คุมเข้ม คุณสมบัติบิ๊กท้องถิ่น ห้ามมีส่วนได้-เสียกับ'อปท.'


เพิ่มเพื่อน    

    มหาดไทยชง ครม.แก้คุณสมบัติต้องห้ามสมาชิกหรือผู้บริหารท้องถิ่นต้อง "ไม่เป็นผู้มีพฤติกรรมในทางทุจริต" เคยเป็นบุคคลล้มละลาย-ถูกยึดทรัพย์ข้อหาร่ำรวยผิดปกติ-ต้องคำพิพากษาทุจริต-เป็นคู่สัญญาหรือมีส่วนได้ส่วนเสียกับ อปท.ทั้งทางตรงทางอ้อม หมดสิทธิ์ลงเลือกตั้ง หากรู้ว่าขาดคุณสมบัติแล้วยังดันทุรังลงสมัครเจอโทษจำคุกตัดสิทธิ์ 10 ปี พร้อมติดดาบ ผวจ.-รมว.มหาดไทยสั่งพ้นเก้าอี้ได้
    มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาลระบุว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 23 เม.ย.นี้  กระทรวงมหาดไทย (มท.) ได้เสนอขอความเห็นชอบมาตรการบังคับใช้กฎหมายเพื่อดำเนินการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองท้องถิ่นเนื่องจากมีพฤติกรรมในทางทุจริต หลังจากก่อนหน้านี้ที่ประชุม ครม.เคยมอบหมายให้ มท.ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสมเป็นไปได้ ถึงข้อเสนอแนะของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เกี่ยวกับมาตรการดังกล่าว 
    เนื่องจากที่ผ่านมาเมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด หรือกรณีผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองท้องถิ่นกระทำทุจริตได้ เพราะกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นปัจจุบันมีข้อจำกัดและขาดความชัดเจน เมื่อผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองท้องถิ่นถูกตรวจสอบว่ากระทำทุจริต บุคคลนั้นจะลาออกจากตำแหน่งเพื่อหลีกเลี่ยงมิให้มีการสอบสวนและวินิจฉัยสั่งให้พ้นจากตำแหน่ง
    สำหรับข้อสรุประหว่าง มท.และ สคก.ในประเด็นดังกล่าว ได้กำหนดให้ มท.พิจารณาข้อมูล เอกสาร  พร้อมทั้งความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ที่ได้มีมติชี้มูลความผิด โดยมอบหมายผู้ว่าราชการจังหวัด หรือนายอำเภอดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ในการสอบสวนและวินิจฉัยสั่งให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองท้องถิ่นพ้นจากตำแหน่ง หรือสิ้นสุดสมาชิกภาพ หรือนำผลการสอบสวนดังกล่าวไปสู่การดำเนินคดีในทางอาญาและแพ่งต่อไปตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้ง อปท.
    นอกจากนี้ มท.และ สคก.เห็นควรให้แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้ง อปท. รวมทั้งกฎหมายการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น ตามข้อเสนอของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ที่ให้เพิ่มบทบัญญัติ "การไม่เป็นผู้มีพฤติกรรมในทางทุจริต" เป็นคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามในการเป็นผู้มีสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งในทุกตำแหน่ง โดยครั้งนี้ มท.ได้ขอแก้ไขลักษณะของบุคคลซึ่งต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นใน พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 
    ประกอบด้วย บุคคลผู้ที่อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ไม่ว่าคดีนั้นจะถึงที่สุดแล้วหรือไม่ เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง, เป็นบุคคลล้มละลาย หรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต, เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอันถึงที่สุด ให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติ หรือ เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุด ให้ลงโทษจำคุกเพราะกระทำผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำการอันเป็นการทุจริตในการเลือกตั้ง, เคยพ้นจากตำแหน่งเพราะศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษาว่า เป็นผู้มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ หรือกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตราทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง 
    นอกจากนี้ มท.ยังเสนอเพิ่มบทกำหนดโทษกรณีบุคคลซึ่งรับเลือกตั้ง โดยรู้อยู่แล้วว่าตนเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งมีกำหนดสิบปี
    ขณะเดียวกัน ยังมีการแก้ไขเกี่ยวกับการสอบสวน การวินิจฉัย และการสั่งให้สมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่นพ้นจากตำแหน่ง โดยกำหนดให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสอบสวนและวินิจฉัยโดยเร็ว แม้ว่าสมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่นผู้นั้นจะได้พ้นจากตำแหน่งไปแล้วไม่ว่าด้วยเหตุผลใด เว้นแต่เพราะตาย รวมทั้งหากผลการสอบสวนปรากฏว่ามีเหตุตามที่ดำเนินการสอบสวน ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งให้สมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่นผู้นั้น พ้นจากตำแหน่งไม่ว่าผู้นั้นจะได้พ้นจากตำแหน่งไปก่อนแล้วหรือไม่ก็ตาม โดยในคำสั่งดังกล่าวให้ระบุเหตุที่ทำให้พ้นจากตำแหน่งไว้ และให้มีผลตั้งแต่วันที่ผู้ว่าราชการจังหวัดมีคำสั่ง ถ้าในขณะที่มีคำสั่งดังกล่าวผู้นั้นกำลังดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้ บริหารท้องถิ่นอันเป็นผลจากการเลือกตั้งต่างวาระกัน ให้ผู้นั้นพ้นจากตำแหน่งที่กำลังดำรงอยู่ด้วย และให้ถือว่าวันที่สั่งให้พ้นจากตำแหน่งดังกล่าวเป็นวันเริ่มนับระยะเวลา ต้องห้ามการใช้สิทธิ์สมัครรับเลือกตั้ง
    นอกจากนี้ยังกำหนดให้ผู้บริหารท้องถิ่นต้องไม่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในสัญญาหรือกิจการที่กระทำ หรือจะกระทำ หรือให้แก่ส่วนท้องถิ่นนั้น หรือมีส่วนได้ส่วนเสียไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในสัญญา หรือกิจการที่กระทำกับหรือให้แก่ อปท. โดยมีพฤติการณ์แสดงให้เห็นว่าเป็นการต่างตอบแทน หรือเอื้อประโยชน์ส่วนตัวระหว่างกัน และ มท.ยังเสนอให้เพิ่มเติมประเด็นที่กำหนดให้ผู้บริหารท้องถิ่นต้องไม่ทอดทิ้ง หรือละเลยไม่ปฏิบัติตามหน้าที่และอำนาจ หรือประพฤติตนฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อยหรือสวัสดิภาพของประชาชน ไม่จงใจปฏิบัติตามกฎหมายหรือมติ ครม.อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง
    ในส่วนของการดำเนินการเกี่ยวกับการสอบสวน วินิจฉัย และการสั่งให้ผู้บริหารท้องถิ่นพ้นจากตำแหน่ง ยังแก้ไขให้สามารถดำเนินการสอบสวนแก่ผู้ถูกกล่าวหาได้ในทุกกรณี แม้ผู้ถูกกล่าวหานั้นจะพ้นจากตำแหน่งไปแล้วก็ตาม และ มท.เสนอให้เพิ่มเติมข้อกำหนดว่า ถ้าเห็นว่าผู้ถูกสอบสวนมีพฤติการณ์ตามที่ถูกสอบสวน ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเสนอผลการสอบสวนพร้อมความเห็นต่อ รมว.มหาดไทยภายในห้าสิบวันนับแต่วันที่สอบสวนเสร็จ และให้ รมว.มหาดไทยสั่งให้ผู้ถูกสอบสวนพ้นจากตำแหน่ง ไม่ว่าผู้นั้นจะได้พ้นจากตำแหน่งไปก่อนแล้วหรือไม่ก็ตาม โดยในคำสั่งดังกล่าวให้ระบุเหตุผลที่ทำให้พ้นจากตำแหน่งไว้ และให้มีผลตั้งแต่วันที่ รมว.มหาดไทยมีคำสั่ง
    "ถ้าในขณะที่มีคำสั่งดังกล่าวผู้นั้นกำลังดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นอันเป็นผลจากการเลือกตั้งต่างวาระกัน ให้ผู้นั้นพ้นจากตำแหน่งที่กำลังดำรงอยู่ด้วย และให้ถือว่าวันที่สั่งให้พ้นจากตำแหน่งดังกล่าวเป็นวันเริ่มนับระยะเวลาต้องห้ามการใช้สิทธิ์รับสมัครเลือกตั้ง ทั้งนี้คำสั่งของ รมว.มหาดไทยตามมาตรานี้ให้เป็นที่สุด" รายงานข่าวระบุ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"