อยู่ยาม "เฝ้ากรุงเทพฯ" แบบเหงาๆ
เปิดเฟซ พบเรื่อง "จากเมล็ดพันธุ์ผัก สู่ความมั่นคงทางด้านอาหาร" ของมูลนิธิชัยพัฒนา
อ่านจบ สมองยังไม่ทันสั่งการอะไร แต่ใจน้อมกราบไปก่อนแล้ว ด้วยสำนึกสั่ง!
ทุกวันนี้ พืชพันธุ์ผัก เราปลูกขึ้น แต่ไม่มีดอก ไม่มีผล เพราะนายทุนตอนพันธุ์หมดแล้ว ต้องซื้อเมล็ดพันธุ์เขาเท่านั้น จึงจะปลูกมีดอก-มีผล
ด้วยสายพระเนตรยาวไกล และทรงเล็งเห็นปัญหา ต่อจากนี้ พวกเราชาวประชาชนรอดแล้ว
รอดอย่างไร เดี๋ยวจะเอาบทความที่ชัยพัฒนาเผยแพร่มาให้อ่าน เข้าใจว่าอ่านกันบ้างแล้ว เพราะเห็นมีตามโซเชียล
เมื่ออ่าน ทำให้นึกถึงการพิจารณางบ ปี ๖๔ เห็นนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ "เสนอตัดงบ" โครงการพระราชดำริทั้งหมดทิ้ง เช่น "มูลนิธิปิดทองหลังพระ" เป็นต้น
ก็ไม่ว่าอะไรเขาหรอก.....
เพราะเขาแสดงเจตนาที่จะล้มสถาบันกษัตริย์ เปลี่ยนประเทศเป็นระบบประธานาธิบดี ชัดแจ้งอยู่แล้ว
ดังนั้น การตัดงบหลวง เจตนาเขา ต้องการ "ตัดไม้ข่มนาม" หวังอวดให้ขบวนการเห็นว่าเขาเจ๋ง แล้วซูฮก-ยกย่องเขายิ่งขึ้น
เพียงแต่ผมสะท้อนใจ ด้วยเสียดาย......
ตระกูลจึงรุ่งเรืองกิจของธนาธรก็ได้อาศัยแผ่นดินไทยคุ้มโคตร-คุ้มเหง้า อยู่สุขสบาย ทำมาหากินร่ำรวย
แต่สุดท้าย ถ้ามีอันถึงขั้นวิบัติ-ฉิบหาย เพราะผลกรรมเนรคุณแผ่นดิน เหิมเกริมจะเป็นประธานาธิบดี
เช่นนั้น มันก็น่าเสียดายยิ่งนัก!
"โครงการตามพระราชดำริ" นั้น ไม่ใช่เพื่อพระองค์ แต่เพื่อประชาชนโดยตรง
ถ้าใครไปตามต่างจังหวัด แดนทุรกันดาร ความช่วยเหลือภาครัฐไปไม่ถึง จะเห็นโครงการตามพระราชดำรินี่แหละไปถึง และมีอยู่ทั่ว
ผมไปน่าน ห่างไกลออกไปตามยอดเขา-ยอดดอย ก็เห็นแต่มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงบ้าง มูลนิธิปิดทองหลังพระบ้าง เป็นที่พึ่งชาวบ้าน
อย่าว่าแต่ในบ้านเราเลย บางประเทศยังมาขอให้มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง, ปิดทองหลังพระ ไปช่วยเรื่องน้ำ เรื่องอาชีพ เรื่องเกษตร
เช่น เมือง "เยนันชอง" ประเทศพม่า อยู่ใกล้แม่น้ำอิรวดีแท้ๆ แต่ ๓๖๕ วัน มีฝนตกไม่ถึง ๑๐ วัน
เยนันชอง มีน้ำมัน สมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ อังกฤษได้สัมปทานขุด ญี่ปุ่น-จีน เข้าไปแย่งกัน แต่ไม่ทราบเพราะอะไร ทุกวันนี้ เหลือแต่ซากทิ้งร้าง
มีน้ำมัน แต่ไม่มีน้ำกิน-น้ำใช้ ผู้คนยากจนที่สุด ไม่มีแหล่งน้ำใดๆ เยนันชองเหมือนทะเลทราย
ชาวบ้านต้อง "ขุดน้ำกิน" นั่งขุดทรายกลางแดดเปรี้ยง รอครึ่ง-ค่อนวัน จะได้น้ำซักกระป๋อง!
งูชุม...ปีๆ ชาวบ้านตายเพราะงูกัดมากที่สุด!
พม่าขอให้มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง มูลนิธิปิดทองหลังพระไปช่วยสอนชาวบ้านจัดทำแหล่งน้ำ ช่วยแนะแนวอาชีพ ช่วยหาวิธีป้องกันงูกัดตาย
ผมเคยไป นั่งรถจากมัณฑะเลย์ไปตามถนนไม่ต่างทางเกวียนอีก ๖-๗ ชั่วโมง จนเยี่ยวเป็นเลือดกว่าจะถึง
สภาพชีวิตผู้คนและบ้านเมือง ย้อนไปซัก ๒๐๐-๓๐๐ ปี ประมาณนั้น
ร้อน-แล้ง ชนิดผ่ากะโหลก!
แม่ฟ้าหลวงใช้วิธี "สอนให้ทำ" จะไม่ลงมือทำให้ เพื่อให้พวกเขาเรียนรู้ ขั้นแรกสร้างแหล่งน้ำ ให้คนและสัตว์มีน้ำกิน-น้ำใช้ก่อน
สอนให้ตั้ง "ธนาคารแพะ" เพาะพันธุ์แล้วให้ชาวบ้านยืมไปเลี้ยง มีรายได้, มีลูก ก็นำส่วนหนึ่งมาคืน เพื่อหมุนเวียนให้ครอบครัวอื่นนำไปสร้างอาชีพบ้าง
สอนให้ปลูกพืชทนแล้ง ใครไปเยนันชอง ต้องไม่พลาดถั่วตัดงาดำ, น้ำมันงา เอางาใส่ครกแล้วให้ควายหมุนโม่ จากเมล็ดงากลายเป็นน้ำมันงาหยดติ๋งๆ
วิธีแก้งูกัด ก็เอาพิษงู-ปราบงู ตั้งธนาคารผลิตเซรุ่ม จำนวนคนถูกงูกัดตายลดลงทันตาเห็น!
งูที่นั่น ชุม-ไม่ชุมก็ไม่รู้ รู้แต่ว่า พอไปเข้าส้วม คำแรกที่เขาบอก "ระวังงูหน่อยนะ"!
เอาละมัง มาถึงเรื่องที่เกริ่นไว้ แต่ค่อนข้างยาว ฉะนั้น ขออนุญาต "เก็บความ" เป็นบางช่วง เพื่อให้พอดีกับพื้นที่นะครับ
"มูลนิธิชัยพัฒนา"
จากเมล็ดพันธุ์ผัก สู่ความมั่นคงทางด้านอาหาร
จากวิกฤติดินโคลนถล่มที่จังหวัดอุตรดิตถ์เมื่อปี 2549 "สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี"
มีพระราชดำริจะทรงตั้ง "ศูนย์ผลิตเมล็ดพันธุ์" เพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ผัก พระราชทานแก่ราษฎรที่ประสบภัยธรรมชาติ
มูลนิธิฯ จึงตั้งโครงการผลิตเมล็ดพันธุ์พืชผักสนองพระราชดำริขึ้นที่แม่สาย เชียงราย ในปี 52 พระราชทานชื่อว่า "ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ"
เพื่อเป็นที่ระลึกในวาระครบรอบ 100 ปี "พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ"
กิจกรรมหลักของศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชฯ คือ ผลิตเมล็ดพันธุ์ผักที่มีคุณภาพเพื่อเก็บรักษาสะสมสำรองไว้เป็นเมล็ดพันธุ์พระราชทานราษฎรในพื้นที่ประสบภัย
อาทิ คะน้า กวางตุ้ง ฟัก แฟง แคบ้านดอกขาว ถั่วพู มะเขือเปราะเจ้าพระยา มะเขือขาวกรอบ บวบ กระเจี๊ยบเขียว มะเขือยาว ถั่วฝักยาว พริก น้ำเต้า
ที่ผ่านมาศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชฯ ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ปรับปรุงและพัฒนาพันธุ์พืช ซึ่งขึ้นทะเบียนพันธุ์แล้ว และมีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานชื่อ ดังนี้
ถั่วฝักยาวสีม่วงสิรินธร เบอร์ 1, ถั่วแขกสีม่วงสิรินธร เบอร์ 1, ถั่วแขกสีเหลืองเทพรัตน์ เบอร์ 1, ถั่วฝักยาวลายเสือจักรพันธ์ เบอร์ 1, มะเขือเปราะพวงหยกจักรพันธ์,
พริกขี้หนูปู่เมธ, พริกขี้หนูพัฒนฉันท์, แตงไทยหอมละมุน, มะเขือเทศจักรพันธ์ 1, มะเขือเทศจักรพันธ์ 2, ถั่วฝักยาวล้านนาชวนอร่อย
พระราชทานเมล็ดพันธุ์ผักชุดแรกแก่ราษฎรในโครงการฟื้นฟูพื้นที่ผู้ประสบอุทกภัย 17 จังหวัด ในปี 56
นับจากนั้น ได้พระราชทานแก่ผู้ประสบภัยและราษฎรในท้องถิ่นห่างไกลและพื้นที่ทุรกันดารเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
ปี 60 พระราชทานเมล็ดพันธุ์ผักแก่ราษฎร 52,531 ราย โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน 260 แห่ง หน่วยทหาร 5 แห่ง หน่วยงานราชการ, องค์กรต่างๆ อีก 43 แห่ง
มีเมล็ดพันธุ์ผักที่พระราชทานคละกัน 24 ชนิด จำนวน 510,494 ซอง
มีพระราชกระแสรับสั่งให้มูลนิธิฯ ผลิตเมล็ดพันธุ์ผักให้เป็นเมล็ดพันธุ์ที่สามารถ "เก็บเมล็ดปลูกต่อได้"
ดังนั้น ราษฎรที่ได้รับพระราชทานจะมีพืชผักที่สามารถเก็บเมล็ดที่สมบูรณ์ไว้ปลูกบริโภคต่อไปได้อย่างยั่งยืน
เรื่องส่งเสริมปลูกผักปลอดภัยแก่ราษฎร เริ่มต้นจากที่โปรดเกล้าฯ ให้ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชฯ ทำโครงการ "บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง"
เพื่อให้ราษฎรปลูกผักบริโภคกันในครัวเรือน หากเหลือสามารถจำหน่ายเป็นรายได้เสริม
ต่อมาทรงให้จัดทำโครงการ "ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน"
โดยได้พระราชทานกล้าต้นมะรุม กล้าต้นเสี้ยว กล้าต้นขี้เหล็ก เมล็ดแค และกล้าไม้ผล เช่น มะม่วง ขนุน ชมพู่มะเหมี่ยว ฝรั่ง มะกอก มะขาม น้อยหน่า
ให้ชุมชนนำไปปลูกทั้งในบ้าน ตามริมถนนในหมู่บ้านและที่สาธารณะในหมู่บ้าน
โดยมีพระราชประสงค์ให้คนทั้งในหมู่บ้านและคนทั่วไปสามารถเก็บไปประกอบอาหารรับประทานได้ และมีไม้ผลไว้แบ่งปันกันบริโภค
เมื่อราษฎรปลูกผักกันภายในบ้านแล้ว จึงมีพระราชประสงค์ที่จะให้ราษฎรมีสุขภาพดี
จึงมีรับสั่งให้จัดทำโครงการ "ปลูกผักปลอดภัยภายใต้มาตรฐาน GAP"
สนับสนุนให้เกษตรกรปลูกผักให้ได้มาตรฐาน ปลอดภัยจากสารเคมี เพื่อบริโภคเองและจำหน่ายให้ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชฯ นำมาขายเป็นสินค้าของร้าน "จันกะผัก" ซึ่งเป็นร้านขายผลิตภัณฑ์ร้านหนึ่งของมูลนิธิชัยพัฒนา
มูลนิธิฯ ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเตียง จิราธิวัฒน์ ร่วมสร้างโรงคัดบรรจุผักที่ได้มาตรฐานให้แก่กลุ่มเกษตรกร และให้ความรู้เกี่ยวกับกรรมวิธีในการคัดและบรรจุผักที่ได้มาตรฐาน เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภค
ในปี 60 โปรดเกล้าฯ ให้ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชฯ ร่วมกับกองทัพภาคที่ 3 ทำโครงการ "ทหารพันธุ์ดี" ขึ้น
เพื่อฝึกกำลังพลให้มีความรู้ในการปลูกผักปลอดภัย เมื่อปลดประจำการจะได้นำประสบการณ์ที่ได้กลับไปใช้และเผยแพร่แก่ชุมชนในหมู่บ้านของตน
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งร้านขายผักที่เป็นผลผลิตจากการทดสอบพันธุ์ผัก เมื่อเดือนตุลา 52 และพระราชทานชื่อร้านว่า "จันกะผัก"
นอกจากนี้ ยังส่งผักสดปลอดภัยของศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชฯ ไปขายที่ร้านค้าของมูลนิธิฯ ในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่
อาคารสำนักงานเซ็นทรัลเวิลด์ ท็อปส์ ซุปเปอร์มาร์เก็ต สาขาเชียงราย บางนา ทองหล่อ และชิดลม กรูเมต์มาร์เก็ตที่พารากอนและเอ็มโพเรียม
พฤษภา 59 มีรับสั่งเพิ่มเติมให้มูลนิธิฯ ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวพระราชทานในจังหวัดเชียงราย เพื่อสำรองเมล็ดพันธุ์ข้าว สำหรับพระราชทานแก่ราษฎรที่ประสบภัยนาข้าวเสียหาย
จึงได้จัดตั้งโครงการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวพระราชทาน "เพื่อนช่วยเพื่อน" ขึ้น
มีเกษตรกรในหมู่บ้านสันหลวงใต้และบ้านสันบุญเรือง ตำบลเกาะช้าง อำเภอแม่สาย เข้าร่วมโครงการ 28 ราย มีพื้นที่เพาะปลูก 359 ไร่ 3 งาน
ในการผลิตพันธุ์ข้าวพระราชทานนี้ ทรงให้ผลิตอย่างมีคุณภาพ และทรงให้ปลูกโดยวิธีปักดำเท่านั้น
การเก็บเกี่ยวต้องเก็บเกี่ยวด้วยมือ หรือรถเกี่ยวข้าวที่สะอาด ป้องกันการปะปนของข้าวพันธุ์อื่น หรือข้าวเมล็ดแดง
ที่ผ่านมา ได้พระราชทานพันธุ์ข้าวแก่ราษฎรที่ประสบภัยกว่า 500 ราย พันธุ์ข้าว 79.795 ตัน พื้นที่ปลูก 5,319 ไร่
ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกลนี้.....
ทำให้ทรงมีเมล็ดพันธุ์พืชผักและเมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพ สะสมสำรองเผื่อไว้ ไม่ว่าจะเป็นยามที่ราษฎรประสบภัยธรรมชาติ หรือยามที่ประเทศชาติอยู่ในภาวะคับขัน
นับเป็นการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ที่ไม่อาจคาดการณ์ได้ล่วงหน้า จะทรงมีเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพพระราชทานช่วยเหลือฟื้นฟูราษฎร ให้มีเมล็ดพันธุ์ข้าวและเมล็ดพันธุ์ผักปลูกบริโภคกันได้ตลอดไป
ประเทศไทยของเราจะไม่ขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพ อันเป็นจุดเริ่มต้นของวงจรการผลิตอาหาร ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของมนุษย์
นับเป็นพระกรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานแก่พสกนิกรของพระองค์ให้มีความมั่นคงทางด้านอาหาร อันเป็นพื้นฐานที่สำคัญสำหรับความมั่นคงของชาติไทยอย่างยั่งยืน.
...........................
ครับ..เต็มตื้น ในความเป็นพสกนิกร กล่าวได้คำเดียว
ขอ "กรมสมเด็จพระเทพรัตน์" จงทรงพระเจริญ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |