ผมเชื่อของผมเองว่า แม้คุณปรีดี ดาวฉาย จะไม่ได้ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอย่างฉับพลัน โครงสร้างการบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาลนี้ก็ยังไม่เอื้อต่อการแก้ปัญหาที่หนักหน่วงขณะนี้
เพราะไม่มี “รองนายกฯ ฝ่ายเศรษฐกิจ” อย่างเป็นเรื่องเป็นราว
แม้จะมีชื่อว่ามี “คณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ” ที่มีนายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าทีม หลังจากที่คุณสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ถูกลดบทบาทเพราะแบ่งกระทรวงเศรษฐกิจไปตามโควตาพรรคร่วมรัฐบาล แต่ในความเป็นจริงก็มิได้เป็นกลไกที่เป็นรูปธรรมอะไรมากนัก
ในความเป็นจริง พรรคการเมืองต่างๆ ก็แบ่งกระทรวงเศรษฐกิจไปคุมคนละกระทรวงสองกระทรวง
ไม่มี “ยุทธศาสตร์ภาพรวม” ที่จะแก้ปัญหาที่โควิด-19 สร้างผลกระทบอย่างกว้างขวางและรุนแรง
มีแต่นโยบายที่แยกชิ้นแยกส่วน กระทรวงใครกระทรวงมัน
แม้จะมีการตั้ง “ศบศ.” เพื่อดูเรื่องเศรษฐกิจเคียงคู่กับ “ศบค.” ที่เน้นเรื่องบริหารโควิดด้านสาธารณสุข แต่ก็ยังไม่เห็นภาพชัดเจนว่าจะสามารถผลักดันให้เกิดผลทางเศรษฐกิจอย่างเป็นระบบได้แต่อย่างใด
เพราะมติของ ศบศ.ก็ยังต้องกลับไปปฏิบัติในระดับกระทรวงทบวงกรมของตนเอง
ศบศ. ยังไม่ได้ทำอย่างที่ ศบค.ทำทุกวัน นั่นคือ การประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องด้วยข้อมูลที่ชัดเจนและนำเสนอทางแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม
ศบค. ที่ประสบความสำเร็จพอสมควรนั้นเพราะมีการเกาะติดข้อมูลด้านโรคโควิดอย่างเป็นระบบ วิเคราะห์อย่างวิทยาศาสตร์
ศบค. รายงานต่อประชาชนทุกวัน บอกให้รู้ว่ามีคนติดเชื้อกี่คน ติดจากที่ไหน มีสาเหตุจากอะไร และได้แก้ไขไปอย่างไร
ศบค. รายงานทุกวันว่าสถานการณ์การแพร่เชื้อโควิดทั่วโลกเป็นอย่างไร จุดไหนที่น่าเป็นห่วง จุดไหนที่เริ่มคลี่คลาย
ศบค. เสนอสถิติของการแพร่เชื้อโควิดของเพื่อนบ้าน ประเมินว่าเราควรจะต้องปรับแผนอย่างไรเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อเข้ามา
ศบค. บอกกล่าวกับประชาชนว่า การวิจัยพัฒนาวัคซีนระดับโลกไปถึงไหน มีความคืบหน้าอย่างไร และจะต้องใช้เวลาอีกนานเท่าไหร่จึงจะสามารถหวังพึ่งวัคซีนได้
แต่ ศบศ.ยังไม่มีระบบการทำงานที่รายงานต่อประชาชน เช่น
รายงานประจำวันว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโลกเป็นเช่นไร
รายงานประชาชนทุกสัปดาห์ว่าตัวเลขคนตกงานเป็นอย่างไร อุตสาหกรรมไหนโดนกระทบอย่างไร และมีมาตรการแก้ไขเยียวยาอย่างไร
ศบศ. ต้องประเมินให้ประชาชนได้รับรู้ว่าความช่วยเหลือต่อคนยากคนจนในแต่ละสัปดาห์นั้นได้ผลเพียงใด
ศบศ. ต้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมารายงานและวิเคราะห์สถานการณ์การช่วยเหลือ SMEs ที่กำลังตกอยู่ในสภาพ “เสี่ยงสูง” และ “เสี่ยงต่ำ” (เหมือนคนติดเชื้อโควิด) อย่างไร
ศบศ. ต้องวาด “ฉากทัศน์” หรือ scenarios ให้ประชาชนได้เห็นว่าหากสภาพเศรษฐกิจเป็นเช่นนี้ อีก 3 เดือน 6 เดือนข้างหน้า ประเทศชาติจะตกอยู่ในสภาพอย่างไร
ภาพเลวร้าย, ภาพปานกลางและภาพดีที่สุดจะเป็นอย่างไร
และใครต้องทำอะไรบ้างเพื่อป้องกันฉากทัศน์ที่เลวร้ายที่สุด
เหมือนที่ ศบค.บอกกล่าวกับประชาชนให้รู้ว่าจะต้องสวมหน้ากาก, ล้างมือ และรักษาระยะห่างตลอดเวลา
ในทำนองเดียวกัน ศบศ.ก็จะต้องแจ้งกับประชาชนให้ต้องทำอะไรบ้างเพื่อความอยู่รอดและเพื่อประคองสถานการณ์ให้ผ่านพ้นจุดเลวร้ายที่สุด
ศบศ. ต้องวาดภาพให้เห็นว่าโควิด-19 ได้ทำให้ประเทศไทยต้องปรับตัวทางด้านไหน และใครในอุตสาหกรรมใดต้องปรับตัวอย่างไร....และรัฐบาลจะเข้ามาช่วยทำให้มีการปรับตัวอย่างมีประสิทธิภาพอย่างไร
ศบศ. ต้องชี้ภาพให้เห็นชัดว่าคนไทยในทุกสาขาวิชาชีพจะประเมิน “ความสามารถในการอยู่รอด” และ “โอกาสแห่งการกู้ภัย” ได้อย่างไร
คำว่า RUN (Reskill, Upskill และ New Skill) ที่มีความสำคัญต่อการสร้างอาชีพใหม่หลังโควิดนั้นจะต้องทำอย่างไร...และรัฐบาลจะมีมาตรการช่วยผลักดันให้เกิดขึ้นจริงได้อย่างไร
ศบศ. ยังไม่ได้ทำหน้าที่เหล่านี้ เพราะยังมองกลไกนี้เป็นส่วนหนึ่งของระบบราชการที่ต้องมีการ “จี้” และ “เร่งรัด” จากหน่วยเหนืออีกเหมือนเดิม
เราคิดว่าจะทำอะไรเหมือนเดิม
หรือทำเหมือนใหม่แต่ในกรอบเก่า
และหวังว่าผลที่ออกมาจะแตกต่าง
เราก็เตรียมประกาศความพ่ายแพ้โควิดได้เลย.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |