พท.จูบปากก้าวไกลปิดสวิตช์สว.


เพิ่มเพื่อน    

 ฝ่ายค้านเล่น “ปาหี่แก้รัฐธรรมนูญ” เมามัน “เพื่อไทย” กลับลำมายื่นญัตติปิดสวิตช์ ส.ว. หลังญัตติพรรคก้าวไกลแท้งไม่เป็นท่าเมื่อ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลแห่ถอนชื่อ เล็งยื่นประธานชวน 10 ก.ย.นี้รวดเดียว 4 ญัตติ “ปชป.”  รีบปัดผู้ใหญ่กดดันให้ลบชื่อ “ชินวรณ์” จี้ 16 กบฏต้องให้คำตอบสังคม

เมื่อวันพุธที่ 9 กันยายน ยังคงมีความต่อเนื่องกรณีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จาก 13 พรรคการเมือง รวม 99 คน ยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ซึ่งพรรคก้าวไกล (ก.ก.) เป็นตัวตั้งตัวตี ต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 8 ก.ย. โดยล่าสุดกลุ่ม ส.ส.ที่ได้ลงชื่อถูกกดดันเพื่อขอให้ถอนชื่อจากญัตติแล้ว โดยเฉพาะ 16 ส.ส.จากพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ที่มีกระแสข่าวว่าผู้ใหญ่ภายในพรรค ทั้งนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรค ปชป., นายชวน และนายบัญญัติ บรรทัดฐาน กรรมการสภาที่ปรึกษาพรรค ได้กดดันให้ถอนชื่อ เพราะพรรค ปชป.เป็นพรรคร่วมรัฐบาล
นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรค ปชป. ยืนยันว่า ที่ประชุม ส.ส.พรรคมีมติให้ยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 และให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เพียงร่างเดียว โดยร่วมกับพรรคร่วมรัฐบาล แต่ปรากฏว่ามี ส.ส.ที่ไม่ได้เข้าร่วมประชุมพูดในลักษณะว่าหัวหน้าพรรคอนุญาตให้ลงชื่อแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 272 ซึ่งไม่เป็นความจริง รวมถึงข่าวผู้ใหญ่ในพรรคกดดันให้ ส.ส. 16 คน ถอนชื่อออกจากญัตติแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 272 ก็ไม่จริง แต่มีการทำความเข้าใจกันเรื่องมติพรรค ซึ่งถึงขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่ามีจำนวนกี่คนที่ไปถอนชื่อออก
    ด้านนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรค ปชป. ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคประชาธิปัตย์ (วิปพรรค) กล่าวถึง ส.ส. 16 คนของพรรคที่ไปร่วมลงชื่อปิดสวิตช์ ส.ว. ว่าเป็นสิทธิของแต่ละคนที่จะไปลงชื่อเสนอกฎหมายได้ แต่พรรคมีมติยืนยันว่ายื่นเสนอร่างเพียงอย่างเดียวเพื่อความเป็นเอกภาพ และต้องการให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญสามารถเดินหน้าได้จริง ส่วน ส.ส.ที่ไปลงชื่อเสนอญัตติปิดสวิตช์ ส.ส. ก็ต้องชี้แจงเหตุผลตอบคำถามต่อสังคม แต่จะไม่กดดันให้ทั้ง 16 คนที่ไปร่วมลงชื่อถอนชื่อ เพราะเชื่อว่าทุกคนมีวุฒิภาวะ
น.ส.พัชรินทร์ ซำศิริพงษ์ ส.ส.กทม. ในฐานะโฆษกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวถึงกลุ่ม 16 ส.ส.พรรค ปชป.ไปลงชื่อยื่นญัตติกับพรรคฝ่ายค้านว่า ไม่กระทบต่อเสถียรภาพของพรรครัฐบาล แต่โดยธรรมเนียมปฏิบัติ รวมถึงหลักการทำงานร่วมกันของพรรคร่วมรัฐบาล และมารยาททางการเมือง พรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรคต้องยึดมติของวิปรัฐบาลเป็นหลัก ซึ่งได้มีการพูดคุยกับแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรคแล้ว
    ต่อมาเวลา 18.00 น. นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า สำนักประชุมแจ้งว่าขณะนี้ได้มี ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลจำนวน 18 คน แจ้งความจำนงขอรายชื่อจากญัตติร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ที่ให้อำนาจ ส.ว.มีส่วนเลือกนายกรัฐมนตรี โดยเป็น ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ 12 คน และพรรคการเมืองอื่นอีก 6 คน ส่งผลให้ญัตติดังกล่าวไม่สมบูรณ์ เนื่องจากมีการลงนามไม่ถึง 1 ใน 5 ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ และต้องรอให้ผู้เสนอรวบรวมรายชื่อเพิ่มเติมมา จึงจะสามารถบรรจุเข้าระเบียบวาระได้
    สำหรับ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ที่ถอนรายชื่อ 12 คน ได้แก่ น.ส.รังสิมา รอดรัศมี ส.ส.สมุทรสงคราม, พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ ส.ส.สงขลา, นางกันตวรรณ ตันเถียร ส.ส.พังงา, นางศรีสมร รัศมีฤกษ์เศรษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ, นายธีรภัทร พริ้งศุลกะ ส.ส.สุราษฎร์ธานี, นายวิวรรธน์ นิลวัชรมณี ส.ส.สุราษฎร์ธานี, นายสินิตย์ เลิศไกร ส.ส.สุราษฎร์ธานี, นายอัศวิน วิภูศิริ ส.ส.บัญชีรายชื่อ, นายสาคร เกี่ยวข้อง ส.ส.กระบี่, น.ส.สุณัฐชา โล่สถาพรพิพิธ ส.ส.ตรัง, นายสมชาติ ประดิษฐพร ส.ส.สุราษฎร์ธานี และนายภานุ ศรีบุศยกาญจน์ ส.ส.สุราษฎร์ธานี
ในส่วนของพรรคอื่นๆ อีก 6 คน ประกอบด้วย นายจุลพันธ์ โนนศรีชัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา, พล.ต.ทรงกลด ทิพย์รัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคพลังชาติไทย, นายสุรทิน พิจารณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาธิปไตยใหม่, นายพีระวิทย์ เรื่องลือดลภาค ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคไทรักธรรม, นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์, นายพิเชษฐ สถิรชวาล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาธรรมไทย
ขณะที่นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล  กล่าวว่า ข้อเสนอในการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคมี 3 เรื่องหลัก คือ 1.แก้ไขมาตรา 256 เพื่อให้จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับผ่าน ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง 2.ยกเลิกบทเฉพาะกาล มาตรา 269-272 เพื่อปิดสวิตช์ ส.ว. โดยดำเนินการควบคู่กันไปกับการตั้ง ส.ส.ร. และ 3.ยกเลิกบทเฉพาะกาล มาตรา 279 เพื่อยกเลิกการรับรองให้ประกาศคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และการกระทำที่เกี่ยวเนื่องชอบด้วยรัฐธรรมนูญและชอบด้วยกฎหมายไปตลอด ซึ่งหากมีการถอนรายชื่อหนึ่งจริง ต้องยอมรับว่าจะทำให้ญัตติดังกล่าวไม่สมบูรณ์ เพราะรายชื่อ ส.ส.ไม่ครบ 1 ใน 5
    “พรรคก้าวไกลพยายามรวบรวมรายชื่อภายใต้ข้อจำกัดอย่างดีที่สุด หากมีการถอนรายชื่ออีก และไม่สามารถหารายชื่อเพิ่มได้ ญัตตินี้จะต้องตกไป แต่เป็นเรื่องน่ายินดีที่พรรคเพื่อไทยมีมติเสนอญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในหลายเรื่อง รวมถึงเรื่องการปิดสวิตช์ ส.ว.ด้วยการยกเลิกมาตรา 272 ซึ่งเป็นเเนวทางเดียวกับที่พรรคก้าวไกลสนับสนุน ซึ่งเราพร้อมยินดีร่วมลงชื่อสนับสนุนญัตติของพรรคเพื่อไทย เพื่อให้เข้าสู่วาระการประชุมของรัฐสภา ก่อนปิดสมัยการประชุมในวันที่ 25 ก.ย.”
    นายชัยธวัชกล่าวว่า การปิดสวิตซ์ ส.ว. ด้วยการยกเลิกมาตรา 272  มีความสำคัญอย่างยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบัน เพราะนอกจากยกเลิกอำนาจของวุฒิสภาในการเลือกนายกฯ แล้ว หลายวันที่ผ่านเริ่มมีการพูดถึงรัฐบาลแห่งชาติและมีการเสนอเรื่องนายกฯ คนนอก ซึ่งสาระสำคัญของมาตรา 272 วรรค 2 คือการเปิดช่องให้มีการเลือกนายกฯ คนนอกได้ ดังนั้น หากสามารถยกเลิกมาตรา 272 ได้เร็วที่สุดก็จะเป็นการหยุดยั้งไม่ให้เกิดทางตัน ลดความขัดเเย้งทางการเมือง และเป็นการปิดสวิตช์ ส.ว. เพื่อไม่ให้เข้ามาแทรกเเซงการเลือกนายกฯ และปิดทางไม่ให้เกิดการเลือกนายกฯ คนนอกไปพร้อมกัน
    สำหรับประเด็นการแก้ไขมาตรา 256 เรื่องการตั้ง ส.ส.ร.นั้น นายชัยธวัชกล่าวว่า แม้พรรคไม่ได้ร่วมลงชื่อกับพรรคร่วมฝ่ายค้าน แต่ญัตตินี้ได้ถูกบรรจุอยู่ในวาระการพิจารณาของสภาแล้วในวันที่ 23-24 ก.ย.นี้ โดยพรรคจะยกมือสนับสนุนการแก้ไขมาตรา 256 ในวาระที่ 1 และจะผลักดันให้เกิดการแปรญัตติในวาระที่ 2 เพื่อทำให้ ส.ส.ร.ที่จะเกิดขึ้นมาจากประชาชนอย่างเเท้จริง
    คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงกรณี ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลทยอยถอนชื่อในญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ว่าต้องขอให้กำลังใจพรรคก้าวไกลในการแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตราดังกล่าว ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกันที่พรรคฝ่ายค้านเห็นตรงกัน ซึ่งพรรคตั้งใจจะดำเนินการตั้งแต่ต้น โดยพรรคเตรียมเสนอ 4 ญัตติให้สภาพิจารณาในวันที่ 10 ก.ย. จึงมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งหากพรรคก้าวไกลจะพิจารณามาร่วมกันเป็นเจ้าของญัตติทั้ง 4 ร่วมกันกับพรรคเพื่อไทย ทั้งการตัดอำนาจ ส.ว. และการไม่เอานายกฯ คนนอก รวมถึงการยกเลิกอำนาจ คสช.และยกเลิก ส.ว.ปฏิรูปประเทศ
    นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) ชี้แจงถึงเหตุผลพรรคเพื่อไทยเปลี่ยนใจยื่นแก้มาตรา 272 เพื่อปิดสวิตช์ ส.ว. ทั้งที่ก่อนหน้านี้บอกว่ายังไม่ถึงเวลา ว่าพรรคประเมินสถานการณ์มาโดยตลอด การแก้รัฐธรรมนูญเราหวังเอาจริง คิดว่าจังหวะไหนทำได้ก็ทำ ถ้าจังหวะไม่ใช่ก็จะดึงไว้ก่อน ซึ่งสัญญาณจาก ส.ว.และสังคมมีแนวโน้มว่าเป็นไปได้ จึงใช้โอกาสนี้ยื่นแก้ ซึ่งเราฟังความต้องการของผู้ชุมนุม นิสิต นักศึกษา และประชาชน ที่มีความประสงค์อยากให้เรายื่น ฉะนั้นตามเหตุผลดังกล่าวจึงคิดว่าต้องยื่น  
         ถามว่าก่อนหน้านี้มองว่าแรงกดดันจากการชุมนุมยังไม่สามารถทำให้การแก้ไขเกิดขึ้นได้ นายสุทินกล่าวว่า วันนี้แรงกดดันจากผู้ชุมนุมส่วนหนึ่งทำให้ ส.ว.มีท่าทีเปลี่ยนไป และน่าจะมีแรงกดดันและแรงจูงใจนอกจากผู้ชุมนุมอีก จึงมีความชัดเจนว่าจะเป็นไปได้ และเริ่มเห็นสัญญาณที่ดี ส่วนจะมั่นใจแค่ไหน เพราะขณะนี้เสียง ส.ส.ก็ยังแตกกันอยู่ ก็ไม่มั่นใจถึง 100% แต่มีความมั่นใจเพิ่มขึ้น และประเมินไว้ว่าเมื่อถึงวันอภิปรายจริงๆ เราเห็นสัญญาณที่เป็นบวกมากขึ้น
     มีรายงานอีกว่า พรรคฝ่ายค้าน นำโดยพรรคเพื่อไทย ได้เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญไปอีก 4 ญัตติ 1.การยกเลิกอำนาจ ส.ว.ในการเลือกนายกฯ ตามมาตรา 272 ที่นอกจากให้มาจากการเลือกในบัญชีของพรรคการเมืองแล้ว ยังเลือกจาก ส.ส.ได้ด้วย 2.การยกเลิกอำนาจของ ส.ว.ตามมาตรา 270 เกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ และมาตรา 271 เกี่ยวกับการไม่เห็นชอบหรือแก้ไขเพิ่มเติมร่างกฎหมายเกี่ยวกับแก้ไขเพิ่มเติมโทษหรือองค์ประกอบความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ฯลฯ เฉพาะเมื่อการแก้ไขเพิ่มเติมนั้นมีผลให้ผู้กระทำความผิดพ้นจากความผิดหรือโทษ ที่เสนอโดยสภาผู้แทนราษฎร  
    3.การยกเลิกมาตรา 279 ซึ่งเป็นบทเฉพาะกาลที่ทำให้ประกาศคำสั่งและการกระทำของ คสช. อยู่เหนือกว่าบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะเรื่องสิทธิเสรีภาพ และ 4.การแก้ไขระบบเลือกตั้ง ด้วยการยกเลิกมาตรา 88, 83, 85, 90, 91 และ 94 โดยแก้ไขระบบเลือกตั้งให้เป็นไปตามแนวทางของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 คือใช้บัตร 2 ใบ คือเลือกคนและเลือกพรรคการเมือง  
    โดยตลอดทั้งวัน ที่ห้องประชุมชั้น 6 อาคารรัฐสภา พรรคเพื่อไทยได้ให้ ส.ส.ทุกพรรคมาลงนาม ซึ่งมี ส.ส.พรรคเพื่อไทย ส.ส.จากพรรคร่วมฝ่ายค้านทยอยมาลงชื่ออย่างต่อเนื่อง ส่วนประเด็นพรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกลที่มีความเห็นไม่ตรงกันในการแก้รัฐธรรมนูญก่อนหน้านั้น แกนนำพรรคเพื่อไทยได้ประสานทางวาจากับแกนนำพรรคก้าวไกล เพื่อขอให้มาร่วมลงชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะทั้งสองพรรคก็ต่างมีจุดยืนในหลักการเดียวกัน จากการพูดคุยได้ผลออกมาไปในทิศทางที่ดี โดย ส.ส.ก้าวไกลส่วนใหญ่เห็นด้วยและจะร่วมลงชื่อด้วยเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ จะมีการยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมต่อประธานสภาฯ ในวันที่ 10 ก.ย. เวลาประมาณ 13.30 น.        

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"