แก้รธน.รายมาตรา! 60ส.ว.โผล่ตั้งกลุ่มอิสระหนุน/ตุ๊ดตู่จุดไฟส่อเค้ารัฐประหาร


เพิ่มเพื่อน    


    แก้รัฐธรรมนูญส่อระอุ สภาสูงเสียงแตก ไม่ชัดเอาด้วยหรือขวางแก้ 256 ตั้งสภาร่าง รธน. แต่ 60 ส.ว.ขยับแล้ว รวมตัวตั้งกลุ่ม "ส.ว.อิสระ" หนุนแก้รายมาตรา ไม่เอาร่างใหม่ทั้งฉบับ  "ก้าวไกล" เครื่องร้อน เสนอแก้ 4 ร่าง แต่ใช้วิธียื่นทีละร่าง เอาเรื่องปิดสวิตช์ ส.ว.ก่อน พบ ภท.ก็ร่วมลงชื่อด้วย "จตุพร" ชี้เปรี้ยง ชุมนุมใหญ่ธรรมศาสตร์ 19 ก.ย. หากสถานการณ์สุกงอมสุ่มเสี่ยง รัฐประหาร!
    ความเคลื่อนไหวก่อนที่ทางที่ประชุมร่วมรัฐสภาจะมีการพิจารณาญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนกันยายนนี้ โดยประเด็นที่ต้องติดตามก็คือท่าทีของสมาชิกวุฒิสภา  ว่าสุดท้ายจะร่วมลงมติสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวหรือไม่ โดยหากในการลงมติตั้งแต่วาระแรกขั้นรับหลักการ มีเสียงส.ว.โหวตเห็นชอบด้วยไม่ถึง 84 เสียง การแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวก็จะไม่เกิดขึ้น 
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ความเคลื่อนไหวของสมาชิกวุฒิสภาขณะนี้ ส.ว.ทั้งหมดยังเสียงแตกทางความคิดเห็น มีทั้งฝ่ายที่สนับสนุนให้ตั้่งและไม่ให้ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญตามร่างที่พรรคร่วมรัฐบาลและฝ่ายค้านเสนอให้แก้ไขมาตรา 256 เพื่อให้มีการตั้งสภาร่างรธน. 
    มีรายงานว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ส.ว.มีการตั้งกลุ่ม ส.ว.กว่า 60 คน ใช้ชื่อว่า "กลุ่ม ส.ว.อิสระ" ส่วนใหญ่เป็นพลเรือน ไม่มีทหาร ตำรวจ มีการตั้งกลุ่มไ​ลน์ขึ้นมาโดยเฉพาะ เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ แนวทางของกลุ่มเห็นตรงกันว่าสนับสนุนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่อยากให้มีการแก้ไขเป็นรายมาตรา โดยพร้อมให้แก้ไขมาตรา 272 เรื่องการยกเลิกอำนาจ ส.ว.ในการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี
    นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ส.ว. กล่าวว่า ยอมรับอยู่ในกลุ่ม ส.ว.อิสระ เป็นกลุ่มที่เพิ่งตั้งขึ้นใหม่ แนวทางของกลุ่มมีความชัดเจนสนับสนุนให้แก้รัฐธรรมนูญ แต่ควรแก้ไขแบบรายมาตรา ไม่ใช่การตั้ง ส.ส.ร.มายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ เพราะมองว่า ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งไม่ใช่เป็นตัวแทนประชาชนจริงๆ แต่เป็นเงา ส.ส. ทำให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ยังคงมีปัญหาความขัดแย้งไม่จบ และไม่สบายใจว่า ส.ส.ร.จะยกร่างรัฐธรรมนูญเลยเถิดไปขนาดไหน  
    "กลุ่ม ส.ว.อิสระพร้อมให้แก้รัฐธรรมนูญ แต่ควรทำเป็นแบบรายมาตรา เพราะจะไม่สร้างความขัดแย้ง และประหยัดงบประมาณ หากจะมีการแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 272 ตัดอำนาจ ส.ว. โหวตนายกรัฐมนตรีก็ไม่ขัดข้อง เพราะแต่ละคนเห็นตรงกันว่า หมดความจำเป็นที่จะให้ ส.ว.มาโหวตเลือกนายกฯ แล้ว ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ต้องการจะเป็นนายกรัฐมนตรีต่อ ต้องใช้ความสามารถตัวเองไปหาเสียงสนับสนุนจาก ส.ส.เอง เพื่อพิสูจน์บารมี จะได้มีความสง่างาม ไม่ต้องใช้เสียง ส.ว.มาช่วย จะได้ไม่ถูกมองเรื่องการสืบทอดอำนาจ" นายกิตติศักดิ์กล่าว 
    นายกิตติศักดิ์กล่าวอีกว่า ในวันที่ 8 ก.ย.นี้ เวลา 10.00 น. กลุ่มส.ว.อิสระจะประชุมกันที่รัฐสภา เพื่อหารือกันถึงแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ น่าจะมีข้อสรุปที่ชัดเจนออกมาว่ากลุ่มจะสนับสนุนการแก้รัฐธรรมนูญในแนวทางใด ส่วนที่ ส.ว.คนอื่นๆ มีความคิดเห็นแตกแยกกันไปหลายทางนั้น ไม่ถือเป็นความแตกแยก แต่ละคนมีความคิดแนวทางของตัวเอง แต่เชื่อว่าสุดท้ายแล้ว ส.ว.ทุกคนจะเห็นไปในแนวทางเดียวกันหมด 
    ส.ว.ผู้นี้ย้ำว่า ส่วนตัวไม่ขัดข้องเลยถ้าจะแก้มาตรา 272 ริบอำนาจ ส.ว.เรื่องการโหวตนายกรัฐมนตรี เพราะมองว่าไม่มีความจำเป็นแล้ว รวมถึงมาตราอื่นก็พร้อมสนับสนุนให้แก้ไข เช่น การกลับไปใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ การคำนวณระบบ ส.ส.บัญชีรายชื่อใหม่ เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน ยกเว้นรัฐธรรมนูญ หมวด 1 และ 2 รวมถึงหมวดที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันทุจริตที่ไม่ควรแตะต้อง
     พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ส.ว. กล่าวว่า ขณะนี้เร็วเกินไปที่จะพูดว่า ส.ว.จะสนับสนุนให้ตั้ง ส.ส.ร.ในการแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะต้องรอดูร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับอื่นๆ ว่ามีการเสนอเพิ่มเติมมาอีกหรือไม่ นอกเหนือจากร่างของ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน เท่าที่ดูเห็นว่าอาจจะมีร่างขอแก้ไขเป็นรายมาตราเข้าไปดู ต้องขอดูให้ครบทุกร่างก่อน แต่เท่าที่คุยกับ ส.ว.ขณะนี้ ยังมีเสียงแตก มีทั้งฝ่ายที่สนับสนุนให้ตั้ง ส.ส.ร.และไม่ ตั้ง ส.ส.ร. อย่างไรก็ตามสุดท้ายแล้วเชื่อว่าวุฒิสภาคงให้เป็นเอกสิทธิ์ของ ส.ว.แต่ละคนในการลงมติ แต่เรื่องแก้ไขมาตรา 272 เพื่อตัดอำนาจ ส.ว.โหวตนายกรัฐมนตรีนั้น ส.ว.ไม่ขัดข้อง ทุกคนพร้อมลดอำนาจตัวเองลงมา เพราะสถานการณ์ปัจจุบันไม่จำเป็นต้องมาพึ่ง ส.ว.ลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี เชื่อว่าถ้าแก้ไขเพียงแค่ลดอำนาจเรื่องการโหวตนายกฯ ส.ว.ไม่ขัดข้อง แต่ถ้าจะไปถึงขั้นตัด ส.ว.ออกจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ หรือปิดสวิตช์ ส.ว.ทั้งระบบ คงเป็นไปไม่ได้ เพราะขัดต่อรัฐธรรมนูญ ทำให้รัฐธรรมนูญเดินต่อไม่ได้ ดูแล้วคงเป็นแค่คำพูดโก้ๆ
    ขณะที่นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. กล่าวถึงเรื่องเดียวกันนี้ว่ารัฐธรรมนูญ 2560 ในส่วนของบทถาวร มีข้อดีอยู่พอสมควร โดยเฉพาะเมื่อพิจารณามาตรา 144 ที่เป็นนวัตกรรมใหม่ไม่ให้นักการเมืองเข้ามามีส่วนใช้งบประมาณแผ่นดิน แต่สำหรับเสียงคัดค้านในบทเฉพาะกาลที่ถูกตั้งคำถามหนักในประเด็นความชอบธรรมทางการเมือง อันเป็นเสมือนส่วนยอดภูเขาน้ำแข็งของความขัดแย้งทางการเมืองในรอบ 15 ปีที่ผ่านมา อย่างมาตรา 269 ประกอบมาตรา 272 อันเป็นหัวใจสำคัญที่สุด ที่กำหนดให้ คสช.คัดเลือก 250 ส.ว. แล้ว ส.ว.ร่วมเลือกอดีตหัวหน้า คสช.เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งยอมรับว่าตรงนี้ไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตยตามปกติ แต่ได้รับการอรรถาธิบายแก้ต่างจากหลายคน รวมทั้งตนว่าเป็นระบอบการเมืองเฉพาะกิจและเฉพาะกาลในช่วงเปลี่ยนผ่าน เพื่อให้บรรลุ 2 เป้าหมาย หนึ่งคือความสงบสุขในบ้านเมือง อย่างน้อยก็ชั่วคราว และสอง เพื่อให้การปฏิรูปประเทศตามแผนงานเดินหน้าได้ดี ในช่วง 5 ปีแรก แต่บัดนี้ทั้ง 2 เป้าหมายไม่สามารถบรรลุผลได้ โดยเฉพาะการปฏิรูปประเทศ อย่างการปฏิรูปตำรวจ ที่จำเป็นที่จะต้องกล่าวด้วยความเจ็บปวดว่ารัฐบาลชุดนี้สอบไม่ผ่าน 
    "เมื่อชั่งน้ำหนักแล้วผมขอตอบโจทย์โดยไม่ลังเล ขณะนี้ไม่มีความคุ้มค่าที่จะคงมาตรการพิเศษเฉพาะกิจและเฉพาะกาลช่วงเปลี่ยนผ่าน โดยเฉพาะที่อ้างว่าเพื่อให้การปฏิรูปประเทศเดินหน้า ไว้อีกต่อไป ทำให้ตรงเป้าที่สุดก็คือตัดมาตรา 272 อำนาจร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีของ 250 ส.ว.ออกไปจากรัฐธรรมนูญ ความคิดเบื้องต้นของผมคือควรแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา ว่ากันเป็นประเด็นๆ ไปก่อนเลย โดยต้องรวมเอาประเด็นที่เป็นปัญหาเร่งด่วนที่สุด หรือที่ถูกมองว่าไร้ความชอบธรรมที่สุด คือมาตรา 272 ไว้ด้วย จะเหมาะสมกว่าการแก้ไขให้เกิดการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับโดย ส.ส.ร." นายคำนูณแสดงท่าทีไว้ 
    ส.ว.ผู้นี้ให้ความเห็นอีกว่า อย่างไรก็ตามในชั้นต้นมีคำถามกับประเด็น ส.ส.ร. ก็เพราะการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่หมดทั้งฉบับโดยส.ส.ร.ในลักษณะปราศจากกรอบ นอกจากห้ามแก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 เท่านั้น เสี่ยงต่อการที่จะทำให้ของดีๆ ที่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญ 2560 มีอันต้องหายไป นอกเหนือจากหมวด 1 และหมวด 2 แล้ว ยังมีประเด็นที่ละเอียดอ่อนอีกมาก โดยเฉพาะประเด็นเหล่านี้ พระราชอำนาจในฐานะองค์พระประมุขแห่งรัฐที่อยู่นอกหมวด 2 อาทิ ในขั้นตอนการตราพระราชบัญญัติ หรือรัฐธรรมนูญ และอื่นๆ กลไกขององค์กรอิสระต่างๆ ศาลปกครอง และศาลรัฐธรรมนูญ รวมทั้งกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญฉบับต่างๆ ที่อาจถูกแปรเปลี่ยนไปเมื่อต้องยกร่างใหม่ตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 
    "คิดทบทวนดูอย่างรอบคอบแล้ว ในชั้นวาระที่ 1 นี้ จะให้ผม ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกวุฒิสภาชุดแรก 250 คนตามบทเฉพาะกาล มาคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมแบบยกร่างใหม่ทั้งฉบับ ที่เสนอจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้ง 2 ฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากพรรคร่วมรัฐบาลภายใต้การนำของท่านนายกรัฐมนตรีได้อย่างไร ขอบอกว่าโดยตรรกะแล้วเป็นไปไม่ได้โดยสิ้นเชิง หนึ่งคือประเด็นความสงบในบ้านเมือง ดังนั้นในวันที่ 24 ก.ย. ส่วนตัวจะลงมติให้ความเห็นชอบกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขรายประเด็นรายมาตรา โดยเฉพาะมาตรา 272 ว่าด้วยการให้ส.ว.ร่วมลงมติเลือกนายกฯ ถ้ามีร่างเสนอเข้ามา หรือการแก้ไขเพิ่มเติมหมวดใหม่ให้มี ส.ส.ร.ดำเนินการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับตามร่างที่เสนอเข้ามาแล้ว 2 ฉบับ" ส.ว.คำนูณระบุ
ก้าวไกลไม่ง้อ พท.ยื่นแก้ รธน.
    ขณะที่ฝ่ายค้านนั้น นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร โฆษกพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ให้สัมภาษณ์ถึงการยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคก้าวไกลว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคที่จะยื่นมี 4 ร่าง คือ ฉบับที่ 1 แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเพื่อยกเลิกบทบัญญัติในมาตรา 269, ฉบับที่ 2 แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเพื่อยกเลิกบทบัญญัติในมาตรา 270 และ มาตรา 271, ฉบับที่ 3 แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเพื่อยกเลิกบทบัญญัติในมาตรา 272 และฉบับที่ 4 แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเพื่อยกเลิกบทบัญญัติในมาตรา 279
    นายวิโรจน์กล่าวต่อว่า วิธีการของพรรคก้าวไกลคือ การทยอยยื่นทีละร่าง เพื่อเปิดโอกาสให้เกิดการถกเถียงและแก้ไขเพื่อให้ได้จุดร่วม เพราะหากเสนอไปรวมกันทั้ง 4 ฉบับ เมื่อถูกตีตก ก็จะหายไปทั้ง 4 ฉบับ โดยร่างแรกที่เราจะยื่นคือร่างแก้ไขมาตรา 272 เพราะเป็นฉบับที่มีความเห็นตรงกันว่าควรยกเลิก ทาง ส.ส.จากพรรคประชาธิปัตย์ ที่เสนอว่าจะมาช่วยลงเสียงด้วยนั้น มีความเห็นว่า ส.ว.ไม่ได้มาจากประชาชน ดังนั้น ส.ว.จึงไม่ควรมีอำนาจเข้ามาแทรกแซงและเปลี่ยนเจตจำนงของประชาชน
    "ขณะนี้เราสามารถรวมเสียง ส.ส.ที่เห็นด้วยกับการแก้ไขมาตรา 272 นี้ได้เกิน 100 เสียงแล้ว มาจากพรรคฝ่ายค้าน (ไม่ รวมพรรคเพื่อไทย) พรรครัฐบาลบางพรรค เช่น พรรค ปชป.และ พรรคภูมิใจไทย ประมาณ 2 เสียง รวมไปถึงพรรคเล็กบางพรรคด้วย เป็นการรวมเสียงกันด้วยเอกสิทธิ์ของการเป็น ส.ส. คาดว่าจะยื่นร่างแก้ไขมาตรา 272 ในสัปดาห์ที่จะถึงนี้
ปูดเตรียมรัฐประหารก่อนแก้ รธน. 
      ด้านนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. กล่าวว่า สถานการณ์ปัจจุบันนี้ ทั้งมาตรา 256 และมาตรา 272 จะไม่ได้แก้ไขแม้แต่มาตราเดียว เพราะสุดท้ายรัฐธรรมนูญปี 2560 จะถูกฉีกตามเจตนา เนื่องจากมีการเขียนเงื่อนไขมากมายอยู่ในรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการแก้ไข เพื่อให้แก้ไขได้ยาก ได้พูดมาตั้งแต่ตอนต้นว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้เขียนไว้เพื่อให้แก้ไขได้ แต่เป็นการเขียนไว้เพื่อส่งไม้ให้กับคณะรัฐประหารชุดใหม่  
    "ในฐานะที่อยู่ในวงการเมืองมานาน ติดตามสถานการณ์ หากสถานการณ์สุกงอมในวันที่ 19 กันยายนนี้ เชื่อว่าทั้งสองมาตราจะไม่ได้รับการแก้ไข" ประธาน นปช.วิเคราะห์ 
    นายจตุพรกล่าวอีกว่า ไม่ได้หวงมาตรา 272 เรื่องปิดสวิตช์ ส.ว. เพราะหากแก้ไขมาตรา 256 ก็เท่ากับทุบคัตเอาต์ทิ้ง แต่หมายความว่าสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะไปทุบคัตเอาต์ทิ้งหรือจะปิดสวิตช์ ท้ายที่สุดคนจะมาพังหม้อแปลงขนาดใหญ่เสียก่อน ก็คือ การยึดอำนาจ และการยึดอำนาจในคราวนี้ คณะที่เตรียมการนั้นรออย่างใจจดใจจ่อ ขณะเดียวกันการขับเคลื่อนต่างๆ นั้นก็หาเหตุผลรองรับ เพราะในโลกสื่อสารไร้พรมแดนนั้นจะไม่ง่ายเหมือนในอดีต เนื่องจากทุกคนเป็นเจ้าของสื่อ หากยังไม่สามารถควบคุมการสื่อสารได้อย่างเบ็ดเสร็จนั้น จะเกิดเหตุการณ์เหมือนกับประเทศตุรกี ใช้ Facebook จัดการกับคณะรัฐประหารได้อย่างราบคาบ โดยการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นภายในเดือนนี้ ซึ่งอาจจะไม่ใช่ชนิดที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด เพราะไม่มีฝ่ายใดเบ็ดเสร็จเด็ดขาดได้แม้แต่ฝ่ายเดียว และนี่เป็นปรากฏการณ์ครั้งใหม่ที่แต่ละฝ่ายต้องคิดว่า ทั้งกระดานนี้ไม่มีใครเบ็ดเสร็จได้ เพียงแต่ใครจะมีความชอบธรรมมากกว่าใคร อย่างไรก็ตาม วันนี้จะมีการขับเคลื่อนอะไรก็ตาม ซึ่งแต่ละฝ่ายก็คิดและรอวันที่ 19 กันยายนนี้ว่าจะลงมือก่อนวันที่ 19 หรือวันที่ 19 ก.ย.  หรืออาจจะหลังวันที่ 19 ก.ย. แต่เชื่อว่ารัฐธรรมนูญจะไม่ได้แก้แม้แต่เพียงมาตราเดียว และลงท้ายด้วยการฉีกรัฐธรรมนูญเช่นเดิม. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"