นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.พม. (ที่ 4 จากขวา) ร่วมงานประชุม
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ / ‘จุติ ไกรฤกษ์’ รมว.พม.ร่วมงานประชุมในระดับชาติสภาองค์กรชุมชนตำบลประจำปี 2563 โดยรับมอบข้อเสนอจากผู้แทนสภาองค์กรชุมชน เพื่อส่งต่อ ครม.พิจารณาดำเนินตาม พ.ร.บ.สภาฯ พ.ศ.2551 โดยปีนี้มีข้อเสนอแนะและแก้ไขปัญหาหลายด้าน เช่น ส่งเสริมและอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ การแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน เสนอทบทวนเมืองอุตสาหกรรมจะนะ จ.สงขลา การชดเชย จัดหาที่อยู่อาศัยให้ชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากรถไฟรางคู่ที่ จ.ขอนแก่น ปัญหาโรงงานขยะอุตสากรรมในภาคตะวันออก ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีการลงนามบันทึกความร่วมมือระหว่างสภาองค์กรชุมชนกับหน่วยงานต่างๆ 10 หน่วยงาน
สภาองค์กรชุมชนจัดตั้งขึ้นตาม ‘พระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551’ มีบทบาทและภารกิจในการส่งเสริมให้ชุมชนและประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาตำบลในด้านต่างๆ เช่น สิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ การอนุรักษ์ศิลปะ วัฒนธรรม เสนอแนะปัญหาและแนวทางแก้ไข หรือความต้องการของประชาชนอันเกี่ยวกับการจัดทําบริการสาธารณะของหน่วยงานของรัฐ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ฯลฯ กำหนดให้มีการประชุมสภาฯ ในระดับตำบลอย่างน้อยปีละ 4 ครั้ง และประชุมในระดับชาติอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง โดยในปีนี้สภาองค์กรชุมชนดำเนินการมาครบ 12 ปี มีการจัดตั้งสภาฯ ทั่วประเทศแล้ว 7,794 แห่ง
บรรยากาศการประชุมสภาองค์กรชุมชนฯ
โดยในวันนี้ (10 กันยายน) ตั้งแต่เวลา 8.30-14.00 น. มีการจัดประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบล ประจำปี 2563 ที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ถนนนวมินทร์ เขตบางกะปิ กรุงเทพฯ โดยมีผู้แทนสภาองค์กรชุมชนทั่วประเทศ หน่วยงานภาคีเครือข่าย และภาคประชาสังคม เข้าร่วมงานประมาณ 450 คน มีนายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ในฐานะรัฐมนตรีรักษาการตาม พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชนฯ เดินทางมารับข้อเสนอเชิงนโยบายจากที่ประชุม เพื่อนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปพิจารณาแก้ไขปัญหาตาม พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551 มาตรา 32 (2) และ (3) รวมทั้งร่วมมอบโล่รางวัลให้แก่สภาองค์กรชุมชนตำบล และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีผลงานดีเด่น รวม 15 รางวัล
รมว.พม.รับมอบข้อเสนอเชิงนโยบายจากที่ประชุม
นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ กล่าวตอนหนึ่งว่า สภาองค์กรชุมชนตำบล ถือเป็นรากแก้วของประชาธิปไตย เป็นสภาแห่งเดียวที่มาจากเสียงของพี่น้องประชาชนระดับรากหญ้า ปัจจุบันจัดตั้งสภาฯ แล้ว จำนวน 7,794 ตำบล สมาชิก 250,000 คน สิ่งที่สำคัญ คือ สภาองค์กรชุมชนนี้ กำหนดทิศทางของตนเอง โดยไม่ต้องรอนโยบายของกระทรวง พม. โดยขณะนี้มีสภาองค์กรชุมชนที่เข้มแข็ง 24% และยังต้องพัฒนา 76 % ซึ่งจะต้องทำให้ดี นอกจากนั้นต้องไม่ทิ้งใครไว้ด้านหลังแม้กระทั่งกลุ่มชาติพันธุ์
วันนี้สภาองค์กรชุมชนมีบทบาทอย่างมากที่จะต้องเริ่ม เพราะเรามีกองทุนวันละบาท เรามีวินัยการออม ซึ่งเป็นเพียงประเด็นหนึ่งที่สภาองค์กรชุมชนต้องเจอวิกฤต โรคระบาดอาจจะต้องเจออีกหลายเดือน ขณะเดียวกันต้องเดินหน้าพัฒนาชุมชนต่อไป คนที่เคยมีรายได้กลายเป็นคนไม่มีรายได้ คนที่เคยรวยกลายเป็นคนที่พอมีพอกิน จึงต้องทำงานอย่างหนักจากรัฐบาล จากบนลงล่าง จากสภาฯ จากล่างขั้นบน
“ในฐานะที่กระทรวง พม. มีความเข้าใจสภาองค์กรชุมชน จึงต้องมาร่วมทำงานกับท่าน สมาชิกสภาองค์กรชุมชน จำนวน 250,000 คน หากฐานรากของประชาธิปไตยเข้มแข้ง เชื่อว่าจะสามารถพ้นภัย คนไทยต้องรักกัน สามัคคีกัน ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง วันนี้มาด้วยใจเห็นความรักสามัคคี เห็นความตั้งใจจริง ขอให้กำลังใจและแสดงความยินดีกับท่านที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ด้วย” รมว.พม.กล่าว
ข้อเสนอเชิงนโยบายจากที่ประชุมสภาองค์กรชุมชนตำบลระดับชาติ
นายวิรัตน์ พรมสอน ประธานที่ประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบล กล่าวว่า นอกจากสภาองค์กรชุมชนตำบลแต่ละแห่งจะมีบทบาทในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชนท้องถิ่นต่างๆ แล้ว พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551 มาตรา 32 ยังระบุว่า “ให้ที่ประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลดำเนินการเรื่องต่างๆ ดังต่อไปนี้
(1) กําหนดมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการจัดตั้งและการพัฒนาสภาองค์กรชุมชนในระดับตําบลให้เกิดความเข้มแข็งและพึ่งตนเองได้ เพื่อเสนอให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ใช้เป็นแนวทางปฏิบัติ
(2) ให้ความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการกําหนดนโยบายและแผนพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคมและกฎหมาย รวมทั้งการจัดทําบริการสาธารณะของหน่วยงานของรัฐ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีผลต่อพื้นที่มากกว่าหนึ่งจังหวัด ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม คุณภาพชีวิต และสิ่งแวดล้อม
(3) สรุปปัญหาที่ประชาชนในจังหวัดต่างๆ ประสบ และข้อเสนอแนะแนวทางการแก้ไขเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาสั่งการ”
วิรัตน์ พรมสอน ประธานที่ประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบล
ข้อเสนอจากสภาองค์กรชุมชนตามมาตรา 32 (2)
โดยในปีนี้มีข้อเสนอเชิงนโยบายจากที่ประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลฯ ตามมาตรา 32 (2) “ความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการกำหนดนโยบายและแผนพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และกฎหมาย รวมทั้งจัดการบริการสาธารณะของหน่วยงานของรัฐ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีผลต่อพื้นที่มากกว่าหนึ่งจังหวัด ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม คุณภาพชีวิต และสิ่งแวดล้อม” โดยมีข้อเสนอประเด็นนโยบายจากที่ประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบล ประจำปี 2563 เช่น
1.สนับสนุนตำบลเข้มแข็งและพื้นที่จัดการตนเองของชุมชนท้องถิ่นแบบมีส่วนร่วม 1.1 ขอให้รัฐบาล คณะรัฐมนตรี กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักงบประมาณ และหน่วยงานที่เกี่ยวกับการพัฒนาตำบลเข้มแข็ง สนับสนุนการดำเนินงานและงบประมาณต่อกิจการขับเคลื่อนสภาองค์กรตำบล ให้เป็นไปตามภารกิจของ พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551 (มาตรา 21) การอนุรักษ์/ฟื้นฟูจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปวัฒนธรรม,การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
1.2 ขอให้สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สนับสนุนแผนงาน โครงการ และงบประมาณการพัฒนาเชิงพื้นที่ให้กับสภาองค์กรชุมชนในระดับพื้นที่ตำบล จังหวัด เพื่อนำไปสู่การพัฒนาหรือผลักดันกลไกให้ดำเนินการไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดการบูรณาการการทำงานระหว่างกันที่สอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการของแต่ละพื้นที่และเกิดประสิทธิผลอย่างเป็นรูปธรรม ฯลฯ
2.ส่งเสริมฟื้นฟูอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษ 2.1 ขอให้รัฐบาล คณะรัฐมนตรี สนับสนุน พ.ร.บ.ส่งเสริมและอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ…. เพื่อให้ร่างกฎหมายนี้มีความสอดคล้องกับปัญหาและความต้องการชุมชนและกลุ่มชาติพันธุ์ได้มีส่วนร่วมและมีประสิทธิภาพ 2.2 ขอให้รัฐบาล กระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงวัฒนธรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เคารพ ยอมรับ ส่งเสริมและคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธ์และชนเผ่าพื้นเมือง
2.3. ขอให้รัฐบาลรับรองสิทธิในการถือครองที่ดินและการใช้ทรัพยากรตามจารีตประเพณีของชนเผ่าพื้นเมือง 2.4 ขอให้รัฐบาล กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงวัฒนธรรม มอบหมายให้ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สนับสนุนกลไกเครือข่ายของชาติพันธุ์ต่างๆ เป็นกลไกหลักในการดำเนินงานแก้ไขปัญหาและการพัฒนาคุณภาพชีวิต
3.สนับสนุนการจัดการปัญหาไฟป่าและหมอกควัน 3.1 ขอให้กระทรวงทรัพยากรฯ เป็นเจ้าภาพหลักในการสนับสนุนการจัดการปัญหาไฟป่าและหมอกควันร่วมกับกรมควบคุมมลพิษ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม สำนักงานกองทุนสิ่งแวดล้อม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ฯลฯ ผู้แทนภาคธุรกิจเอกชน ผู้แทนสภาองค์กรชุมชน ท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ฯลฯ
3.2 ขอให้รัฐบาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ กระทรวงมหาดไทย มอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัด สนับสนุนให้องค์กรชุมชนอาสาสมัคร เครือข่ายป่าชุมชน สภาองค์กรชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการจัดทำแผนปฏิบัติการจัดการปัญหาไฟป่าและหมอกควัน ในทุกพื้นที่เสี่ยงทุกพื้นที่
ข้อเสนอจากสภาองค์กรชุมชนตามมาตรา 32 (3)
มาตรา 32 (3) “สรุปปัญหาที่ประชาชนในจังหวัดต่างๆ ประสบและข้อเสนอแนะแนวทางการแก้ไข เพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาสั่งการ” โดยมีข้อเสนอจากที่ประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบล ประจำปี พ.ศ. 2563 เช่น
1.จะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต 1.1.ขอให้รัฐบาลทบทวนโครงการนี้ โดยต้องยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2562 และมติเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2563 เพราะปัจจุบันจังหวัดสงขลามีนิคมอุตสาหกรรมอยู่แล้วถึง 2 แห่ง คือ นิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ (ฉลุง) และเขตเศรษฐกิจพิเศษสะเดา ซึ่งรัฐบาลควรจะต้องสร้างมาตรการส่งเสริมสนับสนุนและเชิญชวนให้ภาคเอกชนได้เข้าไปใช้ประโยชน์พื้นที่ทั้งสองแห่งให้เต็มพื้นที่เสียก่อน
1.2 หากรัฐบาลจะเดินหน้าเพื่อพัฒนาอำเภอจะนะต่อไป ต้องมีการศึกษาการประเมินผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ (SEA) และการศึกษา EHIA ตามมาตรา 58 เพื่อเป็นข้อมูลนำมากำหนดทิศทางการพัฒนาพื้นที่โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ เพราะการพัฒนาที่ยั่งยืนไม่อาจจะเกิดจากการพัฒนาอุตสาหกรรมเพียงด้านเดียว และขอให้มีการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มต้น
2.เขตพัฒนาโครงการรถไฟทางคู่ จังหวัดขอนแก่น นครราชสีมา 2.1 ขอให้การรถไฟแห่งประเทศไทยจัดกลไกการดำเนินงานแบบมีส่วนร่วมในกรณีการโยกย้ายและการชดเชยทรัพย์สินสำหรับผู้ได้รับผลกระทบที่อาศัยในเขตแนวเส้นทาง รถไฟ และเวนคืนที่ดินช่วงที่เบี่ยงนอกเขตทางรถไฟ ควรชดเชยในราคาตลาด โปร่งใส เป็นธรรมจัด และหาที่อยู่อาศัยใหม่ที่เหมาะสม และมีมาตรการในการกำกับ ติดตามความเป็นอยู่ของผู้ถูกอพยพและเยียวยาในส่วนต่าง ๆ 2.2 กรณีที่รางรถไฟตัดผ่านชุมชน จำเป็นต้องสร้างทางการเชื่อมเพื่อให้ทั้งสองฝั่งสามารถไปมาหาสู่กันได้อย่างปลอดภัย และไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการดำรงชีวิตประจำวันของประชาชนมากนัก ฯลฯ
3.ผลกระทบจากโรงงานประกอบกิจการขยะ 5 จังหวัด ชลบุรี ระยอง ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา และสระแก้ว 3.1 ขอให้รัฐบาล กระทรวงอุตสาหกรรม ประเมินศักยภาพของพื้นที่ในการรองรับ การขยายตัวของโรงงานกิจการขยะ 3.2 ขอให้รัฐบาลมอบหมายให้มีหน่วยงานกำกับดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมและมลพิษที่เกิดจากโรงงานอุตสาหกรรมแยกจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) โดยให้มีอำนาจหน้าที่โดยตรงในการกำกับดูแลตามกฎหมาย เนื่องจากปัจจุบัน กรอ. ทำหน้าที่เป็นทั้งหน่วยงานหลักในการกำกับดูแลส่งเสริมโรงงานอุตสาหกรรม และเป็นหน่วยงานกำกับดูแลด้านมลพิษอุตสาหกรรม
3.2 ขอให้รัฐบาลต้องมีนโยบายให้มีผู้ประกอบการที่มีเทคโนโลยีกำจัดขยะพิษเข้ามามากขึ้น การแก้ปัญหาการจัดการขยะพิษ และการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม ต้องดำเนินการพร้อมการสนับสนุนผู้ประกอบการที่มีเทคโนโลยีและความพร้อมในการจัดการกากอุตสาหกรรมมากขึ้น 3.3 ขอให้รัฐบาลมีนโยบายห้ามนำเข้าขยะทุกประเภทจากต่างประเทศโดยถาวร ฯลฯ
สภาองค์กรชุมชนลงนามบันทึกความร่วมมือ 9 หน่วยงาน
นอกจากการประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลประจำปี 2563 ดังกล่าวแล้ว ในวันนี้ (10 กันยายน) ยังมีการบันทึกการลงนามความร่วมมือระหว่างสภาองค์กรชุมชนกับหน่วยงานต่างๆ รวม 10 หน่วยงาน เนื่องจากสภาองค์กรชุมชนฯมีการจัดตั้งเกือบเต็มพื้นที่ประเทศ (ปัจจุบันจัดตั้งแล้ว 7,794 แห่ง) ทำให้สามารถขับเคลื่อนงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่ลงนามได้กว้างขวาง โดยมีหน่วยงานที่ร่วมลงนาม ประกอบด้วย
1.สำนักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี (สบนร.) 2.สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) (พันตำรวจโทร.ไพศิษฎร์ สังคหะ รองเลขาธิการ) 3.สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) (นายนิยม เติมศรีสุข เลขาธิการ) 4.สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 5.สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)
6.กองดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ (นายวิชานัน นิวาตจินดา ผู้อำนวยการกองดัชนีเศรษฐกิจการค้า) 7.สำนักประสานสนับสนุนการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาวะรองรับสังคมสูงวัย (สป.สว.) 8.ศูนย์วนศาสตร์เพื่อคนกับป่า (RECOFTC) 9.มูลนิธิการพัฒนาที่ยั่งยืน ภาคเหนือ และ 10.สภาเกษตรกรแห่งชาติ (นายรัตนะ สวามีชัย เลขาธิการ) โดยมีนายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ เป็นสักขีพยานในการลงนามบันทึกความร่วมมือครั้งนี้
การลงนามบันทึกความร่วมมือของ 10 หน่วยงานกับสภาองค์กรชุมชน
สภาองค์กรชุมชนจับมือ ป.ป.ส.ขับเคลื่อนพืชกระท่อมในพื้นที่นำร่อง
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) และกระทรวงสาธารณสุข มีความพยายามที่จะ ‘ปลดล็อกพืชกระท่อม’ ออกจากพืชยาเสพติด เพื่อนำมาเป็นพืชสมุนไพร ใช้ทางการแพทย์ การพาณิชย์ อุตสาหกรรม และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันต่างประเทศ เช่นเดียวกับกัญชาที่มีการปลด ล็อกไปก่อนหน้านี้แล้ว
โดยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มีมติเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2563 เห็นชอบในหลักการให้ปลดกระท่อมออกจากพืชยาเสพติด โดยมีการจัดทำเป็นร่างพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ...) พ.ศ..... (การยกเลิกพืชกระท่อมจากยาเสพติดให้โทษ) เพื่อให้ผ่านเป็นกฎหมายออกมาใช้
ดังนั้น ป.ป.ส.จึงบันทึกความร่วมมือกับสภาองค์กรชุมชนและสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของสภาองค์กรชุมชน ในการขับเคลื่อนนโยบายพืชกระท่อม การบริหารจัดการพืชกระท่อมอย่างเป็นระบบ การศึกษาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ และสร้างรายได้แก่ประชาชน รวมถึงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการนำไปใช้ในทางที่ผิด มิให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน สังคม และความมั่นคงของชาติ
โดยมีวัตถุประสงค์ 1.เพื่อสร้างกลไกการขับเคลื่อนงานร่วมกัน 2.เพื่อสร้างการขับเคลื่อนกระบวนการแก้ไขปัญหาร่วมกัน เช่น การป้องกัน การเฝ้าระวัง และการบำบัด 3.สนับสนุนงานวิชาการและการวิจัยเพื่อสร้างความเข้มแข็งชุมชนทุกมิติ เช่น การเก็บข้อมูลสารพันธุกรรม ฯลฯ
เลขาธิการ ป.ป.ส.ร่วมลงนาม
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |