ถ้า ส.ว.เห็นว่าแนวทางแก้ไข รธน.ทำแล้วประชาชนได้ประโยชน์ เอาประโยชน์ของประเทศชาติ ประชาชนเป็นที่ตั้ง ก็จะไม่มีปัญหาที่จะไม่ให้ความร่วมมือ แต่ถ้าเราเอาการเมืองนำหน้า ไปถกเถียงกันแต่เรื่องอำนาจของ ส.ว. แบบนี้ ส.ว.ก็มีสิทธิ์ที่จะโต้แย้ง เมื่อโต้แย้งก็จะเกิดการปะทะกันขึ้นอีก มันก็หาจุดลงตัวไม่ได้
นักการเมืองต้องยอมรับผลกระทบ
ประโยชน์ทางการเมืองของตัวเอง
ถึงตอนนี้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อนำไปสู่การยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้นตามลำดับ หลังพรรคร่วมรัฐบาลยื่นญัตติแก้ไข รธน.มาตรา 256 ต่อประธานรัฐสภาไปแล้วเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา และดูตามปฏิทินการเมือง ที่ประชุมร่วมรัฐสภาจะประชุมเพื่อพิจารณาญัตติการแก้ไข รธน.วาระแรก ในช่วงวันที่ 23-24 กันยายนนี้ ขณะเดียวกันสัปดาห์หน้าที่จะถึง ที่ประชุมสภาก็จะพิจารณาผลการศึกษาเรื่องการแก้ไข รธน.ของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ที่มีพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นประธาน กมธ.ฯ หลังส่งรายงานสรุปผลต่อประธานสภาไปแล้วเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาเช่นกัน
พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฯ สภาผู้แทนราษฎร มองเส้นทางการแก้ไข รธน.และการเกิดขึ้นของสมาชิกสภาร่าง รธน. (ส.ส.ร.) ต่อจากนี้ โดยเริ่มต้นด้วยการพูดถึงรายงานของ กมธ.ที่จะเข้าสภาสัปดาห์หน้านี้ว่า กมธ.มีการศึกษาในทุกหมวดทุกมาตราโดยศึกษาไล่มาตั้งแต่หมวด 3 เพราะหมวด 1 กับหมวด 2 เราเห็นตรงกันว่าไม่มีประเด็นที่ต้องศึกษา เพราะบทบัญญัติใน รธน.เขียนไว้ดีอยู่แล้ว ไม่มีเหตุให้ต้องเปลี่ยนแปลง จึงเริ่มจากหมวด 3 ที่เป็นเรื่องสิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทย ไล่มาจนถึงหมวดสุดท้ายที่เป็นเรื่องบทเฉพาะกาล ซึ่ง กมธ.ศึกษาตามกรอบและหลักการทางวิชาการ โดยเอาประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นสำคัญ ไม่ได้เอาประโยชน์จากการเมืองนำหน้า
...ที่ผ่านมาการทำงานของ กมธ.มีการตั้งคณะอนุกรรมาธิการศึกษาวิเคราะห์บทบัญญัติรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ และกฎหมายอื่นๆ เพื่อศึกษาวิเคราะห์ว่าควรต้องมีการแก้ไขปรับปรุงอย่างไร โดยมีนายไพบูลย์ นิติตะวัน เป็นประธานคณะอนุ กมธ.และคณะอนุกรรมาธิการประชาสัมพันธ์และรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เพื่อรับฟังความคิดเห็นประชาชนแต่ละภาคส่วน โดยเฉพาะนิสิต นักศึกษา คนรุ่นใหม่ ที่มีนายวัฒนา เมืองสุขเป็นประธาน ก็มีการไปรับฟังความคิดเห็นในรูปแบบต่างๆ เช่น การออกไปรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน นักศึกษาตามสถาบันการอุดมศึกษาต่างๆ เป็นต้น ซึ่งหลังจาก กมธ.มีการศึกษากันมาหลายเดือน ก็เห็นหลายแง่มุมใน รธน.ฉบับปัจจุบันที่เห็นว่าควรต้องมีการปรับปรุงแก้ไข โดยมีการจัดทำรายงานผลการศึกษาที่จะทำให้เห็นแง่มุมอย่างเป็นกลาง เป็นเรื่องของเหตุและผลทางวิชาการ
-ในรายงานดังกล่าว กมธ.มีการสรุปหรือชี้ประเด็นออกมาหรือไม่ว่า รธน.ฉบับปี 2560 มีปัญหา มีข้อดี-ข้อเสีย จุดอ่อน-จุดแข็ง ตรงไหน?
เราไม่ได้มองเป็นภาพใหญ่แบบนั้น แต่ กมธ.เราไล่พิจารณาไปทีละหมวด เช่นหมวด 3 เรื่องสิทธิเสรีภาพปวงชนชาวไทย เห็นว่าหลายเรื่องในหมวดดังกล่าวควรมีการเขียนให้ดีขึ้นหรือสมบูรณ์มากกว่านี้ เช่น สิทธิเสรีภาพของประชาชนในเรื่องกระบวนการยุติธรรม เรื่องหลักประกันความถูกต้องในการได้รับการปฏิบัติตามกระบวนการยุติธรรมจากภาครัฐ ประเด็นเหล่านี้ กมธ.ก็เห็นว่าควรมีการปรับปรุงให้ดีขึ้น หรือเรื่องเกี่ยวกับ หน้าที่และแนวนโยบายแห่งรัฐ เราก็คิดว่าน่าจะมีประเด็นเกี่ยวกับเรื่องที่รัฐ ควรต้องจัดหาที่ทำกินให้แก่ประชาชนอย่างเพียงพอ เพราะนับวันตอนนี้ที่ดินทำกินก็หายไปเรื่อยๆ แต่ประชาชนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เราจึงมองว่ารัฐควรต้องมีการจัดหาที่ทำกิน
อีกเรื่องที่เป็นข้อเสนอแนะที่เป็นเรื่องซึ่งยังไม่เคยมีในรัฐธรรมนูญฉบับไหน ก็คือที่ กมธ.เสนอในเรื่องการให้มีการ ปฏิรูประบบกฎหมายใหม่ เพราะระบบกฎหมายที่เราใช้กันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันไปเน้นที่ "การควบคุม" คือไม่ว่าอะไรก็แล้วแต่ ต้องมีการไปขออนุญาตกันก่อน แม้แต่การทำมาหากิน การทำธุรกิจค้าขายอาหาร ก็ต้องขออนุญาต จนเกิดความล่าช้า เป็นช่องทางให้เกิดการทุจริต เรียกรับเงินผลประโยชน์ โดยที่บางเรื่องไม่ได้มีผลกระทบกับสาธารณประโยชน์อะไร ไม่ได้กระทบกับความมั่นคงของรัฐ จึงควรต้องมีการผ่อนคลายเพื่อทำให้การทำมาหากินของประชาชนคล่องตัวมากขึ้น
กมธ.จึงเสนอว่ารัฐควรปรับรูปแบบของกฎหมายเป็นลักษณะการกำกับดูแลแทน คือไปดูว่าอะไรที่เกี่ยวกับการทำมาหากินของประชาชน ที่ไม่ได้กระทบกับประโยชน์สาธารณะหรือความมั่นคงของประเทศ ก็ให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องทำคู่มือหรือประกาศออกมาว่า ต้องให้ประชาชนที่จะมาทำมาหากินดังกล่าวต้องทำอะไรบ้าง ประชาชนก็ทำตามนั้น แล้วรัฐก็มีหน้าที่แค่ไปตรวจว่ามีการทำตามที่ประกาศหรือไม่ หากพบว่าทำตามก็จบก็ออกใบอนุญาตให้ แต่หากพบว่ายังมีข้อผิดพลาดก็เตือนแล้วบอกให้แก้ไข หากทำแบบนี้จะทำให้การประกอบอาชีพของประชาชนเร็วขึ้น เพราะไม่ต้องรอการอนุญาตและตัดขั้นตอนที่ทำให้เกิดการทุจริต ก็เป็นข้อเสนอใหม่ที่คิดว่าจะเป็นประโยชน์กับประชาชน ซึ่งที่ผ่านมาการศึกษาเรื่อง รธน.จะไม่ลงรายละเอียดเรื่องแบบนี้ ก็เป็นหนึ่งในข้อเสนอของ กมธ.ที่ทำออกมา
เมื่อเราถามในรายประเด็นถึงผลการศึกษาของ กมธ.ชุดดังกล่าว เพื่อต้องการทราบว่ามีข้อสรุปและความเห็นอย่างไร เช่นเรื่อง ระบบการเลือกตั้ง ส.ส. เรื่องนี้ พีระพันธุ์ เปิดเผยว่า เรื่องระบบการเลือกตั้ง ส.ส.นั้น กมธ.เสียงส่วนใหญ่เห็นว่าระบบการเลือกตั้ง ส.ส.ควรให้กลับไปใช้ระบบการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งโดยใช้บัตรลงคะแนน 2 ใบ แต่ก็ไม่ได้บอกว่า กมธ.เสียงข้างน้อยไม่ถูกต้อง ในรายงานเราก็นำเสนอความเห็นทั้งสองฝ่าย
...ส่วนเรื่อง องค์กรอิสระ ปัญหาที่เราเห็นในองค์กรอิสระและเราเน้น ก็คือเรื่อง การใช้อำนาจ ที่เราคิดว่า ในรูปแบบการปกครองประชาธิปไตยของเราที่แบ่งอำนาจออกเป็น 3 อำนาจ (บริหาร-นิติบัญญัติ-ตุลาการ) และให้มีองค์กรอิสระที่ รธน.ให้มีอำนาจในระดับหนึ่ง แต่สิ่งที่ขาดหายไปคือการตรวจสอบการใช้อำนาจ รธน. จึงควรต้องวางหลักเกณฑ์การตรวจสอบการใช้อำนาจ โดยเฉพาะเรื่อง การใช้ดุลยพินิจ ของผู้ทำหน้าที่ในองค์กรอิสระเพื่อให้มีการตรวจสอบได้
...ส่วนเรื่อง กระบวนการยุติธรรม กมธ.ก็มีความเห็นในเรื่องกระบวนการยุติธรรมแบ่งออกเป็น 2 ส่วน โดยส่วนแรกคือ กระบวนการจับกุมและสอบสวนฟ้องคดี ส่วนที่สองคือ เรื่องการพิจารณาพิพากษาคดีของศาล เราก็มีความเห็นคล้ายๆ กับองค์กรอิสระว่า การใช้ดุลยพินิจของศาลในการตัดสินคดีสำคัญๆ ต้องถูกตรวจสอบได้ แต่รูปแบบการตรวจสอบและการดำเนินการก็แล้วแต่กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ที่จะไปพิจารณาดำเนินการภายใต้หลักการให้มีการตรวจสอบได้
สำหรับกระบวนการยุติธรรมที่เรียกว่า ต้นน้ำ กลางน้ำ คือตั้งแต่จับกุม สอบสวนดำเนินคดี ฟ้องคดี เราก็เห็นว่าในส่วนของ องค์กรอัยการ แต่เดิมพบว่าในรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้านี้คือ รธน.ปี 2550 องค์กรอัยการเป็นเพียงแค่องค์กรอื่นตาม รธน. คือสถานะยังไม่ได้เป็นองค์กรอิสระร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ใน รธน.ปี 2560 มีการบัญญัติแยกออกมาเลยเป็นองค์กรอิสระ มีหมวดว่าด้วยองค์กรอัยการเองเลยอยู่ในหมวดที่ 13 เราก็มาดูแล้วเห็นว่า การทำหน้าที่ของอัยการก็ทำหน้าที่เกี่ยวโยงกับศาลอาญา ซึ่งศาลอาญาคือศาลยุติธรรมตามรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้นอัยการกับศาลยุติธรรมต้องอยู่ในหลักเกณฑ์ที่ไปด้วยกันได้ โดยเมื่อไปดูหลักเกณฑ์ต่างๆ ของศาลยุติธรรมในรัฐธรรมนูญ จะเห็นว่ามีการบัญญัติเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ของศาลยุติธรรมไว้หลายเรื่อง เช่น เรื่องที่มา อำนาจหน้าที่ การบริหารงาน หลักประกันความยุติธรรมกับประชาชน แต่เมื่อไปดูในส่วนของอัยการกลับบัญญัติไว้แค่มาตราเดียว และเขียนแต่เรื่องของโครงสร้าง ความเป็นอิสระของอัยการ การบริหารงานบุคคล แต่ไม่ได้พูดถึงการปฏิบัติหน้าที่ การใช้อำนาจหน้าที่ กรอบการใช้ดุลยพินิจ การตรวจสอบการใช้ดุลยพินิจ ไม่ได้บัญญัติเรื่องเหล่านี้ไว้
...กมธ.เห็นว่ากรณีคดีที่มีปัญหาและสังคมจับจ้อง ส่วนหนึ่งก็มาจากเงื่อนไขในส่วนที่บอกว่าไม่ได้มีการบัญญัติไว้ใน รธน. และกฎหมายลูกของอัยการเองก็ไม่ได้เขียนไว้ชัดเจน ก็เป็นประเด็นที่กรรมาธิการเห็นว่าในส่วนของ รธน.หมวด 13 ที่เป็นเรื่องอัยการ ควรต้องมีการปรับปรุงให้มีความละเอียด โดยควรต้องมีเรื่องของการตรวจสอบ การใช้อำนาจและการใช้ดุลยพินิจของอัยการ
พีระพันธุ์ กล่าวถึงรายงานสรุปของ กมธ.ต่อไปในประเด็นเรื่อง วุฒิสภา ว่าเรื่องของวุฒิสภาในส่วนของ รธน.ฉบับปัจจุบันไม่ได้มีปัญหาอะไร ก็คือวุฒิสภาก็มาจากการเลือกตั้งธรรมดา ไม่ได้มีอำนาจพิเศษอะไร แต่ประเด็นที่มีปัญหาถกเถียงกันไปอยู่ใน "บทเฉพาะกาล" ที่เป็นประเด็นชั่วคราว คือมีการให้อำนาจพิเศษกับวุฒิสภาชุดแรกตาม รธน.ไว้ 5 ปีแรก จากนั้นก็จะหมดไป ซึ่งก็มี กมธ.บางส่วนเห็นว่าแม้จะเป็นบทเฉพาะกาลที่ให้มี ส.ว.ลักษณะแบบปัจจุบันแค่ชั่วคราว แต่ก็ควรเอา ส.ว.ออกไปเลย แต่ กมธ.อีกส่วนหนึ่งก็เห็นว่าไม่ต้องเอาออกไป เพราะครบ 5 ปีก็หมดวาระลงแล้ว ความเห็นที่ต่างกันดังกล่าวในเรื่อง ส.ว.ก็จะอยู่ในรายงานของ กมธ.
อย่างไรก็ตามก็มีการตั้งเป็นประเด็นศึกษาไว้ว่า สำหรับประเทศไทยควรใช้ระบบสภาเดี่ยว คือมีสภาผู้แทนราษฎรแค่สภาเดียว หรือให้เป็นระบบสภาคู่แบบปัจจุบัน คือมีทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา แต่ในรายงาน กมธ.ไม่ได้ระบุว่าต้องเป็นรูปแบบไหน เพียงแต่มีการตั้งข้อสังเกต ส่วนที่มาที่ให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้งถือว่าถูกต้องแล้ว
พีระพันธุ์ กล่าวถึงประเด็นสำคัญในรายงานของ กมธ. คือผลการศึกษาในหมวด 15 ที่เป็นหมวดว่าด้วยเรื่องการแก้ไข รธน. โดยกล่าวว่ากระบวนการที่จะนำไปสู่การแก้ไข รธน.หรือไม่อย่างไร ก็ต้องนำไปสู่ขั้นตอนกระบวนการตามมาตรา 256 ซึ่งเมื่อไปดูขั้นตอนการเสนอแก้ไข รธน.แต่ละขั้นตอน กมธ.ก็เห็นว่ามีการบัญญัติขั้นตอนไว้เยอะ และมันช้ากว่าจะดำเนินการได้ เพราะฉะนั้นควรมีการแก้ไขมาตรา 256 เพื่อทำให้การปรับปรุงแก้ไข รธน.ทำได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น ก็มี กมธ.เห็นว่าควรแก้ไขมาตรา 256 แต่ก็มีกรรมาธิการด้วยกันเองอีกส่วนหนึ่งก็เห็นว่า รัฐธรรมนูญควรแก้ไขยากแบบที่เขียนไว้ในมาตรา 256 ไม่ใช่ให้แก้ไขกันได้ง่ายๆ เหมือนกฎหมายทั่วไป หลักเกณฑ์หลักการต่างๆ ก็ดีอยู่แล้ว ไม่ควรต้องแก้ไขอะไร แต่ความเห็นทั้งสองด้านดังกล่าวพบว่ากรรมาธิการที่เห็นว่าควรมีการแก้ไขมาตรา 256 มากกว่าจำนวนที่เห็นว่าไม่ควรแก้ไข ซึ่ง กมธ.ฯ กลุ่มที่เห็นว่าควรแก้ไข รธน.มาตรา 256 ดังกล่าว แม้จะมีจำนวนมากกว่าก็จริง แต่เหตุผลก็ไม่ตรงกันเองอีก เพราะเหตุผลและประเด็นที่เห็นว่าควรแก้ไขก็แตกต่างกัน แต่ความเห็นรวมก็คือควรให้มีการแก้ไขมาตรา 256 เพียงแต่รายละเอียดแตกต่างกัน
อย่างไรก็ตาม การที่กรรมาธิการเสียงส่วนใหญ่เห็นว่าควรแก้ไขมาตรา 256 ก็มีการคุยกันอีกว่าหากจะแก้ไข รธน. ถ้าเป็นการแก้ไขรายมาตราซึ่ง กมธ.ได้ศึกษา รธน.ฉบับปัจจุบันตั้งแต่หมวด 3 จนถึงหมวด 14 ก่อนจะไปถึงหมวด 15 ว่าด้วยการแก้ไข รธน. กมธ.ก็มีความเห็นให้แก้ไขเพิ่มเติม รธน.ในมาตราต่างๆ ที่อยู่ในแต่ละหมวดเยอะแยะไปหมด โดยเป็นการเสนอที่ไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์ทางการเมือง แต่เสนอเพื่อประโยชน์ประชาชนจริงๆ สำหรับกรรมาธิการก็เห็นว่าหากจะแก้ รธน.ก็ควรแก้หมด แต่ก็มี กมธ.อีกจำนวนหนึ่งเห็นว่าหากจะต้องแก้ไข รธน.ตามที่ กมธ.ศึกษาและเสนอมา ตั้งแต่หมวด 3 จนถึงหมวดสุดท้ายที่เสนอไว้มากมาย มันเหมือนกับการเขียน รธน.ขึ้นมาใหม่ ดังนั้นถ้าจะต้องมานั่งไล่แก้ไข รธน.โดยเสนอแก้เป็นรายมาตรา ก็ไปยกร่าง รธน.มาใหม่เลยดีกว่าหรือไม่ แทนที่จะต้องไปแก้ไข รธน.รายมาตรา รายหมวด โดยเอาฐานข้อมูล ความคิดเห็นของ กมธ.ที่อยู่ในรายงานไปดำเนินการ ซึ่งการยกร่าง รธน.ใหม่เลยก็มีวิธีการที่เคยปฏิบัติมา คือการตั้ง สภาร่างรัฐธรรมนูญ กมธ.จึงเห็นว่าก็ให้เรื่องนี้เป็นข้อเสนอแนะเพิ่มเติมของกรรมาธิการ
ต้องเข้าใจว่าการที่พรรคร่วมรัฐบาลและพรรคร่วมฝ่ายค้านยื่นญัตติขอแก้ไข รธน.ทั้งหมด ก็เป็นผลพวงสืบเนื่องจากการทำงานของคณะกรรมาธิการชุดนี้ เพราะหลังจากที่ กมธ.แถลงต่อสื่อมวลชนที่รัฐสภา ว่ากรรมาธิการมีความเห็นเป็นจำนวนมากว่าให้แก้ไขมาตรา 256 และพบว่าหลังจากนั้นก็เริ่มมีความเคลื่อนไหวจากพรรคการเมืองต่างๆ ก็ต้องถือว่าที่พรรคการเมืองไปยื่นญัตติแก้ไข รธน. โดยยื่นแก้ไขมาตรา 256 ที่เปิดช่องให้มีสภาร่าง รธน. ก็เชื่อว่าในอนาคตเมื่อมีสภาร่าง รธน.ตามร่างแก้ไข รธน.ของทั้งพรรคร่วมรัฐบาลและฝ่ายค้าน สุดท้ายแล้วคนที่จะเข้ามาทำหน้าที่ยกร่าง รธน.ฉบับใหม่ก็น่าจะนำผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการไปเป็นฐานข้อมูลในการยกร่าง รธน.ฉบับใหม่
-ทำยังไงให้กระบวนการยกร่าง รธน.ฉบับใหม่ที่จะใช้เวลาในขั้นตอนต่างๆ ปีกว่า เป็นกระบวนการที่ประชาชนจากทุกฝ่ายเอาด้วย ให้การสนับสนุน?
ผมคิดว่าต้องทำให้ประชาชนเห็นและรู้สึกจากใจ จากตัวประชาชนว่าทำเพื่อเขา ไม่ใช่มาทำเรื่องนี้เพื่อประโยชน์ทางการเมืองของพรรคการเมืองและนักการเมือง การจะทำตรงนี้ได้คิดว่าคณะที่จะเข้าไปทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะต้องเน้นและทำให้ประชาชนมั่นใจ เข้าใจถึงเจตนารมณ์และเป้าหมายของคณะที่จะเข้ามาจริงๆ ว่าทำเพื่อประชาชน ก็คือว่าต้องพยายามหลีกเลี่ยงการพยายามพูดถึงประเด็นทางการเมือง
ขณะเดียวกันคนที่จะเข้ามาดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือจะเป็นกลุ่มบุคคลรูปแบบใดก็แล้วแต่ ก็ต้องร่วมมือร่วมใจกันเป็นหนึ่งเดียว คือไม่เอาประโยชน์การเมืองเป็นที่ตั้ง แต่ยึดประโยชน์ของประชาชนของบ้านเมืองเป็นที่ตั้ง ถ้าทำโดยใจตรงกันมาแบบเดียวกันนี้ ก็จะทำให้การทำงานของ ส.ส.ร.ราบรื่น ไม่มีการทะเลาะแตกแยกกัน ประชาชนก็จะรู้สึกมั่นใจเชื่อใจมากขึ้น ถ้าเดินไปแบบนี้ก็จะทำให้ประชาชนรู้สึกเชื่อถือและมั่นใจจะเกิดขึ้นมาเอง
-ต้องทำให้ประชาชนรู้สึกว่าประชาชนเป็นเจ้าของ รธน.?
อันนี้เป็นอีกประเด็น คือวันนี้ประชาชนจำนวนมากรู้สึกว่าไม่ได้เกี่ยวข้องหรือเป็นเจ้าของอะไรรัฐธรรมนูญเลย เพราะเขารู้สึกว่าเรื่องรัฐธรรมนูญ เวลาหยิบยกมาพูดกันจะเป็นเรื่องของการเมืองทุกที ประเด็นหรือประโยชน์ที่หยิบมาพูดกันก็จะเป็นประเด็นหรือประโยชน์ทางการเมือง ซึ่งประชาชนจำนวนมากเขาบอกว่าเขาไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรด้วยเลย ต้องยอมรับความเป็นจริงว่าประชาชนจำนวนมากไม่ได้นำรัฐธรรมนูญมาอ่าน มาศึกษาว่ามันได้ประโยชน์อะไรกับเขา ทั้งที่รัฐธรรมนูญคือกฎหมายสูงสุดของประเทศในการกำกับดูแล วางรากฐาน วางกลไกต่างๆ ของประเทศ รวมถึงสิ่งที่เกิดขึ้นประจำวันอย่างเรื่อง กระบวนการยุติธรรม ที่กระทบกับอะไรหลายอย่าง ทั้งหมดคือสิ่งที่จะปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญ ถ้าหากว่าคนที่จะเข้าไปยกร่าง รธน.หรือคนที่เกี่ยวข้องกับ รธน.พยายามประชาสัมพันธ์หรือชี้ให้ประชาชนเห็นว่า รธน.ไม่ได้มีแต่เรื่องของการเมือง เพราะ รธน.ที่เกี่ยวกับการเมืองมีแค่ไม่กี่หมวดเอง แต่หมวดที่เหลือไม่ได้เป็นเรื่องการเมือง แต่เป็นเรื่องของประชาชน แล้วให้ประชาชนช่วยกันคิด ช่วยกันเสนอความเห็นมาว่าอยากได้หลักประกันเรื่องอะไรในชีวิต หากเราทำให้ประชาชนเขารู้สึกแบบนี้ แล้วมาช่วยเสนอแนะการร่าง รธน.ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการดำเนินชีวิต หรือความเชื่อมั่นเกี่ยวกับระบบกระบวนการยุติธรรม การใช้อำนาจรัฐ หากทุกฝ่ายช่วยกันทำตรงนี้ให้เกิดขึ้น ประชาชนก็จะรู้สึกว่า รธน.นี้เป็นเรื่องของพวกเขา เมื่อเขารู้สึกว่า รธน.เป็นเรื่องของเขา ประชาชนก็จะรู้สึกหวงแหนและรู้สึกว่าเกี่ยวข้องด้วยกับเรื่อง รธน.มากกว่าปัจจุบัน แต่ที่ผ่านมาเรากลับทำให้รู้สึกว่า รธน.ไม่ใช่เรื่องของประชาชนแต่เป็นเรื่องของการเมือง
-แต่ก็มีบางกลุ่มที่เคลื่อนไหวทางการเมือง เช่น กลุ่มไทยภักดี ที่ประกาศคัดค้านการแก้ไข รธน. หรือบางฝ่ายเห็นว่า รธน.ฉบับนี้ผ่านประชามติมา เลยไม่เห็นด้วยที่จะยกร่าง รธน.ฉบับใหม่?
รธน.ฉบับปี 2560 ไม่ใช่ว่าไม่ดี แต่ถามว่าน่าจะทำให้ดีกว่านี้ได้ไหม มันก็มีช่องทางทำให้ดีขึ้น เพราะฉะนั้นถ้าเราไม่เอาประเด็นการเมืองมานำหน้า แต่เราเอาประเด็นที่เป็นประโยชน์ของประชาชน เช่น การแก้ไขเปลี่ยนระบบกฎหมายเกี่ยวกับการทำมาหากินของประชาชน จากระบบควบคุมที่ยกตัวอย่างข้างต้นมาเป็นระบบกำกับดูแล ถ้าประเด็นแบบนี้ไม่มีใครคัดค้านแน่ แต่เมื่อใดที่เป็นประเด็นด้านการเมืองก็จะมีความเห็นแตกต่างกัน ฝ่ายหนึ่งบอกว่าไม่ต้องแก้ อีกฝ่ายบอกว่าต้องแก้ ก็เกิดปัญหาปะทะกันแบบนี้ ประชาชนก็จะเบื่อ แต่หากทำให้ รธน.เป็นเรื่องของประโยชน์ประชาชน ผมคิดว่าการแก้หรือไม่แก้ รธน. เราพูดกันด้วยเหตุผลได้ แล้วประชาชนก็จะชี้เองว่าเขาอยากให้แก้หรือไม่อยากให้แก้ไข รธน. แต่ถ้าเอาเรื่องประโยชน์การเมืองมานำหน้าแบบนี้ก็หาข้อยุติไม่ได้
เมื่อถามถึงกรอบเวลาในการดำเนินการเรื่องรัฐธรรมนูญตั้งแต่นี้ไปจนถึงการเลือก ส.ส.ร. และการร่าง รธน.ฉบับใหม่จนถึงขั้นอาจต้องมีการทำประชามติ กรอบเวลาควรนานแค่ไหน เพราะบางฝ่ายมองว่าปฏิทินที่วางกันไว้จะใช้เวลาร่วมปีครึ่งนานเกินไป พีระพันธุ์ ให้ความเห็นว่า เวลาที่เหมาะก็คือทำให้เสร็จเร็วที่สุด การทำงานของ ส.ส.ร.ก็เช่นกัน หากไปกำหนดกรอบ ถ้าให้เวลาสั้นเกินไปหรือยาวเกินไปมันไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย แต่ควรดูเรื่องของกรอบเวลาในการศึกษา ภารกิจที่ต้องทำ ซึ่งหากจะให้ไปยกร่าง รธน.ฉบับใหม่มาเลย และต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วม ดังนั้นก็ต้องให้เวลาการทำงานพอสมควร ซึ่งดูแล้วระยะเวลาก็คงไม่น้อยกว่า 10 เดือนหรือหนึ่งปี
-คาดหวังกับ ส.ว.แค่ไหนว่าจะเอาด้วยกับการแก้ไข รธน.รอบนี้ เพราะการแก้ไข รธน.มาตรา 256 ต้องใช้เสียง ส.ว.โหวตในวาระแรกและวาระสาม 84 เสียงถึงจะสำเร็จ?
ผมมองแบบที่ผมมอง คือถ้า ส.ว.เห็นว่าแนวทางแก้ไข รธน.ทำแล้วประชาชนได้ประโยชน์ เอาประโยชน์ของประเทศชาติประชาชนเป็นที่ตั้ง ก็จะไม่มีปัญหาที่จะไม่ให้ความร่วมมือ แต่ถ้าเราเอาการเมืองนำหน้า ไปถกเถียงกันแต่เรื่องอำนาจของ ส.ว. แบบนี้ ส.ว.ก็มีสิทธิ์ที่จะโต้แย้ง เมื่อเขาโต้แย้งก็จะเกิดการปะทะกันขึ้นอีก มันก็หาจุดลงตัวไม่ได้ แต่หากสามารถหาจุดร่วมที่เป็นประโยชน์ของประเทศชาติมานำหน้า ไม่ว่าจะเป็น ส.ว.หรือกลุ่มใดมาถกเถียงกันบนเหตุผลของประโยชน์ส่วนรวม ก็จะหาข้อยุติและสามารถเดินหน้าไปได้
-การร่าง รธน.ที่จะเกิดขึ้น นักการเมืองและ ส.ว.ก็ต้องยอมเสียบ้าง เช่น อำนาจ สถานภาพในการร่าง รธน.ที่จะเกิดขึ้น?
หากเราไม่ได้คิดถึงตัวเรา ไม่ได้คิดถึงพรรคการเมืองเรา ไม่ได้คิดถึงแต่ประเด็นการเมือง แต่อะไรที่ดูแล้วเห็นว่าถูกต้อง แม้มันจะกระทบสิทธิ กระทบกับสถานะทางการเมือง กระทบกับประโยชน์ทางการเมืองก็ต้องยอม เพราะเมื่อเราเข้ามาทำงานเพื่อส่วนรวม ประชาชน ไม่ได้มาทำเพื่อคงสถานะหรืออำนาจของตัวเองไว้ หากทุกฝ่ายยึดหลักประโยชน์ประเทศชาติและประชาชนจะไม่มีปัญหาทั้งนั้น
ถามปิดท้ายว่ากระบวนการให้มีการร่าง รธน.ฉบับใหม่จะนำไปสู่การมีความขัดแย้งรอบใหม่หรือไม่ พีระพันธุ์-ประธาน กมธ.วิสามัญศึกษาแนวทางการแก้ไข รธน.และที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี วิเคราะห์ว่าไม่น่าจะเกิดแบบนั้น ผมพูดบนพื้นฐานหลักการที่ถูกต้องและสิ่งที่มีการเรียกร้อง อย่างผมก็ได้พูดกับ กมธ.ศึกษาแก้ไข รธน.ที่มาจากพรรคฝ่ายค้าน เขาก็พูดเองว่าถ้ามีการดำเนินการไปตามหลักการที่ กมธ.เสนอ หรือตามที่พรรคร่วมฝ่ายค้าน-รัฐบาลเสนอตามร่างแก้ไข รธน.ที่ยื่นไป โดยเฉพาะถ้ามีการให้เกิดการตั้งสภาร่าง รธน.มาร่าง รธน.ฉบับใหม่ ไม่ว่าจะร่างออกมาอย่างไรทุกฝ่ายก็พร้อมยอมรับ เพราะถือว่าออกมาตามกติกาที่ทุกฝ่ายเรียกร้อง เมื่อทุกฝ่ายเรียกร้องออกมาแบบไหนก็ต้องแบบไหน จะมาบอกว่าไม่ถูกใจ แบบนี้ก็ไม่ได้ ถือว่าไม่ถูกต้อง ซึ่งหากฝ่ายค้านยืนยันหลักตรงนี้ก็จะหาข้อยุติในทางสร้างสรรค์กันได้.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |