ม.หัวเฉียวฯต้นแบบสถาบันอุดมศึกษาปลอดบุหรี่ขยายผล164มหาวิทยาลัย


เพิ่มเพื่อน    

 

        จับมือกันสร้างพลังสังคมไทยไร้ควัน เริ่มจากมหาวิทยาลัยสู่ชุมชนสู่สังคม สสส.ปลื้มโครงการ มหาวิทยาลัยปลอดบุหรี่ 100%ม.หัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติขยายผลสำเร็จ 164 สถาบันอุดมศึกษา กระตุ้นป้องกัน นักสูบหน้าใหม่ ปี 64 มุ่งเป้ามหาวิทยาลัยที่ไม่มีคณะแพทย์ ชู ม.หัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ต้นแบบสถาบันอุดมศึกษาปลอดบุหรี่ แก้ปัญหานักศึกษาติดบุหรี่ ผ่านกระบวนการบำบัดได้ผล 90%

            บุหรี่คือต้นทางของการก้าวสู่สารเสพติดที่ร้ายแรงชนิดอื่นๆ เป็นอันตรายต่อตัวผู้เสพเอง และยังส่งผลกระทบถึงคนรอบข้างที่ต้องรับพิษภัยจากควันบุหรี่มือสองด้วย ความรุนแรงจากควันบุหรี่ยังส่งผลให้เด็กและผู้ใหญ่ที่แพ้ควันบุหรี่เข้าโรงพยาบาลฉุกเฉินด้วยภาวะหอบเฉียบพลันจากควันบุหรี่ 67% บุหรี่ยังส่งผลกระทบมากมายต่อสังคม เศรษฐกิจ ค่าใช้จ่ายที่จะตามมาในการดูแลผู้ป่วยด้วยโรคที่สืบเนื่องมาจากบุหรี่มากมายหลายโรค

            มหาวิทยาลัยปลอดบุหรี่เป็นโครงการที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้การสนับสนุนและพัฒนาแนวทางการดำเนินงานเพื่อป้องกันเยาวชนนักสูบหน้าใหม่ จากจุดเริ่มต้นมีมหาวิทยาลัย 17 แห่งเข้าร่วมโครงการ โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยที่เกี่ยวกับคณะวิทยาศาสตร์สุขภาพ การรวมพลังให้เป็นมหาวิทยาลัยปลอดบุหรี่ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจของหลายฝ่าย โดยเฉพาะผู้บริหารที่จะต้องเป็นหัวเรือใหญ่ขับเคลื่อนโครงการ แต่ละมหาวิทยาลัยต่างก็มีกลยุทธ์เพื่อให้เยาวชนไทยได้ตระหนักถึงพิษภัยของควันบุหรี่ และเรียนรู้ที่จะเคารพสิทธิของตนเองและผู้อื่นอันเป็นหลักพื้นฐานของการอยู่ร่วมกันในสังคม

            นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ คณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และประธานคณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 1 สสส. ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วย ผจก.กองทุน สสส. รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ รักษาการ ผอ.สำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. และคณะกรรมการบริหารแผนฯ คณะที่ 1 สสส. ร่วมกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาปลอดบุหรี่ ที่มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ จ.สมุทรปราการ เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม

            นพ.คำนวณกล่าวว่า สสส.ดำเนินโครงการมหาวิทยาลัยปลอดบุหรี่ร่วมกับสถาบันอุดมศึกษาและภาคีเครือข่ายมาตั้งแต่ปี 2557 เพื่อลดปัญหานักสูบหน้าใหม่ จากข้อมูลสถานการณ์การสูบบุหรี่ในเยาวชนปี 2560 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบเยาวชนไทยมีแนวโน้มสูบบุหรี่เพิ่มขึ้น อายุเริ่มสูบน้อยลง โดยกลุ่มอายุ 19-24 ปี มีอัตราการสูบบุหรี่เพิ่มขึ้นจากปี 2558 จากร้อยละ 20.2 เพิ่มเป็นร้อยละ 20.4 ในปี 2560 โดยปัจจัยที่ทำให้นักสูบอายุน้อยลงมาจากอุตสาหกรรมยาสูบใช้สื่อออนไลน์ทำการตลาดเพื่อเพิ่มยอดขาย โดยเฉพาะบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งสอดคล้องกับผลสำรวจการศึกษาการตลาดในธุรกิจยาสูบ ที่พบเยาวชนสูบบุหรี่ถึงร้อยละ 45 ในจำนวนนี้สูบบุหรี่ไฟฟ้าร้อยละ 30.5 และเริ่มต้นสูบบุหรี่ตั้งแต่อยู่ชั้นประถมศึกษา โดยอุตสาหกรรมยาสูบมักทำการตลาดส่งเสริมการขายและโฆษณาผ่านสื่อออนไลน์ เพราะเป็นช่องทางที่เข้าถึงเยาวชนง่าย และเป็นวัยที่อยากรู้ อยากลอง

            นพ.คำนวณกล่าวว่า ปัจจุบัน สสส.สามารถขยายโครงการมหาวิทยาลัยปลอดบุหรี่ มีสถาบันอุดมศึกษาเข้าร่วมทั้งสิ้น 164 แห่ง โดยมหาวิทยาลัยหัวเฉียวฯ จ.สมุทรปราการ ที่มีความโดดเด่นเรื่องการสร้างการมีส่วนร่วมจากบุคลากรและนักศึกษา ที่ให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามการจัดพื้นที่ปลอดควันบุหรี่ โดยในปี 2564 สสส.เตรียมยกระดับโครงการมหาวิทยาลัยปลอดบุหรี่ โดยมุ่งเน้นการให้ความรู้เท่าทันเรื่องผลิตภัณฑ์ยาสูบรูปแบบใหม่มากขึ้น ส่งเสริมการจัดตั้งระบบคัดกรอง บำบัด ฟื้นฟู ผู้ต้องการเลิกบุหรี่ให้ต่อเนื่อง พร้อมขยายการทำงานไปยังมหาวิทยาลัยที่ไม่มีหลักสูตรทางการแพทย์มากขึ้น เช่น คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ ฯลฯ

            “สสส.ขอชื่นชมและขอบคุณมหาวิทยาลัยหัวเฉียวและมหาวิทยาลัยอื่นๆ ที่ต้องการให้นักศึกษามีสุขภาพที่ดีและร่วมมือกันที่จะสร้างมหาวิทยาลัยปลอดบุหรี่ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาเห็นผลงานที่น่าพึงพอใจ การเปลี่ยนแปลงต้องใช้เวลา ไม่ได้เห็นผลอย่างรวดเร็ว ขอบคุณนักศึกษารุ่นพี่ที่ช่วยเหลือรุ่นน้องให้เลิกบุหรี่ได้ ต่อไปจะขยายโครงการออกไปยังมหาวิทยาลัย 300 แห่งผ่านเครือข่าย”

            นพ.คำนวณให้สัมภาษณ์ว่า สัดส่วนของนักศึกษาที่ติดบุหรี่ในมหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชนน่าจะใกล้เคียงไม่แตกต่างกัน “ผมเคยทดลองสูบบุหรี่สมัยเป็นนักเรียนชั้นมัธยมด้วยความอยากรู้อยากลองตามประสาวัยรุ่น แต่ไม่ติดบุหรี่เป็นเพราะส่วนหนึ่งทุกคนในครอบครัวไม่สูบบุหรี่ เมื่อเข้าเรียนคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีสนามฟุตบอล มีกลุ่มกิจกรรมชมรมต่างๆ เมื่อมีเวลาว่างก็ไปทำงานกิจกรรม ก็ช่วยคลายเครียดจากการเรียนได้เยอะ

                รศ.ดร.อุไรพรรณ เจนวาณิชยานนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยหัวเฉียวฯ เข้าร่วมโครงการมหาวิทยาลัยปลอดบุหรี่ โดยกำหนดให้อาคารทุกแห่งเป็นพื้นที่ปลอดบุหรี่ จัดโซนสูบบุหรี่ตามกฎหมายกำหนด สนับสนุนกิจกรรมรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ผ่านแกนนำนักศึกษา และให้บริการคลินิกฟ้าใส เพื่อช่วยบุคลากร เจ้าหน้าที่ นักศึกษาที่ต้องการเลิกบุหรี่ให้เลิกสูบได้สำเร็จ โดยให้คำปรึกษาผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่ และส่งต่อเข้าสู่ระบบการบริการสุขภาพ ในกรณีที่มีปัญหากระทบต่อสุขภาพหรือเจ็บป่วยจากโรคที่เกิดจากบุหรี่ โดยดึงแกนนำนักศึกษาเข้าร่วมช่วยบำบัดรุ่นพี่รุ่นน้องให้เลิกบุหรี่อย่างเต็มใจและเป็นระบบ

                “ตั้งแต่เข้าร่วมโครงการ มหาวิทยาลัยปลอดบุหรี่กับ สสส. นักศึกษาของมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติให้ความร่วมมือปฏิบัติตามกฎระเบียบมากถึงร้อยละ 90 โดยพบปริมาณก้นบุหรี่ในห้องน้ำลดลงมาก มีรุ่นพี่รุ่นน้องช่วยกันสานพลังชวนกัน ลด ละ เลิกบุหรี่มากขึ้น โดยไม่ต้องผ่านการบังคับ ซึ่งทั้งหมดเกิดจากการทำกิจกรรม สร้างหลักสูตร และการออกแบบพื้นที่ห้ามสูบและสูบชัดเจน จนเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่สืบสานจากรุ่นสู่รุ่น รศ.ดร.อุไรพรรณกล่าว

            รศ.ดร.อุไรพรรณกล่าวว่า มหาวิทยาลัยหัวเฉียวฯ เป็นมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งเดียวที่รัชกาลที่ 9 พระราชทานนาม หมายถึงชาวจีนโพ้นทะเล และเสด็จฯ มาทรงเปิด พร้อมรับสั่งว่าขอให้ทำมหาวิทยาลัยแห่งนี้ให้ดี พวกเราน้อมรับพระราชกระแสรับสั่งทำมหาวิทยาลัยให้มีคุณภาพดีที่สุด มหาวิทยาลัยขนาดเล็กก่อตั้งมาแล้ว 28 ปี ขณะนี้มีนักศึกษา 7,000 คน ด้วยสถานการณ์ประชากรวัยเรียนลดลงตลอด 5 ปี และช่วงสถานการณ์โควิด นักศึกษาจีนเกือบพันคนเดินทางมาเรียนไม่ได้

            การพัฒนามหาวิทยาลัยปลอดบุหรี่อย่างยั่งยืน เมื่อปี 2561 ขอทุน สสส.ทำงานวิจัยเพื่อการพัฒนาเป็นมหาวิทยาลัยปลอดบุหรี่แทรกเข้าไปในการเรียนการสอน นักศึกษาที่เข้ามาเรียนติดบุหรี่ก็ต้องช่วยให้เขาเลิกบุหรี่ เริ่มจากเศรษฐกิจพอเพียง นักศึกษาใหม่ก็ต้องสกรีนให้เป่าตรวจคาร์บอนมอนอกไซด์ดูว่าติดบุหรี่มากน้อยแค่ไหน ปรับทัศนคติ สร้างความตระหนักให้รู้ถึงโทษพิษภัยบุหรี่ แนะนำให้รู้จักคลินิกฟ้าใส ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อแนะนำให้นักศึกษาเลิกบุหรี่ ให้เลิกบุหรี่ได้ภายใน 4 ปีที่เรียนอยู่ในมหาวิทยาลัย

            อ.ฉลอง แขวงอินทร์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ กล่าวว่า ศ.เกียรติคุณ นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรีและอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัวหัวเฉียวฯ เคยพูดว่า การทำให้มหาวิทยาลัยปลอดบุหรี่ได้นั้นให้ทำอย่างต่อเนื่อง อย่าทำแบบจุดพลุล่องลอย ต้องทำให้มีสุขภาวะทุกสิ่งทุกอย่าง ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข การสร้างบรรยากาศสิ่งแวดล้อม

            ทางมหาวิทยาลัยต้องการคุ้มครองสิทธินักศึกษาที่ไม่สูบบุหรี่ รวมทั้งบุคลากร อาจารย์ เจ้าหน้าที่ พนักงานรักษาความปลอดภัยในมหาวิทยาลัย เพราะควันบุหรี่ของคนสูบบุหรี่ลอยไปในอากาศ มีผลกระทบต่อคนไม่สูบบุหรี่ ขณะเดียวกันการเลิกบุหรี่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องหักดิบ การจัดการจึงเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ที่จะต้องเคารพสิทธิของบุคคลอื่นด้วย การที่ นศ.เข้าไปสูบในห้องน้ำแล้วควันบุหรี่ก็ลอยเข้าไปในฝ้าเพดาน เข้าไปในห้องของอาจารย์ซึ่งเป็นโรคภูมิแพ้อยู่แล้ว ถึงกับเป็นลมล้มฟุบคาห้องต้องนำตัวส่งโรงพยาบาล

            “รปภ.คนหนึ่งของมหาวิทยาลัยเป็นลูกจ้างรายวัน เคยสูบบุหรี่วันละ 2 ซอง ต้องซื้อบุหรี่เดือนละ 3,000 บาท แต่ปัจจุบันเลิกบุหรี่ได้แล้ว ขณะนี้ทางมหาวิทยาลัยมีการพิจารณารับบุคลากรมีการซักประวัติด้วยว่าติดบุหรี่ไหม เพื่อจะได้บุคลากรที่ไม่สูบบุหรี่ตั้งแต่เริ่มต้น เพื่อเป็นตัวอย่างสำหรับเด็กนักศึกษาด้วย ขณะเดียวกันถ้านักศึกษาและบุคลากรบางคนยังไม่สามารถเลิกบุหรี่ได้ มีการกำหนดสถานที่สูบบุหรี่ แต่ถ้าไปสูบบุหรี่ในที่ห้ามสูบจะมีมาตรการลงโทษตั้งแต่การตัดคะแนน และต้องทำงานจิตอาสาเพื่อให้ได้คะแนนกลับคืน”

            การรับนักศึกษาใหม่เข้าเรียน มีการปฐมนิเทศ มีการนำเสนอด้วยละครสอดแทรก การมีจักรยานสีขาว Walk Rally คลินิกฟ้าใส ปัญหาคือนักศึกษาเริ่มต้นสูบบุหรี่ตั้งแต่เรียนชั้นมัธยม ถ้าเราจะไม่รับนักศึกษาที่สูบบุหรี่ก็เป็นเรื่องใจร้ายจนเกินไป ดังนั้นต้องใช้วิธีการเยียวยาเชิงลึก สอบถามว่าติดบุหรี่เพราะอะไร จะได้ช่วยแก้ไขปัญหาในเชิงลึกได้ การทำงานต้องไม่ฉาบฉวย ส่วนใหญ่นักศึกษาที่ติดบุหรี่จะมากันเป็นกลุ่ม มาจาก รร.เดียวกัน เริ่มต้นเพื่อนชวนสูบก็ทดลองแล้วติด เมื่อติดบุหรี่แล้วก็ติดเหล้าด้วย เพราะทั้งสองอย่างจะคู่กัน เด็กที่เข้ามาใหม่จะติดบุหรี่เป็นสัดส่วน 10:1 นักศึกษาที่นี่เรียนสายวิทยาศาสตร์สุขภาพ ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงถึง 80% นักศึกษาชายและเพศที่ 3 จำนวน 20%.

 

 

 

อ.ชิดชนก สิทธารถศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานักศึกษา มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ

                การดูแล นศ.ที่ติดบุหรี่แจ้ง อ.ที่ปรึกษา ให้คำปรึกษาเชิงจิตวิทยา การทำจิตอาสา การทำโครงการรณรงค์ต้านอบายมุข ที่ผ่านมามีการตัดคะแนนความประพฤติ พ.ศ.2558 จำนวน 60 คน (ตักเตือน 58 คน ตัดคะแนน 2 คน) พ.ศ.2559 จำนวน 38 คน พ.ศ.2560 จำนวน 6 คน พ.ศ.2561-2563 จำนวน 0 คน ผลจากการทำงานได้รับรางวัลนวัตกรรมปลอดบุหรี่ประจำปี 2562 รางวัลเกียรติยศระดับมหาวิทยาลัยปลอดบุหรี่ประจำปี 2560 รางวัลสุวรรณนคราระดับสถาบันอุดมศึกษาปลอดบุหรี่ประจำปี 2562 รางวัลที่ 1 การประกวดชมรม นศ.พยาบาลสร้างสังคมไทยปลอดบุหรี่ประจำปี 2563 มีการลงนามระหว่าง สสอท.กับเครือข่ายวิชาชีพ ดร.พรชัย มงคลวณิช อธิการบดีมหาวิทยาลัยสยาม และ นพ.วันชาติ สุดจัตุรัส

            การออกกฎห้ามมิให้ นศ.เข้าไปในแหล่งอบายมุขและร้านจำหน่ายสุราในเขตชุมชนโดยรอบมหาวิทยาลัย จึงต้องมีการตรวจชุมชนรอบมหาวิทยาลัย หากเด็กเข้าไปในร้านเหล้านอกมหาวิทยาลัยจะถูกตัดแต้ม 50 แต้ม การที่อาจารย์ทำเช่นนี้เพื่อให้เด็กตระหนักและเข้าใจการใช้ชีวิตในสังคมด้วยความห่วงใย เราเข้มงวดกับบุคลากร เจ้าหน้าที่ในการเลิกบุหรี่เพื่อเป็นตัวอย่างสำหรับเด็ก

            อาจารย์และเจ้าหน้าที่เดินตรวจและตัดคะแนนนักศึกษาที่ฝ่าฝืนสูบบุหรี่ บางคนเหลือไม่ถึง 50 แต้ม เด็กเห็นเราบี้บุหรี่เป็นกองขยะก็แอบเข้าไปสูบบุหรี่ในห้องน้ำ แม่บ้านก็มาบ่นให้ฟังว่ามีก้นบุหรี่ในอ่างล้างมือและถังชักโครก เราต้องทำให้มหาวิทยาลัยมีสิ่งแวดล้อมที่ดี นักศึกษามีคุณภาพชีวิตที่ดี ถ้ามีก้นบุหรี่อยู่ตามสถานที่ต่างๆ คนที่ไม่สูบบุหรี่ก็พลอยได้รับผลกระทบไปด้วย อาจารย์ก็จัดกิจกรรมเพื่อจูงใจเด็กที่ไม่สูบบุหรี่เข้าร่วมกิจกรรม ปรากฏว่าเด็กที่ไม่สูบเข้าร่วมกิจกรรม แต่เด็กที่สูบบุหรี่ไม่เข้าร่วม ก็ต้องมีการทำประชาพิจารณ์ เชิญนักศึกษาที่เป็นหัวโจกนำสูบบุหรี่มาพูดคุยกันเพื่อหาทางออก “ผมติดบุหรี่ตั้งแต่เรียนชั้นมัธยมแล้ว อาจารย์ห้ามผมยังไงก็เลิกไม่ได้”

            อย่างไรก็ตาม อาจารย์ก็ไม่ละความพยายามออกกฎ นศ.ที่สูบบุหรี่จะถูกตัดแต้ม ต้องทำงานจิตอาสา มาล้างห้องน้ำ เก็บเศษบุหรี่ นำเสนอบอร์ดมหาวิทยาลัย เพื่อเป็นแนวทางคุ้มครองนักศึกษาที่ไม่สูบบุหรี่ให้เป็นประกาศของมหาวิทยาลัย ถ้านักศึกษาที่สูบบุหรี่ยังฝ่าฝืนสูบบุหรี่ในจุดอื่นที่ไม่ได้จัดให้ ถูกตัดคะแนนความประพฤติ ถูกพักการเรียน และต้องพบกับแผนกแนะแนวจิตวิทยาเพื่อปรับพฤติกรรม คณะกรรมการจะมีอาจารย์จากทุกคณะวิชา ทุกหน่วยงานต้องร่วมมือกันดูแล มีการกำหนดจุดสูบบุหรี่ มีเจ้าหน้าที่เดินตรวจเป็นชุดเล็กเพื่อปราบปรามโดยไม่มีการบอกกล่าวล่วงหน้า ที่ผ่านมายังไม่มีการเดินขบวนหรือต่อต้านจาก นศ. เพราะอาจารย์จะอธิบายให้เด็กเข้าใจเสมือนหนึ่งเป็นลูกหลาน.

 

 

 

ภาพรวมคนไทยวัย15ปีสูบบุหรี่10.70ล้านคน

            ปี 2560 จำนวนประชากรไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป จำนวน 55.90 ล้านคน เป็นผู้สูบบุหรี่ 10.70 ล้านคน หรือ 19.10% ภาพรวมปี 2544-2560 อัตราการสูบบุหรี่มีแนวโน้มลดลงจาก 25.47% เป็น 19.10% ปี 2534-2560 อัตราการสูบบุหรี่ของประชากรเพศชายลดน้อยกว่าเพศหญิง เพศชายอัตราสูบบุหรี่ลดลง 36.40% เพศหญิงอัตราสูบบุหรี่ลดลง 66%

            รายงานจาก WHO ผลสำรวจในสหรัฐและบางประเทศในทวีปยุโรประบุว่า กลุ่มเยาวชนใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นในช่วงปี 2554-2561 ในสหรัฐมีอัตราการใช้บุหรี่ไฟฟ้าของเยาวชนเพิ่มขึ้นจาก 1.50% เป็น 20.80% และมีหลักฐานพบว่าเยาวชนที่ไม่เคยสูบบุหรี่เลยแต่ใช้บุหรี่ไฟฟ้าจะมีโอกาสสูบบุหรี่เพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า ยังคาดการณ์อีกว่าหากไม่มีการห้ามใช้บุหรี่ไฟฟ้าอย่างจริงจัง ใน พ.ศ.2564 จะมีคนสูบบุหรี่ไฟฟ้าทั่วโลกถึง 55 ล้านคน

            ในเมืองไทย ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) สำรวจความคิดเห็นกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยรัฐและเอกชนที่มีต่อบุหรี่ไฟฟ้าใน พ.ศ.2562 พบว่านักศึกษาเกือบทั้งหมดรู้จักบุหรี่ไฟฟ้า ที่น่าห่วงคือนักศึกษา 1 ใน 3 อยากลองสูบบุหรี่ไฟฟ้า และเกือบครึ่งมีทัศนคติที่ดีต่อบุหรี่ไฟฟ้าเมื่อเทียบกับบุหรี่ธรรมดา คิดว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายน้อยกว่าบุหรี่แบบมวน และเชื่อว่าไม่ทำให้ติด เพราะไม่มีนิโคติน ซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิด ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขกำหนดสถานที่เขตปลอดบุหรี่ในพื้นที่สาธารณะและภายในอาคาร อาคารจอดรถ จุดบริการซักอบรีด ท่าอากาศยาน 6 แห่ง ยกเลิกห้องสูบบุหรี่ภายในอาคาร จัดพื้นที่นอกอาคารที่เหมาะสมเป็นสถานที่สูบบุหรี่ เพื่อคุ้มครองสุขภาพผู้ไม่สูบบุหรี่จากควันบุหรี่มือ 2 สนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมปลอดบุหรี่ เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับอันตรายจากบุหรี่ทุกชนิด.

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"