จิตรกรรมฝาผนัง นับว่าศิลปะแขนงหนึ่งที่ปรากฎในวัดวาอาราม มีทั้งภาพเขียนสีและขาวดำของช่างในยุคสมัยนั้นๆ ที่บอกเล่าเรื่องของพุทธประวัติ ไล่เรียงไปถึงวิถีชีวิต การแต่งกาย ประเพณีวัฒนธรรม ศาสนา ชนชาติต่างๆ ของคนในแต่ละยุค จิตรกรรมฝาผนังของวัดใน 4 ภาคประเทศไทย มีเรื่องราวที่แตกต่างกัน ทำให้คนในยุคปัจจุบันได้รับรู้และศึกษาสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตผ่านภาพเขียน เป็นมรดกศิลปวัฒนธรรมที่มีค่าของชาติ
งานจัตุรัสจามจุรีบุ๊คแฟร์ ครั้งที่ 12 โดยศูนย์หนังสือแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดกิจกรรมเปิดตัว หนังสือใต้ร่มธงไทย เล่มใหม่ล่าสุด ที่เขียนโดย ผศ.อู่ทอง ประศาสน์วินิจฉัย ผู้ที่หลงใหลในเรื่องราวของจิตรกรรมฝาผนังวัด โดยระยะกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ได้ออกเดินทางไปบันทึกภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดทั่วทุกภาคในประเทศไทยกว่า 1 แสนภาพ และได้หยิบยกภาพจิตรกรรมจากวัดสำคัญใน 4 ภาค รวม 87 วัด มาเรียบเรียงเรื่องราวที่ทำความเข้าใจง่ายสำหรับเด็กในระดับประตอนปลาย-มัธยมตอนต้น เพื่อเป็นความรู้และซึมซับความสำคัญของจิตรกรรมไทยที่ต้องรักษาไว้ ณ โถงหน้าลิฟต์แก้ว ชั้น G อาคารจามจุรีสแควร์ จุฬาฯ
ผศ.อู่ทอง ได้เล่าว่า เมื่อปีที่แล้วได้ออกหนังสือจารไว้ในภาพ เล่ม 1-2 ที่ได้รวบรวมภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังจาก 212 วัดทั่วประเทศไทย เพราะต้องการสะท้อนให้เห็นว่าจิตรกรรมฝาผนังวัดมีความเสื่อมสภาพและนับวันยิ่งเลือนราง อีกทั้งอยากนำภาพถ่ายที่มีอยู่ในคลังมาเผยแพร่ให้คนได้ตระหนักและสนใจที่จะอนุรักษ์มากขึ้น จนในปี 2563 อยากจะทำหนังสือสำหรับเด็ก เนื้อหาภายในเล่ม คือ การให้ความรู้เกี่ยวภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดในที่ต่างๆ ว่าเรื่องราวที่ซ้อนอยู่ในภาพ ทั้งสังคมพหุวัฒนธรรม คนชาวเขาเผ่าต่างๆ หรือเรื่องราวในอดีต ที่เกิดขึ้นในยุคนั้น และคนในสมัยก่อนก็ต้องการที่จะบันทึกเรื่องราวไว้ โดยได้คัดเลือกวัดทั้ง 4 ภาคมาบอกเล่า อย่าง ที่วัดประดู่ทรงธรรม จ.พระนครศรีอยุธยา ที่มีภาพจิตรกรรมที่บ่งบอกว่าทั้งชาวจีน อินเดีย ฝรั่ง ญวน กะเหรี่ยง และมอญในสมัยนั้น หรือ การได้เห็นอาณาจักรโบราณ ภาคกลาง ที่มีเขียนภาพไว้ที่วัดอัมพวันเจติยาราม จ.สมุทรสาคร หรือที่วัดเสมียนนารี จ.กรุงเทพฯ หรือชนเผ่าลัวะ จากภาพจิตรกรรมที่วัดกองกาน จ.เชียงใหม่ ขาวครัววัดปทุมวารี จ.ปัตตานี ซึ่งตัวเนื้อจะเป็นภาพสี และมีการไดคัทภาพให้มีลูกเล่นที่น่าสนใจ
“ จุดประสงค์ของการทำหนังสือ เพื่อปลูกฝังให้กับเด็กมีองค์ความรู้ อีกส่วนสำคัญ คือ อยากให้คนหันมาสนใจจิตรกรรมที่มีอะไรมากกว่าศิลปะ ในสังคมปัจจุบันมีปัญหาของคนที่แบ่งแยกกัน ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลของเชื้อชาติ สีผิว และวัย อยากให้ทุกได้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข มอบความรักให้แก่กัน ได้เห็นภาพจิตรกรรมที่สื่อสารออกมาว่า ทุกคนสามารถอยู่รวมกันได้เหมือนกับคนในอดีต ดังนั้น การชมภาพจิตรกรรมไม่ใช่เรื่องยากและไม่ต้องมีความรู้หรือต้องเข้าใจความหมายของภาพเสมอไป แค่ไปให้เห็นส่วนจะชอบหรือไม่ก็ใช้ความรู้สึกในการตัดสิน เพราะบางคนคิดว่า การไปดูจิตรกรรมต้องมีความรู้ และน่าเบื่อ แต่หากได้เข้าไปสัมผัสจริงๆ เราจะได้รับรู้เรื่องราวมากมาย ยิ่งในปัจจุบันได้เห็นวัดบางวัดวาดเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบัน อย่างการบันทึกเรื่องราวที่เกิดสึนามิ หรือภาพมัจจุราชสวมใส่หน้ากากอนามัย ไม่ต้องมีแบบแผนว่า ตรงพระประธานจะต้องเป็นรูปมารผจญ หรือไตรภูมิ หรือเรื่องราวของทศชาติ แต่สามารถที่จะบันทึกเรื่องในปัจจุบันอย่างเหมาะสมให้คนรุ่นต่อไปได้เห็นและศึกษา” นักเขียนเจ้าของผลงาน กล่าว
สำหรับหนังสือใต้ร่มธงไทยมีจำหน่ายที่ งานจัตุรัสจามจุรีบุ๊คแฟร์ ครั้งที่ 12 ในราคาปกติเล่มละ 150 บาท ลด15% เหลือ 128 บาท ทั้งนี้ สามารถหาซื้อได้ที่ศูนย์หนังสือแห่งจุฬาฯและร้านหนังสือชั้นนำทั่วประเทศ นอกจากนี้ มีกิจกรรมวันที่ 13 กันยายน พบกับงานเปิดตัวหนังสือ บางขุนพรหมชวนคิด 1.0 โดยดร.ดอน นาครทรรพ บรรณาธิการ และคณะผู้เขียน ดร.ฐิติมา ชูเชิด, ดร.นครินทร์ อมเรศ, คุณสุพริศร์ สุวรรณิก และ คุณธนันธร มหาพรประจักษ์ เวลา 14.00-15.00 น. ณ โถงหน้าลิฟต์แก้ว ชั้น G อาคารจามจุรีสแควร์ จุฬาฯ