บ้านหรือที่อยู่อาศัย ถือเป็นหนึ่งในปัจจัย 4 ที่ทุกคนควรมี และบ้านก็ยังเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่วัดความสุขและความอบอุ่นได้อย่างดีอีกด้วย แม้หลายครอบครัว อาจจะไม่มีบ้านเป็นของตัวเอง แต่ก็ต้องมีที่พักอาศัย ซึ่งในสมัยนี้สังคมเมืองการอยู่บ้านแบบเป็นหลังอาจจะยากไปหน่อย หากไม่ใช่ครอบครัวเก่าที่มีพื้นที่เดิมอยู่แล้ว
เมื่อบ้านเป็นสิ่งที่จะสร้างความเป็นครอบครัวที่สมบูรณ์แบบ และบ้านยังเป็นปัจจัยที่สำคัญของชีวิต และหากเรามีบ้านที่มากกว่าบ้านธรรมดาซึ่งน่าจะดีกว่าอย่างแน่นอน และที่กำลังพูดถึงคือบ้านที่ประหยัดพลังงาน ประหยัดค่าไฟฟ้าให้เราได้ หรือบ้านเบอร์ 5
สลากเบอร์ 5 ที่เคยรู้จักกัน เมื่อติดอยู่กับเครื่องใช้ไฟฟ้าชนิดใด ก็จะสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคแล้วว่าจะสามารถช่วยให้ผู้ใช้ประหยัดไฟฟ้าไปได้ แต่เมื่อการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้พัฒนามาตรฐานของสลากเบอร์ 5 ขึ้นมาในรูปแบบใหม่ ให้ติดได้กับที่อยู่อาศัยหรือบ้านได้ นั่นแสดงให้เห็นว่าลดภาระค่าใช้จ่ายไฟฟ้าของผู้อาศัยได้
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวได้ร่วมกับการเคหะแห่งชาติ (กคช.) ดำเนินโครงการฉลากแสดงระดับประสิทธิภาพพลังงานสำหรับบ้านที่อยู่อาศัย ตั้งแต่ปี 2560 ซึ่งปัจจุบันสามารถยกระดับให้เกิดบ้านเบอร์ 5 ในโครงการบ้านที่อยู่อาศัยสร้างใหม่สำหรับผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลางของ กคช. รวม 14 โครงการ โดยได้มีการเปิดตัวโครงการนำร่องบ้านเบอร์ 5 แห่งแรก ณ โครงการเคหะชุมชน และบริการชุมชนเชิงสังคม ชลบุรี (บ่อวิน) ระยะที่ 2 และ กฟผ.ยังเป็นที่ปรึกษาด้านพลังงานให้กับผู้อยู่อาศัยในชุมชนอื่นของ กคช.อีกด้วย
โดย นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร รองผู้ว่าการธุรกิจเกี่ยวเนื่อง กฟผ. กล่าวว่า ในปี 2563 กฟผ.และ กคช. ได้ร่วมกันขยายขอบเขตความร่วมมือสู่การพัฒนาและส่งเสริมโครงการชุมชนอัจฉริยะและน่าอยู่อย่างยั่งยืนเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่ง กฟผ.ได้วางแนวทางรองรับโครงการฯ อาทิ การบูรณาการระบบแสดงผลและเฝ้าระวังคุณภาพอากาศ, การดำเนินมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน พร้อมทั้งบริหารจัดการพลังงานองค์รวมแบบอัจฉริยะ ให้ผู้อยู่อาศัยสามารถเห็นถึงข้อมูลการใช้พลังงานและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพได้
ทั้งนี้ คาดว่าเมื่อดำเนินการสร้างแล้วเสร็จ จะสามารถส่งผลให้ประเทศประหยัดพลังงานไฟฟ้าได้ประมาณ 3.6 ล้านหน่วยต่อปี ลดภาระค่าใช้จ่ายไฟฟ้าของผู้อาศัยได้ประมาณ 14.4 ล้านบาทต่อปี และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ประมาณ 1,800 ตันต่อปี
เมื่อหน่วยงานรัฐวิสาหกิจจับมือกันเพื่อดำเนินโครงการอะไรสักอย่าง แน่นอนว่าจะต้องเป็นโครงการที่ช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่แน่นอน ซึ่งโครงการนี้เห็นว่าเป็นการดำเนินงานที่สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์การเคหะแห่งชาติปี 2560-2565 ด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับประชาชนโดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี
ด้าน นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการ กคช. เผยว่า ตั้งแต่ปี 2560-2562 ที่ผ่านมา กคช.ได้ดำเนินการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยบ้านเบอร์ 5 จำนวน 14 โครงการ รวม 3,411 หน่วย และในปัจจุบัน กคช.และ กฟผ. รวมถึงภาคีที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS ร่วมกันยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยในโครงการชุมชนอัจฉริยะและน่าอยู่อย่างยั่งยืน เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
ภายใต้แนวคิด 4 มิติ ประกอบด้วย การมีส่วนร่วมและความรับผิดชอบ ความมั่นคงของระบบนิเวศ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และสุขภาวะทางสังคม โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมในการพัฒนาชุมชนที่อยู่ภายใต้การดูแลของ กคช. เพื่อพัฒนาที่อยู่อาศัย พัฒนาชุมชน และขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ถือว่าเป็นหนึ่งโครงการที่สร้างโอกาสให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อย ได้เข้าถึงที่อยู่อาศัยที่นำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ส่งเสริมให้เกิดการใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ ลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานในครัวเรือน และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก นอกจากนี้ ยังก่อให้เกิดการพัฒนาการออกแบบที่อยู่อาศัยและวัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเป็นการสร้างงานและสร้างอาชีพที่เกี่ยวข้องในภาคอสังหาริมทรัพย์ในระดับประเทศ.
: ณัฐวัฒน์ หาญกล้า
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |