กลับมาโลดแล่นบนแผ่นฟิล์มอีกครั้งในรอบ 15 ปี สำหรับ อ้อม-พิยดา อัครเศรณี กับการกลับมา พลิกบทจากคุณครูสุดเฮี้ยบสู่ตัวแม่สายเกม ใน Mother Gamer เกมเมอร์ เกมแม่ ภาพยนตร์แอคชั่น อีสปอร์ตเรื่องแรกของไทย เจ้าตัวยืนยันว่าสนุกที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ต้องมาทำในสิ่งที่แม่คนไหนยังไม่เคยทำมาก่อน ด้วยการกระโดดเข้าสู่โลกของ RoV ฟอร์มทีมเปิดวอร์ตีป้อมลูกชาย นักกีฬาอีสปอร์ตระดับโปรเพลย์เยอร์อย่าง ตน-ต้นหน ตันติเวชกุล งานนี้พร้อมจัดเต็มทั้งการแสดงและสกิลของเกม
บทบาท-คาแร็กเตอร์
คาแร็กเตอร์ เบญจมาศ เป็นผู้หญิงคนหนึ่งที่ก็เคยมีความฝัน เธอมีแบ็กกราวน์ที่อยากออกนอกกรอบไปใช้ชีวิตของตัวเอง และค้นพบว่าสภาพสังคมมันบีบคั้นให้เธอจำต้องกลับเข้ามาอยู่ในกรอบตามเดิม นั่นเลยเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมเบญจมาศถึงต้องเข้มงวดกับ โอม (ตน ต้นหน) ลูกชายมากขนาดนั้น ทั้งๆ ที่ตัวเองก็ไม่ใช่คนแบบนั้นเลยนะ มันจึงมีความย้อนแย้งกันอยู่พอสมควรในตัวละครตัวนี้ และพอเกิดเหตุการณ์ที่ลูกอยากจะเป็นนักกีฬาอีสปอร์ต อันนำไปสู่เหตุการณ์แม่ต้องเอาชนะลูกในเกมให้สำเร็จ เราก็จะสัมผัสได้ถึงปูมหลังของเบญจมาศที่เคยเป็นคนสนุกสนาน และการได้ลองกลับไปเป็นเด็กวัยรุ่นอีกครั้ง
การคืนจอภาพยนตร์อีกครั้งในรอบ 15 ปี
เราเลือกเพราะความน่าสนใจของบทหนังมากกว่า ซึ่งกับเรื่องนี้พออ้อมมาลองคิดวิเคราะห์ดูถึงความเปลี่ยนแปลงไปในสภาพสังคมแล้ว ก็คิดว่ามันน่าสนใจที่จะได้อัปเดตตัวเองใหม่ๆ ไปกับโลกของเราตอนนี้ที่มันถูกพัฒนาไปไกลพอสมควร และยังได้เรียนรู้อีกว่าเด็กสมัยนี้เขาใช้ชีวิตกันอย่างไร นั่นจึงเป็นเหตุผลที่เราตัดสินใจรับแสดงหนังเรื่องนี้
การเตรียมตัวเพื่อรับบทเกมเมอร์ตัวแม่
จริงๆ เบญจมาศไม่ใช่แม่ยุคใหม่เลยนะ เบญจมาศคือ Super Old School ตัวจริงเลย แต่ว่าเขามาได้เรียนรู้ในระหว่างทางมากกว่า นั่นก็คือการจับพลัดจับผลูได้เรียนรู้จากเด็กในกลุ่มที่เล่นเกมด้วยกัน และค้นพบว่าการเข้าถึงเด็กยุคนี้มันควรจะเป็นยังไง ซึ่งอ้อมเชื่อว่าแม่ทุกคนมีนะ โดยเฉพาะกับแม่สมัยใหม่ที่จะต้องปรับตัวให้ทันเด็ก ต้องหันกลับมามองตัวเองบ้าง และขณะเดียวกันก็ต้องใส่ใจทางฝั่งของลูกด้วย เราคิดว่าถ้ามีครูเบญจมาศในชีวิตจริงสัก 10 คนมันก็คงจะดีนะ คือเด็กเขาเล่นเกมอยู่แล้ว แต่ว่าต้องให้รู้จักเวลา และที่สำคัญคืออนาคตของเขาก็ต้องไม่เสียเปล่าไปด้วย
ซึ่งการรับบทเป็นครูเบญจมาศอาจจะไม่ต้องปรับอะไรเยอะสำหรับอ้อม แต่พอมาเป็นครูเบญจมาศที่ต้องมาเล่นเกมในพาร์ตหลังแล้วเนี่ย มันทำการบ้านเยอะมากๆ เพราะเราเป็นคนไม่ได้เล่นเกม จึงต้องฝึกเล่นเกมให้เป็น ต้องรู้รายละเอียดทั้งหมด โดยเฉพาะคาแรคเตอร์ในเกมทั้งหมดซึ่งแต่ละตัวก็จะมีหน้าที่แตกต่างกัน รวมถึงมีเทคนิคการเล่นไม่ซ้ำกันเลยด้วย และยิ่งถ้าเป็นตัวที่เราถนัดมันก็จำเป็นต้องรู้ลึกลงไปอีกว่า ตัวนี้สกิลมีแค่ไหน ควรเล่นยังไง และซัปพอร์ตตัวละครอื่นๆ อย่างไรบ้าง นี่คือส่วนที่เป็นการบ้านชิ้นยากสำหรับเราเลยก็ว่าได้ ฉะนั้นตอนกลับบ้านไปก็นั่งเล่นๆ ให้จำให้ได้มากที่สุด
บทบาทสุดโต่งจากคุณแม่ธรรมดาๆ สู่คุณแม่เกมเมอร์
ตัวละคร เบญจมาศ ต้องจับพลัดจับผลูไปเล่นเกม เพราะเนื่องจากเกมมันต้องมีผู้เล่น 5 คน แต่ดันหายไปคนหนึ่ง แล้วใครที่จะมาเล่นแทนถ้าไม่ใช่ครูเบญจมาศ (หัวเราะ) พอเจอเทคนิคที่เด็กๆ สอนเราในการเล่นก็คือ ใช้ทักษะในชีวิตจริงมาอธิบาย และบางครั้งก็มีดาบมาไล่ฟันๆ ให้หลบหลีก เพราะตัวละครไม่รู้ว่าต้องหลบอะไร คำอะไรก็ไม่คุ้น หรือบางครั้งก็ใช้วิธีปาอาวุธใส่กันเป็นพลังเหมือนในเกม และยิ่งได้มาอยู่ในโลกของเด็กด้วยแล้ว ความสนุกก็ต้องมีมาแน่นอน ทำให้เราคิดในแง่ว่าการลองเข้าไปสนุกกับพวกเขาบ้าง มันอาจจะทำให้รู้ว่าเขากำลังคิดอะไรอยู่ แถมได้อัปเดตตัวเองว่ายังเป็นคุณแม่วัยรุ่นอยู่ แล้วทีนี้เบญจมาศก็ไม่ใช่เบญจมาศคนเดิมอีกต่อไปแล้ว
สกิลการจำบทของอ้อม พิยดา
จริงๆ แล้วไม่มีอยู่ในบทนะ แต่ พี่เสือ (ผู้กำกับ) เห็นว่าเราทำได้ดีตอนซีนห้องประชุม โดยในซีนนั้นครูเบญจมาศต้องพูดเรื่องรายงานการประชุมที่มีความยาวเกือบๆ 1 หน้าเต็ม ซึ่งเราก็สามารถถ่ายผ่านมาได้แล้ว ทางพี่เสือจึงอยากเพิ่มสกิลของครูเบญฯ ใส่ลงไปในการเล่มเกมก็คือการจำ” มันช่วยได้กับการเล่นเกมที่จะทำให้รู้ว่าแต่ละตัวมีสกิลยังไง ตัวนี้ถ้าตายแล้วจะใช้เวลาเท่าไหร่ในการเกิดใหม่ หรือว่าพลังนี้ถ้าใช้ไปแล้วจะต้องรอกี่นาทีถึงจะใช้ได้อีก พี่เสือเลยจัดให้เราท่องสกิลตรงนี้หมดทุกตัว มันยากมากๆ เหมือนกับท่องวิชาเคมีชีวะเลย แต่ก็ดีตรงที่เรามีความเข้าใจในการอ่านบท ถ้ามันเคลียร์แล้วถึงจะสามารถจำได้ดี ฉะนั้นเราจึงต้องเล่นเกมตามที่เขาให้การบ้านมา ไม่ว่าจะ 10 หรือ 20 ตัวก็ต้องเล่นเพื่อให้ได้เห็นภาพทุกอย่าง และช่วยสร้างความเข้าใจได้ชัดเจน
การร่วมงานกับลูกชาย “ตน ต้นหน”
ตนคือนักแสดงที่น่ารักมาก ตั้งใจทำงาน และมีความรับผิดชอบสูง จนเราต้องขอชื่นชมเลยค่ะ ยิ่งตอนที่เราต้องถ่ายทำฉากแรกของหนังก็คือซีนปะทะอารมณ์ ต้นหนเองก็จะเล่นส่งให้เราแบบร้องไห้โฮตลอด และส่งให้แบบนี้ทุกเทก เราถ่ายไป 20 เทก เขาก็ร้องส่งให้ทั้ง 20 เทก จนเรานึกในใจไม่ต้องร้องขนาดนั้นก็ได้ลูก แต่พอเขาใช้ทักษะฝีมือแบบใส่พลังมาเกินร้อยในทุกๆ ซีนของการถ่ายทำ มันทำให้เห็นเลยว่าต้นหนเขาสุดยอดมากขนาดไหน แล้วไม่ว่าจะเป็นซีนเครียดๆ ซีนแอคชั่น หรือซีนสนุกสนาน เขาเอาอยู่หมด แถมไต่ระดับมันขึ้นไปอีก ซึ่งเราเองก็กลัวว่าน้องจะพลังแผ่ว แต่ก็โชคดีตรงที่เขาสามารถควบคุมมันได้ แม้ว่าบางครั้งพลังของเขาจะหายไปบ้างก็ตาม
เกมแม่เจอทีมเกมพ่อ
พวกเขาจะเลือกเอาของดีที่สุดออกมาใช้ตลอด เช่น พี่เสือ ยรรยง เขาจะเป็นคนมองภาพรวมทั้งหมดว่าเขาอยากได้ยังไง และอธิบายได้อย่างเห็นภาพ มี ‘ครูเอ นัฐพงศ์ แอคติ้งโค้ชที่เก่งรอบด้าน หากตรงนี้เราไม่ได้ก็จะขอข้อมูลเพิ่ม เขาเองก็จะบิ้วตรงนี้ให้อารมณ์มันออกมาชัดเจนที่สุด ส่วนพี่เอ็ม สุรศักดิ์ ก็ละเอียดมาก ไม่ปล่อยเลยสักซีน ขณะที่ พี่แอ้น ภาเกล้า ก็เริ่ดมากเลยนะ ถ่ายได้เจ๋งมากกับวิชวลของเขา มุมมองภาพของเขา และตอนถ่ายก็จะใส่หูฟังเสมอ ซึ่งอันนี้คือการทำการบ้านของเขาในทุกฉากว่าฉากนี้จะใช้เพลงอะไร เขาจะถ่ายแบบไหน Mood & Tone หรือแม้แต่การแพนกล้อง เขามีเพลงอยู่ในหัวตลอด เราก็โอ้โหว้าวเลยเพราะมันละเอียดจัดมาก พี่แอ้นทำให้ทุกฉากมีความสำคัญเท่ากันหมด ไม่มีฉายไหนลอย ไม่มีฉากไหนพัง และทำให้โลกของหนังมันค่อนข้างชัดเจนนะ กลายเป็นโลกของ ‘‘Mother Gamer เกมเมอร์ เกมแม่’ ที่คนดูจะเชื่อว่าโลกใบนี้มีอยู่จริง
โลเคชั่นของอารีนาที่ไม่เหมือนที่ไหนมาก่อน
โลเคชั่นมันหาได้ที่สุดจริงๆ เพราะเป็นโรงเหล็กเก่าและมีหลุมใหญ่ๆ ที่เอาไว้ทำอะไรสักอย่าง ซึ่งทีมงามก็ตัดสินใจไปถ่ายทำที่นั่น ทีนี้ฝุ่นมันก็เยอะมากๆ รวมถึงอากาศที่ร้อนเกินบรรยาย แต่มันก็สนุกดีนะคะ ตอนถ่ายเราก็จะอยู่กันเป็น 2 ทีม และมีเอ็กซ์ตรามายืนคอยเชียร์เราจริงๆ เนื่องจากมันเป็นรอบสำคัญแล้วด้วย ฉะนั้นการแข่งมันก็ต้องแข่งจริงๆ แล้วยิ่งพอเราเป็นแม่ได้ไปเจอกับลูกในสนามแข่ง คนเป็นแม่ปกติก็จะยอมลูกอยู่เสมอ แต่ครั้งนี้ถ้าเรายอมให้ลูกชนะเพื่อให้ลูกไปเล่นเกมมันจะดีเหรอ หรือถ้าแม่ทำให้ลูกเสียใจแม่ก็เสียใจยิ่งกว่า คือมันจะมีดราม่าผสมกับแอคชั่นไปในตัว จึงทำให้ภาพรวมออกมาสนุกตอนถ่ายทำ
แอคชั่นในโลกแห่งเกม
“Mother Gamer เกมเมอร์ เกมแม่” มีฉากแอคชั่นเยอะมากๆ น่าจะเกิน 60% ของเรื่องเลยก็ว่าได้ค่ะ แต่ฉากสำคัญของอ้อมเองก็คือมีการสู้กันในโลกของเกม ซึ่งเราถ่ายกันยาวถึง 8-10 ชั่วโมง ถ่ายกันจนถึงเช้าอีกวัน เล่นเอาหมดแรงจนน็อกไปเลย แต่ก็สนุกเหมือนเล่นหนังซูเปอร์ฮีโร่ เพียงแต่เปลี่ยนจากการสู้กับผู้ร้ายมาเป็นลูกตัวเอง (ตน ต้นหน) แทน ฉะนั้นมันเลยจะไม่ใช่แค่เพียงการต่อสู้ธรรมดา เพราะมันคือเรื่องความต่างของอายุที่ต้องมาปะทะกันระหว่างแม่กับลูก ซึ่งมีทั้งพาร์ตแอคชั่น แฟนตาซี และจุดคลี่คลายของปมสำคัญที่เกิดขึ้นมาอยู่ในซีนนี้ซีนเดียวทั้งหมด โดยรวมมันก็เลยหนักอยู่สำหรับการแบตเทิลกันในหนังเรื่องนี้ค่ะ
เรื่องราวความสนุกที่ขับเคลื่อนไปด้วยประเด็น Generation Gap (ช่องว่างระหว่างวัย)
หนังเรื่องนี้นำเสนอเรื่องความแตกต่างกัน ซึ่งอ้อมเองก็เป็นคุณแม่วัยรุ่นคนหนึ่ง และห่างไกลเบญจมาศอยู่พอสมควร แต่พอเอามาเทียบกับเบญจมาศในเรื่องแล้ว มันคือความต่างของอายุที่ต้องมาปะทะกัน ระหว่างแม่กับลูก เพราะเบญจมาศเขาเป็นคนที่สุดโต่งมากๆ ในทางของตัวเอง แต่วันหนึ่งเขาต้องกระโดดลงไปในสภาพแวดล้อมของเด็ก อยู่กับลูก อยู่กับเพื่อนลูก อยู่กับนักเรียนตัวเอง เพื่อที่จะเรียนรู้โลกของลูก และปรับตัวเข้าหาลูกให้ได้ เรียกได้ว่าบทเบญจมาศนี้มันช่วยดึงความทรงจำของเราตอนเป็นวัยรุ่นให้กลับมาอีกครั้ง เพียงแค่ว่ายุคสมัยมันอาจจะเปลี่ยนแปลงไปแล้วเท่านั้นเอง
ส่วนตัวคิดเห็นอย่างไรกับอีสปอร์ต
รู้สึกตกใจอยู่เหมือนกันนะ เพราะจากที่เราเข้าใจมาตลอดว่าการเล่นกีฬามันต้องใช้ร่างกาย และแอคชั่นควบคู่กันไปด้วย จะเป็นกลางแจ้งหรือในร่มก็แล้วแต่ชนิดของกีฬานั้นๆ พออยู่มาวันหนึ่งกีฬาอีสปอร์ตมันก็กลายมาเป็นกีฬาที่ใช้แข่งกันจริงๆ และได้เข้าไปอยู่ในซีเกมส์ด้วย มีการแบ่งทีมเล่นอย่างจริงจังและทำเงินได้มหาศาล จุดนี้มันเลยชัดเจนว่าเป็นวิวัฒนาการที่เปลี่ยนแปลงไปตามสภาพสังคมที่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นเราก็ต้องปรับตัวเข้าหามัน เรียนรู้ และยอมรับสิ่งใหม่เหล่านี้ สมัยก่อนเราอาจจะชอบวิ่งเล่นปีนต้นไม้ แต่สมัยนี้ถนนมันมากขึ้นจะปีนต้นไม้แบบเดิมก็คงไม่ได้แล้ว ทำให้กิจกรรมต่างๆ จำต้องย้ายไปอยู่ในตึกหรือในร่มแทน สำหรับอ้อมคิดว่าถ้าเราเปิดใจรับมันก็สามารถที่จะอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขได้ อีสปอร์ตก็เลยเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเราก็ต้องดูให้มันเหมาะสมกับเวลา มีการจัดการตารางชีวิตให้ดี และแบ่งปันเงื่อนไขกันทั้งสองฝ่าย
ความโดดเด่นและน่าสนใจของหนังเรื่องนี้
หนังเรื่องนี้ก็เป็นอีกหนึ่งมุมมองที่น่าสนใจ การยอมรับซึ่งกันและกัน อ้อมเชื่อว่าถ้าพ่อแม่มาดูหนังเรื่องนี้ พวกเขาก็จะดึงส่วนนี้ไปใช้ และลองเข้าไปในโลกของลูกบ้าง ถึงแม้ว่าเขาจะไม่อยากให้เข้ามาก็ตาม เราจึงต้องใช้วิธีแทรกซึมเข้าไปดูให้เห็นว่า เขาใช้ชีวิตยังไง ชอบอะไร และเป็นอย่างไร ทีนี้มันก็จะมีความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัวเกิดขึ้นมา ซึ่งนี่ก็เป็นสิ่งที่หนังเรื่อง “Mother Gamer” ตั้งใจจะนำเสนอให้ผู้ชมได้เห็นมุมมองของทุกฝ่ายเลย
ข้อคิดดีๆ ที่ผู้ชมจะได้รับจากหนัง “Mother Gamer”
เราจะได้รู้ว่าการที่คนเป็นพ่อแม่คาดหวังกับลูกมากเกินไปนั้น โดยเฉพาะคนที่มีลูกวัยกำลังโตก็จะเข้าใจถึงความต้องการของเด็ก และเข้าใจตัวเองไปพร้อมกันด้วยว่า เราจะเข้าไปหาพวกเขายังไง และปรับจูนกับโลกของเขาอย่างไรบ้าง เพราะเกมมันเป็นอีกพาร์ตหนึ่งของชีวิตเขา แล้วพอมาถึงวันหนึ่งเกมมันก็จะหายไปจากชีวิต ยิ่งถ้าเขาไม่ได้เรียนหนังสือเลยก็จะไม่โอเคสักเท่าไร ซึ่งในชีวิตจริงก็มีตัวอย่างมาให้เห็นกันเยอะแล้ว แต่ในเรื่องนี้ก็มีตัวละครซึ่งเขาสามารถพลิกตัวกลับมาเป็นคนดีได้ ฉะนั้นพอมาดู “Mother Gamer” มันก็จะได้ทั้งพาร์ตของเด็กและผู้ใหญ่ที่เอามาปรับใช้กับชีวิตเราได้
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |