พลเอกประยุทธ์ มอบทะเบียนบ้านให้ผู้แทนชุมชนบึงบางซื่อ
ชุมชนบึงบางซื่อ เขตจตุจักร / พลเอกประยุทธ์ นายกรัฐมนตรีมอบบ้านใหม่-ทะเบียนบ้านให้ชาวชุมชนบึงบางซื่อ 60 หลังแรก จากทั้งหมด 197 หลัง ตามโครงการ ‘สานพลังประชารัฐ’ ซึ่งเป็นความร่วมมือของหลายหน่วยงาน เช่น บริษัท SCG.มอบที่ดินสร้างบ้านมูลค่า 42 ล้านบาท สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ สนับสนุนสินเชื่อและเงินอุดหนุน 57 ล้านบาท การรถไฟฯ ให้ชุมชนใช้เส้นทางเข้า-ออก สำนักงานสลากกินแบ่งสนับสนุน 200 ล้านบาท เพื่อสร้างสวนสาธารณะ-ทางเดินรอบบึงเนื้อที่ 50 ไร่ให้เป็นปอดแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ
‘โครงการพัฒนาบึงบางซื่อ’ ตั้งอยู่ที่บึงบางซื่อหรือ ‘บ่อฝรั่ง’ (ใกล้คลองเปรมประชากรฝั่งตะวันตก) เขตจตุจักร เป็นโครงการสานพลังประชารัฐที่มีหน่วยงานรัฐและเอกชนหลายหน่วยงานร่วมกันพัฒนาที่อยู่อาศัยและพื้นที่รอบบึง เนื้อที่ทั้งหมด 61 ไร่เศษให้มีสภาพดีขึ้น เนื่องจากเดิมพื้นที่ดังกล่าวซึ่งเป็นของบริษัทปูนซีเมนต์ไทย หรือ ‘SCG’ มีชุมชนแออัดปลูกสร้างบ้านเรือน สภาพทรุดโทรม ไม่มีทะเบียนบ้าน ขาดสาธารณูปโภคต่างๆ
SCG จึงมีนโยบายพัฒนาพื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่รอบบึงให้มีสภาพดีขึ้น เริ่มดำเนินการระยะแรกตั้งแต่ปี 2555 ตามโครงการบ้านมั่นคงของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) จำนวน 45 ครอบครัว ก่อสร้างเสร็จทั้งหมดในปี 2559 ระยะที่สอง เริ่มดำเนินการในเดือนเมษายน 2561 โดยมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี (ในขณะนั้น) เดินทางมาเป็นประธาน มีเป้าหมายทั้งหมด 197 ครอบครัว ขณะนี้ก่อสร้างบ้านเสร็จแล้ว 60 ครอบครัว
สภาพที่อยู่อาศัยเดิม
สภาพบ้านใหม่
พลเอกประยุทธ์ นายกฯ มอบบ้าน 60 หลังแรก
วันนี้ (11 กันยายน) เวลา 14.00 น. พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางมาเป็นประธานในพิธีมอบบ้านและทะเบียนบ้านให้ชาวชุมชนบึงบางซื่อ ตามโครงการสานพลังประชารัฐ ที่ชุมชนบึงบางซื่อ เขตจุตจักร กรุงเทพฯ โดยมีพลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย พลตำรวจเอกอัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่า กทม. ผู้บริหารบริษัท SCG สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล การรถไฟแห่งประเทศไทย ฯลฯ นายไมตรี อินทุสุต ประธานคณะกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) และประชาชนให้การต้อนรับประมาณ 500 คน
การพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนบึงบางซื่อ ระยะแรกดำเนินการในปี 2555-2559 ตามโครงการบ้านมั่นคงของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ ‘พอช.’ จำนวน 45 ครอบครัว ส่วนระยะที่ 2 มีผู้เข้าร่วมโครงการทั้งหมด 197 ครอบครัว เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนเมษายน 2561 โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ สนับสนุนงบประมาณและสินเชื่อก่อสร้างบ้านใหม่ จำนวน 57 ล้านบาท SCG สนับสนุนที่ดินสร้างบ้านมูลค่า 42 ล้านบาท ขณะนี้สร้างบ้านเสร็จแล้วจำนวน 60 ครอบครัว รูปแบบเป็นบ้านแถว 2 ชั้น ขนาด 48 ตารางเมตร และมีบ้านกลาง 4 หลังสำหรับผู้สูงอายุที่ไม่มีลูกหลานดูแลให้ได้อยู่อาศัยฟรี
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวมีใจความตอนหนึ่งว่า รู้สึกตื้นตันที่โครงการนี้ประสบผลสำเร็จ ซึ่งต้องใช้เวลา 4 ปีในการดำเนินการสร้างความเข้าใจ ทำความตกลง ทำสัญญา จนถึงการก่อสร้าง โดยรัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่อยู่อาศัยของประชาชนที่มีรายได้น้อย เพื่อให้ผู้มีรายได้น้อยมีความเท่าเทียม นอกจากนี้ยังทำเรื่องที่อยู่อาศัยและการพัฒนาในคลองลาดพร้าว คลองเปรมประชากร แฟลตดินแดง และไม่ได้ทำแต่เฉพาะในกรุงเทพฯ แต่รวมถึงต่างจังหวัด เป็นการดำเนินการตามแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี พ.ศ.2560-2580
“วันนี้เรามีบ้านใหม่ มีความปลอดภัย มีทะเบียนบ้าน มีสาธารณูปโภคพื้นฐาน ต่อไปต้องทำเรื่องอาชีพ มีการปลูกผัก เพื่อเอาไว้กิน เอาไว้แจกกัน ที่เหลือเอาไปขาย ใช้พื้นที่น้อย แต่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และต่อไปอาจเลี้ยงปลาเป็นแหล่งโปรตีน เป็นอาหาร เอาไปขายเป็นอาชีพ ขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่มาร่วม เช่น พอช. กรมธนารักษ์ SCG และเครือข่ายพันธมิตรทุกหน่วยงานที่มาร่วมกันพัฒนาบึงบางซื่อจนสำเร็จ ถือเป็นต้นแบบการสานพลังประชารัฐ เป็นการสานพลังความรัก ความสามัคคี” พลเอกประยุทธ์กล่าว
หลังจากนั้นนายกรัฐมนตรีได้เดินเยี่ยมประชาชนที่เข้าอยู่อาศัยแล้ว 60 ครอบครัว เป็นประธานเปิดถนนรีไซเคิลในชุมชนที่ทำจากเศษพลาสติกและยางมะตอย เยี่ยมชมแปลงผักสวนครัวอินทรีย์ ระบบบำบัดน้ำเสียในครัวเรือน เยี่ยมชมนิทรรศการของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ โดยมีนายไมตรี อินทุสุต ประธานคณะกรรมการสถาบันฯ ให้การต้อนรับ และกล่าวสรุปภาพรวมการพัฒนาคลองลาดพร้าว คลองเปรมประชากร รวมถึงโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยในที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทยในกรุงเทพฯ
นายสมชาย ทิวทองธนา ประธานสหกรณ์เคหสถานบ่อฝรั่งริมน้ำพัฒนา จำกัด กล่าวว่า ชาวบ้านที่นี่ส่วนใหญ่อยู่อาศัยกันมานานหลายสิบปี ส่วนใหญ่ทำงานรับจ้างทั่วไป ค้าขายเล็กๆ น้อยๆ หากินเป็นรายวัน สภาพบ้านเรือนทรุดโทรม เพราะปลูกสร้างมานาน มีปัญหาเรื่องขยะ น้ำท่วมขัง ต้องพ่วงน้ำประปา ไฟฟ้า จากข้างนอกเข้ามา ทะเบียนบ้านก็ไม่มี ต้องใช้ทะเบียนบ้านรวม จึงอยากจะปรับปรุงบ้านเรือนและชุมชนให้มีสภาพดีขึ้น ลูกหลานจะได้มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง มีสภาพ แวดล้อมที่ดี จึงได้เข้าร่วมโครงการบ้านมั่นคง โดยได้รับการสนับสนุนสินเชื่อและเงินอุดหนุนก่อสร้างบ้านจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ตั้งแต่ปี 2555 รวมทั้งหมด 45 ครอบครัว สร้างบ้านเสร็จทั้งหมดในปี 2559 โดยผ่อนชำระสินเชื่อสร้างบ้านประมาณเดือนละ 1,600-1,700 บาทเศษ ระยะเวลา 15 ปี
ส่วนการสร้างบ้านในระยะที่ 2 เริ่มตั้งแต่ปี 2561 มีชาวบ้านเข้าร่วมโครงการทั้งหมด 197 ครอบครัว แบ่งการก่อสร้างเป็น 2 รูปแบบ แบบแรกเป็นบ้านแถวหรือทาวน์เฮ้าส์ ขนาด 2 ชั้น พื้นที่อยู่อาศัย 48 ตารางเมตร จำนวน 60 หลัง ขณะนี้สร้างเสร็จแล้ว โดยนายกรัฐมนตรีมามอบบ้านให้ในวันนี้ ส่วนแบบที่สองเป็นอาคารชุด 4 ชั้น รวมทั้งหมด 3 อาคาร จำนวน 133 ห้อง ขนาด 31.5 และ 38 ตารางเมตร และบ้านกลางอีก 4 ห้อง สำหรับผู้สูงอายุที่ไม่มีลูกหลานดูแล
นายกรัฐมนตรีเปิดถนนรีไซเคิล
ทั้งนี้การพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะที่ 2 จำนวน 197 ครอบครัว ใช้งบประมาณทั้งหมด 63 ล้านบาทเศษ แยกเป็นเงินออมจากชาวบ้าน 5,902,600 บาท สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ สนับสนุนสินเชื่อ รวม 48,250,000 บาท เงินอุดหนุนสร้างบ้าน รวม 3,940,000 บาท เงินสนับสนุนก่อสร้างระบบสาธารณูปโภค 4,925,000 บาท ขณะที่บริษัท SCG มอบที่ดินให้สร้างบ้าน รวมเนื้อที่ 10 ไร่ 278 ตารางวา มูลค่าประมาณ 42 ล้านบาทเศษ ตามแผนงานการก่อสร้างจะแล้วเสร็จทั้งหมดภายในไตรมาสแรกของปี 2564 โดยชาวบ้านมีภาระในการผ่อนส่งบ้านประมาณ 1,700-2,200 บาท ระยะเวลา 15 ปี
สานพลังพัฒนาชุมชนบึงบางซื่อ-สร้างปอดใหม่ให้กรุงเทพฯ
บึงบางซื่อมีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 61 ไร่เศษ บริษัทปูนซีเมนต์ไทยได้ขุดดินเพื่อนำดินมาเป็นส่วนผสมในการผลิตปูนซีเมนต์ที่โรงงานบางซื่อตั้งแต่ปี พ.ศ.2470 ทำให้พื้นที่ที่ขุดดินเอามาใช้กลายเป็นบึงหรือบ่อน้ำขนาดใหญ่ ชาวบ้านเรียกว่า “บ่อฝรั่ง” ซึ่งมีที่มาจากพื้นที่บริเวณดังกล่าวเคยเป็นสวนปลูกฝรั่งมาก่อน แต่ชาวบ้านบางคนบอกว่า ในสมัยก่อนมีหัวหน้างานเป็นชาวฝรั่งมาคุมเรือขุดดินจึงเรียกชื่อตามนั้น ภายหลังโรงงานผลิตปูนฯ ย้ายไปที่สระบุรีจึงเลิกใช้ดินจากบ่อดังกล่าว
บึงบางซื่อ และ พื้นที่พัฒนาที่อยู่อาศัย (ด้านล่าง)
ปัจจุบันบ่อฝรั่งกลายเป็นบึงน้ำขนาดใหญ่ มีเนื้อที่ประมาณ 50 ไร่เศษ และมีพื้นที่ที่เป็นขอบบ่อ เนื้อที่ประมาณ 10 ไร่เศษ (เดิมเป็นบ้านพักของพนักงานบริษัทปูนซีเมนต์ไทย) เป็นที่ตั้งของชุมชนต่างๆ รวม 5 ชุมชน มีผู้อยู่อาศัยประมาณ 250 ครอบครัว ประชากรประมาณ 1,000 คน ซึ่ง SCG ได้มอบที่ดินทั้งหมด 61 ไร่ให้กรมธนารักษ์ดูแล โดยกรมธนารักษ์ให้ชาวบ้านเช่าเพื่อสร้างที่อยู่อาศัย 10 ไร่เศษ
พื้นที่ส่วนที่เหลือประมาณ 50 ไร่เศษ สำนักงานสลากกินแบ่งสนับสนุนงบประมาณจำนวน 200 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงพื้นที่รอบบึงให้เป็นสวนสาธารณะ สร้างทางเดินรอบบึงเพื่อศึกษาธรรมชาติ เช่น เส้นทางศึกษาพันธุ์พืชไม้น้ำ มีกิจกรรมทางน้ำ มีลานพักผ่อน เดิน วิ่ง ขี่จักรยาน ออกกำลังกาย ฯลฯ เป็นแหล่งพักผ่อน ท่องเที่ยวชุมชนเมือง และเป็นปอดแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ
นอกจากนี้จะมีการปรับปรุงคุณภาพน้ำในบึง ป้องกันการเกิดปัญหาน้ำเน่าเสียในอนาคต โดยวางระบบบำบัดน้ำเสีย ควบคุมการปล่อยน้ำทิ้งจากครัวเรือน สร้างจิตสำนึกของชุมชนให้เกิดความร่วมมือในการคัดแยกขยะ ทิ้งขยะในถัง ปลูกต้นไม้ที่มีรากช่วยกรองน้ำ เช่น แฝก เตย ฯลฯ เพื่อช่วยกันบำรุงรักษาบึงน้ำให้ใสสะอาด ให้เป็นแหล่งพักผ่อน เกิดสุขอนามัยและสิ่งแวดล้อมที่ดี รวมทั้งเป็นแก้มลิงหรือแหล่งรองรับน้ำในบริเวณนี้ด้วย โดยสามารถรองรับน้ำได้ประมาณ 360,000 ลูกบาศก์เมตร
ทัศนียภาพพื้นที่รอบบึงภายหลังการปรับปรุง
นอกจากนี้บริษัท SCG จะจัดสรรพื้นที่บางส่วนเพื่อเป็นศูนย์บริการจำหน่ายให้กับสินค้าวิสาหกิจชุมชน โดยขณะนี้ชาวบ้านได้ร่วมกันปลูกผักอินทรีย์ เพาะเห็ด ฯลฯ เพื่อส่งเสริมการสร้างอาชีพและเพิ่มรายได้ให้กับชุมชน ส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน พัฒนาฝีมือให้คนในชุมชน และพัฒนาพื้นที่บางส่วนให้เช่าเป็นพื้นที่ค้าขาย เพื่อสร้างโอกาสการหารายได้ให้กับชุมชน เพื่อเป็นทุนในการพัฒนาชุมชน
ส่วนสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ ‘พอช.’ นอกจากการสนับสนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัยของชาวชุมชนตามแนวทางบ้านมั่นคงระยะแรก 45 ครอบครัว และระยะที่สอง 197 ครอบครัว รวมงบประมาณ 57 ล้านบาทเศษแล้ว ยังสนับสนุนการรวมกลุ่มชาวชุมชน การจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ การพัฒนาและสร้างผู้นำ เพื่อร่วมกันสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนต่อไป
ทัศนียภาพรวมของโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยบึงบางซื่อ
ขณะที่หน่วยงานอื่นๆ เช่น กรุงเทพมหานคร สำนักงานเขตจุตจักร ต่างก็มีส่วนสนับสนุนการพัฒนาชุมชน รวมทั้งการรถไฟแห่งประเทศไทยที่อนุญาตให้ใช้พื้นที่ของการรถไฟฯ เป็นเส้นทางเข้า-ออกของชุมชน ถือเป็นโครงการต้นแบบการสานพลังประชารัฐ ซึ่งแสดงถึงการมีส่วนร่วมของภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาคเอกชน
เพื่อร่วมกันพัฒนาที่อยู่อาศัยของประชาชนที่มีรายได้น้อย ให้มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง มีสภาพแวดล้อม และมีคุณภาพชีวิตที่ดี นอกจากนี้ชาวกรุงเทพฯ ก็จะมีสถานที่พักผ่อน ออกกำลังกาย และเป็นปอดแห่งใหม่ของเมืองกรุง !!
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |