทั้งหมดนี้ไม่สามารถที่จะบรรลุและทำได้ในเวลาอันสั้น เพราะทุกอย่างมีกลไกและกติกาอยู่แล้ว
นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เฟซบุ๊กไลฟ์ peace talk ว่า การแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 256 หรือมาตรา 272 ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องได้เสียง ส.ว.มาร่วมหนุนด้วย โดยเฉพาะนายวันชัยที่เสนอคำถามพ่วงให้วุฒิสภาโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ต้องแสดงความรับผิดชอบเป็นรูปธรรม ด้วยการชวนเพื่อน ส.ว.ให้ได้ 84 คน พร้อมประกาศสัจจะต่อประชาชนว่าจะโหวตแก้มาตรา 272 ซึ่งดูสถานการณ์แล้วกรณีนี้จะเป็นปัญหา และน่าจะเดินไปไม่ถึง ดังนั้นถ้านายกฯ ต้องการแก้ไขปัญหาคราวนี้ และเดินยากกันแบบนี้ ตนว่ายุบสภาดีกว่า คืนอำนาจให้ประชาชนเป็นทางออกที่ดีที่สุด แล้วสั่งวุฒิสภาไม่ให้โหวตสวนเสียงข้างมากของสภาผู้แทนราษฎร พร้อมทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญในวันเลือกตั้งในคราวเดียวกัน
ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีเพิ่งเห็นชอบหลักการร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ตามที่ กกต.เสนอ เมื่อการประชุม ครม.สัปดาห์ที่ผ่านมา หากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญและทำประชามติจะได้ปฏิบัติตามร่างกฎหมายดังกล่าว โดย ครม.ได้ส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาดำเนินการตามขั้นตอนก่อนที่จะเสนอให้สภาพิจารณาต่อไป ทั้งนี้ ขอให้มั่นใจว่า กกต.จะดำเนินการภายในเวลาที่กำหนดได้อยู่แล้ว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |