11 ก.ย.63 - นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เฟชบุ๊คไลฟ์ peace talk เรียกร้องผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ใช้สิทธิความเป็นอาจารย์ทบทวนเปิดทางให้ลูกศิษย์สามารถจัดชุมนุมในพื้นที่มหาวิทยาลัยในวันที่ 19 ก.ย.นี้ได้ตามปกติ
นายจตุพร กล่าวว่า การไม่ให้ชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ในวันที่ 19 ก.ย. ซึ่งเป็นวันเสาร์นั้น คงมีหลายวิธีการ เช่น ไม่เปิดประตูให้เข้าพื้นที่มหาวิทยาลัยไปชุมนุม ถ้านักศึกษาเกิดแข็งขืนเข้าไปยึดพื้นที่มหาวิทยาลัยแล้ว สถานการณ์ยิ่งกระทบกระทั่ง และมีปัญหาความอำนวยความสะดวกตามมาด้วย
“ขอให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ช่วยคิดกันใหม่ คุยกันอย่างศิษย์กับอาจารย์มากกว่าเป็นผู้บริหารมหาวิทยาลัยเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ให้ดีขึ้นและไม่เลวร้ายไปกว่านี้ ถ้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ปิดประตู เมื่อมีคนมาจำนวนมาก อีกอย่างสนามหลวงไม่ให้เข้าไปอีก แน่นอนเป้าหมายที่สามต้องไปทำเนียบรัฐบาล”
ดังนั้น สมรภูมิก็คล้ายกับเหตุการณ์พฤษภา 2535 ในการเคลื่อนขบวนจากสนามหลวงไปยังทำเนียบรัฐบาล แล้วไปติดที่กำแพงลวดหนามสะพานผ่านฟ้า ตนเชื่อว่าสถานการณ์ทุกอย่างถ้ารู้จักใช้วิธีก็สามารถแก้ไขได้ ยกเว้นมีแนวคิดต้องการเร่งสถานการณ์ให้สั้นขึ้นเท่านั้น
“หลักคิดนี้ (การเร่งสถานการณ์) ใครก็คิดได้ และสามารถอธิบายว่ามีเจตนาอะไร ถ้าไม่คิดอะไรก็คิดใหม่ หรือเจตนาต้องการเร่งเป้าหมายให้เร็วขึ้น เพราะ 19 ก.ย. เที่ยวนี้หลายฝ่ายจับตาว่า จะถูกหยิบฉวยมานำไปสู่การทำรัฐประหารหรือไม่”
สิ่งสำคัญแล้ว รัฐบาลต้องทำหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัย ต้องทำตามคำพูดว่า มองนักเรียน นิสิต นักศึกษา เหมือนลูกหลาน ถ้ามหาวิทยาลัยไม่เปิดประตูให้แล้ว ดังนั้นทุกจุดการชุมนุมเคลื่อนไหวต้องเป็นหน้าที่ของรัฐบาล โดยให้จัดวางกำลังดูแลความปลอดภัยให้สมบูรณ์ ขอไม่พูดอย่างปากว่าตาขยิบกัน
ดังนั้น ควรใช้แต่กำลังตำรวจ และทหารอย่ามายุ่ง โดยให้ตำรวจอำนวยความสะดวกอย่างเดียว อย่าได้ขัดขวาง แต่ต้องระวังมือที่สามเข้าแทรกแซง รวมทั้งอย่ามีแนวความคิดปราบปรามนักศึกษา เพราะการใช้กำลังกับนักเรียน นักศึกษาจะกลายเป็นชนวนเอาไม่อยู่ เนื่องจากโลกสื่อสารไร้พรหมแดนยิ่งทำให้คนรับรู้เร็วและง่ายขึ้น ซึ่งยิ่งนำพาให้สถานการณ์เลวร้ายขึ้นอีก
อีกอย่างตนประหลาดใจมากคือ เมื่อถึงเวลาชุมนุมรัฐกลับมองหาแต่ท่อน้ำเลี้ยง ไปดูรถสุขา ซึ่งความจริงแล้ว สิ่งนี้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลโดยเฉพาะ ควรมาอำนวยความสะดวก ถ้าปฎิบัติกันเช่นนี้ ความห่วงใยทั้งหลายจะไม่เกิดขึ้น ทั้งนี้เบื้องต้นแล้ว มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ควรทบทวนเสียใหม่ มิเช่นนั้น คิดได้เลยว่า ต้องการให้ยึดสนามหลวง หรือให้ไปทำเนียบรัฐบาลเร็วขึ้น ซึ่งอาจไปตั้งแต่เย็นวันที่ 19 ก.ย. เพราะคนเยออะกว่าตอนเช้าวันที่ 20 ก.ย. ก็เป็นได้
นายจตุพร กล่าวว่า บรรยากาศบ้านเมืองเวลานี้ อยู่ในสถานการณ์ยากลำบาก หลายเหตุการณ์ไม่มีความชอบธรรม เช่น โครงการโฮปเวย์ คนไทยต้องต่อต้าน เพราะมีการลงทุนซื้อโครงการ 500 ล้าน แต่เอามาฟ้องร้องชนะรัฐบาลไทย แล้วได้เงินชดเชย 2.4 หมื่นล้าน เรื่องนี้ต้องเอาคนผิดมาลงโทษ และต้องระงับการจ่ายเงินค่าโง่ไว้ก่อน ซึ่งเป็นความเสียหายจากภาษีของคนไทย
ส่วนการแก้ รธน. นั้น ไม่ว่าทั้งการแก้ ม.256 หรือ ม.272 ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องได้เสียง สว. มาร่วมหนุนด้วย โดยเฉพาะนายวันชัย สอนศิริ สว.ที่เสนอคำถามพวงให้วุฒิสภาโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ต้องแสดงความรับผิดชอบเป็นรูปธรรม ด้วยการชวนเพื่อน สว.ให้ได้ 84 คน พร้อมประกาศสัจจะต่อ ประชาชนว่าจะโหวตแก้ ม.272 ให้
“ผมดูสถานการณ์แล้ว กรณีนี้จะเป็นปัญหา และน่าจะเดินไปไม่ถึง ถ้านายกรัฐมนตรีต้องการแก้ไขปัญหาคราวนี้ เมื่อสถานการณ์เข้าจุดที่เป็นปัญหา และเดินยากกันแบบนี้ ผมว่ายุบสภาดีกว่า คืนอำนาจให้ประชาชนเป็นทางออกที่ดีที่สุด แล้วสั่งวุฒิสภาไม่ให้โหวตสวนเสียงข้างมากของสภาผู้แทนราษฎร พร้อมทำประชามติแก้ รธน.ในวันเลือกตั้งในคราวเดียวกัน"
นายจตุพร เชื่อว่า รัฐประหารจะเกิดขึ้น เพราะเวลานี้มีการกดดันต่างๆ เพิ่มความร้อนแรงมากขึ้น สิ่งสำคัญในคราวนี้ คือ ตนประกาศชัดไม่เอาด้วยกับรัฐประหารเด็ดขาด พร้อมชวนพี่น้องต้องลุกขึ้นมาต่อต้านการทำรัฐประหาร
อีกอย่างนั้น การยึดอำนาจในอดีตจะยึดกรมประชาสัมพันธ์ไว้ก่อนเพื่อควบคุมการสื่อสาร ส่วนการยึดอำนาจสมัยนี้จะสั่งทีวี แต่สั่งมือถือไม่ให้ถ่ายทอดไม่ได้ ยกเว้นต้องตัดสัญญาณดาวเทียม ซึ่งจะเกิดความโกลาหลขึ้น เมื่อมือถือใช้ได้ปกติมีทั้งไลฟ์สด ถ่ายรูปแพร่ไปทั่วเกิดวุ่นวายทั้งประเทศ การรัฐประหารเอาไม่อยู่แน่ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องลำบาก คือยึดได้แต่อยู่ยาก
“อิทธิฤทธิ์ในโลกสื่อสารไร้พรหมแดนจะมีพลานุภาพ และผมประกาศชัดไม่เอาด้วยกับการรัฐประหารเด็ดขาดและเชิญชวนพี่น้องประชาชนล่วงหน้าว่า เราคงได้ร่วมทำศึกกันอีกครั้งหนึ่ง เพราะสภาพการณ์ของประเทศไปไม่ไหวแล้ว เมื่อปัญหาประเดประดังเข้ามา ต้องยกเครื่องประเทศไทย ถ้าตัดสินใจยุบสภา แม้แก้ไขอะไรไม่ได้ แต่ยังเปลี่ยนแปลงตามกระบวนการประชาธิปไตย หากปล่อยเลยเถิดถึงรัฐประหารสถานการณ์ก็เป็นอีกแบบหนึ่ง”
นอกจากนี้ หนทางแก้ปัญหาชาติ ขอแต่ละฝ่ายต้องช่วยกันคิด เพราะความยากลำบากจะมีมากขึ้น และจะปล่อยให้ชาติบ้านเมืองอยู่อย่างนี้ไม่ได้ โควิด-19 ต่างประเทศรายล้อมไทยอยู่ กระทบการท่องเที่ยว เชื่อว่าปีหน้าโรงงานปิดมากกว่านี้
“วันนี้ ประเทศไทยยังไม่สิ้นคนมีศักยภาพ เพียงแต่หลายคนไม่อยากมายุ่ง ขณะเดียวกันเราก็อยู่ในสถานการณ์ขณะนี้ไม่ได้ แต่ละฝ่ายต้องคิดเรื่องชาติบ้านเมืองเป็นหลัก โดยรัฐบาลต้องรู้ดีว่า ตัวเองกำลังเผชิญอยู่กับอะไร นำประเทศรอดหรือไม่ อย่าไปติดยึดหัวโขน”
นายจตุพร ย้ำว่า นายกรัฐมนตรีอย่าเข้าใจผิดว่า ทุกอย่างต้องแก้ไขเสร็จในยุคที่ตัวเองนั่งบริหารประเทศ ถ้าเป็นเช่นนั้น แล้วประเทศจำเป็นต้องมีนายกฯคนต่อไปอีกทำไม ในทางกลับกันถ้าไปไม่ไหวต้องตัดสินใจคิดหาทางลงเสีย โดยต้องรับผิดชอบความจริง ขออย่าไปแข็งขืนกับเรื่องชาติบ้านเมืองเพราะเกี่ยวข้องกับคนเกือบ 70 ล้าน และความเดือดร้อนไม่ได้เกิดขึ้นกับตัวนายกฯคนเดียว
รวมทั้ง หลายประเทศในช่วงโควิดสามารถอยู่รอดได้ เพราะความเชื่อมั่น ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ ถ้าเสียไปแล้วพูดความจริงคนก็ไม่เชื่อ ดังนั้น ในสถานการณ์นี้ความเชื่อมั่นสำคัญที่สุด อีกทั้งโพลขอให้ทำอย่างมืออาชีพ ยึดถือความจริง อย่าสร้างแต่โพลความสุขให้คนที่เป็นปัญหาได้ยินได้ฟัง เพราะเขายิ่งจะไม่รู้ตัวเลย
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |