ใครจะมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแทนคุณปรีดี ดาวฉาย?
คำถามนั้นไม่สำคัญเท่ากับว่า ใครที่มาในตำแหน่งนี้จะรอดพ้นจากการแทรกแซงทางด้านการเมืองได้มากน้อยเพียงใด
หรือจะมีอิสระในการทำงานในฐานะมืออาชีพเพียงใด
หากไม่มีคำตอบที่ชัดเจน คนที่มีความรู้ความสามารถจากข้างนอกคงจะแหยงจนไม่มีใครกล้ารับงานนี้อีก
นายกฯ, รองนายก และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ยืนยันว่าการตัดสินใจลาออกอย่างกะทันหันของคุณปรีดีนั้นมีเหตุผลประการเดียวคือเรื่องสุขภาพ
ยืนยันตรงกันว่าไม่มีความขัดแย้งใดๆ
ความจริงเป็นเช่นไรคนที่รู้ดีที่สุดคงจะเป็นคุณปรีดีเอง
และใครที่ได้รับการทาบทามจากนายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชาให้มารับตำแหน่งนี้ คงจะต้องปรึกษาหารือหรือขอความรู้จากคุณปรีดี ว่าไฉนจึงตัดสินใจอำลาอย่างฉับพลันทันทีเช่นนั้น
หากเหตุผลการลาออกของคุณปรีดีเป็นเรื่องสุขภาพแต่เพียงอย่างเดียว วิธีการบอกกล่าวกับประชาชนคงจะไม่มีความฉุกละหุกอย่างที่เราได้เห็น
นายกฯ และคุณปรีดีเองก็คงจะรู้ดีว่า การที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังตัดสินใจสละเรืออย่างนี้ ย่อมสร้างความตกใจ แปลกใจ และไม่มั่นใจต่อรัฐบาลได้สูง
หากเป็นเรื่องสุขภาพล้วนๆ นายกฯ ก็คงจะต้องออกมาแถลงเหตุผลอย่างเป็นทางการพร้อมกับคุณปรีดีเพื่อไม่สร้างความตกตะลึงให้ประชาชน
เพราะในยามนี้ไม่มีอะไรสำคัญเท่ากับ "ความมั่นใจ" ของประชาชนต่อความสามารถของรัฐบาลในอันที่จะแก้วิกฤติเศรษฐกิจ
การที่คุณปรีดียอมเสียสละจากตำแหน่งเอกชนมารับตำแหน่งนี้ย่อมเป็นเรื่องใหญ่สำหรับคุณปรีดีเอง และเป็นเรื่องที่นายกฯ จะต้องรับรู้ถึงความสำคัญที่จะต้อง "ปกป้อง" นักบริหารมืออาชีพจากอิทธิพลทางการเมือง ที่จะทำให้การทำงานที่ยากเย็นแสนเข็ญอยู่ในตัวอยู่แล้วต้องหนักหน่วงกว่าที่ควรจะเป็น
ข่าวอีกบางกระแสบอกว่า คุณปรีดีมีปัญหาเรื่องเส้นโลหิตในสมองตีบมาก่อนจริง
แต่ไม่ได้ร้ายแรงนัก หลังจากได้รับการรักษาระยะหนึ่งก็มีอาการดีขึ้นตามลำดับ
ตอนที่นายกฯ ทาบทามคุณปรีดีให้มาดำรงตำแหน่งขุนคลังนั้น คุณปรีดีก็น่าจะคิดหนักไม่น้อย
แต่ในท้ายที่สุด เมื่อได้ปรึกษาหารือกับเพื่อนร่วมงานและผู้ที่เคารพนับถือแล้ว คุณปรีดาก็เห็นว่าน่าจะช่วยแก้ไขปัญหาอันหนักหน่วงของประเทศชาติได้บ้าง
คุณปรีดีได้ทำงานหามรุ่งหามค่ำในตำแหน่งนี้ประมาณ 20 วัน
คนที่อยู่ในโต๊ะประชุมหลายครั้งยืนยันว่าคุณปรีดีได้ทำงานอย่างทุ่มเท เอาจริงเอาจัง และไม่มีอาการหรือท่าทีว่าจะถอดใจหรือจะต้องลาออก
ไม่ต้องสงสัยว่าความรับผิดชอบในฐานะเสนาบดีคลังนั้นหนักหน่วงกว่ายามบ้านเมืองปกติหลายเท่า
แต่ที่หนักกว่าภารกิจที่ต้องแก้ปัญหาเศรษฐกิจจากมุมมองของกระทรวงการคลังในภาวะวิกฤติโควิดนั้นคือ แรงกดดันจากทางการเมืองหลายทาง
"ผู้เห็นเหตุการณ์" ท่านหนึ่งเล่าว่าก่อนลาออกเพียงวันสองวัน รัฐมนตรีปรีดีก็ยังเป็นประธานประชุมหลายวง
หนึ่งในวงประชุมเครียดก็คือ เรื่องหนี้สาธารณะที่คุณปรีดีต้องการจะให้เห็นภาพชัดในการแก้ปัญหา "เงินคงคลัง" ที่ทำท่าว่าจะมีปัญหาเพราะรายได้จากภาษีหดหายไปไม่น้อยจากเศรษฐกิจเสื่อมถอย
เมื่อรายได้ต่ำกว่าที่ประมาณการมาก (เพราะธุรกิจขาดทุน ภาษีนิติบุคคลลดลงอย่างมาก และยิ่งเมื่อเลื่อนการจ่ายไปหลายเดือนก็ยิ่งทำให้รายได้ห่างจากรายจ่ายมากกว่าที่ประเมินเอาไว้มาก) ก็จำเป็นต้องกู้เพิ่มจากเพดานเดิม
ที่คณะรัฐมนตรีเพิ่งอนุมัติให้ขยับเพดานเงินกู้เพิ่มขึ้นอีกกว่า 2 แสนล้านเพื่อกลบเงินคงคลังที่หดหาย ก็ยังไม่แน่ว่าจะเพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายหรือไม่
สถานภาพทางด้านการคลังของประเทศในยามนี้เป็นเรื่องสำคัญ คุณปรีดีจึงพยายามระดมความคิดจากผู้บริหารของกระทรวงการคลังเพื่อวางแผนแก้วิกฤติให้รอบด้าน
แต่ดูเหมือนว่านักการเมืองในกระทรวงจะยังไม่เข้าใจวิธีคิดและวิธีทำงานของมืออาชีพทางด้านการเงิน
หรือไม่ก็มีความต้องการอะไรบางอย่างที่ขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังทำหรือไม่ทำ
ถึงจุดหนึ่งเมื่อความเครียดเพิ่มระดับ และปัญหาที่เห็นอยู่ข้างหน้าหนักหน่วง อีกทั้งการ "บูรณาการ" ระหว่างกระทรวง ทบวง กรมทั้งหลายไม่เกิดขึ้นตามที่ควรจะเป็น
เมื่อสุขภาพจิตกับสุขภาพกายทรุดไปพร้อมๆ กัน เหตุเพราะปัจจัยการเมืองที่ไม่คุ้นเคยประดังเข้ามาหลายทิศทาง
ก็ได้เวลาตัดสินใจว่าการทำงานเพื่อชาติไม่จำเป็นต้องอยู่ในคณะรัฐมนตรีเสมอไป!
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |