“ The Times 03/Jan/2009 Chancellor on brink of second bailout for banks”
วันที่ 3 มกราคม 2009 ผู้ใช้นามว่า ซาโตชิ นากาโมโต้ ได้กำหนดรหัสเพื่อสร้างเทคโนโลยีบล็อคเชนสร้างเงินดิจิทัลในช่วงวิกฤติการณ์ซับไพร์มหรือแฮมเบอร์เกอร์ และได้ส่งข้อความข้างต้น ซึ่งดูเหมือนจะเป็นการส่งสัญญาณอันเป็นสัญลักษณ์สำคัญที่ต้องการท้าทายความสามารถของธนาคารกลาง ในการแก้ปัญหาการล้มละลายของสถาบันการเงินหลายแห่งในโลก รวมทั้งเสนอทางเลือกที่สามารถแก้ไขได้ด้วยเงินเสมือนจริง
ไม่ว่าข้อความข้างต้นนี้จะถูกต้องหรือไม่ แต่เพียง 11 ปีต่อมา ในปี 2020 ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตหรือที่เรียกกันว่า New Normal ส่งผลให้ค่าเงิน ตลาดหุ้นและตลาดสินทรัพย์ต่าง ๆ กำลังได้รับผลกระทบที่อาจรุนแรงกว่าวิกฤติเศรษฐกิจโลกในปี 2475 ผู้ลงทุนทั่วโลกต้องขายหุ้นบริษัทยักษ์สมัยเก่าทิ้งเพราะธุรกิจและอุตสาหกรรมหลักของโลกเกือบทั้งหมดปิดตัวลงอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน แต่ตลาดทองคำและตลาดเทคโนโลยีกลับพลิกตัวทำรายได้และเพิ่มมูลค่าเป็นกอบเป็นกำ โดยเฉพาะกลุ่ม FAANG บ้างก็นำเงินไปลงทุนเพื่อเก็งกำไรจากเงินดิจิทัลต่าง ๆ โดยคิดว่าจะเป็นช่องทางที่ปลอดภัยและเป็นหลุมหลบภัยที่สามารถนำความมั่งคั่งมาจอดรอไว้ชั่วคราว (หรืออาจถาวร) ทำให้นักการตลาดต่างพากันมองการปรับตัวครั้งนี้ว่าประหลาด เพราะเศรษฐกิจอาจจะไม่เป็นรูปตัววี (V) หรือตัวยู (U) แต่จะเป็นรูปตัวเค (K)
การปรับตัวรูปตัวเค (K) ที่กล่าวถึงข้างต้นหมายความว่า เศรษฐกิจทั้งระดับจุลภาคและมหภาคของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกเป็นขาลง แต่ทว่าตลาดเศรษฐกิจใหม่ของโลกอย่างเทคโนโลยีดิจิทัลกลับเป็นขาขึ้น อย่างไรก็ดี เริ่มมีผู้ตั้งคำถามเชิงสมมุติฐานว่าหากเกิดการล่มสลายของเศรษฐกิจหลักของโลกเป็นเวลานาน และอุตสาหกรรมเก่ากำลังจะตายลงอย่างถาวร จะมีนโยบายใดที่จะสามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจขาลงนี้ได้ และในส่วนขาขึ้นของเศรษฐกิจใหม่อย่างเทคโนโลยีดิจิทัลควรมีโครงสร้างหน้าตาและพฤติกรรมตลาด ตลอดจนการแข่งขันทางการค้าอย่างไร โลกจึงจะสามารถสร้างตลาดใหม่ทดแทนตลาดเก่าได้ ควรต้องออกกฎระเบียบอะไรที่จะสร้างสมดุลย์ที่มีความยุติธรรม และจะควบคุมพฤติกรรมผู้บริโภคและธุรกิจเพียงใดจึงจะไม่เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวและกลับสู่สภาพเศรษฐกิจปกติได้อย่างรวดเร็ว
ภายใต้สมการรายได้ประชาชาติ Y = C + I + G + (X - M) การส่งออก การลงทุนจากต่างประเทศทางตรง การลงทุนในตลาดทุน และการท่องเที่ยวจากต่างประเทศ ล้วนเป็นองค์ประกอบของอุปสงค์รวมของเศรษฐกิจภายนอกที่ไทยได้รับอานิสงส์มานานหลายปี ส่วนการบริโภคภายในประเทศและการลงทุนของรัฐยังไม่สามารถสร้างความมั่งคั่งใหม่ให้กับประเทศได้
คำถามคือ ทำอย่างไรจึงจะสามารถกอบกู้เศรษฐกิจให้รอดไปได้อย่างน้อยอีกหนึ่งปี การให้ความช่วยเหลือเกษตรกรในภาคชนบทหรือต่างจังหวัดโดยเฉพาะจังหวัดที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากภาวะฝนแล้งและน้ำท่วมถือเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง ดังนั้นถ้าบริษัทไทยต้องการจะเป็นศูนย์อาหารโลก ก็ควรให้ความสำคัญต่อผู้ผลิตอาหารตัวจริงในห่วงโซ่อาหารของประเทศก่อนเป็นสำคัญ
การกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศเป็นความท้าทายอย่างยิ่งและควรเป็นเป้าหมายสำคัญของรัฐในปีนี้และปีหน้า ประการแรก คือ สร้างความมั่นใจให้ธุรกิจขนาดเล็กกลางใหญ่ลุกออกจากเตียงคนไข้ให้ได้ภายใน 3-6 เดือน ประการที่สอง รัฐบาลต้องกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศด้วยการจับตาดูเรื่องการแข่งขันทางการค้าของภาคธุรกิจที่อาจมีการฉวยโอกาสในช่วงโควิด-19 ให้เกิดความยุติธรรม ควรมีการกระจายรายได้และส่งผ่านความมั่งคั่งไปยังธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กโดยวิธีต่าง ๆ เช่น ยืดระยะเวลาหรือพักการชำระหนี้ ลดดอกเบี้ยบัตรเครดิต เป็นต้น ในส่วนของภาครัฐควรปรับความเร็วของการหมุนเวียนเงินในระบบเศรษฐกิจ การคืนเงินค้างชำระหนี้ การสร้างงานที่สองแบบ Part Time ให้กับผู้ถูกปลดจากงานหรือถูกพักงาน เป็นต้น
ประการที่สาม การบริโภคภายนอกประเทศ เปรียบเสมือนเครื่องยนต์ที่ถึงแม้จะดับก็ต้องสตาร์ทให้ติด ซึ่งรัฐบาลกำลังทำอยู่และทำได้ดีเพราะมีประสบการณ์อยู่แล้ว แต่อาจต้องเร่งเครื่องลงทุนในโครงการสำคัญของรัฐฯ ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว และเปิดใช้งานก่อนกำหนดเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน ตลอดจนการท่องเที่ยวในมิติต่าง ๆ การเจรจาความร่วมมือทางเศรษฐกิจใหม่ ๆ และการเปิดเสรีทางการค้ากับกลุ่มประเทศที่สามารถค้าขายกันได้โดยเร็ว
ประการที่สี่ การสร้างความมั่งคั่งในมิติด้านความเร็วผ่านโทรศัพท์มือถือ แอปพลิเคชั่น และแพลตฟอร์มต่าง ๆ หรือที่บางคนเรียกว่า M Economy ภายใต้สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วที่เทคโนโลยีเป็นผู้นำเศรษฐกิจเช่นนี้ จะเห็นถึงพลังของคนรุ่นใหม่ที่มีมโนภาพ จินตภาพ และผลิตภาพ ซึ่งจะเป็นพลังที่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีสมัยใหม่ ๆ เช่น บล็อคเชน ที่จะนำไปสู่เศรษฐกิจมิติใหม่ของเงินดิจิทัลอันเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมปัญญาประดิษฐ์ที่สำคัญ ที่สามารถเติมเต็มและสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเครื่องยนต์ได้อีกหลายทศวรรษ
ซาโตชิ นากาโมโต้ ได้ทำนายเงินดิจิทัลไว้ว่า เราจะได้เห็นการพัฒนาของช่องทางการชำระเงินจากมือถือ หรือ การก้าวเข้าสู่ M Economy อย่างถาวร ซึ่งประเทศไทยก็พัฒนาและก้าวหน้าขึ้นโดยลำดับ เห็นได้จากการใช้พาณิชย์อิเล็คทรอนิกส์ หรือที่เรียกว่า E-Commerce ซึ่งมีส่วนช่วยกู้เศรษฐกิจของประเทศในช่วงต้มยำกุ้ง การทำธุรกรรมทางการเงินผ่าน ATM และล่าสุดการสร้าง มัลติแพลตฟอร์ม (Multi-platform) และฟินเทค (Fintech) บัดนี้น่าจะถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยควรมีการสนับสนุนในการสร้างบุคคลากรของประเทศในภาคปัญญาประดิษฐ์ เพื่อให้สามารถสร้างยูนิคอร์นและพลังปัญญาเด็กรุ่นใหม่ ให้มาช่วยแก้ไขเศรษฐกิจบ้าง บริษัทขนาดใหญ่ของไทยควรต้องเป็นผู้นำในการสร้าง Public – Private Platform ต่าง ๆ ให้สามารถนำมาใช้ได้อย่างแท้จริง
ไม่ว่าเราจะยังสอนวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ หรือเศรษฐศาสตร์ แบบเดิมได้หรือไม่ ไม่ว่าลัทธิสังคมนิยมและทุนนิยมจะสิ้นสุดหรือเปลี่ยนเป็นอย่างไร หลังสถานการณ์โควิด-19 นี้ ประเทศต่าง ๆ จะต้องหันมาสนใจเทคโนโลยีในการสร้างความมั่งคั่งและมั่นคงรูปแบบใหม่ในระดับที่สามารถแข่งขันกับต่างประเทศให้กับประเทศตนเอง โดยจะถูกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีที่อาศัยเศรษฐกิจความเร็วหรือ Economy of Speed ที่อิงอยู่กับการผลิตเพื่อการบริโภคภายในและภายนอก แทนการเติบโตด้วยเศรษฐกิจจากภายนอกเพียงอย่างเดียว
จึงอาจเป็นเรื่องเร่งด่วนที่จะต้องทำแบบพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินจริง ๆ แต่ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ ประเทศจีนได้เรียนรู้เรื่องการฟื้นตัวจากสงครามการค้าและพยายามสร้างสินค้าตัวใหม่มาเป็นเครื่องยนต์ใหม่ คือ เงินหยวนดิจิทัล ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยก็ให้ความสนใจเป็นอย่างมาก และสำหรับประเทศไทยแล้ว การก้าวเดินไปข้างหน้าต้องพึ่งพาความร่วมมือแบบสหวิชากับคนรุ่นใหม่ที่เป็นมันสมองต่อไปในอนาคต
บทความคอลัมน์เวทีพิจารณ์นโยบายสาธารณะ
ดร กฤษฎา เปี่ยมพงศ์สานต์
กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมภิบาล
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |