ประชาธิปัตย์ระส่ำ โฆษกพรรคยัน พรรคมีมติยื่นญัตติแก้ไข รธน.ร่างเดียวคือแก้ ม.256 ตั้ง ส.ส.ร. ส่วนปิดสวิตช์ ส.ว. ทำให้ในขั้นตอนของ ส.ส.ร. ไม่ควรสร้างเงื่อนไขเพื่อให้อำนาจนอกระบบเข้ามา ขณะที่ "เทพไท" อ้างกันยายนม็อบแรง ถ้าตามกระแสไม่ทันบ้านเมืองสู่จุดวิกฤติแน่ ยัน "จุรินทร์" ไฟเขียวจับมือฝ่ายค้านแก้ ม.272 ได้เลย เป็นไปตามหลักการและอุดมการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ทุกประการ
หลังมีความเคลื่อนไหวของ ส.ส.ประชาธิปัตย์ อาทิ นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง, นายพนิช วิกิตเศรษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ, นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช และนายธีรภัทร พริ้งศุลกะ ส.ส.สุราษฎร์ธานี ประกาศสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ที่เกี่ยวข้องกับที่มาและอำนาจของ ส.ว. และเรียกตัวเองว่ากลุ่มกบฏนั้น
เมื่อวันที่ 4 กันยายน นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรองประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า การเสนอชื่อเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ซึ่งมี ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ไปลงชื่อด้วยได้ แต่ก็ยืนยันว่าวิปรัฐบาลและพรรคประชาธิปัตย์มีมติให้เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพียงร่างเดียว บนหลักการแก้ไขมาตรา 256 และร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.)
"กลุ่ม ส.ส.ที่ร่วมลงชื่อในการแก้ ม.272 ถือเป็นกบฏพรรคหรือไม่ผมไม่ทราบ และไม่ทราบว่ามีกี่คน แต่คนที่ลงชื่อซ้ำซ้อน เป็นหน้าที่ของประธานรัฐสภาที่ต้องตรวจสอบต่อไป" นายชินวรณ์ กล่าว
ด้านนายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาพรรคประชาธิปัตย์ได้มีมติยื่นญัตติร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพียงร่างเดียวคือ การแก้ไขมาตรา 256 และให้มีการตั้งส.ส.ร. ส่วนมาตรา 272 ในเรื่องของอำนาจของสมาชิกวุฒิสภา มีการพูดคุยกันในที่ประชุม แต่ได้มีความเห็นว่า หากมีการตั้ง ส.ส.ร. ได้แล้ว ทุกคนสามารถนำประเด็นต่างๆ ไปยกกันใหม่ใน ส.ส.ร.ได้เลย
เขากล่าวว่า มีอีกหลายเรื่องเช่นกันที่ต้องทำให้ปรากฏเป็นผลสำเร็จในชั้น ส.ส.ร. ไม่ว่าจะเป็นอำนาจหน้าที่ของ ส.ว. ที่ควรให้มีอำนาจหน้าที่ในการกลั่นกรองกฎหมาย แต่ไม่ควรมีสิทธิเลือกตั้งนายกรัฐมนตรี สิทธิ และเสรีภาพของประชาชน ระบบเลือกตั้ง ระบบถ่วงดุล รวมไปถึงบทเฉพาะกาลด้วย ทั้งหมดนี้เป็นหลักการในกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
นายราเมศกล่าวต่อว่า แม้ว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่เห็นด้วยในเรื่องอำนาจของ ส.ว.มาตั้งแต่ต้น และอยากให้ทุกฝ่ายช่วยกันผลักดันให้มี ส.ส.ร.ให้เร็วที่สุด จึงอยากให้ทุกคน ทุกกลุ่ม มาร่วมต่อสู้ในแนวคิดต่างๆ เพื่อให้ปรากฏในรัฐธรรมนูญฉบับ ส.ส.ร.อย่างแท้จริง หากเห็นว่าช้าไป ทุกคนก็ต้องรีบ แต่เมื่อญัตติแก้รัฐธรรมนูญเข้าสภาก็จะมีการดำเนินการให้รวดเร็ว เพื่อให้มีการตั้ง ส.ส.ร.ให้เร็วที่สุด ถ้าเห็นว่าเวลาที่ใช้ในการร่างรัฐธรรมนูญนั้นมากเกินไปก็สามารถแปรญัตติได้เลยว่าให้ ส.ส.ร.พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ภายในกี่วัน เพื่อให้เวลาสั้นลงที่สุด ซึ่งสามารถทำได้หมด
อย่าสร้างเงื่อนไข
เขากล่าวว่า การที่ทุกคนเรียกร้องให้มี ส.ส.ร.มาตั้งแต่ต้น ทุกคนก็ต้องให้ความสำคัญต่อการตั้ง ส.ส.ร. ไม่เช่นนั้น หากมีการนำประเด็นบางประเด็นไปขยายผลต่อว่าการตั้ง ส.ส.ร.เป็นไปเพื่อซื้อเวลา ก็จะไม่เป็นผลดี เชื่อว่าทุกคนจะเห็นตรงกันว่าเราต้องช่วยกันประคับประคองประเทศ ส่วนเรื่องการคิดต่างกันนั้นไม่เป็นไร และขอให้ว่ากันด้วยเหตุด้วยผล แต่ไม่อยากให้ความเห็นต่างนำไปสู่การเกิดความแตกแยก ซึ่งเราไม่ควรสร้างเงื่อนไขเพื่อให้อำนาจนอกระบบประชาธิปไตยเข้ามาได้
“ประเด็นที่ ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ลงชื่อร่วมกับพรรคอื่นเพื่อแก้มาตรา 272 นั้น ผมยังไม่เคยเห็นตัวร่าง เพราะไม่ได้เสนอผ่านพรรค ส่วนจะด้วยเหตุผลใดที่ทุกคนลงชื่อนั้น คงไปตอบแทนไม่ได้ เพราะถ้าให้ผมตอบคงตอบได้เพียงเหตุผลของร่างที่ผ่านจากมติพรรคเพียงเท่านั้น” โฆษกพรรคประชาธิปัตย์กล่าว
ขณะที่นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ที่ถูกระบุว่าอยู่ในกลุ่มกบฏ กล่าวว่า ขณะนี้ ส.ว.มีความคิดแตกต่างกันหลายรูปแบบ บางฝ่ายเห็นว่าควรรับ บางฝ่ายก็เห็นว่าควรแก้เป็นรายมาตรา แต่จนถึงตอนนี้ยังไม่มีญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา เสนอต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรเลย คงมีแต่ความเคลื่อนไหวเพื่อเสนอญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 เท่านั้น
ส.ส.นครศรีธรรมราชกล่าวอีกว่า เมื่อประเมินถึงท่าทีของ ส.ว.ตอนนี้แล้ว กระแสต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญลดน้อยลงไปมาก มีเพียงแต่จะแก้ไขกันอย่างไรเท่านั้นเอง ส่วนกระแสข่าวว่า ส.ว.ส่วนใหญ่ไม่ยอมรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น น่าจะเป็นการปล่อยข่าวเพื่อหยั่งกระแสทางการเมืองมากกว่า เพราะขณะนี้ถ้ามีกลุ่มใดต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ ก็จะตกขบวนประชาธิปไตย เป็นพวกไดโนเสาร์เต่าล้านปีในยุคนี้อย่างแน่นอน เพราะสถานการณ์ทางการเมืองของฝ่ายก้าวหน้ากำลังรุกไล่ฝ่ายอนุรักษนิยมอย่างเห็นได้ชัด
นายเทพไทกล่าวว่า จากจุดเริ่มต้นที่ฝ่ายรัฐบาลไม่ยอมให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างเด็ดขาด จนยินยอมให้แก้ไขเป็นรายมาตรา พัฒนาจนถึงแก้ไขมาตรา 256 เพื่อปลดล็อกวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ง่ายขึ้น และรุกคืบต่อจนถึงการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) จนบัดนี้มีการเรียกร้องให้แก้มาตรา 272 เพื่อปิดสวิตช์ ส.ว.ไม่ยอมให้เลือกนายกรัฐมนตรีเกิดขึ้นแล้ว และอาจจะก้าวหน้าในประเด็นอื่นๆ ต่อไปเรื่อยๆ
ต้องตามกระแสให้ทัน
"ภายในเดือนกันยายนนี้จะมีการชุมนุมของกลุ่มประชาชนปลดแอก เพื่อปิดสวิตช์ ส.ว.อย่างแน่นอน ถ้าหากฝ่ายการเมืองทั้งรัฐบาล พรรคร่วมรัฐบาล พรรคร่วมฝ่ายค้าน ตามกระแสการเมืองไม่ทันและฝืนกระแสของสังคม ก็จะก่อให้เกิดความขัดแย้ง ความรุนแรง จนนำไปสู่จุดวิกฤติของบ้านเมืองได้"
นายเทพไทกล่าวว่า การเคลื่อนไหวของเพื่อน ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์บางส่วน ต่อการเสนอญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ไม่ได้เป็นกบฏของพรรคแต่อย่างใด เพราะการแก้ไขมาตรา 272 สอดคล้องกับอุดมการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ ข้อ 4 และตรงกับจุดยืนของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ได้ให้สัมภาษณ์แสดงความคิดเห็นต่อการแก้ไขมาตรา 272 กับสื่อมวลชนมาแล้วอย่างน้อย 2 ครั้ง
"น่าจะเป็นกลุ่มพิทักษ์อุดมการณ์พรรค และจุดยืนของหัวหน้าพรรคมากกว่า จึงเห็นว่าการเสนอญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ได้เป็นไปตามหลักการและอุดมการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ทุกประการ" นายเทพไทกล่าว
ส่วนนายอันวาร์ สาและ ส.ส.ปัตตานี และรองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ตนเป็นหนึ่งในผู้ร่วมลงชื่อสนับสนุน โดยเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา วันที่มีการประชุม ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ นายพนิชเข้ามาสอบถามว่าคิดอย่างไรกับการที่ให้ ส.ว.มีอำนาจเลือกนายกฯ ตนตอบว่าไม่เห็นด้วย ขัดกับหลักการประชาธิปไตยชัดเจนอยู่แล้ว เลยลงชื่อร่วมกับเขาไปด้วย โดยไม่ได้กลัวว่าจะโดนตำหนิอะไรจากใคร เพราะในการประชุม ส.ส.พรรค นายพนิชได้สอบถามกลางที่ประชุม 2-3 ครั้ง ในทำนองว่าสามารถสงวนสิทธิ์ไม่เอาด้วยกับมาตรา 272 ส.ว.เลือกนายกฯ ซึ่งทางนายจุรินทร์ รวมถึงที่ประชุมพรรคก็ไม่เห็นมีมติห้าม ส.ส.พรรคดำเนินการเรื่องนี้เเต่อย่างใด
นายอันวาร์กล่าวอีกว่า เมื่อคืนวันที่ 3 ก.ย. พอประชุมสภาฯเสร็จแล้ว ก็ไปตีกอล์ฟ มีเพื่อน ส.ส.พรรคบางส่วนไปด้วย บางคนสอบถามว่าตนเซ็นชื่อด้วยไหม จึงตอบว่าเซ็นอยู่แล้ว ส่วนบางคนพูดกันถึงกรณีที่ตามหน้าสื่อพูดกันว่าคนเซ็นชื่อนั้นเป็นกบฏพรรคประชาธิปัตย์ ตอนเเรกก็เคืองๆ แต่พอมาย้อนดูข่าวก็เข้าใจต้นสายปลายเหตุคำให้สัมภาษณ์ของนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง แต่ขอยืนยันว่าไม่ใช่กบฏ เพราะตอนเซ็นไม่คิดว่าจะซีเรียสขนาดนี้ ไม่คิดว่าเสียงจะครบหรือขาด เพราะดูญัตติแล้วเป็นไปตามเเนวทางประชาธิปไตย น่าจะมีผู้สนับสนุนเพียงพอ
"มี ส.ส.บางคนในพรรคที่น่าจะเห็นด้วยกับการไม่ให้ ส.ว.มีอำนาจเลือกนายกฯ แต่เขาไม่กล้าลงชื่อเพราะกลัวมีปัญหา ส่วนจำนวนตอนนี้มีคนลงชื่อไปเท่าไหร่ผมไม่รู้เเน่ชัด เพราะได้ข่าวมาว่ามีคนที่ร่วมลงชื่อไปแล้ว แต่มาขอถอนชื่อภายหลังก็มี ไม่รู้เพราะอะไร หรืออาจมีคนโทร.ไปห้าม ก็ไม่รู้ว่าจริงเท็จแค่ไหน ผมจึงไม่มั่นใจในจำนวนผู้ร่วมลงชื่อว่ามีเท่าไหร่เเล้ว ไม่เข้าใจว่าจะผิดตรงไหน เพราะพรรคก็ไม่ได้มีมติห้ามใดๆ ส.ส.จึงมีเอกสิทธิ์โดยชอบธรรม สำหรับผมยังไม่มีใครโทร.มาห้าม ไม่จำเป็นต้องถามใคร เล่นการเมืองมีทั้งคนชังคนชอบอยู่แล้ว ไม่ได้กลัว จะด่าก็ด่ามา เพราะผมยืนยันทำตามหลักการประชาธิปไตย" นายอันวาร์กล่าว
ส.ว.เอาด้วย ปิดสวิตช์สภาสูง
นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กล่าวถึงท่าทีของ ส.ว. ว่าส่วนตัวขอไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขมาตรา 256 เพราะการเปิดทางให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) นั้น ไม่ถือว่าเป็นการแก้ไข แต่เป็นการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งการจะแก้ไขจำเป็นต้องชี้ให้ได้ว่ารัฐธรรมนูญมีข้อบกพร่องตรงไหนแล้ว จะแก้ส่วนใด มาตราอะไรบ้าง สิ่งเหล่านี้ต้องมาหารือกันให้ชัดเจน ไม่ใช่อยู่ดีๆ มาเปิดประตูบ้านแล้วจะเข้ามาปรับเปลี่ยนบ้าน โดยที่เจ้าของบ้านไม่รู้เลย ถือว่าไม่เหมาะสม
"ผมเห็นด้วยกับการแก้ไขเป็นรายมาตรามากกว่า เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้รับสมญานามว่าเป็นฉบับปราบโกง จะแก้ส่วนไหนมาคุยกัน แล้วต้องมีเหตุผลว่าจะแก้ไขเพื่ออะไร เพราะในฐานะคนบ้านนอก อยู่กับพี่น้องประชาชน ไม่เห็นว่าจะมีใครเดือดร้อนกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีแต่นักการเมือง ไม่ทราบว่ากี่คนเหมือนกันที่เดือดร้อนจะเป็นจะตาย ผมจึงคิดว่าแทนที่จะแก้รัฐธรรมนูญควรแก้นิสัย สันดานของนักการเมืองน่าจะเข้าท่ากว่า"
นายกิตติศักดิ์กล่าวด้วยว่า รัฐธรรมนูญเปรียบเหมือนเป็นศาสนา แม้จะเป็นนามธรรม แต่การจะปฏิบัติตามศาสนาต้องมาจากจิตใจคน รัฐธรรมนูญก็เช่นเดียวกัน มันขึ้นอยู่ที่คนปฏิบัติ การจะแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่ใช้เงินจำนวนมหาศาล ผ่านประชามติประชาชนกว่า 16 ล้านเสียงแบบนี้ ต้องมีเหตุผลกันว่าจะแก้เพื่ออะไร ถ้าจะแก้ไขรายมาตราก็มีหลายเรื่องที่เห็นด้วย อาทิ ระบบเลือกตั้ง หรือแม้แต่การตัดอำนาจ ส.ว.โหวตนายกฯ ส่วนตัวก็เห็นตัวด้วย เพราะสถานการณ์วันนี้ไม่เหมือนกับวันที่มีการเลือกตั้งครั้งแรกแล้ว วันนั้นจำเป็นต้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯทำงานต่อ แต่วันนี้สถานการณ์เปลี่ยนอำนาจ ส.ว.โหวตนายกฯหมดความจำเป็นแล้ว
ส.ว.ผู้นี้กล่าวด้วยว่า ในอนาคตมีการเลือกตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จะกลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้ง ท่านจำเป็นต้องเตรียมพร้อมให้ดี เพราะวันนี้ท่านเป็นนักการเมืองแล้ว จำเป็นต้องทำคะแนนความนิยมให้ได้ ส.ส.เพียงพอ โดยไม่ต้องมาพึ่งเสียงของ ส.ว. เหมือนกับการโหวตเลือกนายกฯ รอบแรกที่แม้ ส.ว.จะยกมือให้ แต่ต้องให้ความเป็นธรรมกับ ส.ว.ด้วยว่าวันนั้นลำพังเสียง ส.ส.ก็เพียงพอที่พล.อ.ประยุทธ์จะได้เป็นนายกฯ อยู่แล้ว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |