กรณีสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โชว์อภินิหารทางกฎหมาย ล้มกระดานว่าที่ 14 รายชื่อที่สมัครเป็น กสทช. หลังจาก กมธ.สามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลที่สมควรได้รับการคัดเลือกเป็นกรรมการ กสทช.ทั้ง 14 คน ที่มี พล.อ.อู๊ด เบื้องบน เป็นประธาน ชงเรื่องให้ลงมติเมื่อวันที่ 19 เม.ย.ที่ผ่านมา
ประเด็นการเทกระจาดครั้งนี้ คงไม่มีใครเชื่อว่า สนช.ทำหน้าที่โดยปกติแบบเพียวๆ ที่เห็นว่าผู้สมัครถึง 8 คนขาดคุณสมบัติ โดยไม่เกี่ยวโยงกับประเด็นผลประโยชน์มหาศาลของผู้ที่จะเข้ามาทำหน้าที่ กสทช.ต่อไปในอนาคต อีกทั้งในช่วงการลงมติของ สนช.ยังปรากฏคลิปเสียงสนทนาทางโลกออนไลน์ โดยอ้างมาจากการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือวิป สนช. เมื่อวันที่ 18 เม.ย. ซึ่งสื่อมวลชนระบุสาระสำคัญว่า "นายกรัฐมนตรีไม่แฮปปี้กับรายชื่อ 14 ผู้สมัครที่ได้รับการเสนอชื่อจากคณะกรรมการสรรหานั้น” จึงเป็นเหตุให้ สนช.ประชุมลับกว่า 3 ชั่วโมง ก่อนออกคว่ำผู้สมัคร กสทช.ไปทั้งหมด โดยไม่แยแสผู้ที่มีคุณสมบัติครบถ้วน
ผลที่เกิดขึ้น คือการวิพากวิจารณ์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า หน้าที่ของ สนช.ที่เปรียบเหมือนตรายาง หรือฝักถั่ว ที่รับคำสั่งของผู้มีอำนาจ เพราะเป็นผู้แต่งตั้งเข้ามาตั้งแต่หลังรัฐประหารเมื่อ 22 พ.ค. ปี 2557 รวมทั้งยังเชื่อมโยงไปถึงการทำงานในอนาคตที่ คสช.จะแต่งตั้งให้เป็นวุฒิสรรหา จำนวน 250 คน ทำหน้าที่ต่อไปอีก 5 ปี
นอกจากนี้ คลิปเสียงดังกล่าวยังพุ่งไปดิสเครดิต พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ แบบเต็มๆ ที่กำลังจะเล่นการเมืองหลังเลือกตั้ง แต่กลับยึดติดแต่ระบอบรัฐประหาร โดยไม่สนใจหลักประชาธิปไตยที่มีรัฐธรรมนูญบังคับใช้แล้ว ที่ฝ่ายบริหารไม่อาจแทรกแซงฝ่ายนิติบัญญัติได้ เพราะหน้าที่ของทั้ง 2 สถาบัน ต้องตรวจสอบ และถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกัน
จึงเป็นเหตุให้ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ขึงขังเด้งเชือกออกมาตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จ จำนวน 5 คน ประกอบด้วย พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร สมาชิก สนช. เป็นประธาน นายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข สมาชิก สนช. เป็นกรรมการฯ และเจ้าหน้าที่รัฐสภาที่เกี่ยวข้องอีก 3 คน มีกรอบทำงาน 30 วัน เพื่อตรวจสอบเรื่องที่เกิดขึ้น ขณะเดียวกันก็เป็นการลดกระแสสังคมที่โจมตีองค์กรในแม่น้ำหลายสาย และตัวนายกฯ
แต่เมื่อย้อนกลับไปตรวจสอบของคณะกรรมการชุดต่างๆ ของ สนช.ที่เคยตรวจสอบเรื่องราวฉาวๆ ของ สนช. ก็พอจะเดาทางว่าผลสอบหลังจาก 30 วันจะเป็นอย่างไร เพราะไม่เคยเอาผิดใครได้เลย
ตัวอย่างเช่น 1.กรณีการตั้งคณะกรรมการจริยธรรมของ สนช. ตรวจสอบจริยธรรมของนายวัลลภ ตั้งคณานุรักษ์ สนช. แสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสม โดยทำท่าในลักษณะยกมือปาดคอตัวเอง ภายหลังการถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ในโครงการรับจำนำข้าว ว่าไม่มีมูลความผิด เพราะพฤติกรรมดังกล่าวของนายวัลลภเป็นการยกมือธรรมดา ไม่ส่อเจตนาไม่เหมาะสมในลักษณะเยาะเย้ยหรือถากถางผู้ถอดถอน
2.ผลการตรวจสอบของคณะกรรมการจริยธรรม สนช. กรณีการตรวจสอบข้อร้องเรียน 7 สนช. ประกอบด้วย พล.ร.อ.พัลลภ ตมิศานนท์ นายสมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ นายดิสทัต โหตระกิตย์ นายสุพันธุ์ มงคลสุธี พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา (น้องชายนายกฯ) พล.อ.อ.จอม รุ่งสว่าง และ พล.ร.อ.ณะ อารีนิจ สุดท้ายก็ไม่เข้าข่ายผิดจริยธรรม โดยให้เหตุผลว่าการลาประชุมของ 7 สนช. เป็นไปตามข้อบังคับ และมีภารกิจของหน่วยงานที่ไม่สามารถมอบหมายให้ผู้อื่นดำเนินการแทนได้ จึงมีความจำเป็นต้องลาประชุม
ขณะที่ก่อนการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ ผู้ที่เกี่ยวข้องก็ออกมาปัดพัลวัน อาทิ นายสมชาย แสวงการ เลขานุการวิป สนช. ฟันธงว่า คลิปที่หลุดมาไม่ใช่การประชุมวิป สนช. 100% และไม่น่าจะใช่การประชุมคณะกรรมาธิการสามัญตรวจสอบประวัติ ที่มี พล.อ.อู้ด เบื้องบน เป็นประธาน เพราะร่วมเป็น กมธ.ชุดดังกล่าวด้วย “เท่าที่ฟังคลิปมั่นใจว่าน่าจะเป็นคลิปตัดต่อ เพราะเสียงกระโดด เหมือนนำเสียงการประชุมวงต่างๆ มาตัดต่อรวมกัน” พร้อมยืนยันว่า “นายกฯ สั่ง สนช.ไม่ได้อยู่แล้ว”
เช่นเดียวกับ พล.อ.อู๊ด ปฏิเสธว่า “ผมไม่รู้ ไม่ใช่เสียงผม ไม่ใช่เสียงผม“ หลังจากถูกคาดเดาว่าเป็นเจ้าของเสียงคล้ายในคลิปปริศนา ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ก็กล่าวเพียงสั้นๆ ว่า “เสียงใครก็ไม่รู้” และ “จะไม่ชี้แจง” เรื่องที่เกิดขึ้นอีกด้วย หลังผู้สื่อข่าวพยายามถามย้ำว่าจะชี้แจงกรณีดังกล่าวหรือไม่ เพราะอาจเสื่อมเสียมาถึงตัวนายกฯ
จึงฟันธงล่วงหน้าได้เลยว่า ผลสอบคงจะจับมือใครดมไม่ได้ และยังช่วยฟอกให้นายกฯ ว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง และคนผิดก็หนีไม่พ้นสื่อมวลชน ที่ออกมาเปิดโปงข้อมูลเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวม.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |