"สธ." เผยผลตรวจเบื้องต้นผู้สัมผัสใกล้ชิด-ครอบครัวดีเจที่ติดเชื้อโควิด-19 ยังไม่พบเชื้อ เร่งตามผู้สัมผัสเสี่ยงสูงอีก 7 คนที่เหลือในผับ เข้ากักตัวใน State Quarantine ชี้โอกาสแพร่เชื้อมีน้อย เพราะผู้ติดเชื้อไม่ได้ไอ-จาม เชื่ออาจติดเชื้อมาจากในผับ ศาลอาญาเผยผลตรวจผู้เกี่ยวข้องจำนวน 150 คน ไม่พบติดเชื้อเช่นกัน
เมื่อวันที่ 4 กันยายน ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. เผยแพร่ข้อมูลสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย มีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้น 4 ราย โดยเป็นผู้ติดเชื้อในประเทศ 1 ราย และตรวจพบในสถานที่กักตัวของรัฐ 3 ราย ยอดผู้ป่วยยืนยันสะสม 3,431 ราย ยอดหายป่วยสะสมรวม 3,277 ราย มีผู้ป่วยรักษาในโรงพยาบาล 96 ราย ยอดผู้เสียชีวิตสะสมคงที่ 58 ราย
สำหรับผู้ติดเชื้อในประเทศ 1 ราย เป็นผู้ต้องขังชาย สัญชาติไทย อายุ 37 ปี ก่อนรับโทษเคยเป็นดีเจ ทำงานในร้านอาหารหลายแห่ง เข้าสู่ระบบกักกันก่อนเข้าแดนปกติในเรือนจำ เมื่อวันที่ 26 ส.ค. ตรวจหาเชื้อครั้งที่ 1 วันที่ 2 ก.ย. ผลพบเชื้อ เริ่มป่วยเมื่อวันที่ 29 ส.ค. มีเสมหะ เข้ารับการรักษาที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์
ส่วนผู้ป่วยอีก 3 รายเดินทางมาจากต่างประเทศ รายที่ 1 มาจากสหรัฐอเมริกา เป็นชายไทยอายุ 31 ปี ว่างงาน เดินทางถึงไทยวันที่ 25 ส.ค. เข้าพักในสถานที่กักตัวแบบทางเลือก ในกรุงเทพฯ ตรวจหาเชื้อครั้งที่ 1 วันที่ 1ก.ย. ผลตรวจพบเชื้อ, รายที่ 2 มาจากสิงคโปร์ เป็นชายไทยอายุ 54 ปี อาชีพรับจ้าง เดินทางมาถึงไทยวันที่ 30 ส.ค. เข้าพักในสถานที่กักตัวของรัฐ ในกรุงเทพฯ ตรวจหาเชื้อครั้งที่ 1 วันที่ 2 ก.ย. ผลตรวจพบเชื้อ ไม่มีอาการ
และรายที่ 3 มาจากซาอุดีอาระเบีย เป็นชายไทยอายุ 53 ปี อาชีพล่ามของสำนักงานแรงงาน เดินทางมาถึงไทยวันที่ 2 ก.ย. และตรวจหาเชื้อครั้งที่ 1 ในวันที่ 3 ก.ย. ผลตรวจพบเชื้อ พบมีประวัติป่วยด้วยโควิด-19 เมื่อเดือน ก.ค.-ส.ค.63 เข้ารับการรักษาที่ซาอุดีอาระเบีย ผลตรวจก่อนกลับวันที่ 29 ส.ค. ไม่พบเชื้อ
ทั้งนี้ ไทม์ไลน์ผู้ต้องขังชาย เวลา 09.00 น. เดินทางโดยรถส่วนตัวถึงศาลรัชดาฯ พบบิดาผู้ป่วย (ทนาย) ตัดสินที่ห้อง 801 ร่วมกับผู้ต้องหา 2 คน เป็นชาย 1 คน หญิง 1 คน เวลา 10.30 น. ตัดสินคดี มีเจ้าหน้าที่ 2 คนใส่กุญแจมือ พาผู้ป่วยและผู้ต้องหาอีก 2 คนลงลิฟต์ไปห้องฝากขังใต้ศาลอาญา อยู่ร่วมผู้ต้องขัง 16 ราย
ต่อจากนั้นเวลา 18.00 น. มีรถมารับผู้ป่วยและผู้ต้องขัง รวม 16 คนไปที่ทัณฑสถาน โดย 8 คนรวมผู้ป่วยไปที่แดนบำบัด และอีก 8 คนไปเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ จากนั้นเวลา 19.00 น. ถึงเรือนจำมีการตรวจอาวุธ ตรวจวัดไข้ คัดกรองโควิด-19 ตัดผม ก่อนเข้ากักตัว 14 วัน
นอกจากนี้ ผู้ป่วยเป็นดีเจ มีไทม์ไลน์การเดินทางไปทำงาน โดยวันที่ 15 ส.ค. ไปที่ร้าน 3 วัน 2 คืน พระราม 3 เวลา 24.00-02.00 น., วันที่ 16 ส.ค. เป็นดีเจร้าน 3 วัน 2 คืน พระราม 5 เวลา 22.00-01.00 น., วันที่ 17 ส.ค. ร้าน 3 วัน 2 คืน พระราม 3 เวลา 24.00-02.00 น., วันที่ 18 ส.ค. เป็นดีเจร้าน First Cafe ข้าวสาร เวลา 21.00-24.00 น., วันที่ 20 ส.ค. ร้าน 3 วัน 2 คืน พระราม 3 เวลา 24.00-02.00 น.
วันที่ 21 ส.ค. ดีเจร้าน 3 วัน 2 คืน พระราม 5 เวลา 22.00-01.00 น., วันที่ 22 ส.ค. ร้าน 3 วัน 2 คืน พระราม 3 เวลา 24.00-02.00 น., วันที่ 23 ส.ค. ดีเจร้าน 3 วัน 2 คืน พระราม 5 เวลา 22.00-01.00 น., วันที่ 24 ส.ค. ร้าน 3 วัน 2 คืน พระราม 3 เวลา 24.00-02.00 น., วันที่ 26 ส.ค. อยู่ในช่วงการดำเนินคดี, วันที่ 29 ส.ค. เริ่มมีเสมหะ, วันที่ 2 ก.ย.ตรวจพบเชื้อ และวันที่ 3 ก.ย.สอบสวนโรค
ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง
สรุปจำนวนผู้สัมผัสเสี่ยงสูงและผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ รวม 589 คน โดยเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 78 คน ผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ 511 คน โดยแบ่งเป็นผู้อยู่ในคอนโดมิเนียม ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 6 คน การตรวจทางห้องปฏิบัติการ เมื่อวันที่ 3 ก.ย. จำนวน 5 คน ไม่พบเชื้อ ส่วนอีก 1คนเป็นแม่ของภรรยา รอตรวจวันที่ 4 ก.ย. พร้อมมาตรการแยกกักกันและติดตาม 14 วัน ส่วนที่ร้านอาหาร 3 วัน 2 คืน มีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 1 คน เป็นเพื่อนดีเจ และอยู่ระหว่างค้นหาผู้ป่วยและผู้สัมผัสเพิ่มเติม ควรแยกกักกันและติดตาม 14 วัน
ผู้สัมผัสที่ศาลอาญา จำนวนผู้สัมผัส 492 คน เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 14 คน ผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ 478 คน การตรวจทางห้องปฏิบัติการเมื่อวันที่ 3 ก.ย. เสี่ยงสูง 10 คน เสี่ยงต่ำ 146 คน ไม่พบเชื้อ ทั้งนี้กลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูงแนะนำให้กักตัวที่บ้าน 14 วัน ส่วนกลุ่มเสี่ยงต่ำประสานศูนย์บริการติดตามเฝ้าระวังอาการ 14 วัน
ส่วนผู้สัมผัสที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ พบสัมผัสเสี่ยงต่ำ 6 คน ติดตามเฝ้าระวังอาการ 14 วัน ที่ทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลาง พบผู้สัมผัส 40 คนเป็นเจ้าหน้าที่ โดยเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 13 คน ผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ 27 คน นัดหมายเก็บตัวอย่างวันที่ 8 ก.ย. และ 16 ก.ย.
ทั้งนี้ กลุ่มเสี่ยงสูงควรมีการแยกกักกันเพื่อลดโอกาสการแพร่กระจายของเชื้อ ส่วนกลุ่มเสี่ยงต่ำมีการสัมภาษณ์เพิ่ม 34 คน ติดตามเฝ้าระวังอาการ 14 วัน นอกจากนี้ยังมีผู้ต้องขังที่นอนห้องพักเดียวกัน 36 คนที่เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ผลการตรวจห้องปฏิบัติการครั้งที่ 1 ผลตรวจเป็นลบทุกราย นัดหมายเก็บตัวอย่างวันที่ 8 และ 16 ก.ย. ควรมีการแยกกักกันจากผู้ต้องขังรายอื่นๆ ขณะที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 8 ราย เป็นผู้ต้องขังรถคันเดียวกัน ทั้งหมดอยู่ระหว่างการรอผลตรวจ
ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ว่า หลังจากที่กองระบาดวิทยาได้มีการสอบสวนผู้ที่ติดเชื้อในประเทศ และผู้ที่สัมผัสใกล้ชิด พบว่ามีข้อมูลบางส่วนที่เพิ่มขึ้น? สำหรับความเสี่ยงของผู้ติดเชื้อรายนี้จะต้องดูจาก 2 สัปดาห์ คือ วันที่ 15 ส.ค.-29 ส.ค. ก่อนวันที่ผู้ติดเชื้อรายนี้ป่วย พบว่าวันที่ 16, 21 ส.ค. ผู้ติดเชื้อได้ไปทำงานเป็นดีเจที่ร้าน 3 วัน 2 คืน สาขาพระราม 5 เวลา 22.30-01.00 น. นอกจากนี้ยังได้ไปทำงานที่ร้าน 3 วัน 2 คืน สาขาพระราม 3 เมื่อวันที่ 17, 20, 22 ส.ค. เวลา 24.00-02.00 น. ส่วนวันที่ 18 ส.ค. ได้ไปทำงานที่ร้าน First Cafe ถนนข้าวสาร เวลา 21.00-24.00 น. ทั้งนี้ ทางทีมงานที่เกี่ยวข้องกับแอปพลิเคชันไทยชนะได้ตรวจสอบข้อมูลแล้วว่ามีใครบ้างสแกนใช้บริการในช่วงดังกล่าว ขณะนี้ได้ติดต่อไปยังผู้ที่สแกนแล้ว ส่วนกลุ่มที่มีความเสี่ยง คือคนที่พบหรืออยู่ใกล้กับผู้ติดเชื้อในวันที่ 26 ส.ค. ที่ผู้ติดเชื้อได้ไปศาลรัชดาฯ ประกอบด้วยบิดาของผู้ป่วยซึ่งเป็นทนาย อยู่ในห้องเดียวกันร่วมกับผู้ต้องขังอีก 2 คน ในช่วงของการตัดสินคดี มีเจ้าหน้าที่ 2 และมีผู้ต้องขังที่อยู่ในบริเวณเดียวกันรวม 16 คน
ยังไม่พบผู้ใดติดเชื้อ
อย่างไรก็ตาม เมื่อเสร็จสิ้นการตัดสินคดีแล้ว ช่วงเย็นได้มีการรับผู้ป่วยและผู้ต้องขังรายอื่นไปที่ทัณฑสถานบำบัดพิเศษ? 8 คน และเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครอีก 8 คน โดยได้มีการตรวจหาเชื้อเป็นที่เรียบร้อยแล้วโดยไม่พบเชื้อ จะเห็นได้ว่าในภาพรวมสามารถระบุผู้ที่มีความเสี่ยงสัมผัสเสี่ยงสูงได้ครบ สำหรับคนที่มีความเสี่ยงต่ำรองลงมาอยู่ระหว่างการติดตาม สำหรับผลตรวจผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดในขณะนี้ ซึ่งตรวจแล้วทั้งหมดเกือบ 200 ราย ก็ยังไม่พบผู้ใดติดเชื้อ
นอกจากนี้ ที่คอนโดฯ ที่ผู้ป่วยได้อาศัย มีอยู่ 6 คนที่เป็นสมาชิกในครัวเรือน เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ผลทางห้องปฏิบัติการพบว่าไม่มีเชื้อ แต่แนะนำให้กักกันโดยเจ้าหน้าที่จะติดตามอาการทางเดินหายใจ อาการไข้ต่อจนครบ 14 วัน นับจากวันที่พบกับผู้ติดเชื้อครั้งสุดท้าย ในส่วนของผู้ที่อยู่ในศาลรัชดาฯ ได้มีการตรวจหาเชื้อทั้งหมด 156 คน ผลตรวจไม่พบเชื้อเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ แนะนำให้ผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดอยู่ในการกักกันควบคุมโรคให้ครบ 14 วัน โดยเจ้าหน้าที่จะติดตามอาการทุกวัน รวมทั้งสวมหน้ากาก?อนามัย? ล้างมือทุกวัน เพื่อลดความเสี่ยง
ด้าน นพ.สฤษดิ์เดช เจริญไชย รองนายแพทย์ สสจ.นนทบุรี กล่าวว่า สภาพสถานที่ทำงานของผู้ป่วยรายนี้ที่ร้าน 3 วัน 2 คืน ในจังหวัดนนทบุรี ภายในร้านได้มีการแยกโซนเฉพาะ เพราะฉะนั้นโอกาสที่มีการสัมผัสกับคนในวงกว้าง จึงมีข้อจำกัดอยู่ สำหรับสภาพร้านพบว่าได้แบ่งออกเป็น 2 โซน โซนละ 200 ตร.ม. ลักษณะคือโซนในร้านเป็นผับ และโซนนอกจะเป็นร้านอาหารให้นั่งทาน สำหรับผู้ป่วยรายนี้ทำงานอยู่ในโซนนอก มีอาการถ่ายเท โดยหลังจากการตรวจสอบพบว่ามีผู้ที่สัมผัสเสี่ยงคือพนักงานภายในร้านทั้งหมด 20 คน เมื่อได้ซักถามเพิ่มเติมพบว่ามีผู้ใกล้ชิดคือผู้รับบริการที่มีโอกาสเสี่ยงที่จะเดินผ่านกับผู้ป่วยคนดังกล่าว 3 คน รวมผู้สัมผัสเสี่ยงสูงทั้งหมด 23 คน
ทั้งนี้ ได้มีการนำเรียนข้อมูลให้ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรีรับทราบ โดยมีบัญชาให้ประชุมกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ซึ่งมีมติทั้งหมด 4 ข้อคือ 1.มีคำสั่งให้ปิดสถานที่ดังกล่าวจำนวน 3 วัน รวมถึงทำความสะอาดพื้นที่ภายในร้าน 2.พนักงาน และผู้รับบริการที่มีความเสี่ยงสูงจำนวน 23 คน ต้องกักตัวในสถานที่ที่รัฐจัดให้ที่โรงพยาบาลบางกรวย 2 โดยเจ้าหน้าที่ตามกลับมาได้ 16 คน อีก 7 รายอยู่ระหว่างการตามตัว 3.สำหรับผู้สัมผัสร่วมบ้านของ 23 คนที่ได้กล่าวมาข้างต้นให้เก็บตัวอยู่ที่บ้าน โดยมี อสม.และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด และ 4.ได้ประชาสัมพันธ์ให้ผู้ที่สงสัยหรือกังวลว่าจะสัมผัสผู้ป่วยในห้วงเวลาวันที่ 21-23 ส.ค.ให้มาตรวจได้ฟรีที่โรงพยาบาลบางกรวย 2
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ขณะนี้เจ้าหน้าที่ได้นำตัวอย่างเชื้อที่ได้จากผู้ป่วยมาถอดรหัสพันธุกรรม โดยจะต้องใช้เวลาสักพักกว่าจะได้คำตอบว่าเชื้อเป็นสายพันธุ์ไหน
ด้าน นพ.เกียรติภูมิ วงศรจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากการข้อสันนิษฐาน?ผู้ป่วยรายดังกล่าว อาจจะติดเชื้อมาจากการไปสัมผัสกับผู้ที่มาจากต่างประเทศที่ได้มาพบในช่วงเวลากลางคืนที่ผู้ป่วยรายนี้ได้ทำงานอยู่ หรือติดมาจากในประเทศ สำหรับคนที่มีเชื้อแต่ไม่มีอาการ โดยการแพร่เชื้อยังไม่รุนแรง จากการที่ตรวจผู้สัมผัสใกล้ชิดได้มีผลตรวจเป็นลบ
เมื่อถามว่า จากการสอบสวนโรคเบื้องต้น แนวโน้มการติดเชื้อโควิด-19 ของผู้ป่วย เกิดจากการใช้ชีวิตส่วนตัวหรือการทำงาน นพ.โสภณกล่าวว่า สมมติฐานในเบื้องต้นจากหลายหลักฐานที่ปรากฏ คือผู้ป่วยรายนี้ไม่มีอาการมาก มีเสมหะ ไม่ได้ไอหรือจาม เพราะฉะนั้นโอกาสที่เขาจะเป็นผู้ที่แพร่เชื้อก็จะน้อยลง ส่วนกรณีที่ว่าเขารับเชื้อมาจากใคร จากกิจกรรมของผู้ป่วย โอกาสที่ผู้ป่วยรายนี้พบผู้คนจำนวนมากนั้นมาจากการทำงาน ซึ่งเป็นการทำงานตอนกลางคืน มีโอกาสพบผู้คนอยู่ แม้ว่าจะไม่ได้สุงสิงกับคนอื่นตลอดเวลาเพราะว่าทำงานแค่บางวัน
ศาลอาญาไม่พบโควิด
ดังนั้น ถ้าหากมองในแง่ของการเป็นคนที่มีอายุ 37 ปี ซึ่งอยู่ในวัยทำงานที่ร่างกายแข็งแรงก่อนจะถูกต้องขัง โอกาสที่จะรับเชื้อจากผู้อื่นที่อยู่ในวัยเดียวกัน ซึ่งอาชีพการทำงานในสถานบันเทิงก็จะพบว่าเป็นคนวัยทำงานเหมือนกันเป็นหลัก จึงมีโอกาสได้รับเชื้อกับคนกลุ่มนี้ อย่างไรก็ตาม จากการที่ประเทศไทยไม่มีผู้ติดเชื้อในประเทศติดต่อกันยาวนาน ก็จะมีสถานบันเทิงที่มีโอกาสที่ต่างชาติมาใช้บริการ แต่ถ้าเรามีการป้องกัน สวมหน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ ไม่ได้คลุกคลีใกล้ชิด โอกาสที่ติดเชื้อก็จะอยู่ในระดับที่น้อยๆ ได้ ซึ่งอาจจะไม่เห็นกลุ่มก้อนของคนติดเชื้อในสถานที่เดียวกันเป็นจำนวนมาก เพราะถ้าหากมีการระบาดในร้านก็จะรู้ทันทีว่ามีคนป่วยเป็นอาการทางเดินหายใจหลายราย ด้วยข้อมูลที่มีในประเทศไทย
นพ.โสภณเผยว่า รายงานจากต่างประเทศส่วนใหญ่ผู้ที่ติดเชื้อในอาการน้อยก็จะไม่ได้สาเหตุของการแพร่เชื้อต่อไปยังผู้อื่น มักจะเป็นคนที่มีอาการมาก ซึ่งเป็นสาเหตุของการแพร่เชื้อไปยังผู้อื่น คือคนติดเชื้อแค่ 80% ไม่ได้แพร่เชื้อต่อ เพราะมีแค่ 20% เท่านั้นที่มีโอกาสแพร่เชื้อ ดูจากคนในครอบครัวใกล้ชิดที่สุด 5 คน เขาอยู่ด้วยกันก่อนวันที่ 26 ส.ค.มาอย่างต่อเนื่อง ก็ยังไม่ได้รับเชื้อ ดังนั้นการที่จะเห็นการติดเชื้อจากคนหนึ่งไปอีกคนหนึ่งแบบน้อยๆ ก็อาจจะเกิดขึ้นได้ แต่ที่โรคยังไม่ระบาด เพราะทุกคนร่วมมือกันดี
ศาลอาญาออกเอกสารข่าวระบุว่า กรณีสืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2563 ศาลอาญาได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ว่า พบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในทัณฑสถานพิเศษกรุงเทพมหานคร โดยบุคคลดังกล่าวได้มาฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ศาลอาญาในวันที่ 26 สิงหาคม 2563 และเข้ารับการกักตัวในห้องแยกโรคก่อนส่งเข้าทัณฑสถานพิเศษกรุงเทพมหานคร ตามนโยบายของกรมราชทัณฑ์
เบื้องต้น ศาลอาญาได้ตรวจสอบส่วนงานที่ผู้ติดเชื้อมาติดต่อในวันดังกล่าวทั้งหมด เช่น งานตรวจร่างกายและวัตถุก่อนเข้าอาคารศาลอาญา งานประชาสัมพันธ์ งานหน้าบัลลังก์ ผู้พิพากษาและผู้ช่วยผู้พิพากษาในบัลลังก์ดังกล่าว งานควบคุมผู้ต้องขัง เป็นต้น เพื่อคัดแยกและกักตัวบุคคลที่สัมผัสหรืออยู่ใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อออกจากส่วนงานอื่น จากนั้นแจ้งกรมควบคุมโรคและสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง เพื่อนำรถตรวจโรคติดเชื้อชีวนิรภัยพระราชทาน (BIOSAFETY MOBILE UNIT) มาเก็บตัวอย่างเพื่อตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ซึ่งจะทำให้ทราบผลการตรวจภายใน 24 ชั่วโมง จากการตรวจเชื้อบุคคลที่อยู่ในข่ายต้องสงสัย จำนวน 150 ราย ปรากฏว่าไม่พบการติดเชื้อ
ทั้งนี้ นับตั้งแต่เกิดสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ศาลอาญาได้ออกข้อกำหนดและมาตรการป้องกันการติดเชื้อโรคตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขและได้ปฏิบัติอย่างเคร่งครัดมาโดยตลอด โดยกำหนดให้ทุกคนที่เข้ามาในอาคารศาลอาญาต้องสวมหน้ากากอนามัย ผ่านการวัดอุณหภูมิร่างกาย ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ รวมถึงการรักษาระยะห่างระหว่างบุคคลในบริเวณศาล นอกจากนี้ยังมีการนำเทคโนโลยีลิฟต์สัมผัสมาให้บริการเพื่อลดการสัมผัสกับวัตถุโดยตรง อันจะทำให้โอกาสในการติดเชื้อโรคลดลง.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |