ดูเหมือนว่าท่านนายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะไม่รีบร้อนตั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แทนคุณปรีดี ดาวฉาย ที่ลาออกไปอย่างกะทันหัน
และดูเหมือนว่ารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง สันติ พร้อมพัฒน์ จะประกาศว่ามี “ความพร้อม” ที่จะขึ้นมาเป็นรัฐมนตรีว่าการแทนคุณปรีดี
เพราะท่านบอกว่าได้เคยเป็นรัฐมนตรีมา 2-3 กระทรวงก่อนหน้านี้
มิหนำซ้ำคุณสันติยังบอกว่า ตอนที่คุณปรีดีมานั่งตำแหน่งรัฐมนตรีนั้น ท่านได้ให้คำแนะนำหลายอย่างที่คุณปรีดียังต้องขอบคุณหลังจากที่ยื่นใบลาออก
คุณสันติยืนยันว่าไม่ได้มีเรื่องขัดแย้งกับคุณปรีดี และดูเหมือนคุณปรีดีก็พูดในที่สาธารณะว่าท่านกับคุณสันติไม่ได้มีเรื่องขัดแย้งอะไรกัน
เอาเป็นว่าทุกๆ ท่านในรัฐบาลพูดเหมือนกันว่าคุณปรีดีลาออกอย่างฉับพลันนั้นเป็นเรื่องสุขภาพล้วนๆ ไม่มีประเด็นการเมืองอะไรมาเกี่ยวข้องทั้งสิ้น
ถ้าคนไทยส่วนใหญ่เชื่ออย่างนั้นก็ไม่มีปัญหาอะไร
แต่คนไทยไม่น้อยที่ไม่เชื่อ
ที่ไม่เชื่อนั้นไม่ได้มาจากความรู้สึกเฉยๆ แต่เพราะในแวดวงการเมืองนั้นไม่มีความลับอะไร
หลายๆ เรื่องนั้นวันก่อนเป็นเรื่องลับ ผ่านมาไม่กี่วันก็ไม่ใช่เรื่องลับแต่อย่างใด
เรื่องโยกย้ายอธิบดีในกระทรวง คุณสันติก็บอกว่าไม่ได้มีอะไรขัดแย้ง
เรื่องที่อ้างว่ามีคนฝากมาขอนั่นขอนี่จากรัฐมนตรี ก็มีคำปฏิเสธว่าไม่จริง
แต่น่าสงสัยไหมครับว่าทำไมรายละเอียดของแต่ละเรื่องที่เข้าข่ายน่าสงสัยว่ามี “ความไม่ลงรอย” นั้นมักจะค่อยๆ ปรากฏขึ้นมา
เจ้าตัวอาจจะไม่อยากให้เป็นเรื่อง แต่ในฐานะประชาชนผู้เสียภาษีนั้น การบริหารวิกฤติที่สาหัสสากรรจ์อย่างที่เห็นอยู่ขณะนี้ไม่ใช่เรื่องที่จะให้ผ่านไปแบบพอกล้อมแกล้มเหมือนในอดีตที่ผ่านมา
มืออาชีพจากข้างนอกคนไหนที่ได้รับคำเชิญชวนจากนายกฯ มาเป็นรัฐมนตรีคลังคงจะต้องมีคำถามต่อนายกฯ ไม่น้อย เช่น
ถ้ามานั่งตรงนั้น จะมีอิสรภาพในฐานะมืออาชีพมากน้อยเพียงใด
ถ้ามืออาชีพทำอะไรที่ไปขัดผลประโยชน์นักการเมืองที่อยู่ในซีกรัฐบาล แต่เป็นเรื่องจำเป็นต้องทำเพื่อแก้ปัญหาอย่างจริงจัง นายกฯ จะยืนอยู่ตรงไหน
ถ้าจำเป็นต้องใช้มาตรการที่นักการเมืองในพรรคร่วมรัฐบาลไม่เห็นด้วย ใครจะเป็นคนตัดสิน
นายกฯ พร้อมจะตัดสินใจทำในสิ่งที่จำเป็นเร่งด่วน แต่อาจจะทำให้คนบางกลุ่มต่อต้าน เพราะขัดผลประโยชน์เฉพาะด้าน นายกฯ จะเล่นด้วยหรือไม่
ถ้านักการเมืองขอให้มืออาชีพทำในบางสิ่งบางอย่างที่ไม่ถูกต้องเป็นธรรม นายกฯ จะยืนอยู่ข้างใคร ต่างๆ เหล่านี้เป็นคำถามที่คนที่ต้องตัดสินใจว่าจะเข้ามาทำงานกับนายกฯ ในยามนี้จะต้องถามและต้องได้คำตอบที่ตนพอใจ
หลายคนที่ถูกทาบทามนั้นรู้ว่าเป็นชุดคำถามที่ตรงไปตรงมาเกินไป ยังไงๆ ก็คงไม่ได้คำตอบที่ชัดเจนนัก
เพราะนายกฯ คงจะรับปากว่าจะทำดีที่สุดเพื่อให้มืออาชีพทำงานได้
แต่นายกฯ ก็คงจะต้องประนีประนอมกับนักการเมืองเพื่อความอยู่รอดทางการเมืองของตนเช่นกัน
ยกเว้นเสียแต่ว่านายกฯ มาถึงจุดที่ “พร้อมลุย” เพื่อแก้วิกฤติอย่างจริงจัง ไม่สนใจว่าพรรคร่วมรัฐบาลจะเอาด้วยหรือไม่
พูดง่ายๆ คือมืออาชีพที่มุ่งมั่นจะแก้ปัญหาบ้านเมือง หากตัดสินใจเข้ามาแล้วคงจะคาดหวังว่านายกฯ จะ “เอาจริง”
วัฒนธรรมแบบไทยๆ ก็คงจะทำให้นายกฯ รับปากว่าจะให้มืออาชีพทำงานได้เต็มที่ และไม่ต้องเกรงใจนักการเมืองหากเห็นว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำจริงๆ
เพราะหากนายกฯ เชิญคนดีคนเก่งเข้ามา เขาก็ต้องคิดถึงการทำงานเพื่อประโยชน์ของชาติของประชาชนเป็นหลัก
มืออาชีพไม่จำเป็นต้องพึ่งพาบารมีของนักการเมือง
มืออาชีพรู้ว่าการตัดสินใจเข้ามานั้นคือการเอาชื่อเสียงและประวัติของตัวเองเป็นเดิมพัน
นายกฯ อยากได้มืออาชีพ แต่ก็ไม่อยากจะทำให้นักการเมืองมาฟาดฟันกับตัวเอง
จึงตกอยู่ในสถานการณ์เหลาะๆ แหละๆ อย่างที่เราเห็นอยู่วันนี้
หากเป็นเช่นนี้ฟันธงได้ว่าวิกฤติจะหนักขึ้น และถึงวันนั้นมืออาชีพจะขออำลา
ก็ต้องคอยหาข้ออ้างทำนอง “ไม่มีความขัดแย้งใดๆ ทั้งสิ้น”
ทั้งๆ ที่นั่นคือความ “ขัดแย้งกับผลประโยชน์ของประเทศชาติ” อย่างชัดเจน.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |