"ธนาธร" รุกหนัก ชี้งบสถาบันกษัตริย์เพิ่มขึ้น 25% ในรอบปีเดียว แต่ กมธ.ไร้คนกล้าขอตรวจสอบ ย้ำงบประมาณสถาบันฯ ต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้ ป้องกันหน่วยงานแอบอ้าง ถือว่าอันตรายมาก เพราะหากพบทุจริตจะทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติ
เมื่อเวลา 20.00 น. วันศุกร์ที่ผ่านมา คณะก้าวหน้า โดยนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า และนางสาวพรรณิการ์ วานิช กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า ร่วมจัดรายการประจำสัปดาห์ "ก้าวหน้าทอล์ก" ทางเฟซบุ๊กเพจ คณะก้าวหน้า - Progressive Movement โดยเป็นการร่วมพูดคุยในหัวข้อ "ว่าด้วยภาษีที่มาจากหยาดเหงื่อแรงกายของประชาชน" ซึ่ง นายธนาธรร่วมเป็นคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 โดยเฉพาะในเรื่องของงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งกำลังเป็นที่พูดถึงอยู่ในขณะนี้หลายโครงการ
นายธนาธรกล่าวถึงการพิจารณางบประมาณปี 2564 กรณีการสร้างเขื่อนเหมืองตะกั่ว จ.พัทลุง ว่ากรรมาธิการได้ตัดงบประมาณในส่วนนี้ออกไปแล้ว และแม้ในภายหลังกรมชลประทานจะพยายามโยกงบประมาณปี 2563 มาเริ่มต้นโครงการ แต่ล่าสุดทางคณะรัฐมนตรีก็ได้มีการระงับโครงการนี้ พร้อมกับตั้งกรรมการศึกษาข้อมูลโครงการขึ้นมาพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน
กรณีอย่างนี้ ในทางปฏิบัติเมื่อกรรมาธิการที่เป็นตัวแทนประชาชนที่สภาผู้แทนราษฎรแต่งตั้งให้มาดูแลงบประมาณแทนประชาชน มีมติให้ตัดงบประมาณของโครงการนี้ออกไปแล้ว โครงการนี้ก็ควรจะตกไป แต่ทางกรมชลประทานกลับเดินหน้าโครงการต่อโดยอาศัยงบประมาณที่เหลือจากปี 2563 มาเริ่มต้นการก่อสร้าง เหมือนการแปะจองโครงการไว้ก่อน ให้เป็นงบผูกพันที่ปีต่อไป จนไม่สามารถตัดงบได้
"นี่คือสิ่งที่ผมรู้สึกเหลือเชื่อมาก นี่แปลว่ากรมชลประทานไม่เห็นหัวประชาชน ไม่เห็นหัวสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากประชาชนเลย เห็นได้ชัดเลยว่าข้าราชการไม่แยแสเสียงตัวแทนของประชาชน ผมตกใจมากว่าทำไมต้องผลักดันโครงการให้ได้ขนาดนี้"
นายธนาธรกล่าวว่า เนื่องจากกระแสสังคมที่ต่อต้านโครงการนี้สูงขึ้น จึงเกิดการประชุมที่นำมาสู่ข้อสรุปในการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาโครงการนี้ให้เสร็จภายใน 60 วัน แต่ประเด็นก็คือถ้ารัฐบาลจริงใจในการแก้ปัญหานี้ ก็คงจะไม่ต้องใช้เวลาถึง 14 วัน ที่ประชาชนมาร่วมชุมนุมกันตั้งแต่ที่หน้ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มาจนถึงหน้าทำเนียบรัฐบาล ยอมทนนอนกลางพื้นถนนตากแดดตากฝน ต้องทนยากลำบาก และไม่จำเป็นต้องตั้งกรรมการขึ้นมาศึกษาอะไรแล้ว
ตรวจสอบงบฯ สถาบัน
"ถ้าต้องการรู้ตัวนี้ ส่งคนไปดูหน้างานแป๊บเดียวก็รู้ ใช้เวลาเพียงแค้ 5 วันก็สามารถหาทางออก สามารถเข้าสู่ข้อสรุป ซึ่งผมเชื่อว่าจะเป็นข้อสรุปเดียวกับพี่น้องประชาชนส่วนใหญ่ คือมันไม่มีความจำเป็นต้องสร้าง เพราะพื้นที่นั้นไม่ได้มีปัญหาเรื่องการจัดการน้ำ การจัดลำดับความสำคัญของการใช้งบประมาณเป็นเรื่องสำคัญ ยังมีอีกหลายพื้นที่จริงๆ ที่ควรไปทำ เงิน 650 ล้านบาทนี้เอาไปสร้างที่อื่นได้เยอะแยะเต็มไปหมด โดยเฉพาะในภาคอีสาน เราเห็นการใช้งบประมาณที่ไม่ได้จัดลำดับความสำคัญแบบนี้ เราก็เลยรู้สึกว่าเสียดายงบประมาณที่สูญเสียตรงนี้ไป”
นายธนาธรกล่าวทิ้งท้ายถึงกรณีดังกล่าวว่า สิ่งที่ทำให้รัฐบาลมาฟังเสียงชาวบ้านมากขึ้น มาจากทั้งความเคลื่อนไหวและกระแสสังคมจากทั้งประชาชน นักศึกษา สื่อมวลชน นักวิชาการ ที่ร่วมกันเกาะติดปัญหานี้มาตลอด ตนขอให้เราช่วยกันจับตาในอีก 60 วันข้างหน้าว่าผลจะออกมาเป็นเช่นไร แต่ส่วนตนนั้นบอกได้เลยว่าถ้าตัดสินตามพื้นฐานข้อมูล ฟังเสียงความต้องการของชาวบ้านและประชาชน กรรมการควรจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนมากว่าโครงการนี้ไม่ควรจะเกิดขึ้น
นายธนาธรยังได้กล่าวถึงกรณีงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยในส่วนราชการในพระองค์ ซึ่งปี 2564 ตั้งงบประมาณ 8,981 ล้านบาท ซึ่งเป็นเพียงส่วนหนึ่งของงบประมาณโดยตรงที่มีการจัดสรรให้กับสถาบันพระมหากษัตริย์จำนวน 20,309 ล้านบาทเท่านั้น แต่หากเมื่อนำไปรวมกับงบประมาณส่วนที่เป็นรายจ่ายโดยอ้อม 16,919 ล้านบาทแล้ว จะเป็นตัวเลขถึง 37,228 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นกว่า 25% จากงบประมาณรายจ่ายปี 2563
"ในภาวะที่ประเทศเกิดวิกฤติเช่นนี้ พวกเราในฐานะ กมธ. ดูว่าทำอย่างไรให้การใช้งบประมาณที่มีจำกัดเกิดประสิทธิภาพและมีประโยน์ต่อประชาชนสูงสุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 2564 ที่เราต้องฟื้นฟูประเทศจากผลกระทบทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์โควิด แต่สิ่งที่เราเห็นมาตลอดคืองบประมาณที่ถูกใช้ไปโดยไม่ถูกตรวจสอบมากที่สุดก็คืองบประมาณที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งผมต้องย้ำว่าเราพูดด้วยความหวังดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะถ้าการใช้งบประมาณส่วนนี้เป็นไปโดยไม่ผ่านการตรวจสอบ มีแต่ความไม่โปร่งใส ก็รังแต่จะทำให้เกิดความสงสัยและการตั้งคำถามในหมู่ประชาชน ซึ่งอาจส่งผลต่อพระเกียรติยศของสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วย"
ไม่มีใครกล้าพูดยกเว้น"ทอน"
ประธานคณะก้าวหน้ากล่าวว่า สิ่งที่เรียกร้องคือการทำให้งบประมาณของส่วนราชการในพระองค์และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์กลับเข้ามาอยู่ในการพิจารณางบประมาณตามปกติ เหมือนกับหน่วยรับงบประมาณอื่นๆ ทั่วไป ที่จะทำให้ กมธ.ยืนยันกับประชาชนได้ว่างบประมาณส่วนนี้ถูกใช้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ
"แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือไม่มีใครในกรรมาธิการกล้าพูดถึงงบประมาณตรงนี้ ปกติเมื่อตั้งคำถามเสร็จ จะมีการบันทึกคำถามทุกคำถาม รวมทั้งการขอข้อมูลโดยไว้ แต่กรณีผมที่ได้ขอข้อมูลงบประมาณส่วนราชการในพระองค์ไป เมื่อไปดูในระบบฐานข้อมูลกลับไม่พบว่ามีการบันทึกการขอเอกสารในส่วนนี้ไว้ เมื่อถามกับสำนักงบประมาณว่าเหตุใดเอกสารที่ขอจึงไม่อยู่ในระบบเอกสาร ก็ได้คำตอบกลับมาว่าเดี๋ยวจะขอให้ แต่ขอว่าไม่ลงในระบบได้หรือไม่"
เขายังกล่าวว่า ตามปกติก่อนจบกระบวนการพิจารณางบประมาณในส่วนใดก็ตาม จะมีรายงานว่า กมธ.คนใดตั้งข้อสังเกตอะไรไว้บ้าง เพื่อให้ปรับปรุงการจัดทำงบประมาณในปีต่อไป ซึ่งตนได้เขียนข้อสังเกตไปว่า ขอให้ปีงบประมาณหน้าส่วนราชการในพระองค์ได้มาชี้แจงในกระบวนการปกติ ให้เหมือนหน่วยรับงบประมาณอื่นๆ ด้วย ซึ่งในปีนี้ผู้มาชี้แจงก็คือสำนักงบประมาณ ซึ่งมาชี้แจงแทนเพียงว่า ส่วนราชการในพระองค์ในปี 2564 ตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีไว้ 8,980 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งตนพยายามที่จะบอกว่านี่คือกระบวนการที่ไม่เหมาะสม
"ถ้าอยากรักษาพระเกียรติของสถาบันพระมหากษัตริย์ไว้ วิธีเดียวคือทำให้ถูกต้อง เข้าสู่กระบวนการปกติ ชี้แจงงบประมาณให้ กมธ.รับทราบ เปิดเผยข้อมูลเหมือนที่หน่วยงานปกติทำกัน ซึ่งก็หวังว่าปีหน้าส่วนราชการในพระองค์จะฟังและนำความคิดเห็นของผมและไปประยุกต์ใช้บ้าง"
นายธนาธรกล่าวว่า กลไกใดก็ตามที่่ไม่มีการสมดุลทางอำนาจ ไม่มีการตรวจสอบ อาจมีคนที่ไม่หวังดีแอบอ้างชื่อสถาบันพระมหากษัตริย์แอบอ้างแล้วเอางบประมาณส่วนนี้ไปใช้เพื่อผลประโยชน์ของตนเอง และอาจจะนำไปสู่การทุจริตได้ เมื่อไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุล งบประมาณส่วนนี้จึงเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล โดยไม่มีใครกล้าตั้งคำถาม
4 ปีเพิ่มขึ้น 52%
เขายกตัวอย่างเช่นงบประมาณที่เกี่ยวกับการซ่อมบำรุงเครื่องบินและเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง 38 ลำ ที่เป็นส่วนงบประมาณของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในปีงบประมาณ 2564 มีการเสนอค่าใช้จ่ายมาทั้งหมด 1,969 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2563 ที่ 1,575 ล้านบาท, ปี 2562 ที่ 1,463 ล้านบาท และปี 2561 ที่ 1,295 ล้านบาท จะเห็นได้ว่างบประมาณตัวนี้เพิ่มขึ้นถึง 52% ภายในระยะเวลาเพียง 4 ปีงบประมาณเท่านั้น หรือเพิ่มขึ้นปีละ 13% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นเร็วกว่าอัตราเงินเฟ้อ เร็วกว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของบประมาณแผ่นดิน และเร็วกว่าอัตราการเติบโตของจีดีพี เสียอีก
"ผมได้ถามสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีว่าเหตุใดงบประมาณส่วนนี้จึงมีอัตราการเพิ่มขึ้นที่รวดเร็วเช่นนี้ จำเป็นต้องใช้งบประมาณเยอะขนาดนี้เลยหรือ คำตอบที่ผมได้รับคือปีหน้าจะพยายามให้ไม่เพิ่มขึ้นสูงเช่นนี้"
นายธนาธรกล่าวว่า นี่คือกลไกของการตรวจสอบถ่วงดุล การตั้งงบประมาณที่เกี่ยวกับเครื่องบินและเฮลิคอปเตอร์พระมหากษัตริย์คงไม่ได้มาตั้งเอง หน่วยงานที่ใช้เป็นคนตั้งขึ้นมา ซึ่งการเพิ่มปีละ 13% ภายใน 4 ปีเพิ่มขึ้น 52% นี่เป็นเรื่องใหญ่มาก และไม่ได้มีแค่ส่วนราชการในพระองค์ ไม่ใช่มีแค่งบเกี่ยวกับเครื่องบินหรือเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง แต่มันยังมีงบประมาณอื่นๆ อีกเยอะแยะไปหมดที่อ้างใช้ในนามสถาบันพระมหากษัตริย์ นี่เป็นเรื่องที่อันตรายมาก เพราะพี่น้องประชาชนหลายคนสงสัยว่าทำไมงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ถึงเยอะขนาดนี้
"เรื่องนี้เป็นเรื่องของหน่วยงานราชการ เป็นเรื่องของฝ่ายบริหารที่ตั้งขึ้นมาเอง แล้วก็มีการแอบอ้างชื่อไปใช้ สิ่งที่เราต้องกังวลในฐานะประชาชนคนไทย ก็คืองบประมาณที่ถูกใช้ไปในนามสถาบันพระมหากษัตริย์ ถ้ามีการทุจริตคอร์รัปชัน ถ้ามันมีการใช้จ่าย จัดซื้อจัดจ้างที่แพงเกินจริงขึ้น จะส่งผลกระทบถึงพระเกียรติของสถาบันพระมหากษัตริย์ ถ้าเราอยากจะปกป้องพระเกียรติจริงๆ เรื่องพวกนี้ต้องเปิดให้ตัวแทนของประชาชนตั้งคำถามได้ ต้องเปิดให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคำถามได้ เหมือนกับหน่วยงานอื่นทั่วไป จะเป็นผลดีกับทุกฝ่าย ประชาชนจะได้ประโยน์ สถาบันก็จะไม่มีคนมาแอบอ้างชื่อสถาบันไปใช้ในทางที่อาจจะทำให้เสื่อมเสียได้" นายธนาธรกล่าว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |