9 ก.ย.63-รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Harirak Sutabutr ระบุว่าอีก10 วันก็จะถึงวันที่กลุ่มประชาชนปลดแอก ประกาศว่าจะจัดการชุมนุมใหญ่ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ สถานที่ที่มีความขลัง และเต็มไปด้วยกลิ่นอายแห่งการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย
ในขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งได้รับบทเรียนมาครั้งหนึ่งแล้ว เมื่อมีการชุมนุม “ธรรมศาสตร์จะไม่ทน” เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม ที่ลานพญานาค มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
ครั้งนี้จึงมีการเตรียมการ วางเกณฑ์การอนุญาตให้มีการจัด
ชุมนุมทางการเมือง ในพื้นที่ของมหาวิทยาลัย โดยออกเป็นประกาศ ที่อธิการบดีเป็นผู้ลงนาม และผ่านการเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัย ประกาศฉบับนี้ลงวันที่ 3 กันยายน 2563
สาระสำคัญของประกาศคือ ผู้จัดจะต้องเป็นกลุ่มกิจกรรมที่สังกัดมหาวิทยาลัย หรือคณะ หรืออีกนัยหนึ่งคือ เป็นกลุ่มกิจกรรมที่จัดตั้งขึ้นอย่างถูกต้อง ตามข้อบังคับว่าด้วยกิจกรรมนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
หากเป็นกลุ่มอิสระ หรือกลุ่มเฉพาะกิจ พูดอีกอย่างหนึ่งคือกลุ่ม “เถื่อน” ที่ไม่มีกฎหมายรองรับ การขออนุญาต ต้องมีอาจารย์ที่ปรึกษาลงนามรับรอง
เกณฑ์ข้อที่สำคัญคือ ให้นักศึกษาผู้จัด ตำรวจหรือเจ้าหน้าที่รัฐที่รับผิดชอบ และมหาวิทยาลัย ทำข้อตกลงร่วมกัน 3 ฝ่าย โดยจัดทำเป็นลายลักษณ์อักษร เกี่ยวกับเนื้อหา และการแสดงออก ให้อยู่ในขอบเขตของกฎหมาย และยังให้มีมาตรการที่เหมาะสม เพื่อให้การจัดการขุมนุมเป็นไปตามข้อตกลงด้วย
นับว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาตร์ได้วางเกณฑ์การอนุญาตให้ใช้สถานที่ได้รัดกุมพอสมควร
อย่างไรก็ตาม ยังมีคำถามที่ขอฝากให้ท่านอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพื่อพิจารณาดังนี้
1. แกนนำการชุมนุมประกาศว่าจะจัดการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ก่อนที่มหาวิยาลัยจะมีประกาศเรื่องเกณฑ์การขออนุญาตดังกล่าวข้างต้น แสดงว่า ผู้จัดยังไม่ได้ยื่นหนังสือขออนุญาตใช้สถานที่ต่อมหาวิทยาลัย ณ วันประกาศต่อสาธารณะ
ในขณะที่ การจัดชุมนุมเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม ได้สร้างปัญหาอย่างมากมายแก่มหาวิทยาลัย การประกาศต่อสาธารณะว่าจะมีการชุมนุม ก่อนที่มหาวิทยาลัยจะอนุญาต เป็นการไม่ให้เกียรติและไม่ยี่หระต่อมหาวิทยาเลย ใช่หรือไม่
2. หากผู้จัด ขออนุญาตในนามกลุ่มกิจกรรมที่เป็นกลุ่ม “เถื่อน” ซึ่งปกติจะไม่มีอาจารย์ที่ปรึกษาที่มหาวิทยาลัยแต่งตั้งอย่างเป็นทางการ เช่นนั้นแล้วใครบ้างที่จะเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาที่มหาวิทยาลัยยอมรับให้ลงนามรับรองได้
3. ต้องไม่ลืมว่า แม้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะไม่ต้องการให้บังคับใช้ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 แต่ยังไม่ได้มีการยกเลิกกฎหมายมาตรานี้แต่อย่างใด ดังนั้นต้องถือว่ากฎหมายมาตรานี้ยังมีอยู่
คำถามคือ หากผู้จัดระบุว่าเนื้อหาการปราศรัยจะมีการพาดพิงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ มหาวิทยาลัยยังจะอนุญาตให้ใช้พื้นที่ภายในมหาวิทยาลัยหรือไม่
4. หากผู้จัดระบุว่าจะไม่มีการพาดพิงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือระบุว่า จะมีการพาดพิงแต่จะไม่มีการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แต่เมื่อขึ้นเวทีจริงๆ กลับมีคำพูดที่หมิ่นพระบรมเดชานุภาพอย่างชัดเจน หากเป็นเช่นนี้ แล้วมาตรการที่เหมาะสมคืออะไร
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะรับผิดชอบไหวหรือไม่ หรือจะบอกว่าเป็นเรื่องส่วนบุคคล ไม่เกี่ยวกับมหาวิทยาลัย
ครั้งนี้ ไม่ทราบว่า ณ วันนี้ ได้มีการยื่นขออนุญาตใช้พื้นที่ต่อมหาวิทยาลัยแล้วหรือไม่
หากมีการยื่นหนังสือขออนุญาตแล้ว ไม่ว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะอนุญาตหรือไม่ ก็น่าจะเปิดเผยให้สาธารณชนได้ทราบ และหากอนุญาต ก็น่าจะเปิดเผยรายละเอียดข้อตกลง 3 ฝ่ายให้ทราบด้วย
ไม่ว่ารายละเอียดข้อตกลงจะเป็นอย่างไร ผู้จัดได้แสดงความมั่นใจว่า ในวันที่ 19 กันยายน จะมีคนเข้าร่วมชุมนุมอย่างล้นหลาม และให้ข่าวว่า จะมีการ
“พลิกฟ้า คว่ำแผ่นดิน”
และยังประกาศจะยึดสนามหลวงให้เป็นสนามของประชาชนอีกด้วย
ดังนั้น เชื่อขนมกินได้เลยว่า การพาดพิงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ จะต้องมีแน่นอน เพราะนั่นคือเจตนารมณ์ของเขา
ครั้งนี้ เห็นทีท่านอธิการบดี จะต้อง
เตรียมตัวรับมือด้วยตนเอง แล้วละครับ
ด้วยความเป็นห่วงอย่างยิ่ง.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |