7 ก.ย. 2563 นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศ ส่งผลให้การขายสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาลดลงอย่างมาก โดยเฉพาะการละเมิดเครื่องหมายการค้า ที่ส่วนใหญ่เป็นสินค้าแบรนด์เนมดังๆ จากต่างประเทศ อย่างเสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า เข็มขัด นาฬิกา แว่นตา เป็นต้น และวางขายในย่านการค้า และแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เช่น ถนนสุขุมวิท พัฒน์พงศ์ สีลม พัทยา หาดป่าตอง เพราะย่านการค้าและแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ซบเซา ภายหลังรัฐบาลมีมาตรการล็อกดาวน์ และปิดน่านฟ้า ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงมาก
“สินค้าละเมิดที่วางขายตามย่านการค้าและแหล่งท่องเที่ยวลดลงอย่างมาก ประเมินแล้วไม่ต่ำกว่า 50% ซึ่งถือเป็นเรื่องดีมาก เพราะสินค้าละเมิดแทบหาซื้อไม่ได้ หวังว่าเมื่อโควิด-19 คลี่คลาย ผู้ค้าเหล่านี้ จะกลับมาค้าขายสินค้าอื่นๆ แทนสินค้าละเมิด”
นอกจากนี้ การมีศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร และเครื่องหมายการค้า (IPEC) ตามย่านการค้าต่างๆ เช่น มาบุญครอง ตลาดนัดจตุจักร ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สินค้าละเมิดลดลง เพราะศูนย์นี้ จะมีเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน เช่น กรมทรัพย์สินทางปัญญา เจ้าหน้าที่ตำรวจ ตัวแทนเจ้าของสิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญา มาทำงานร่วมกัน เพื่อตรวจสอบ ป้องกัน และปราบปรามการละเมิดในพื้นที่ต่างๆ จนนำมาซึ่งการจับกุมดำเนินคดีกับผู้ค้าสินค้าละเมิดได้จำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 9 ก.ย.2563 กรมฯ ได้ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง จัดพิธีทำลายของกลาง ที่เป็นสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาที่คดีถึงที่สุดแล้ว โดยในครั้งนี้ จะทำลายของกลางรวมทั้งสิ้นกว่า 700,000 ชิ้น คิดเป็นมูลค่าหลายล้านบาท แต่การทำลายจะไม่เหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา ที่จะเห็นภาพมีรถบดทับทำลาย โดยจะทำแบบ New Normal คือ จัดที่กระทรวงพาณิชย์ มีตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วม และจะมีการไลฟ์สดผ่าน Streaming , Facebook และ Zoom ซึ่งเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญา และหน่วยงานภาครัฐของประเทศต่างๆ สามารถร่วมรับชมได้ จะมีภาพที่ถ่ายทอดสดมาจกเตาเผา และเครื่องบดอัด ทำให้เห็นว่า ของละเมิดได้ถูกทำลายจริงๆ ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนได้ว่า ไทยเอาจริงกับการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา
นายทศพลกล่าวว่า สำหรับการแก้ปัญหาการละเมิดบนเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ในเร็วๆ นี้ กรมฯ จะลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ร่วมกับแพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ต่างๆ เช่น Shopee , Lazada เป็นต้น เพื่อให้ตรวจสอบ ไม่ให้มีการขายสินค้าละเมิดบนแพลตฟอร์ม รวมถึงแนวทางการดำเนินการหากพบการขายสินค้าละเมิดขึ้น และยังได้ประสานความร่วมมือกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ดำเนินการปิดเว็บไซต์ และ URLs ต่างๆ ที่มีเนื้อหาละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา เช่น เว็บที่ละเมิดภาพยนตร์ และเพลงจากต่างประเทศ ซึ่งล่าสุดตั้งแต่ ม.ค.2561-มิ.ย.2563 ศาลได้สั่งระงับการเผยแพร่ข้อมูลออกจากเว็บไซต์แล้ว 1,501 URLs
“ยังได้หารือกันว่ากรณีที่ศาลสั่งปิดเว็บเว็บไซต์ที่มีการละเมิดแล้ว แต่ได้ไปเปิดใหม่ และมีเนื้อหาละเมิดเหมือนเดิม ก็จะใช้คำสั่งศาลที่ได้สั่งให้ปิดเว็บเก่ามาบังคับปิดเว็บที่เปิดใหม่ได้เลย โดยที่ไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการยื่นขอคำสั่งศาลใหม่ ซึ่งจะทำให้การปราบปรามเว็บละเมิดรวดเร็วมากขึ้น”นายทศพลกล่าว
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |