8 ก.ย.63 - ที่โรงแรมเซนทาราลาดพร้าว กลุ่มอดีตประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ ประกอบด้วยนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา อดีตประธานรัฐสภา นายนิคม ไวยรัชพานิช นายสุชน ชาลีเครือ อดีตประธานวุฒิสภา นัดประชุมระดมความคิดหาทางออกวิกฤติการเมืองไทย โดยจะมีการหยิบยก ประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 272 รวมถึงข้อเสนอที่ให้นายกรัฐมนตรี ลาออกจากตำแหน่ง มาหารือ ขณะที่นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ และนายอุทัย พิมพ์ใจชน ไม่ได้เดินทางมาร่วมการหารือเนื่องจากติดภารกิจ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาชาติ กล่าวก่อนเข้าประชุม ว่า หมดเวลาแล้วสำหรับพล.อ.ประยุทธ์ ส่วนตัวเห็นด้วยกับข้อเสนอของนายอาทิตย์ อุไรรัตน์ ที่เห็นว่าขณะนี้รัฐบาลมีปัญหา ทั้งปัญหาเศรษฐกิจและความขัดแย้ง ดังนั้นพล.อ.ประยุทธ์ ควรเสียสละลาออกจากตำแหน่ง ไม่ควรรอให้สถานการณ์รุนแรงบานปลายไปมากกว่านี้ ถือเป็นทางออกที่ดีที่สุด เหมือนกับพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรีและอดีตนายกรัฐมนตรี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ตัดสินใจลาออก ซึ่งถือเป็นทางลงที่ดีสามารถอยู่ต่อในสังคมได้โดยไม่มีปัญหา แต่ขณะเดียวกันก็มีอดีตนายกรัฐมนตรีที่เป็นอดีตผู้นำเหล่าทัพ เช่น จอมพล ป.พิบูลสงคราม มีอำนาจพรรคการเมืองสนับสนุน แต่ไม่ยอมออกจากตำแหน่ง สุดท้ายต้องหนีไปต่างประเทศ เช่นเดียวกับจอมพลถนอม กิตติขจร ที่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงตามข้อเรียกร้องของประชาชน ขณะนี้ถือว่าพล.อ.ประยุทธ์ กำลังยืนอยู่บนทางสองแพร่ง ซึ่งมีตัวอย่างให้เห็นทั้งสองด้าน ควรตัดสินใจและเลือกว่าจะเป็นแบบไหน
เมื่อถามว่าหากพล.อ.ประยุทธ์ ลาออกใครจะมาดำรงตำแหน่งแทน นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา กล่าวว่าควรให้เป็นเรื่องของสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากประชาชน ซึ่งสมัยที่ตนเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร และพล.อ.ชวลิต ลาออก ก็ได้เชิญหัวหน้าพรรคการเมือง มาหารือและสุดท้ายที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีมติเลือกนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี ก็เป็นนายกฯต่อมาถึง 3 ปี ปัญหาความวุ่นวายต่างๆในประเทศก็ลดลง ความน่าเชื่อถือก็กลับคืนมา ดังนั้นรัฐบาลที่ขาดความเชื่อถือทั้งในและต่างประเทศก็ควรจะหลีกทางให้
หลังจากการประชุมหารือราวครึ่งชั่วโมง นายสุชน ชาลีเครือ อดีตประธานวุฒิสภา ออกมาแถลงข้อสรุปความเห็นของกลุ่ม โดยเสนอว่า ควรเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อยกเลิกบทเฉพาะกาลมาตรา 272 เกี่ยวกับการให้อำนาจ ส.ว. เลือกนายกรัฐมนตรี ก่อนที่จะแก้ไขมาตรา 256 เพราะการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.) อาจต้องใช้ระยะเวลานาน ขณะที่นิสิต นักศึกษา และประชาชน ต้องการให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยเร็ว โดยเฉพาะการยกเลิกมาตรา 272 ตัดอำนาจวุฒิสภาในการเลือกนายกรัฐมนตรี หากมีเหตุการณ์ถึงขั้นยุบสภาหรือนายกรัฐมนตรีลาออก แล้วต้องมีการเลือกตั้งใหม่ ก็ควรให้นายกรัฐมนตรีมีที่มาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 159 โดยให้สภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี
นายสุชน กล่าวว่า ทุกฝ่ายควรให้ความร่วมมือกัน และรับฟังข้อเรียกร้องของนักศึกษาและทุกฝ่ายว่าทำได้มากน้อยแค่ไหน ควรมีการพูดคุยกัน ไม่ควรเผชิญหน้ากันต้องหาทางร่วมมือให้ประเทศชาติเดินหน้าไปได้ ซึ่งในฐานะที่เป็นกลุ่มคณะเล็กๆ ก็ทำได้เพียงการเสนอความเห็นไม่สามารถเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ โดยจะเสนอความเห็นไปยังประธานสภาผู้แทนราษฎรในฐานะ กลุ่มอดีตประธานสภาฯ และส่งความเห็นไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและนายกรัฐมนตรี ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องของรัฐสภาที่จะแก้ไขวิกฤตตรงนี้ ยังไม่สายเกินไปหากทุกฝ่ายจะร่วมมือกัน
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |