ผงะ! นักบอลไทยลีกชาวอุซเบกิสถานสังกัดสโมสรบุรีรัมย์ติดเชื้อโควิด หลังกักตัวแล้ว 14 วัน ขณะที่ "หมอยง" ชี้ติดมาจากประเทศต้นทาง เฝ้าระวัง 3 จุดเสี่ยง สนามฟุตบอล-บินดอนเมือง-สนามบินสุวรรณภูมิ จุฬาฯ เผยวัคซีนโควิดจากใบยาสูบได้ผลดี ด้านหมอธีระวัฒน์เผยดีเอ็นเอคนไทยมีของดี
เมื่อวันที่ 11 ก.ย. เวลา 11.30 น. ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เปิดเผยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทยว่า พบผู้ป่วยรายใหม่ 7 ราย ในสถานที่กักตัวของรัฐ มียอดผู้ป่วยยืนยันสะสมอยู่ที่ 3,461 ราย มียอดสะสมของผู้ที่รักษาหายแล้วอยู่ที่ 3,312 ราย จำนวนผู้เสียชีวิตสะสมยังคงที่ 58 ราย รักษาตัวในโรงพยาบาล 91 ราย สำหรับผู้ป่วยรายใหม่ รายที่ 1 มาจากรัสเซีย เป็นนักเรียนชายสัญชาติรัสเซีย อายุ 14 ปี เดินทางมาถึงไทยวันที่ 31 ส.ค. เที่ยวบินเดียวกับผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้า 2 ราย เข้าพักในสถานที่กักตัวแบบทางเลือกในกรุงเทพฯ และตรวจหาเชื้อครั้งที่ 2 วันที่ 9 ก.ย. ผลตรวจพบเชื้อ ไม่มีอาการ
รายที่ 2-4 เดินทางมาจากซาอุดีอาระเบีย เป็นเด็กหญิงไทยอายุ 2 ขวบ นักเรียนชายไทยอายุ 8 ขวบ และชายไทยอายุ 45 ปี อาชีพรับจ้างทั่วไป เดินทางถึงไทยวันที่ 5 ก.ย. เที่ยวบินเดียวกับผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้า 5 ราย เข้าพักในสถานที่กักตัวของรัฐในกรุงเทพฯ และตรวจหาเชื้อครั้งที่ 1 วันที่ 9 ก.ย. ผลตรวจพบเชื้อ ทั้งหมดไม่มีอาการ
รายที่ 5-7 เดินทางมาจากอินเดีย เป็นหญิงไทยอายุ 33 ปี นักศึกษาชายไทยอายุ 31 ปี และชายสัญชาติอินเดีย อายุ 33 ปี อาชีพวิศวกร เดินทางมาถึงไทยวันที่ 6 ก.ย. เที่ยวบินเดียวกับผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้า 2 ราย โดยคนไทยเข้าพักในสถานที่กักตัวของรัฐ จ.ชลบุรี และชายชาวอินเดีย เข้าพักในสถานที่กักตัวแบบทางเลือกในกรุงเทพฯ และตรวจหาเชื้อครั้งที่ 1 ในวันที่ 9 ก.ย. ผลตรวจพบเชื้อ ทั้งหมดไม่มีอาการ
สำหรับสถานการณ์ทั่วโลก ยอดผู้ติดเชื้อรวม 28,324,665 ราย อาการรุนแรง 60,753 ราย รักษาหายแล้ว 20,339,090 ราย เสียชีวิต 913,908 ราย ส่วนเที่ยวบินนำคนไทยตกค้างกลับประเทศ วันที่ 11 ก.ย. จำนวน 64 คน จากเยเมนและเอธิโอเปีย ขณะวันที่ 12 ก.ย. จำนวน 300 คน จากศรีลังกา-มัลดีฟส์ และเยอรมนี
สธ.แถลงนักฟุตบอลติดโควิด
วันเดียวกัน ในเวลา 17.00 น. ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค, นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์, นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป และ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงข่าวยืนยันกรณีพบนักฟุตบอลติดเชื้อโควิด-19 จากการตรวจคัดกรองก่อนไทยลีก 2020-21 เตรียมกลับมาลงสนามนัดที่ 5 ในวันที่ 12 ก.ย.
นพ.โอภาสกล่าวว่า จากการตรวจคัดกรองก่อนไทยลีกว่าหลังจากมีการลงนามเอ็มโอยูร่วมกับสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ร่วมมือในการตรวจคัดกรองนักกีฬาฟุตบอลไทยลีกและผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อตรวจหาเชื้อก่อโรคโควิด-19 ด้วยวิธีอาร์ทีพีซีอาร์ ก่อนไทยลีกจะเปิดจะมีการตรวจผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดคือ ผู้ตัดสิน 114 คน ประเมินผู้ตัดสิน 31 คน ผู้ควบคุมการแข่งขัน 31 คน ทีมฟุตบอลไทยลีก 1 และ 2 อีก 28 ทีม รวมทั้งหมด 1,115 คน ขณะที่การตรวจต้องตรวจเป็นระยะ อย่างน้อยที่สุดตรวจก่อนเริ่มแข่งและช่วงปิดฤดูกาล และปรับตามสถานการณ์ตามความเหมาะสม เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานสากล
นพ.โอภาสกล่าวว่า โดยผลรอบแรกที่ดำเนินการเสร็จสิ้น 1,115 คน ไม่พบเชื้อ 1,114 คน พบเชื้อ 1 คน ซึ่งเราใช้วิธีมาตรฐาน โดยในรายที่พบเชื้อเราใช้น้ำยาสองแล็บแตกต่างกัน ผลจึงมีความแม่นยำสูง ซึ่งในรายนี้เราตรวจถึง 2 ยีน พบเชื้อไม่เยอะ แต่เชื้อติดคนอื่นได้ไหม เราต้องเอาเชื้อไปเพาะเลี้ยง แต่เท่าที่ตรวจสอบผู้สัมผัสเสี่ยงสูงยังไม่พบเชื้อ ขณะเดียวกันเราต้องเอาข้อมูลการถอดรหัสของผลจากอุซเบกิสถานเพื่อเอาเชื้อมาเทียบเคียงกัน เป็นวิธีพิสูจน์ว่าเขาติดเชื้อมาจากที่ไหน
ด้าน นพ.โสภณกล่าวว่า เมื่อได้รับรายงานได้มอบหมายให้ทีมสอบสวนโรคและสำนักงานสาธารณสุขและหน่วยงานในพื้นที่ดำเนินการสอบสวนอย่างเร่งด่วน ซึ่งผลการตรวจสอบผู้ติดเชื้อรายนี้ เป็นเพศชาย อาชีพนักฟุตบอลชาวอุซเบกิสถาน อายุ 29 ปี รายนี้ได้รับอนุญาตให้เข้าไประเทศไทยเนื่องจากมีใบอนุญาตทำงานและได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ ศบค.กำหนด ได้แก่ ตรวจหาเชื้อก่อนเดินทาง 72 ชั่วโมง
"รายนี้ได้ไปตรวจเมื่อวันที่ 11 ส.ค. ที่ประเทศอุซเบกิสถานให้ผลลบ จึงได้รับอนุญาตให้เดินทางถึงไทยวันที่ 13 ส.ค. ได้รับการตรวจคัดกรองจากสนามบินสุวรรณภูมิ ไม่มีไข้ และถูกส่งตัวไปสถานที่กักกันของรัฐที่โรงแรมอนันทราริเวอร์ไซด์ กทม. 13-27 ส.ค. ปกติดี ผลตรวจไม่พบเชื้อ SARS-CO-V-2 ทั้ง 2 ครั้ง เมื่อครบการกักกันและผลเป็นลบ ทางสโมสรบุรีรัมย์ฯ จึงส่งรถตู้และคนขับ 1 คนมารับไปที่ จ.บุรีรัมย์ โดยไม่ได้หยุดระหว่างทางและสวมหน้ากากอนามัย เมื่อถึงได้เข้าพักสถานที่ที่สโมสรจัดให้" นพ.โสภณระบุ
นพ.โสภณกล่าวต่อว่า โดยกิจวัตรประจำวัน 28-9 ก.ย. ช่วงเช้าอยู่ที่บ้าน ซักประวัติมักตื่นสาย ไม่ได้ทานอาหารที่บ้าน มีเพื่อนนักเตะชาวต่างชาติใกล้ชิด 3 คน ช่วงเย็นเพื่อนกลุ่มเดิมจะเดินทางไปฝึกซ้อมฟุตบอลที่สนาม ใช้เวลาแต่งตัวในห้องไม่เกิน 30 นาที เป็นช่วงที่ไม่ได้สวมหน้ากากอนามัย จากนั้นไปฝึกซ้อมฟุตบอลประมาณ 1 ชั่วโมง จากนั้นกลับด้วยรถยนต์ส่วนตัว
ผอ.กองโรคติดต่อทั่วไประบุด้วยว่า จากนั้นวันที่ 8 ก.ย. ตรวจหาเชื้อ พบเชื้อ SARS-CO-V-2 แต่เพื่อนที่ตรวจในวันเดียวกัน 41 คนไม่พบเชื้อ ส่วนกิจกรรมอื่นที่เกี่ยวข้องวันที่ 30 ก.ย.และ 5 ก.ย.แข่งฟุตบอลนัดอุ่นเครื่องกับทีมราชบุรีและทีมขอนแก่นที่สนามช้างอารีน่า และวันที่ 10 ก.ย. เก็บตัวที่แคมป์ อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ เดินทางด้วยสายการบินแอร์เอเชีย FD 3521 ไม่เกิน 1 ชั่วโมงมาถึงสนามบินดอนเมือง ระหว่างบนเที่ยวบินผู้โดยสารทุกคนสวมหน้ากากและไม่มีการรับประทานอาหาร จากนั้นนั่งรถบัสไปสถานที่เก็บตัว
"โดยวันดังกล่าวเมื่อทราบผลแล็บออกก็แยกอยู่คนเดียว ส่วนการดำเนินการของทีมสอบสวนโรคได้เก็บตัวอย่างซ้ำจากผู้ใกล้ชิด คือนักฟุตบอล 22 ราย สตาฟฟ์ในทีม 21 ราย รวม 43 ราย เพื่อตรวจหาเชื้อ จากนั้นจะสอบสวนและหาผู้สัมผัสเพิ่มเติมอีก 27 คน และอาจมีผู้โดยสารอื่นด้วย รวมถึงผู้สัมผัสที่อาจพบในร้านอาหารและที่อื่นๆ ที่ผู้ติดเชื้อเกี่ยวข้อง" นพ.โสภณกล่าว
เมื่อถามว่าผู้ที่มีความเสี่ยงสูงและเสี่ยงต่ำมีทั้งหมดกี่คน นพ.โสภณกล่าวว่า ด้วยนักเตะรายนี้พูดภาษาไทยไม่ได้และภาษาอังกฤษได้เล็กน้อย กิจกรรมของเขาหลังกักตัว 14 วัน ส่วนใหญ่ปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนนักเตะต่างชาติ 3 คน ส่วนนักเตะไทยปฏิสัมพันธ์น้อย และสตาฟฟ์ทุกคนก็ยังไม่พบความผิดปกติ
หมอยงชี้ติดจากปท.ต้นทาง
ขณะที่ ศ.นพ.ยงกล่าวว่า ผู้ติดเชื้อรายนี้คาดว่าน่าจะติดเชื้อจากประเทศต้นทาง ซึ่งไม่มีอาการ และเป็นการพบเชื้อในลักษณะตรวจเชื้อเชิงรุกก่อนการแข่งขัน แตกต่างจากการพบการติดเชื้อในเมืองดานัง ประเทศเวียดนาม ที่พบผู้ติดเชื้อด้วยอาการปอดปวมและเข้ารักษาในโรงพยาบาล เมื่อพบติดเชื้อ เชื้อแพร่ระบาดไปมากแล้ว แต่ในขณะนี้ยังพบว่านักฟุตบอลรายนี้ยังมีเชื้อที่น้อย แต่ยังคงต้องติดตามกลุ่มเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นที่สนามฟุตบอล สนามบินดอนเมือง และสนามบินสุวรรณภูมิ
"จากข้อมูลระยะฟักตัวของคนไข้ ตั้งแต่รับเชื้อจนมีอาการหรือตรวจพบเชื้อ โดยทั่วไปส่วนใหญ่ 2-7 วัน และเริ่มมีส่วนน้อยพบหลัง 7-14 วัน ซึ่งระยะฟักตัวมากกว่า 14 วันได้ เพราะระยะฟักตัวถึง 14 วันพบผู้ป่วยได้ 95 เปอร์เซ็นต์ และมีอีกจำนวนหนึ่งแสดงอาการหลัง 14 วันได้ บางประเทศจึงยึดการกักตัวถึง 21 วัน แต่ก็ไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่โอกาสที่ตรวจพบอาจเหลือน้อยกว่า 1 เปอร์เซ็นต์ หากดูไทม์ไลน์ของเขาหากบอกว่าติดมาตั้งแต่อุซเบกิสถาน เมื่อมาไทยตรวจครั้งแรกวันที่ 15-16 ส.ค. ไม่พบ มาตรวจครั้งที่ 2 วันที่ 25-26 ส.ค. อยู่ในเกณฑ์ 15-16 วันก็ตรวจไม่พบ เมื่อตรวจหลังจากนี้แล้วพบก็มีความเป็นไปได้ ทั้งนี้ หากขยับไป 21 วันค่าใช้จ่ายสูงเมื่อเปรียบเทียบความคุ้มค่าไม่ได้ เกณฑ์ทั่วไปจึงใช้ 14 วันที่เป็นมาตรฐาน และ 14 วันที่บ้านรวม 28 วัน เป็นเหตุผลในการควบคุมโรคได้ตามมาตรฐานสากล" ศ.นพ.ยงกล่าว วันเดียวกัน ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา เตชคุณวุฒิ อาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์ และ CEO & Co Founder บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด ผู้ร่วมคิดค้นวัคซีนป้องกัน Covid-19 จากใบพืชตระกูลยาสูบ กล่าวถึงความคืบหน้าของวัคซีนป้องกัน Covid-19 จากใบยาสูบ สปีชีส์ "N, benthmion" ผลงานจากบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด ว่าปัจจุบันได้พัฒนาวัคซีนป้องกันโควิดต้นแบบ 6 ชนิด วัคซีนต้นแบบชนิดแรก "Baiya SARS-COV-2 Vax 1" ได้รับการนำไปฉีดในสัตว์ทดลองและดำเนินการเสร็จสิ้นในขั้นตอนของการทดลองในสัตว์ทดลองทั้ง 2 ชนิด ได้แก่หนูขาวและลิง
ผศ.ภญ.ดร.สุธีรากล่าวต่อว่า ซึ่งผลที่ได้อยู่ในระดับที่น่าพอใจสามารถกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันในสัตว์ทดลองทั้ง 2 ชนิดได้ในปริมาณสูงจากการฉีดวัดชีนเพียง 2 ครั้ง โดยขั้นตอนต่อจากนี้ จะมีการทดสอบวัคซีนในหนูอีกครั้ง เพื่อทดสอบความเป็นพิษหรือผลข้างเคียงต่ออวัยวะต่างๆ โดยละเอียด จากการทดสอบดังกล่าว ทำให้จะสามารถกำหนดปริมาณและขนาดของวัคซีนที่จะนำไปใช้ศึกษาในมนุษย์ต่อไปได้ ทั้งนี้ จะมีการตรวจสอบภูมิคุ้มกันของลิงหลังจากได้รับวัคซีนไปแล้ว 6 เดือน เพื่อให้แน่ใจว่าลิงยังคงมีแอนติบอดีต่อเชื้อโควิด-19 อยู่หรือไม่ ซึ่งจะนำไปสู่ข้อสรุปว่าวัคซีนดังกล่าวนี้ สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ในระยะยาวได้เป็นผลสำเร็จ
จุฬาฯชี้ดีเอ็นเอคนไทยมีดี
ด้าน ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า การทดลองในคนที่จะมีขึ้นกลางปี 64 หรือในอีก 9 เดือนข้างหน้า ถือว่าสร้างโอกาสให้คนไทย เพราะขณะนี้ทั่วโลกกำลังทดสอบวัคซีน แต่ไม่รู้ว่าปลอดภัยหรือไม่ และครอบคลุมพันธุกรรมไวรัสที่ผันแปรหรือไม่ เพราะไวรัสโควิดเมื่อเข้าตัวมนุษย์ และไปสู่อีกคน จะมีการผันแปรพันธุกรรมให้ไม่เหมือนเดิม ถ้าวัคซีนโควิดจำลูกหลานตัวเองไม่ได้ ฉีดแล้วก็ไม่มีผลในการป้องกัน จูงมือเชื้อเข้าเซลล์ เม็ดเลือดขาวในคนก็จะถูกกระตุ้น ทำให้ร่างกายเกิดการอักเสบ ตรงนี้ถือว่าอันตราย
"ดังนั้นหน่วยความจำจึงมีความสำคัญมาก ซึ่งพบว่าคนที่หายจากโควิด หลังจากนั้น 60 วันต่อมา แขนขาเกิดอัมพาต ตากรอกไม่ได้ ซึ่งเกิดในต่างประเทศหลายราย และในไทย 1 ราย ตอนนี้รักษาอยู่ที่ รพ.จุฬาฯ ส่วนสาเหตุที่ป่วยภายหลัง เพราะโควิดส่งผ่านล่อลวงร่างกาย ให้คิดว่าเส้นประสาทเป็นเชื้อโรค จึงทำลาย เส้นประสาท ดังนั้นวัคซีนที่ผลิตออกมาจะต้องป้องกันตรงนี้ด้วย" ศ.นพ.ธีระวัฒน์กล่าว
ศ.นพ.ธีระวัฒน์กล่าวอีกว่า จากการลงพื้นที่สำรวจของ ศ.นพ.ดร.นรินทร์ หิรัญสุทธิกุล รองอธิการบดีจุฬาฯ พบว่าคนไทยมีของดีในตัว ซึ่งต้องยอมรับว่าไทยมีการติดเชื้ออยู่ระดับหนึ่งโดยไม่มีอาการ ทีมของจุฬาฯ ได้ติดตามผู้ติดเชื้อในต่างจังหวัดกลุ่มหนึ่งตั้งแต่เดือนเมษายน-เดือนกันยายน ซึ่งพบคนกลุ่มนี้ว่ามีการติดเชื้อ แต่ไม่ได้แสดงอาการ และเชื้อหายไปเอง
"ซึ่งสันนิษฐานว่าคนไทยน่าจะมีของดีอยู่ในตัว หรือได้รับเชื้อโควิดมาตั้งแต่สมัยปู่ย่ามาก่อน พอได้รับเชื้อ เชื้อไม่เข้าร่างกายหรือถูกทำลายไป เรื่องนี้เราไม่ได้มีพูดลอยๆ มีหลักฐานในพื้นที่หนึ่ง ซึ่งนักวิจัยต่างประเทศกำลังจับตาว่าเรามีภูมิคุ้มกันหรือไม่ เพราะว่าคนไทยไม่เหมือนยุโรป สหรัฐอเมริกา หรือคนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อื่นๆ ฉะนั้นเรามีของดี จึงต้องรักษาของดีไว้" ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ระบุ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |