ในช่วงปลายปีนี้มีหลายงานที่รัฐบาล "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ต้องเร่งผลักดันให้ตกผลึก โดยเฉพาะงานตามแผนการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ ที่ต้องขับเคลื่อนให้เกิดเป็นรูปธรรม และมีประสิทธิภาพด้วยความรวดเร็ว ล่าสุด “พล.อ.ประยุทธ์” ได้ออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการขับเคลื่อนการปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วน พ.ศ.2563 ซึ่งมีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 ก.ย.
โดยมีเนื้อหาของระเบียบทั้งสิ้น 13 ข้อ ซึ่งระบุว่า โดยที่แผนการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ ได้กำหนดข้อเสนอในการมี หรือแก้ไข ปรับปรุงหรือยกเลิกกฎหมายหรือกฎเพื่อรองรับการดำเนินการเป็นจำนวนมาก และอยู่ในความรับผิดชอบของหลายหน่วยงาน สมควรกำหนดกลไกการขับเคลื่อนการปฏิรูปกฎหมายในประเด็นที่มีความสำคัญเร่งด่วน เพื่อให้การดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศและยุทธศาสตร์ชาติเป็นไปด้วยความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
และนอกจากการคลอดระเบียบการขับเคลื่อนปฏิรูปกฎหมายเร่งด่วนแล้ว ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 8 ก.ย.ที่ผ่านมา ครม.ยังได้เห็นชอบแนวทาง “การแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาการให้บริการในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Service)” หลังมีการรายงานต่อที่ประชุม ครม.ว่ามีอุปสรรคและข้อจำกัดทางด้านกฎหมาย ในการพัฒนาการให้บริการในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์แก่ประชาชน
ซึ่งในประเด็นนี้อาจสวนทางกับนโยบายของรัฐบาล ที่มุ่งลดความยุ่งยากในขั้นตอนการให้บริการประชาชน ที่ผ่านมาจึงได้มีทั้งศูนย์วันสต็อปเซอร์วิสที่ให้บริการครบครันในจุดเดียว และซิงเกิลวินโดว์เพื่อเชื่อมโยงระบบอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียว และยังพยายามให้ประชาชนเข้าใช้การบริการในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์มากยิ่งขึ้น ดังนั้น ครม.จึงเห็นชอบและดำเนินการแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่างๆ ให้แล้วเสร็จภายในปีนี้
โดย พล.อ.ประยุทธ์ได้เน้นย้ำ “การแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาการให้บริการในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ให้แก้เรื่องระยะเวลาการขออนุมัติต่างๆ ที่ยังช้าอยู่ พร้อมให้กวดขันเรื่องของการทุจริตเรียกรับผลประโยชน์ในการที่ทำให้ล่าช้า หากพบจะลงโทษสถานหนัก และขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือน โดยให้ระดมรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การดำเนินการโดยไม่มีปัญหาในภายหลัง เพราะที่ผ่านมาได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนเป็นจำนวนมาก”
ทั้งนี้ การเสนอแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาการให้บริการในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ถูกเสนอโดยสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.ร.) หลังจาก ก.พ.ร.ได้จัดทำระบบ Biz Portal เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการติดต่อขออนุญาตกับหน่วยงานราชการผ่านระบบออนไลน์ ประชาชนสามารถยื่นคำขอได้ครบวงจรธุรกิจในครั้งเดียว กรอกแบบฟอร์มและจัดเตรียมเอกสารเพียงชุดเดียว และติดตามสถานะคำขออนุญาตตลอด 24 ชั่วโมง โดยไม่จำเป็นต้องไปยื่นคำขอหลายหน่วยงาน ลดภาระในการเดินทางติดต่อราชการ
ปัจจุบันสามารถดำเนินการครอบคลุม 25 ประเภทธุรกิจ 78 ใบอนุญาต เช่น ธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจร้านค้าปลีก ธุรกิจรีสอร์ตขนาดเล็กและโรงแรม นอกจากนี้ยังพัฒนาการออกเอกสารหลักฐานของทางราชการผ่านระบบดิจิทัล (e-Document) โดยเชื่อมโยงข้อมูลจากระบบต่างๆ เช่น ข้อมูลจากเลขบัตรประจำตัวประชาชนของกรมการปกครอง เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันได้มีหน่วยงานเข้าร่วมการพัฒนาการออกเอกสารหลักฐานจำนวน 33 หน่วยงาน 82 ใบอนุญาต/เอกสาร
แต่อย่างไรก็ตาม จากการดำเนินงานที่ผ่านมาพบว่ามีปัญหาอุปสรรค คือกฎหมายและกฎระเบียบที่ไม่เอื้อต่อการพัฒนาการให้บริการในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ครม.จึงอนุมัติแนวทางการแก้ไขกฎหมายและกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจแบบครบวงจรให้แก่ภาคเอกชนและประชาชน ส่งผลต่อการจัดอันดับความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจในประเทศไทยของธนาคารโลก ประกอบด้วย
1.ให้หน่วยงานกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติในการขออนุญาต สถานที่ยื่นคำขอ การต่ออายุใบอนุญาต รวมถึงการขอรับใบแทนใบอนุญาตกรณีชำรุด เสียหายหรือสูญหาย โดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์อีกวิธีหนึ่ง นอกเหนือจากช่องทางปกติ และให้ถือว่ามีผลโดยชอบด้วยกฎหมายเช่นเดียวกัน 2.ให้หน่วยงานกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติในการชำระค่าธรรมเนียมในการขออนุญาต การต่ออายุใบอนุญาต โดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ และให้หน่วยงานต้องจัดทำใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt)
3.ให้หน่วยงานกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้สำหรับการลงลายมือในเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ โดยให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ 4.ให้หน่วยงานกำหนดหลักเกณฑ์ในการแจ้งผลการพิจารณาและการรับใบอนุญาต หรือหนังสือรับรองโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หรือในรูปแบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Certificate) โดยให้หน่วยงานแจ้งผลทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน
5.เรื่องการระบุให้ต้องแสดงใบอนุญาตไว้ในที่เปิดเผยและเห็นได้ง่าย ณ สถานประกอบการ ส่วนนี้ให้แก้ไขโดยใช้ข้อความต่อไปนี้แทนข้อความเดิมในกฎหมาย “ให้ผู้รับอนุญาตเตรียมใบอนุญาตหรือเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องซึ่งสามารถแสดงถึงการอนุญาตให้เจ้าหน้าที่สามารถตรวจสอบได้ทุกเมื่อ ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใดก็ตาม” เทียบเคียงได้กับการแสดงใบอนุญาตขับขี่ทางอิเล็กทรอนิกส์หรือสำเนาภาพถ่าย
นอกจากนี้ยังได้กำหนดแผนการดำเนินการแก้ไขกฎหมายไว้ด้วย โดยในส่วนของประกาศ ระเบียบ ข้อบังคับ หรือคำสั่งที่เป็นอำนาจของหัวหน้าส่วนราชการที่จะแก้ไขได้ โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจาก ครม. ให้หน่วยงานดำเนินการแก้ไขให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือน หลังจาก ครม.มีมติเห็นชอบ
ขณะที่กฎกระทรวง ระเบียบ ข้อบังคับที่ต้องขอความเห็นชอบจาก ครม.ก่อนนั้น ให้แก้ไขให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน ส่วนกฎหมายที่เป็น พ.ร.บ. ให้สำนักงาน ก.พ.ร.เสนอแก้ไขต่อคณะกรรมการพัฒนากฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยเชิญหน่วยงานมาชี้แจงและปรับแก้กฎหมายเพื่อเสนอต่อ ครม. และหลังจากแก้ พ.ร.บ.สำเร็จ ให้แก้ไขกฎหมายลำดับรองให้สอดคล้องภายใน 3 เดือน นับแต่ พ.ร.บ.มีผลบังคับใช้
ทั้งนี้ ในจำนวนกฎหมายที่เป็นอุปสรรค 84 ฉบับ มีอยู่จำนวน 23 ฉบับของหน่วยงานนำร่องที่มีความพร้อมอยู่แล้ว หากแก้ไขกฎหมายจะสามารถให้บริการในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ ซึ่งจะช่วยลดข้อติดขัด ทำให้การอำนวยความสะดวกประชาชนเป็นไปตามนโยบายของ “รัฐบาล” ได้อย่างราบรื่น.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |