วิกฤติศก.สะเทือน"รัฐบาล"


เพิ่มเพื่อน    

 

 

          "เศรษฐกิจ" เป็นประเด็นที่ทำให้รัฐบาลถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในขณะนี้ เพราะตั้งแต่เกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จนส่งผลให้มีการออกมาตรการล็อกดาวน์เพื่อป้องกันและควบคุมการระบาดของโรค ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเกือบทั้งหมดหยุดชะงัก ส่งผลกระทบต่อรายได้ของประชาชนและภาคธุรกิจเป็นวงกว้าง ทำให้หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะบอกว่า  มาตรการล็อกดาวน์ แม้จะมีผลดีในแง่สาธารณสุข แต่กลับส่งผลกระทบอย่างมากต่อภาพรวมเศรษฐกิจ

                ที่ผ่านมาประชาชนส่วนใหญ่ต่างคาดหวังกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หลังจากที่มีการปรับทัพขยับทีมเศรษฐกิจ เข็นคนเก่าออกไป ได้คนใหม่เข้ามา มีการตั้งคณะทำงานด้านเศรษฐกิจขึ้นมามากมายจนจำแทบจะไม่ไหว ว่าคณะไหนใครคุม คณะไหนทำหน้าที่อะไร เรียกว่าคณะทำงานด้านเศรษฐกิจที่มีมากมายจนบทบาทแทบจะทับซ้อนกันไปมา แต่ก็ยังไม่เห็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เป็นชิ้นเป็นอันจากรัฐบาลหลังสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้นแล้วก็ตาม

                ซ้ำรายล่าสุด "ปรีดี ดาวฉาย" ที่ตัดสินใจเข้ามารับตำแหน่งขุนคลัง คุมกระทรวงสำคัญด้านเศรษฐกิจอย่าง "กระทรวงการคลัง" ทำงานได้ไม่ถึงเดือนก็มาด่วนลาออกจากตำแหน่ง ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลเรื่องความขัดแย้งหรือไม่ หรือติดขัดประการใดก็ตาม แต่ประเด็นนี้ไม่เพียงแต่ทำให้ภาพด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ดูเหมือนจะไม่ดีอยู่แล้ว ยิ่งแย่เข้าไปอีก แม้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะมานั่งหัวโต๊ะคุมทีมเศรษฐกิจ ลุยประชุมด้านเศรษฐกิจต่างๆ แต่ก็เหมือนจะไม่ได้ช่วยให้ความเชื่อมั่นทั้งในภาคธุรกิจ และประชาชนดีขึ้นมามากนัก เพราะท้ายที่สุดก็ยังไม่ได้มีมาตรการในการกระตุ้น ประคอง หรือฟื้นฟูเศรษฐกิจที่เป็นรูปธรรมชัดเจนให้เห็น

                นอกจากทำได้เพียง "การรับข้อเสนอ" ของภาคธุรกิจ ภาคเอกชนที่ต่างพากันยื่นข้อเสนอมากมายให้รัฐบาลพิจารณาเพื่อช่วยแต่ละภาคอุตสาหกรรมให้ผ่านพ้นวิกฤติเศรษฐกิจในครั้งนี้ไปได้ ซ้ำร้ายยังมีประเด็นที่ถูกวิจารณ์อย่างหนักเรื่อง "ถังแตก" ออกมา แม้ว่าหน่วยงานที่รับผิดชอบจะยืนยันว่าสถานะการคลังยังแข็งแกร่ง แต่ความกังวลเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวของประชาชนส่วนใหญ่มองภาพในระยะยาวมากกว่า เพราะดูจากสภาพเศรษฐกิจ การใช้จ่ายของรัฐบาลจำนวนมากในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจเพื่อประคองให้เศรษฐกิจยังเดินต่อไปได้ สวนทางกับรายได้ที่มีการประเมินว่าในปีงบประมาณ 2563 รัฐบาลจะจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 9% หรือหายไปไม่น้อยกว่า 3-4 แสนล้านบาท

                ตรงนี้เป็นประเด็นที่หลายฝ่ายกังวลว่า รายได้ที่จัดเก็บได้พลาดเป้าหมายหลายแสนล้านบาทนั้น อาจทำให้เงินคงคลังไม่เพียงพอรองรับการใช้จ่ายของประเทศ

                ขณะที่ล่าสุด มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นชอบประชาชนเรื่อง "เสถียรภาพรัฐบาล ณ วันนี้" จากกลุ่มตัวอย่าง 1,768 คน ระหว่างวันที่ 1-4 ก.ย.ที่ผ่านมา พบว่า ความเห็นชอบประชาชนกว่า 71.15% มองว่ารัฐบาลอยู่ในสภาวะที่ไม่มั่นคง โดยจุดแข็งที่ทำให้รัฐบาลเข้มแข็ง/มั่นคง คือ การมีเสียง ส.ว. สนับสนุน 64.74% ส่วนจุดอ่อนคงหนีไม่พ้นเรื่องที่ "ประเทศกำลังเผชิญปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ" ถึง 77.49% รองลงมาคือ การบริหารประเทศที่ย่ำแย่ 67.00% ส่วนวิธีที่จะทำให้รัฐบาลมั่นคงนั้น ความเห็นของประชาชนถึง 83.73% เห็นว่า รัฐบาลต้องเร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ส่วนอีก 69.99% มองว่ารัฐบาลต้องเร่งปราบปรามการทุจริต และอีก 66.00% ต้องการให้รัฐบาลรับฟังประชาชนมากขึ้น

                "จากผลการสำรวจดังกล่าว เป็นภาพสะท้อนได้ชัดเจนว่า ปัญหาเศรษฐกิจเป็นปัญหาหลักของรัฐบาลชุดนี้ที่ต้อง "แก้ให้ได้" เพราะหากประชาชนอยู่ได้ รัฐบาลก็อยู่รอด รัฐบาลต้องแก้ไขภาพของการทุจริต การปิดกั้นความคิดเห็น และควรเน้นการเปิดใจรับฟัง มีผลงานที่โดนใจ รวมถึงพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น เพื่อให้รัฐบาลมีความเข้มแข็ง มั่นคง และมีเสถียรภาพนั่นเอง" สวนดุสิตโพลระบุ

                อย่างไรก็ดี หลังจากนี้คงต้อง "วัดฝีมือ" รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กันต่อว่า จะแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อสร้างความเชื่อมั่น ความมั่นใจและเรียกศรัทธาจากทั้งภาคธุรกิจ และภาคประชาชนกลับมาได้เพียงไหน การเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพอย่างจริงจัง ไม่ใช่มาตรการแก้ขัด เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต่างรอดู เพราะสถานการณ์เศรษฐกิจของไทยในปัจจุบันเรียกว่า "สาหัส" อยู่ไม่น้อย. 

ครองขวัญ รอดหมวน


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"