การขับรถเป็นการแสดงออกอย่างหนึ่งของความเป็นอิสระ การพึ่งพาตนเองได้ ผู้สูงอายุไทยจำนวนไม่น้อยที่ยังขับรถแม้อายุมากกว่า 60 ปี อย่างไรก็ตาม ในอนาคตข้างหน้าเมืองไทยจะมีผู้สูงอายุที่ขับรถเองมากขึ้น เพราะคนเราอายุยืนยาวขึ้น ลองคิดง่ายๆ ว่า ถ้าตอนนี้เรายังขับรถอยู่ เมื่อวันหนึ่งเราอายุเกิน 60 ปี เราจะเลิกขับรถหรือไม่
ปัจจุบันยังไม่มีความตื่นตัวมากนักในด้านระบบการประเมินความพร้อมของผู้สูงอายุที่ยังขับรถอยู่ ทั้งที่อุบัติเหตุทางการจราจรเป็นสาเหตุของการบาดเจ็บ พิการ และเสียชีวิต ซึ่งผู้สูงอายุก็เป็นกลุ่มเสี่ยงที่สำคัญ เนื่องจากสุขภาพร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา แต่โดยส่วนใหญ่แล้วผู้สูงอายุมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุจากการขับรถน้อยกว่าคนหนุ่มสาว สาเหตุเพราะว่าผู้สูงอายุมักจะขับรถช้ากว่า ประสบการณ์การขับรถมีมานานกว่า มักคาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้ง และมักไม่ดื่มแอลกอฮอล์ก่อนขับรถ
อย่างไรก็ตาม ถ้าผู้สูงอายุคนไหนขับรถยิ่งเร็วขึ้นๆ โอกาสการเกิดอุบัติเหตุยิ่งเพิ่มมากขึ้นกว่าคนหนุ่มสาว โดยส่วนใหญ่ถ้าอายุเกิน 70 ปี โอกาสเกิดอุบัติเหตุเพิ่มมากขึ้น และยิ่งเพิ่มขึ้นอย่างมากถ้าอายุเกิน 80 ปี และถ้าเมื่อไหร่เกิดอุบัติเหตุ ผู้สูงอายุมีแนวโน้มเกิดอุบัติเหตุที่รุนแรง ได้รับอันตรายมากกว่าและโอกาสถึงแก่ชีวิตสูงกว่าคนหนุ่มสาวถึง 9 เท่า
การขับรถต้องอาศัยกระบวนการทางร่างกายเหล่านี้ประกอบกัน คือ สมอง, สมาธิ, การตัดสินใจ, ความคล่องแคล่ว, การประสานงานของส่วนต่างๆ ของร่างกาย, กำลังกล้ามเนื้อที่เพียงพอ, การขยับส่วนต่างๆ ของร่างกายได้ดี, การมองเห็นและการได้ยินที่ดี หากเรามีความผิดปกติในด้านใดด้านหนึ่งจะทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
ปัจจัยที่ทำให้ผู้สูงอายุมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุจากการขับขี่รถยนต์มีปัจจัยหลายอย่าง เช่น อายุมากกว่า 85 ปี และมีปัญหาด้านการมองเห็น รวมถึงภาวะสมองเสื่อม กำลังกล้ามเนื้อลดลง ความว่องไวในการตอบสนองต่อเหตุการณ์คับขันช้าลง การทำงานระหว่างอวัยวะต่างๆ ให้ประสานกันได้ไม่ดี และสมาธิลดลง
นอกจากนั้นยังอ่อนล้าง่ายถ้าต้องขับรถนานๆ ที่สำคัญ ผู้สูงอายุควรคาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้ง เพราะแรงกระแทกเพียงเล็กน้อยอาจทำให้กระดูกแตกหักได้ นอกจากนี้ ผู้สูงอายุควรหาเพื่อนร่วมทางในขณะขับรถจะได้ช่วยดูเส้นทาง, สัญญาณไฟจราจร หากผู้สูงอายุจำเป็นต้องขับรถไกลๆ ควรเตรียมสภาพร่างกายให้พร้อมก่อนขับรถ โดยปรึกษาแพทย์เพื่อประเมินการมองเห็น กำลังกล้ามเนื้อแขน ขา การตอบสนองของระบบประสาท รวมถึงกระดูกข้อต่อต่างๆ หากมีโรคประจำตัวให้หลีกเลี่ยงการขับรถตามลำพัง หากจำเป็นให้นำยารักษาโรค บัตรบันทึกประวัติของโรค และบัตรประจำตัวผู้ป่วยติดตัวมาด้วยเสมอ เพราะอาจเกิดอันตรายในขณะขับขี่ได้
สรุปคือ ผู้สูงอายุขับรถได้ถ้ากายพร้อม ใจพร้อม..จริงไหมคะ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |