จ้องถล่ม3ปมวิกฤติ ฝ่ายค้านซักฟอกทั่วไปบี้‘ประยุทธ์’ลาออก/ส.ว.แตก3ฝ่าย!


เพิ่มเพื่อน    

 ฝ่ายค้านจัดเต็มจ้องยำใหญ่-ไล่ถลุง "บิ๊กตู่-รัฐบาล" กลางสภาพุธนี้ 10 ชั่วโมง ขึงพืด 3 ปมวิกฤติเศรษฐกิจ-ปัญหาประเทศ-การเมืองร้อนพอคางเหลือง จบที่เรียกร้องประยุทธ์ลาออกแบบมึนๆ ไม่ปิดประตูนายกฯ นอกบัญชี แต่ไม่เอารัฐบาลแห่งชาติ วิปสภาสูงปิดห้องหารือแก้ รธน.พุธนี้ หลังเสียงยังแตกเป็นสามกลุ่ม ลั่นถึงม็อบพรึ่บธรรมศาสตร์ 19 ก.ย.ก็ไม่มีผลต่อการลงมติ ฝ่ายค้านเร่งเครื่องหนักเตรียมเสนอเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญตุลาคม

     การประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันพุธที่ 9 กันยายนนี้ จะมีความน่าสนใจไม่น้อยเพราะที่ประชุมจะพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริง หรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรีในเรื่องวิกฤติทางเศรษฐกิจและวิกฤติทางการเมืองโดยไม่มีการลงมติ ที่ ส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้าน 99 คนที่แทบทั้งหมดเป็น ส.ส.จากพรรคเพื่อไทย ร่วมกันลงชื่อเสนอญัตติดังกล่าวต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร
    โดยญัตติดังกล่าวระบุตอนหนึ่งว่า "สถานการณ์ของประเทศขณะนี้มีความน่าเป็นห่วงในทุกด้าน  โดยเฉพาะสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจและสถานการณ์ด้านการเมือง จากผลกระทบเรื่องโควิดที่สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง
    แต่ขณะเดียวกันก็เกิดสถานการณ์ทางการเมืองแทรกซ้อน อันเป็นผลมาจากความไม่ชอบธรรมของรัฐบาลในการเข้าสู่อำนาจ เพื่อสืบทอดอำนาจของเผด็จการ จึงเกิดการชุมนุมของนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน และมีการใช้กฎหมายข่มขู่คุกคามและจับกุมแกนนำผู้ชุมนุม ทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่ตึงเครียดเพิ่มขึ้นอีก" ญัตติดังกล่าวระบุตอนหนึ่ง
    นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า  พรรคเพื่อไทยเตรียม ส.ส.อภิปรายในวันที่ 9 ก.ย.ไว้ 15 คน ยังไม่รวม ส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้านอื่นที่ยังไม่รู้จะมีผู้อภิปรายกี่คน พรรคเพื่อไทยจะอภิปรายให้เห็นถึงความล้มเหลวเรื่องการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ที่มีผลเชื่อมโยงไปถึงปัญหาการเมือง เพื่อให้รัฐบาลหาทางแก้ปัญหา เพราะการแก้ปัญหาเศรษฐกิจแบบเดิมๆ ของรัฐบาลด้วยการแจกเงินไม่ได้ผล จะมีมาตรการอะไรใหม่ที่เป็นความหวังของประชาชน คาดหวังว่าประชาชนจะได้เห็นแนวทางการแก้ปัญหาของรัฐบาล เพื่อให้ประชาชนตัดสินใจได้ว่าจะมีความหวังหรือหมดหวังกับรัฐบาลชุดนี้ และจะกระตุ้นเตือนให้รัฐบาลกระตือรือร้นทุ่มเทการแก้ปัญหาให้มากขึ้นกว่าเดิม
    นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า พรรคฝ่ายค้านได้รับเวลาอภิปราย 10 ชั่วโมง และได้จัดสรรให้พรรคร่วมฝ่ายค้านอภิปราย พรรคเพื่อไทยได้รับเวลาทั้งสิ้น 310 นาที มี ส.ส.อภิปราย 11-12 คน อภิปรายในสาระสำคัญ 3 ประเด็น คือ 1.วิกฤติเศรษฐกิจภาพรวม ซึ่งรัฐบาลล้มเหลวทางด้านแก้ไข รวมถึงมีความเสี่ยงต่อการทุจริตในภาระงานด้านต่างๆ 2.ปัญหาระดับเจาะลึก เช่น  ปัญหาสินค้าเกษตรแต่ละด้าน และ 3.วิกฤติทางการเมือง
    "การอภิปรายของพรรคฝ่ายค้านพุ่งเป้าไปที่นายกรัฐมนตรีโดยตรง โดยในภาพสรุปของการอภิปราย ฝ่ายค้านจะเสนอให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่งนายกฯ เพื่อปลดล็อกปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมด อย่างไรก็ตามข้อเสนอดังกล่าวไม่สุดโต่งเกินไป เพราะทำได้ตามรัฐธรรมนูญ เมื่อนายกฯ ลาออก เท่ากับว่าคณะรัฐมนตรีต้องพ้นไป และต้องเลือกนายกฯ และรัฐมนตรีคณะใหม่ ซึ่งกระทำได้ภายใต้การประชุมรัฐสภา มีการเสนอชื่อบุคคลที่อยู่ในบัญชีบุคคลที่พรรคเสนอให้รัฐสภาเลือกเป็นนายกฯ หรือหากไม่มีบุคคลในบัญชีสามารถขอเสียงจากรัฐสภาเพื่องดเว้นได้ ซึ่งไม่เหมือนกับการเคลื่อนไหวนอกสภา"  นพ.ชลน่านกล่าว
    นพ.ชลน่านกล่าวว่า ไม่เชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์จะใช้วิธียุบสภาเพื่อให้เลือกตั้งใหม่ เพราะผลที่ได้ไม่คุ้มกับการเลือกตั้ง เนื่องจากหากเลือกตั้งภายใต้กติกาของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันจะได้คนเดิมเข้าสู่สภา ส่วนนายกฯ จะลาออกตามข้อเสนอหรือไม่นั้นอยู่ที่มโนธรรมของ พล.อ.ประยุทธ์ เพราะหากนายกฯ  ไม่ลาออก เท่ากับว่าประเทศไม่ปลดล็อกการแก้ปัญหา ส่วนบุคคลที่เหมาะสมจะเป็นผู้นำการบริหารประเทศ คือคนที่มีความรู้ความสามารถและได้รับการยอมรับในเชิงระบบ รวมถึงมีความเป็นกลาง ทั้งนี้ ข้อเสนอของพรรคเพื่อไทยไม่ใช่การให้เกิดรัฐบาลแห่งชาติ
ส.ว.เสียงแตกกลุ่มแทงกั๊กมากสุด  
    ด้านความเคลื่อนไหวเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งที่ประชุมร่วมรัฐสภาจะพิจารณาเรื่องดังกล่าวในวันที่ 23-24 กันยายนนี้ มีรายงานข่าวจากวุฒิสภาว่า การแก้ไข รธน.มาตรา 256 ตามร่างของพรรคร่วมรัฐบาลและฝ่ายค้านที่เสนอให้ตั้งสภาร่าง รธน.นั้น พบว่าล่าสุดท่าทีของ ส.ว. 250 คนยังคงเสียงแตก มีความเห็นไม่ตรงกัน ทำให้ยากต่อการประเมินทิศทางการลงมติในวาระแรกขั้นรับหลักการ ที่จะต้องมีเสียง ส.ว.สนับสนุน 84 เสียง
    รายงานข่าวแจ้งว่า ท่าทีของ ส.ว.แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มที่สงวนท่าทีขอรอดูสถานการณ์ไปเรื่อยๆ ค่อยตัดสินใจ เป็นกลุ่มใหญ่สุด มีอยู่ประมาณกว่า 100 คนที่ยังไม่ตัดสินใจอะไรชัดเจน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอดีตข้าราชการทหาร ตำรวจ และอดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ 2.กลุ่มที่พร้อมสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญของ ส.ส.รัฐบาลและ ส.ส.ฝ่ายค้าน มีอยู่ประมาณ 20-30 คน มีจุดยืนชัดเจนให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการตั้ง ส.ส.ร.หรือการแก้ไขเป็นรายมาตรา เพื่อลดความขัดแย้งในประเทศ อาทิ นายวันชัย สอนศิริ, นายคำนูณ สิทธิสมาน รวมถึง ส.ว.แถบภาคอีสานที่มีความใกล้ชิดกับประชาชนในพื้นที่ รับรู้ถึงความต้องการของชาวบ้าน พร้อมสนับสนุนการแก้รัฐธรรมนูญ
    รายงานข่าวแจ้งอีกว่า สำหรับกลุ่มที่ 3 เป็นกลุ่ม ส.ว.อิสระ 60 คน ที่ถึงแม้จะแสดงเจตนาพร้อมแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ให้ลดอำนาจ ส.ว.ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี แต่มีเงื่อนไขว่าต้องเป็นการแก้เฉพาะรายมาตราเท่านั้น ไม่เอาการตั้ง ส.ส.ร.มายกร่างใหม่ทั้งฉบับ ทำให้ยังไม่มีความชัดเจนว่า ส.ว.กลุ่มนี้จะสนับสนุนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านหรือไม่ ดังนั้นความชัดเจนของ ส.ว.ทั้ง 250 คน คงต้องรอการส่งสัญญาณสุดท้ายมาจากฝั่งรัฐบาลว่าจะให้ดำเนินการอย่างไร
    ด้านพลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ สมาชิกวุฒิสภาและอดีต รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมยุครัฐบาล คสช. กล่าวถึงการเคลื่อนไหวของ ส.ว.ต่อเรื่องนี้ว่า วิปวุฒิสภาได้นัดหารือเพื่อแลกเปลี่ยนพูดคุยกันเรื่องการแก้ไข รธน.ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 9 ก.ย.นี้ ซึ่งที่ผ่านมายอมรับว่า ส.ว.แต่ละคนได้แลกเปลี่ยนพูดคุยเรื่องนี้กันค่อนข้างมาก เพราะการแก้ไข รธน.เป็นเรื่องใหญ่ อย่างไรก็ตามขณะนี้ยังเหลือเวลาอีกพอสมควร ส.ว.ก็กำลังอยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นของฝ่ายต่างๆ โดยการพิจารณาของ ส.ว.ในเรื่องแก้ รธน.ไม่เกี่ยวกับเรื่องการเตรียมนัดชุมนุมใหญ่ทางการเมืองใดๆ
    ส่วน นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ สมาชิกวุฒิสภาและหนึ่งในวิปวุฒิสภา เปิดเผยว่า การประชุมวิปวุฒิสภาวันพุธที่ 9 กันยายนนี้ เป็นการประชุมเพื่อหารือเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมร่วมรัฐสภา โดยจะเป็นการประชุมหารือกันภายในเพื่อให้ ส.ว.แต่ละคนร่วมกันแสดงความเห็นต่อญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านที่จะเสนอแก้มาตรา 256 เพื่อให้มีการตั้งสภาร่าง รธน. รวมถึงญัตติแก้ไข รธน.มาตราอื่นๆ ที่มีข่าวว่าพรรคฝ่ายค้านบางพรรคจะยื่นเพิ่มเติมด้วย เพื่อร่วมหารือกันว่าการแก้ไข รธน.ดังกล่าวตามญัตติที่เสนอมาแต่ละร่างที่เสนอมา มีข้อดีข้อเสียอย่างไร และหาก ส.ว.ร่วมลงมติแล้วจะมีผลอย่างไรตามมา เช่นหากลงมติเห็นด้วยจะเป็นอย่างไร และหากไม่ลงมติจะเป็นอย่างไร อย่างไรก็ตาม สุดท้ายแล้วการลงมติของ ส.ว.ทั้งหมดเป็นดุลยพินิจของ ส.ว.แต่ละคนเอง วิปวุฒิสภาไม่สามารถไปก้าวล่วงหรือไปบอกให้ ส.ว.ลงมติแบบไหนได้ ถึงตอนนี้ก็ตอบลำบากว่า ส.ว.แต่ละคนคิดเห็นอย่างไร เพราะเป็นเรื่องของ ส.ว.แต่ละคน ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการจับกลุ่มพูดคุยกันเรื่องนี้หลายวงมาก แต่ยืนยันได้ว่าเรื่องการลงมติของ ส.ว.ต่อการแก้ไข รธน. ไม่ใช่เรื่องที่ต้องมารอสัญญาณจากฝ่ายรัฐบาลใดๆ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องการตัดสินใจของ ส.ว.แต่ละคน
ม็อบไม่มีผลต่อการลงมติ
    นพ.เจตน์กล่าวว่า เรื่องแก้ไข รธน.จุดยืนชัดเจนอยู่แล้ว่าไม่เอาด้วยกับการแก้มาตรา 256 เพื่อให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ ก็คือจะไม่ลงมติสนับสนุนตามร่างที่มาทั้งสองร่าง เพราะมองว่าแนวทางการตั้ง ส.ส.ร.คือการตีเช็คเปล่า เพื่อไปเขียนรัฐธรรมนูญที่ไม่รู้ว่าจะเขียนออกมาอย่างไร และหากไปเขียนแล้วบางเรื่องที่เป็นเรื่องดีๆ ที่เขียนไว้ใน รธน.ปัจจุบันอาจจะหายไป เช่นเรื่องการป้องกันผลประโยชน์ขัดกัน การป้องกันการทุจริต เพราะ รธน.ปี 2560 คือ รธน.ที่คนเรียกกันว่า รธน.ฉบับปราบโกง รวมถึงอีกหลายเรื่อง เช่น เรื่องยุทธศาสตร์ชาติก็อาจหายไป การตั้ง ส.ส.ร.จึงไม่มีหลักประกันอะไรเลย ไม่มีการบอกให้รู้ว่าร่าง รธน.ฉบับใหม่จะออกมาอย่างไร จึงไม่เห็นด้วยกับการแก้ไข รธน.มาตรา 256 ดังกล่าว  แต่ส่วนตัวไม่ขัดข้องหากจะแก้ไข รธน.มาตรา 272 เพื่อตัดอำนาจ ส.ว.บางอย่าง เช่นการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีออกไป แต่ไม่ใช่การตีเช็คเปล่าเพื่อตั้ง ส.ส.ร.
    เมื่อถามถึงการนัดชุมนุมใหญ่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์วันที่ 19 กันยายน ซึ่งหากมีประชาชนมาร่วมจำนวนมากจะเป็นการกดดัน ส.ว.ให้ต้องลงมติเห็นชอบกับการแก้ไข รธน.หรือไม่ รวมถึงอาจมีการชุมนุมหน้ารัฐสภาในช่วงวันที่ 23-24 ก.ย.เพื่อกดดันการลงมติของ ส.ว.ให้เห็นชอบกับการแก้ไข รธน. เรื่องดังกล่าว นพ.เจตน์ที่เป็นอดีต สนช.มาตั้งแต่ปี 2549 และเป็น ส.ว.สรรหาและ สนช.มาจนถึงเป็น ส.ว.ชุดปัจจุบันกล่าวว่า มองว่าเป็นเรื่องปกติเพราะเจอเหตุการณ์แบบนี้มาแล้วหลายครั้ง ตั้งแต่ตอนช่วงปี 2552-2553 ก็เป็นเรื่องปกติที่การแก้ไข รธน.ก็จะมีทั้งคนหนุนและคนต้าน โดยฝ่ายที่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ตอนลงประชามติก็มีมากกว่าฝ่ายไม่เห็นด้วยร่วม 6 ล้านเสียง แต่ฝ่ายสนับสนุนเขายังไม่ออกมาแสดงออกใดๆ แต่ฝ่ายเคลื่อนไหวให้แก้ไข รธน.กำลังทำอยู่ แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไรเรื่องนี้ ส.ว.เป็นตัวของตัวเองในการตัดสินใจ ยืนยันไม่เกี่ยวอะไรกับรัฐบาล
    ต่อข้อถามถึงกรณีพรรคฝ่ายค้านเตรียมยื่นญัตติขอแก้ไข รธน.รายมาตรา ที่จะมีการยื่นขอแก้ไขมาตรา 272 เพื่อปิดสวิตช์ ส.ว.ในสัปดาห์นี้ และจะมีการเสนอแก้ไข รธน.เพื่อโละ ส.ว.ชุดปัจจุบันตามมาอีก นพ.เจตน์กล่าวว่า หากจะแก้ไขโดยตัดอำนาจของ ส.ว.เรื่องโหวตนายกฯ ออกไป ส่วนตัวก็เห็นด้วยอย่างยิ่ง แต่หากจะยื่นแก้ไข รธน.โดยให้มีผลโละ ส.ว.ชุดนี้ออกไปทั้งหมด มองดูแล้วมันเป็นเรื่องผิดธรรมชาติทางการเมืองที่คนจะมาโหวตเพื่อโละตัวเองออกไป มองดูแล้วก็คิดว่าคงมีอะไรมากกว่านั้นที่จะเสนอมา แต่ก็เป็นสิทธิ์ของพรรคการเมืองที่จะเสนอมา ซึ่งหากจะมีการเสนอให้โละ ส.ว.ชุดปัจจุบันออกไปทั้งหมด ถ้าญัตตินี้เข้ามาในที่ประชุมร่วมรัฐสภา คนเสนอเขาก็ต้องอภิปรายแสดงเหตุผลว่าทำไมต้องไม่มี ส.ว.ชุดปัจจุบัน หรือทำไมต้องตัดอำนาจ ส.ว.ออกไป หากผู้เสนออภิปรายมีหลักการและเหตุผลได้ว่าแก้แล้วเป็นประชาธิปไตยขึ้นมาอย่างไร ก็อาจมี ส.ว.ลงมติสนับสนุนได้
    ด้าน พล.อ.ต.นพ.เฉลิมชัย เครืองาม สมาชิกวุฒิสภา น้องชายของนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวเช่นกันว่า เรื่องการแก้ไข รธน.เวลานี้ ส.ว.แต่ละคนกำลังรวบรวมข้อมูลเรื่องการแก้ไข รธน.ก่อนการตัดสินใจลงมติให้ได้มากที่สุด โดยจะไม่ใช้กระแสหรืออารมณ์มาตัดสินใจ เพราะเรื่องนี้สำคัญต่อบ้านเมือง และตอนนี้กำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อว่าจะใช้แนวทางไหน ส.ว.ส่วนมากกล้าพูดว่า 70-80 เปอร์เซ็นต์ อยู่ระหว่างการสดับตรับฟังข้อมูลจากทุกด้านทุกฝ่าย มีแค่ส่วนน้อยที่ฟันธงไปแล้วว่าจะเลือกแนวทางไหน เพราะการแก้รายมาตราและการเสนอให้ตั้ง ส.ส.ร.เพื่อยกร่าง รธน.ใหม่ทั้งฉบับก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่ถ้าเอากระแสหรือความกดดันนอกรัฐสภามาพิจารณาลงมติ ก็อาจเป็นแนวทางที่ไม่ตรงกับสิ่งที่ควรจะเป็น
    สมาชิกวุฒิสภาผู้นี้กล่าวอีกว่า ขณะนี้ ส.ว.มีการพูดคุยกันอยู่ค่อนข้างมาก ก็คุยกันตลอด พบว่า ตอนนี้ส่วนมากยังไม่ได้มีท่าทีเอนเอียงไปทางใดทางหนึ่งโดยทันที ต่างคนก็ต่างหาข้อมูลให้ได้มากที่สุด  อย่างการให้มี ส.ส.ร.มาร่างใหม่ทั้งฉบับ ก็มีข้อดีตรงที่ฝ่ายที่เรียกร้องบอกว่าเป็น รธน.ของประชาชน แต่ก็อย่าลืมว่าก่อนที่จะร่างใหม่ทั้งฉบับต้องทำประชามติก่อน เพราะ รธน.ฉบับปัจจุบันผ่านประชามติมาสิบหกล้านเสียง จึงต้องทำประชามติก่อน ส่วนการแก้ไขรายมาตราดูแล้วก็มีประมาณสิบกว่ามาตรา แต่ว่าแต่ละมาตราหากจะแก้ไขก็จะมีความเชื่อมโยงกับอีกหลายมาตรา จึงเป็นความยุ่งยากพอสมควร จึงต้องพิจารณากันหลายด้าน แต่ว่าน้ำหนักว่า ส.ว.จะลงมติไปทางไหน เราก็ต้องคุยกัน แต่ยืนยันได้ว่า ส.ว.เป็นอิสระ ไม่มีการล็อบบี้ ไม่มีใบสั่งให้ลงมติ ไม่มีใครมาสั่งได้ เราดูกันที่เหตุผล ไม่มีเรื่องของม็อบที่จะมีการชุมนุมใหญ่ 19 ก.ย.ใดๆ
    นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา กล่าวเช่นกันว่า สุดท้ายแล้วคงมีการให้ ส.ว.ทุกคนฟรีโหวตในการลงมติ ซึ่งคิดว่า ส.ว.คงไม่ได้ลงมติไปทางเดียวกันทั้งหมด ความเห็นของ ส.ว.แต่ละคนไม่ได้ยึดโยงกับร่างแก้ไข รธน.ของพรรคพลังประชารัฐ เชื่อว่ารัฐบาลคงไม่ส่งสัญญาณอะไรมาให้ ส.ว.ในการลงมติ เพราะเป็นการก้าวก่ายการทำหน้าที่ของ ส.ว.
ดักคอ ส.ว.กับ รบ.พวกเดียวกัน
     ส่วนพรรคฝ่ายค้านก็มีความคิดเห็นเรื่องนี้เช่นกัน โดยนายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวถึงกรณีกลุ่ม ส.ว.อิสระ 60 คนพร้อมสนับสนุนให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 เรื่องการตัดอำนาจ ส.ว.ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี แต่ขอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราว่า ถึงจะมี ส.ว. 60 คนเป็นแนวร่วมแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 272 แต่คิดว่ายังไม่อยู่ในระดับอุ่นใจได้ เพราะต้องใช้เสียง ส.ว. 1 ใน 3 หรือ 84 เสียง ขณะนี้เสียง ส.ว.ยังไม่พอ แค่ถือว่าสัญญาณดีขึ้น ต้องติดตามต่อไปว่าเสียงจะพอหรือไม่ ถ้า ส.ว.ไม่เอาด้วยต้องไปคิดว่าเกิดอะไรขึ้น  เพราะ ส.ว.และรัฐบาลเป็นพวกเดียวกัน
    นายสุทินกล่าวว่า อย่างไรก็ตามพรรคเพื่อไทยได้เผื่อทางเลือกในการแก้รัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราไว้เช่นกัน โดยในวันที่ 8 ก.ย.ที่ประชุมพรรคเพื่อไทยจะพิจารณาข้อเสนอการยื่นญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราในนามพรรคเพื่อไทย เบื้องต้นมีอยู่ 3-4 มาตราที่พรรคจะยื่นแก้ไขเป็นรายมาตราเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ได้แก่ 1.มาตรา 272 เรื่องการริบอำนาจ ส.ว.ในการโหวตนายกรัฐมนตรี 2.มาตราที่เกี่ยวกับระบบการเลือกตั้ง เพื่อให้กลับไปใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบเหมือนเดิม 3.มาตราเกี่ยวกับที่มาของ ส.ว. จะแก้ไขให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้งของประชาชน 4.มาตราที่เกี่ยวข้องกับผลพวงจากคำสั่งยึดอำนาจของ คสช.ที่ยังหลงเหลืออยู่และเกิดผลกระทบต่อประชาชน นอกจากนี้ พรรคเพื่อไทยกำลังพิจารณายื่นญัตติขอเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญด้วย เพื่อให้การพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญรวดเร็วขึ้น โดยคาดว่าหากที่ประชุมรัฐสภาเห็นชอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 วาระแรก การพิจารณาวาระ 2 จะใช้เวลา 2 สัปดาห์ เสร็จไม่เกินกลางเดือน ต.ค. จึงต้องยื่นขอเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญเพื่อให้ลงมติวาระ 3 ได้ในปลายเดือน ต.ค.
    วันเดียวกันนี้ นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กระบุว่า "ประเทศชาติถึงทางตันแล้ว รัฐบาลต้องตระหนักรู้ ไม่ดันทุรัง และไม่รัฐประหาร นายกรัฐมนตรีต้องเสียสละลาออก ให้สภาเลือกนายกรัฐมนตรีจาก 'คนนอก' ตาม ม.272 วรรค 2 ตั้งรัฐบาลมืออาชีพไม่มีโควตาพรรคเพื่อสมานฉันท์ปฏิรูปประเทศ กอบกู้ฟื้นฟูเศรษฐกิจ ร่าง รธน.ใหม่สู่ระบอบสังคมธรรมาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ภายใน 2 ปี".

              


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"