โหวต รธน.-ท่าที ส.ว.ไม่ชัด มีผลชุมนุม 19 ก.ย.ใหญ่เบิ้ม


เพิ่มเพื่อน    

      โหมดการเมืองเรื่อง "แก้ไขรัฐธรรมนูญ" เข้มข้นขึ้นทุกขณะ เพราะเมื่อไล่เรียงปฏิทินการเมืองจากนี้ไป วันพฤหัสบดีที่ 10 ก.ย. ที่ประชุมสภาฯ จะพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฯ สภาผู้แทนราษฎร ที่มี พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ซึ่งดูแล้วการอภิปรายของ ส.ส.ทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านคงไม่มีอะไรมาก ความเข้มข้นร้อนแรงในเชิงไม่เห็นด้วย-ตำหนิ ข้อเสนอ-บทสรุปของ กมธ.คงไม่ค่อยมี เพราะ กมธ.ชุดนี้ส่วนใหญ่ก็เป็นแกนนำพรรคการเมืองทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านเกือบทั้งสิ้น ยิ่งเมื่อข้อเสนอของ กมธ.เห็นด้วยกับแนวทางการแก้ไข รธน.มาตรา 256 และให้ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ จึงยิ่งเข้าทางฝ่ายค้านอยู่แล้ว แต่ก็อาจมีการอภิปรายหอมปากหอมคอในประเด็นต่างๆ เช่น ระบบการเลือกตั้ง เป็นต้น

                จากนั้นถัดไปอีก 2 สัปดาห์ ก็จะถึงไฮไลต์สำคัญ นั่นก็คือการที่ทางที่ประชุมร่วมรัฐสภาจะมีการประชุมพิจารณาญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคฝ่ายค้าน ในวันที่ 23-24 ก.ย. เพื่อลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบในวาระแรกขั้นรับหลักการ ในญัตติขอแก้ไข รธน.ดังกล่าว ที่ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านยื่นเหมือนกันคือ ให้แก้ไขมาตรา 256 เพื่อให้มี "สภาร่างรัฐธรรมนูญ" (ส.ส.ร.) ที่ถึงตอนนี้แน่นอนว่า เสียง ส.ส.รัฐบาลและฝ่ายค้าน จะเทเสียงเห็นชอบในการแก้ไข รธน.ทั้ง 2 ร่างดังกล่าวด้วยแน่นอน

                ขณะเดียวกัน ที่ถูกจับตามอง ถึงตอนนี้ไม่ใช่ร่างแก้ไข รธน.ของทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้าน แต่เป็นร่างแก้ไข รธน.ล่าสุด ที่ "พรรคก้าวไกล" เป็นหัวหอกในการล่ารายชื่อ ส.ส.รัฐบาลและฝ่ายค้านจนครบตามจำนวน และยื่นต่อประธานรัฐสภาไปเมื่อวันอังคารที่ 8 ก.ย.ที่ผ่านมา อันเป็นร่างแก้ไข รธน.ที่ทำในรูปแบบ “เสนอแก้ไข รธน.รายมาตรา" ที่เป็นการเสนอแก้ไขมาตรา 272 ที่เป็นบทบัญญัติให้ ส.ว.ชุดแรกตาม รธน.ปี 2560 ที่ก็คือ ส.ว.ชุดปัจจุบันที่สรรหาและทำโผรายชื่อ โดย คสช.มีอำนาจโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งร่างดังกล่าวพบว่า มี ส.ส.รัฐบาลมาร่วมลงชื่อด้วยร่วม 23 คน ซึ่งมีทั้งพรรคขนาดกลางอย่าง ประชาธิปัตย์-ภูมิใจไทย และพรรคเล็กหนึ่งเสียงที่อยู่ในปีกรัฐบาล โดยมี ส.ส.ประชาธิปัตย์มาร่วมลงชื่อด้วยร่วม 16 คน

                สาระสำคัญของร่างแก้ไข รธน.มาตรา 272 ดังกล่าว ที่พรรคก้าวไกลเป็นหัวหอกเคลื่อนไหว คือการแก้ รธน.เพื่อปิดสวิตช์อำนาจ ส.ว.ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี แต่ในส่วนของการโละ ส.ว.ชุดปัจจุบันออกไปทั้งหมด ที่เป็นหนึ่งในข้อเรียกร้องของ "คณะประชาชนปลดแอก" ที่เคยประกาศต้องโละ ส.ว.ชุดปัจจุบันออกไปภายในไม่เกินเดือนกันยายนนี้ จะไม่ได้อยู่ในร่างดังกล่าว เพราะเรื่อง ส.ว. 250 คนตามบทเฉพาะกาล จะอยู่ในมาตรา 269 ของ รธน.

                ขณะเดียวกัน ฝ่ายพรรคเพื่อไทยก็ไม่ยอมเสียเหลี่ยมพรรคก้าวไกล ในการแย่งซีนประชาธิปไตย ปิดสวิตช์ ส.ว. เพราะผลการประชุม ส.ส.เพื่อไทย เมื่อวันอังคารที่ 9 ก.ย. เห็นภาพชัดว่า พรรคเพื่อไทยเปิดฉากรุกการเมืองเรื่องการแก้ไข รธน.อย่างเข้มข้นขึ้นไปอีก โดยนอกจากขอรับบทเป็นหัวหอกในการเคลื่อนไหวเพื่อให้มีการเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญเดือนตุลาคม เพื่อเร่งให้กระบวนการแก้ไข รธน.เร็วขึ้นแล้ว ขณะเดียวกันเพื่อไทยก็ไม่ยอมหลุดซีนในเรื่องการแก้ไข รธน.เพื่อลดอำนาจ ส.ว. ยิ่งเมื่อตอนนี้ท่าทีของ ส.ว.หลายคนเห็นด้วยกับการแก้ไข รธน.รายมาตรา โดยเฉพาะการตัดอำนาจ ส.ว.ในการโหวตเลือกนายกฯ ทำให้มีความเป็นไปได้ที่การแก้ไขเรื่องดังกล่าวจะสำเร็จลงได้ พรรคเพื่อไทยจึงต้องรีบกระโดดขึ้นรถไฟคันนี้โดยเร่งด่วนทันที

                ด้วยการที่พรรคเพื่อไทยก็จะเสนอร่างแก้ไข รธน.รายมาตราเพิ่มเข้าไปใหม่อีก โดยจะเสนอแบบเร่งด่วนเลยคือ ภายในไม่เกินสัปดาห์นี้ ซึ่งร่างแก้ไข รธน.รายมาตราดังกล่าวที่เพื่อไทยจะเสนอ มีประเด็นสำคัญๆ 4 ประเด็น คือ 1.การยกเลิกอำนาจวุฒิสภาในการเลือกนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 272 โดยพรรคเสนอเพิ่มเติมว่า นายกรัฐมนตรีนอกจากเลือกจากบัญชีของพรรคการเมืองแล้ว สามารถเลือกจาก ส.ส.ได้ด้วย 2. การยกเลิกอำนาจของวุฒิสภา ตามมาตรา 270 เกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ เป็นต้น 3.การยกเลิกมาตรา 279 ซึ่งเป็นบทเฉพาะกาลที่เกี่ยวกับการคุ้มครอง ประกาศ-คำสั่งของ คสช. 4.การแก้ไขระบบเลือกตั้ง โดยเสนอแก้ไขระบบเลือกตั้งให้กลับไปใช้ระบบเลือกตั้ง 2 ใบ คือเลือกคนและเลือกพรรคการเมือง

                เมื่อดูตามนี้กับการขยับของทั้งเพื่อไทย-ก้าวไกล โดยมี ส.ส.รัฐบาลร่วมแจมด้วยในการเสนอญัตติแก้ไข รธน.รายมาตรา ทำให้จากเดิมที่คิดว่าการประชุมร่วมรัฐสภาวันที่ 23-24 ก.ย. จะมีการพิจารณาแค่ญัตติขอแก้ไข รธน.มาตรา 256 ที่ให้ตั้ง ส.ส.ร. จำนวน 2 ร่างเท่านั้น คือร่างของพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคร่วมฝ่ายค้าน กลายเป็นว่า หากสุดท้าย ชวน หลีกภัย ในฐานะประธานรัฐสภา มีการบรรจุญัตติขอแก้ไข รธน.ของทั้งพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยเพิ่มเข้าไปอีก หลังประธานรัฐสภาระบุแล้วว่า หากมีการบรรจุได้ทัน ก็สามารถพิจารณาญัตติแก้ไข รธน.ทั้งหมดที่ยื่นมาพร้อมกันได้ ถ้าเป็นไปตามนี้ ก็อยู่ที่วิปรัฐบาล-ฝ่ายค้าน-วุฒิสภา ต้องตกลงกันให้ได้แล้วว่า จะเอาอย่างไร เพื่อให้กระบวนการอภิปราย-ลงมติในวาระแรก ทุกญัตติที่เสนอไปต้องสะเด็ดน้ำภายในไม่เกิน 25 ก.ย. ที่เป็นวันปิดสมัยประชุมรัฐสภาอย่างเป็นทางการ แต่หากไม่ทันจริงๆ สุดท้าย ถ้าวิป 3 ฝ่ายคุยกันได้ ก็มีความเป็นไปได้ที่อาจมีการประชุมสมัยวิสามัญฯ

                จากสถานการณ์ข้างต้นเรื่องการแก้ไข รธน. ทำให้การเมืองต่อจากนี้ เรื่องการแก้ไข รธน.จะเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะช่วงก่อนถึงวันประชุมรัฐสภา 23-24 กันยายน ซึ่งตัวแปรสำคัญว่ากระบวนการแก้ไข รธน.ที่บางฝ่ายถึงขั้นมองไปที่เรื่องสเปกสมาชิกสภาร่าง รธน.-กระบวนการลงประชามติไปแล้ว แต่สุดท้ายทุกอย่างจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ ก็ต้องอยู่ที่ เสียงโหวตในที่ประชุมร่วมรัฐสภา ที่ต้องได้เสียงเห็นชอบจากการลงคะแนนโดยเปิดเผย ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกรัฐสภา คือ ส.ส.และ ส.ว.รวมกัน ภายใต้ล็อกสำคัญคือ ในการโหวตวาระแรก และวาระสาม ต้องมีเสียง ส.ว.มาโหวตเห็นชอบด้วย ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือ 84 เสียง

                ที่ก็คือ ถึงต่อให้ ส.ส.ทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านโหวตเห็นชอบการแก้ไข รธน.ท่วมท้น แต่หากเสียง ส.ว.โหวตเห็นชอบไม่ถึง 84 เสียง เอาแค่ด่านแรก โหวตวาระแรก วันที่ 24 กันยายน ไม่ว่าจะเป็นการโหวตในร่างไหน-ญัตติใด หากเสียง ส.ว.โหวตหนุนไม่ถึง 84 เสียง บันไดการแก้ไข รธน.ที่หลายฝ่ายวาดหวัง ก็ล้มครืนหมด

                ซึ่งถึงตอนนี้ก็จะพบว่า ท่าทีของสภาสูงก็ยังคลุมเครือว่าจะเอาอย่างไร โดยเฉพาะการแก้ไขมาตรา 256 ให้ตั้ง ส.ส.ร. ซึ่งกระแสที่ออกมาภายนอกพบว่า เสียงหนุนจาก ส.ว.ยังมีไม่มากนัก ข่าวที่ออกมาพบว่า ส.ว.ส่วนใหญ่ไม่ขัดข้องหากจะแก้ 272 ปิดสวิตช์อำนาจ ส.ว. แต่แนวทางให้ร่าง รธน.ใหม่ทั้งฉบับโดย ส.ส.ร. ทาง ส.ว.จำนวนไม่น้อยยังลังเลใจจะเอาด้วย

                ประเมินได้ว่า การชุมนุมใหญ่วันเสาร์ที่ 19 ก.ย. ที่ธรรมศาสตร์ กลุ่มแกนนำจัดการชุมนุมที่ชูธงสนับสนุนการร่าง รธน.ใหม่ทั้งฉบับ จะโหมโรงประเด็นเรื่องการแก้ไข รธน.อย่างหนัก และไม่แน่ หากไปถึงวันที่ 19 ก.ย. ถ้าท่าทีของสภาสูงยังไม่ชัดว่าจะโหวตเรื่อง รธน.ออกมาแบบไหน จะสนับสนุนหรือคว่ำกระดานตั้งแต่โหวตวาระแรก ความคลุมเครือดังกล่าวน่าจะทำให้คนที่เห็นด้วยกับการยกร่าง รธน.ฉบับใหม่ รวมถึงกลุ่มที่ไม่ชอบรัฐบาลมาร่วมชุมนุมกันจำนวนมาก จนอาจมีการต่อยอด มีการนัดชุมนุมกันที่หน้ารัฐสภา ช่วง 23-24 ก.ย. เพื่อรอฟังผลการลงมติของ ส.ส.-ส.ว. ว่าจะเห็นชอบกับการแก้ไข รธน.แต่ละร่างอย่างไร โดยหากสถานการณ์ออกมามุมนี้ ย่อมทำให้อุณหภูมิการเมืองทั้งในและนอกรัฐสภา ช่วง 23-24 ก.ย. ร้อนแรงอย่างยิ่ง.   

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"