ชงเองกินเอง "ธนาธร-ช่อ" นำทีม ใช้ยุทธวิธี "อานนท์-ไมค์" อยากนอนคุกเป็นเงื่อนไขปลุกม็อบ 19 กันยายน ประกาศ สู้เป็นไท ถอยเป็นทาส เล่นเหนือรัฐบาล แกนนำม็อบปลดแอกจะชำระแค้นอย่างสาสม อธิการบดี มธ.วางแนวทางชุมนุม ถ้าจัดโดยคนนอกต้องมีอาจารย์ที่ปรึกษาให้การรับรอง "ดร.เสรี" ปลุกพลังเงียบ จะถอยกันอีกนานแค่ไหน หลังชนฝาแล้ว
หลังศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก มีคำสั่งเพิกถอนประกันตัว นายอานนท์ นำภา ทนายความศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชน และ นายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ ระยอง ผู้ต้องหาในความผิดฐานยุยงปลุกปั่น ตาม ป.อาญา มาตรา 116 พร้อมข้อหาอื่นๆ จากการร่วมชุมนุมและปราศรัยกับกลุ่มเยาวชนปลดแอกที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคมที่ผ่านมา และถูกนำตัวไปฝากขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ช่วงค่ำวันที่ 13 กันยายนที่ผ่านมานั้น และมีมวลชนและแกนนำปักหลักรวมตัวให้กำลังใจนั้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 14 ก.ย. ยังคงมีมวลชนรวมตัวกันอีกครั้ง โดยเพจของคณะประชาชนปลดแอก - Free People โพสต์ข้อความผ่านเฟชบุ๊กระบุว่า 4 โมงเย็นวันนี้ ร่วมยืนยันสิทธิการแสดงออกทางการเมืองหน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร “ต้องไม่มีประชาชนถูกขัง เพราะการแสดงความคิดเห็น”
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเป็นวันหยุดยาว เรือนจำไม่เปิดให้เข้าไปเยี่ยมผู้ต้องหา 2 รายนี้่ ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ประชาชื่น และเจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคงนอกเครื่องแบบหลายสิบนาย
ขณะที่ในโลกโซเชียลมีการปลุกระดมโดยใช้การถอนประกัน 2 แกนนำม็อบปลดแอก เป็นเงื่อนไขเรียกมวลชนให้ไปชุมนุมในวันที่ 19 ก.ย. ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
อาทิ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แกนนำคณะก้าวหน้า อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ โพสต์ข้อความในเพจเฟซบุ๊ก Thanathorn Juangroongruangkit - ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ว่า สู้เป็นไท ถอยเป็นทาส
โดยระบุว่าเป็นบทสนทนาหน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในค่ำคืนอันมืดมิด แต่สว่างไสวด้วยไฟแห่งความโกรธเกรี้ยวและความหวังอันลุกโชนของประชาชน
คำถาม: อยากบอกอะไรกับนักเรียน นักศึกษา ประชาชน ที่ออกมาแสดงสิทธิความเป็นเจ้าของประเทศในตอนนี้?
ธนาธร: “แม้แต่ข้อเรียกร้องที่ง่ายที่สุดที่ขอให้หยุดคุกคามประชาชน พวกเขายังไม่หยุด คิดกันจริงๆ หรือว่าเขาจะยอมให้เรามีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เป็นของประชาชน?
อนาคตของประเทศไทย อนาคตของพวกเราทุกคนอยู่ในมือพวกคุณ ถ้าเราไม่ลุกขึ้นสู้ในวันนี้ ถ้าไม่ออกมายืนยันปกป้องเสรีภาพของพวกเราเองตั้งแต่วันนี้ วันพรุ่งนี้เราจะไม่เหลืออะไร คนรุ่นคุณจะเติบโตมาอยู่ในกรงที่ไร้ซึ่งเสรีภาพ
"นี่คือห้วงเวลาที่น่าตื่นเต้น นี่คือจุดเริ่มต้นแห่งยุคสมัย ธงนำในการต่อสู้วันนี้ไม่ได้อยู่ในสภา ฝากอนาคตของประเทศไทยไว้ที่มือพวกคุณด้วย สู้เป็นไท ถอยเป็นทาส” นายธนาธรระบุ
ด้าน น.ส.พรรณิการ์ วานิช แกนนำคณะก้าวหน้า โพสต์ข้อความบนทวิตเตอร์ ระบุว่า "ความฝันที่อยากจะเห็นประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอยู่ใต้รัฐธรรมนูญไม่ใช่เรื่องผิด เดินตามความฝันของอานนท์ ความฝันของเรา ประชาชน เจอกันวันที่ 19 นี้ค่ะ"
ส่วน น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา หรือโบว์ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง แนวร่วมพรรคฝ่ายค้าน โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Bow Nuttaa Mahattana ว่าตำรวจนั้นผิดตั้งแต่ตั้งข้อหา ม.116 แล้ว และศาลก็ผิดตั้งแต่อนุมัติหมายจับแล้ว การถอนประกันในวันนี้เป็นการต่อขยายความผิดนั้นเท่านั้นเอง แต่ขอบอกว่า มันเป็น “จังหวะนรก” มาก สำหรับฝ่ายอนุรักษนิยมนะคะ
จะได้ชำระแค้นอย่างสาสม
นายปิยรัฐ จงเทพ หรือโตโต้ อดีตผู้สมัคร ส.ส.กาฬสินธุ์ เขต 1 พรรคอนาคตใหม่ แกนนำม็อบปลดแอก โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก โตโต้ ปิยรัฐ - Piyarat Chongthep ว่าจากประสบการณ์ของคนที่เคย นอนคุก นอนเรือนจำ
คืนแรกในเรือนจำ (พิเศษกรุงเทพฯ) จะต้องเข้าแดนแรกรับ ในขณะนั้นคือแดน 1 แต่ปัจจุบันทราบว่าได้ย้ายไปแดน 2 แล้ว
แดน 1 ในช่วงที่ผมต้องเข้าไปใช้ชีวิต 24 ชั่วโมง เพื่อรอการขอประกันตัวนั้น เป็นแดนที่รวมทั้ง นช. และผู้ต้องขัง (รอการประกันตัว) ประมาณ 200 กว่าคน ผมจำได้ว่าวันนั้นมีทั้ง นช.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี, นช.จตุพร พรหมพันธุ์, นช.ธานัท ธนวัชรนนท์ (ทอม ดันดี), นช.สมยศ พฤกษาเกษมสุข และคนดังๆ อีกมากมาย คงเอ่ยนามไม่หมด ต้องขออภัย
รู้สึกก้าวแรกที่เข้าไปสัมผัส เหมือนแดนพิศวง เหมือนอยู่คนละโลกกับสังคมภายนอกกำแพงสูง มีประตูเหล็ก และลูกกรงกั้นเป็นช่วงๆ มีการตรวจโรค โดยการถอดเสื้อผ้า หาร่องรอย บาดแผล หรือตำหนิ ตรวจฉี่ และจบลงที่ถ่ายภาพทำประวัติ
ก่อนจะนำตัวเข้านอนบริเวณห้องแรกรับ หมายเลข 13 เจ้าหน้าที่ให้ผู้ช่วยเหลือ (นช.เหมือนกันนั้นละ) พาพวกผู้มาใหม่ไปอาบน้ำ ซึ่งก็เป็นการอาบน้ำที่ตื่นเต้นไปอีกแบบ เพราะไม่ได้แก้ผ้าอาบรวมหมู่กับใครมานาน ตั้งแต่สมัยอนุบาล
นายปิยรัฐระบุว่า เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจส่วนตัว ผู้ช่วยเหลือได้อธิบายกฎกติกาการอยู่ร่วมกันภายในแดน ซึ่งจะมีกฎค่อนข้างเข้มงวด และมีผู้คุมกฎที่เข้มข้นแตกต่างกันไป ก่อนนอนจะมีหัวหน้าห้องมาสอบประวัติเบื้องต้นของผู้มาใหม่ และชวนพูดคุยสัพเพเหระ ผมโชคดีที่ถูกตีตราว่าเป็นผู้ต้องขังคดีการเมือง จึงไม่มีผู้ต้องขัง หรือ นช.คดีอื่นๆมายุ่งย่าม
ภายในห้องจะเปิดไฟสว่างทั้งคืน เป็นมาตรการความปลอดภัยภายในเรือนจำ คนที่ไม่ชินกับการนอนเปิดไฟอย่างผมก็เล่นเอานอนไม่หลับยันเช้า กระทั่งตี 5.30 น. จะมีเสียงสวดมนต์ตามสายผ่านทีวีภายในห้องขัง เป็นเหมือนนาฬิกาปลุก ให้ทุกคนต้องตื่น
นี่คือค่ำคืนที่ผมจะไม่มีวันลืม และจะจดจำ เพื่อวันหนึ่งจะได้ชำระแค้นอย่างสาสม หวังว่าค่ำคืนนี้ อานนท์ และไมค์ จะเข้มแข็ง ทั้งสภาพร่างกายและจิตใจ เพื่อรักษา ประคับประคองความมุ่งมั่นตั้งใจนี้ให้สมความปรารถนา
"พวกเราทุกคนจะต้องใช้อิสรภาพของทั้งสองให้ก่อเกิดประโยชน์สูงสุด 19 กันยา พบกัน มธ.ท่าพระจันทร์" แกนนำม็อบปลดแอกผู้นี้ระบุ
ส่วนนายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือจ่านิว โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่า "นี่ไม่ใช่การเข้าเรือนจำครั้งแรกของทนายอานนท์
แม่งให้เราเป็นทาส
ครั้งแรกที่เข้าไปช่วงกลางปี 2016 (2559) จากการฝากขังของศาลทหารในคดีเลือกตั้งที่ (รัก) ลัก และคดีนั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ ระหว่างนั่งรอเอกสารจากศาลทหารมาถึงเรือนจำ ลุ้นว่าจะได้ประกันรึไม่
ทนายบอกว่า คุกมันไม่น่ากลัวหรอก ค่ายทหารแม่งน่ากลัว คุกเราแค่ไปไหนมาไหนไม่ได้ เราต่อรองกับผู้คุม ผู้คุมมันละเมิดสิทธิเราไม่ได้มากนัก
แต่ค่ายทหาร แม่งให้เราเป็นทาส เรียกร้องอะไรก็ไม่ได้ ผมเคยเกณฑ์ทหาร ค่ายทหารแม่งยิ่งกว่าคุก อยู่ในคุกดีกว่า
แต่วันนี้เราออกจากคุกกันเถอะ ออกไปช่วยคนไม่ติดคุกเพราะเผด็จการ และออกไปช่วยประเทศให้พ้นจากการที่ทหารครองเมือง ที่เหมือนติดคุกกันทั้งประเทศดีกว่า
หลังจากการเคลื่อนไหวของพลเมืองโต้กลับ Resistant Citizen ได้ยุติไป ผมกับทนายอานนท์ก็ยังเคลื่อนไหวต่อต้านเผด็จการและการสืบทอดอำนาจกันไปในรูปแบบที่แตกต่างกันไปบ้าง แต่จุดหมายเราเดียวกัน
ในวันนี้การเข้าเรือนจำครั้งที่สองหรือมากกว่าสองของทนายอานนท์ และในวันนี้เป็นวันที่ทนายอานนท์ต้องเข้าไปเรือนจำแบบไม่ได้ออกมาภายในวันเดียวเหมือนรอบก่อน และต้องสูญเสียอิสรภาพแบบไม่รู้กำหนด แต่ที่รู้ๆ บนหนทางอันยาวของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย
"เราก็ต่างถูกกระทำจากเผด็จการต่างๆ นานา ก็ไม่เคยทำให้เราหวาดหวั่นที่จะยืนหยัดเพื่อประชาธิปไตยของประชาชนทุกคนไปด้วยกัน" นายสิรวิชญ์ระบุ
แต่นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย แสดงความคิดเห็นผ่านเฟซบุ๊กตอบโต้ว่า "เมื่อทำผิดเงื่อนไขการประกันตัว ศาลย่อมสั่งเพิกถอนประกัน ศาลที่ไหนในโลกก็เป็นเช่นนี้ ยกเว้นพวกกินหญ้า ที่ชอบอ้างว่าศาลไม่ยุติธรรม"
ดร.เสรี วงษ์มณฑา ผู้ร่วมก่อตั้งสถาบันทิศทางไทย นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนและการตลาด โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กว่า "เวลานี้ผู้หลักผู้ใหญ่ ผู้บริหารบ้านเมือง หน่วยงาน องค์กรต่างๆตลอดจนเจ้าหน้าที่ ต่างก็ต้องยอมจำนนกับข้อเรียกร้องของเด็กๆ เกือบจะทุกเรื่อง เพราะกลัวว่าจะไม่เป็นประชาธิปไตย หรือกลัวเด็กถล่ม กลัวเด็กถอนหงอก
เคยคิดกันบ้างไหมว่า เวลานี้ถอยกันจนหลังจะชนฝา ไม่มีที่จะยืนกันอยู่แล้ว ถึงเวลานั้น อาจจะต้องแก้ไขด้วยวิธีการที่รุนแรง ถึงเวลานั้นจะโดนวาทกรรมอะไรอีก พร้อมที่จะชี้แจงกันหรือเปล่า
เวลานี้เขาปลุกเด็กด้วยวาทกรรม "สู้ก็เป็นไท ถอยก็เป็นทาส" วาทกรรมแบบนี้กินใจ ทำให้เด็กๆ ฮึกเหิม และคิดว่าพวกเขากำลังออกมาล่าฝันให้ตนเองได้ปลดแอกที่ทำให้ไม่มีเสรีภาพ ที่หมายถึงการทำอะไรได้ตามใจตนโดยไม่ต้องคำนึงถึงกฎหมาย หรือกติกาใดๆ
เมื่อเจ้าหน้าที่ทำตามกฎหมาย จับคนที่ทำผิดก็เผชิญกับวาทกรรม "นิติสงคราม" ที่พวกเขาบอกว่าเป็นความล้มเหลวของกระบวนการยุติธรรม
"คิดกันให้ดีนะ จะถอยกันอีกนานแค่ไหน ถึงวันที่หลังชนฝา หมดพื้นที่ให้ถอยแล้วจะทำอย่างไรกัน พวกเขารุกเข้ามาเรื่อยๆ รอวันให้เกิดความรุนแรง เราจะรอให้ถึงวันนั้นหรือคะ ต้องพูดกันบ้างแล้วนะคะ อย่ามัวแต่เป็นพลังเงียบกันเลย" ดร.เสรีระบุ
แนวทางการอนุญาตจัดชุมนุม
ขณะที่ ม.ธรรมศาสตร์ โดยรองศาสตราจารย์เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดี ได้ออกประกาศเรื่อง แนวทางการอนุญาตจัดชุมนุมทางการเมืองของนักศึกษาในพื้นที่ของมหาวิทยาลัย โดยมีเนื้อหาดังนี้
เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ในเรื่องสิทธิ เสรีภาพ และความรับผิดชอบ ภายในขอบเขตของรัฐธรรมนูญและกฎหมาย และการเคารพความคิดเห็นที่แตกต่างตามระบอบประชาธิปไตย โดยควบคู่กับการดูแลสวัสดิภาพความปลอดภัยของนักศึกษา และหลีกเลี่ยงเหตุการณ์ที่อาจนำไปสู่ความรุนแรง ภายใต้สถานการณ์ของประเทศในปัจจุบัน รวมทั้งป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาที่จะนำไปสู่การถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัย (กบม.) วันที่ 1 กันยายน 2563 จึงเห็นควรกำหนดแนวทางของมหาวิทยาลัยในการอนุญาตจัดชุมนุมทางการเมืองของนักศึกษาในพื้นที่ของมหาวิทยาลัย ดังต่อไปนี้
1.หลักการพื้นฐานคือ มหาวิทยาลัยเป็นพื้นที่ให้นักศึกษาในการแสดงออก รวมถึงการชุมนุมทางการเมือง ทั้งนี้ ในขอบเขตของกฎหมายและรัฐธรรมนูญ
2.การจัดชุมนุมทางการเมืองในพื้นที่มหาวิทยาลัย ต้องเป็นการจัดโดยกลุ่มกิจกรรมที่สังกัดมหาวิทยาลัยหรือคณะ หากเป็นกลุ่มอิสระ หรือกลุ่มเฉพาะกิจ จะต้องมีอาจารย์ที่ปรึกษาให้การรับรอง ทั้งนี้ ในการใช้พื้นที่ต้องขออนุญาตและได้รับอนุญาตจากมหาวิทยาลัย
3.เพื่อเป็นแนวปฏิบัติในการจัดชุมนุมทางการมืองให้เป็นไปโดยเรียบร้อยและปลอดภัย ให้มีการตกลงร่วมกันระหว่างนักศึกษาผู้จัดชุมนุม เจ้าหน้าที่ตำรวจหรือเจ้าหน้าที่รัฐที่รับผิดชอบ และมหาวิทยาลัย ทั้งนี้ ควรจัดทำเป็นลายลักษณ์อักษร โดยมีข้อตกลงในเรื่องเนื้อหาและวิธีการแสดงออกให้อยู่ในขอบเขตของกฎหมาย และมีมาตรการที่เหมาะสมในการดำเนินการให้เป็นไปตามข้อตกลง อีกทั้งมีมาตรการในการดูแลสวัสดิภาพและความปลอดภัยของนักศึกษาด้วย ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ 3 กันยายน พ.ศ.2563
ด้าน นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม แกนนำกลุ่มไทยภักดี โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กเรื่อง สิ่งที่สื่อต่างชาติเข้าใจผิด มีเนื้อหาดังนี้ ผมคิดว่าแม้แต่สื่อต่างชาติยังเข้าใจผิด เพราะมีการใช้วาทกรรมบิดเบือนซ้ำๆ
1.เข้าใจว่า ม.112 มีไว้เพื่อกลั่นแกล้งทางการเมือง ผมตอบว่าไม่จริง กฎหมายมาตรานี้ก็ไม่ต่างจากกฎหมายอาญามาตรา 326 ของประชาชน ที่ใช้ปกป้องตนเอง กรณีมีคนมาหมิ่นประมาท ใส่ร้าย และทุกประเทศก็มีกฎหมายปกป้องประมุขแห่งรัฐ
2.สื่อเขาเข้าใจว่า ถ้าไม่พอใจใคร หรือนักการเมืองคนไหน ใช้ม.112 กล่าวหาได้เลย ผมหัวเราะและบอกว่านี่คือวาทกรรมบิดเบือน เพราะในรอบ 30 ปีมานี้ ไม่เคยมีใครหรือนักการเมืองคนไหนติดคุกเพราะ ม.112 ยกเว้นพวกไปกล่าวหาให้ร้าย เช่น นายปวิน ปกติแล้วรัฐบาลไม่สามารถใช้ ม.112 ไปกล่าวหาใครก็ได้ตามใจชอบ แสดงว่าเข้าใจกันผิด
3.เขาเข้าใจว่ารัฐบาลชุดนี้เป็นรัฐบาลทหาร เผด็จการ ผมบอกว่าเขาเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง มาจากการหย่อนบัตรพร้อมกับพวกที่กล่าวหา และนายธนาธรก็เคยแข่งนายกฯ แต่แพ้ ดังนั้น นายกฯ ท่านนี้เขามาจากการเลือกตั้ง เพียงแต่เขาเคยเป็นหัวหน้า คสช. และรัฐบาลยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่นก็รับรองไม่ใช่เหรอ ผมย้ำกับเขาว่านี่ก็เป็นวาทกรรมบิดเบือน ที่สำคัญถ้าเป็นรัฐบาลทหาร มีอำนาจจริง เขาซื้อเรือดำน้ำไปแล้ว วันนี้ทหารมีอิทธิพลสู้นักการเมืองไม่ได้ อำนาจอยู่ที่นักการเมือง
ทำลายสถาบันจักรพรรดิ
4.เขาเข้าใจว่าฝ่ายนักศึกษาและฝ่ายค้านเป็นฝ่ายประชาธิปไตย อีกฝ่ายเป็นฝ่ายเผด็จการ ผมบอกว่า เมืองไทยใช้วาทกรรมบิดเบือนเยอะมาก จะเอาคำพูดมาเป็นสาระไม่ได้ ต้องดูที่การกระทำ ยกตัวอย่าง ฝ่ายที่อ้างว่าเป็นประชาธิปไตย เอาแต่โกหก คุกคามใส่ร้ายคนอื่น ในอดีตพวกของฝ่ายนี้เคยเป็นรัฐบาล แต่ใช้อำนาจทางสภาเผด็จการมากกว่าทหาร จนประชาชนนับล้านออกมาขับไล่ ดังนั้นในเมืองไทยต้องดูที่การกระทำ
5.ทำไมสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่อยู่ใต้รัฐธรรมนูญเหมือนญี่ปุ่น ผมบอกว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ไม่เคยมีการบริหารราชการใดๆ ที่รัฐบาลบริหารไม่ได้ เพราะติดขัดที่สถาบัน แม้แต่กฎหมายทุกฉบับก็ผ่านหมด ไม่เคยมีปัญหา ในทุกรัฐบาล หากมีปัญหา สภาก็ยืนยันกฎหมายได้
ส่วนข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันก็ไม่สมเหตุผล ไม่เกี่ยวกับประโยชน์สุขของประชาชนใดๆ ทั้งสิ้น เป็นการเรียกร้องที่มีอคติส่วนตัว องค์พระมหากษัตริย์จะมีศักดิ์ศรีต่ำกว่าประชาชนทั่วไป ตามที่เขาเรียกร้องแทบจะถือว่าไร้ศักดิ์ศรีของความเป็นประชาชน เขามีเจตนาเพื่อให้เกิดความอ่อนแอและเสื่อมสลายไปในที่สุด
ผมชี้ต่อว่า เนื่องจากรัฐธรรมนูญญี่ปุ่นถูกร่างโดยอเมริกา ที่ต้องการทำลายสถาบันจักรพรรดิ ในช่วงญี่ปุ่นแพ้สงครามโลก แต่ทำลายไม่ได้ จึงให้ดำรงไว้และลดบทบาททุกอย่าง ถ้ารัฐธรรมนูญญี่ปุ่นร่างโดยคนญี่ปุ่น อาจจะวางบทบาทสถาบันไว้มากกว่านี้ก็ได้ ส่วนประเทศไทย รัฐธรรมนูญร่างโดยคนไทย จึงวางบทบาทสถาบันพระมหากษัตริย์ให้สมพระเกียรติ ในฐานะเป็นผู้สร้างชาติไทยมา
6.บทบาท ส.ว. ผมบอกว่า ส.ว.เลือกนายกฯ ได้ เป็นบทเฉพาะกาล 5 ปี ที่ผ่านมาจากประชามติที่ประชาชนอนุญาต ในช่วงเวลาจำกัด เหลือเวลาอีก 3 ปีกว่าก็จะหมดอายุ ซึ่งเขาเข้าใจว่า ส.ว.จะเลือกนายกฯ ได้ตลอด เป็นความเข้าใจผิด
ส.ว.ชุดใหม่ตามรัฐธรรมนูญก็จะมาจากการเลือกตั้งจังหวัดต่างๆ และกลุ่มอาชีพ มีความเป็นอิสระ ปราศจากการครอบงำจากพรรคการเมือง และมีโอกาสที่ความหลากหลายของอาชีพจะมีตัวแทนเป็น ส.ว. เช่น เกษตรกร ครู ทนายความ เป็นต้น ดังนั้นรัฐธรรมนูญนี้น่าจะได้ ส.ว.ที่มีคุณภาพมากกว่าอดีตทุกชุด
ขณะที่นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวว่า เห็นด้วยกับ 3 ข้อเรียกร้อง 2 จุดยืน และ 1 ความฝันของนักศึกษามาตลอด และเชื่อว่าแนวทางเช่นนี้จะได้รับการยอมรับจากประชาชนเต็มที่ จนทำให้การต่อสู้ง่ายขึ้น และคาดว่าการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นโดยฉับพลัน
"สถานการณ์ในขณะนี้ อาจไม่รุนแรงเหมือน 6 ตุลา เมื่อไม่มีป่าให้เข้า ไม่มีพรรคคอมมิวนิสต์ให้ร่วมอยู่ แต่โรคแทรกที่น่ากลัวที่สุดคือมหาอำนาจต่างๆ ซึ่งประมาทกันไม่ได้ เพราะเรามีทรัพยากรสมบูรณ์ กว่าหลายประเทศเสียอีก ดังนั้นต้องคิดให้ละเอียดและรอบคอบ อีกทั้งคนผ่านมา 2 เหตุการณ์ ตายร่วม 200 ชีวิตอย่างผมนั้น จะไม่คิดอะไรเลยไม่ได้ ส่วนเรื่องความขลาดกลัวไม่มี เพราะวันนี้การต่อสู้ต้องใช้สมอง" นายจตุพรกล่าว
สำนักเลขาธิการใหญ่ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ออกปฏิบัติการด่วน เชิญชวนสมาชิก นักกิจกรรม และผู้สนับสนุนกว่า 8 ล้านคนทั่วโลก ร่วมกันส่งจดหมายถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เรียกร้องทางการไทยยกเลิกข้อหาต่อผู้ชุมนุมทั้ง 31 คน ยุติการขัดขวางการเข้าร่วมชุมนุมของประชาชนหรือปิดปากเสียงวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและการแสดงความเห็นในประเด็นทางสังคม
รวมทั้งแก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิกกฎหมายที่มีเนื้อหากำกวมหรือคลุมเครือ เพื่อให้กฎหมายเหล่านี้มีเนื้อหาสอดคล้องกับพันธกิจของประเทศที่จะเคารพ คุ้มครอง และเติมเต็มสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ ซึ่งการรณรงค์นี้จะมีไปถึงวันที่ 21 ตุลาคม 2563
รัฐบาลปิดปากผู้วิจารณ์
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ระบุว่า ผู้ชุมนุมอย่างสงบ 31 คน ประกอบไปด้วย นายอานนท์ นำภา, นายบารมี ชัยรัตน์, นายชลธิศ โชติสวัสดิ์, นายเดชาธร บํารุงเมือง, นายจักรธร ดาวแย้ม, นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา, นางสาวจิรฐิตา ธรรมรักษ์, นางสาวจุฑาทิพย์ ศิริขันธ์, นายกานต์นิธิ ลิ้มเจริญ, นายกรกช แสงเย็นพันธ์, นายกฤษณะ ไก่แก้ว, นางสาวลัลนา สุริโย, นายณวรรษ เลี้ยงวัฒนา, นายณัฐพงษ์ ภูแก้ว, นายณัฐวุฒิ สมบูรณ์ทรัพย์, นางสาวเนตรนภา อํานาจส่งเสริม, นางสาวปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, นายภานุมาศ สิงห์พรม, นายภาณุพงศ์ จาดนอก, นายพริษฐ์ ชิวารักษ์, นางสาวพิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ, นายปรัชญา สุรกําจรโรจน์, นางสาวสิรินทร์ มุ่งเจริญ, นางสุวรรณา ตาลเหล็ก, นายทักษกร มุสิกรักษ์, นายทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี, นายธนชัย เอื้อชา, นายธนายุทธ ณ อยุธยา, นายธานี สะสม, นายทศพร สินสมบุญ และนายยามารุดดิน ทรงศิริ อาจได้รับโทษจำคุกสูงสุดเจ็ดปี เนื่องทางการไทยออกหมายจับแกนนำและนักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตยจำนวน 15 คน จากบทบาทในการจัดการชุมนุมที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 ส่วนผู้ชุมนุมอีก 16 คน ได้รับหมายเรียกและถูกแจ้งข้อหาจากเหตุการณ์เดียวกัน
“ทั้ง 31 คนถูกดำเนินคดีในข้อหาร้ายแรง รวมทั้งยุยงปลุกปั่น ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีเนื้อหากำกวมและจำกัดเสรีภาพ ที่รัฐบาลมักใช้เพื่อปิดปากผู้วิพากษ์วิจารณ์ หากศาลตัดสินว่ามีความผิด นักกิจกรรมแต่ละคนอาจได้รับโทษจำคุกสูงสุดเจ็ดปี การจับกุมผู้ชุมนุมอย่างสงบที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ แสดงให้เห็นถึงการปราบปรามเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยเจ้าหน้าที่ที่เข้มข้นขึ้น”
แอมเนสตี้ยังกังวลว่า ข้อหามีขอบเขตและเนื้อหากว้างขวางเช่นนี้ กำลังถูกใช้เพื่อปิดปากผู้วิจารณ์รัฐบาลของไทยซึ่งมีประวัติการจับกุมโดยมิชอบด้วยกฎหมายหรือมีแรงจูงใจทางการเมืองมาอย่างยาวนาน และเสียใจที่มีการปราบปรามการจัดกิจกรรมในพื้นที่สาธารณะ ซึ่งมีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น โดยตามกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ การเข้าร่วมและการจัดการชุมนุมโดยสงบ เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคน เช่นเดียวกับการมีสิทธิในเสรีภาพการแสดงความเห็นและการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล การใช้สิทธิเหล่านี้ไม่อาจถือเป็นความผิดทางอาญา และไม่ควรได้รับการปฏิบัติเช่นนั้น
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล จึงเชิญชวนสมาชิก นักกิจกรรม ผู้สนับสนุน ตลอดจนผู้ที่สนใจประเด็นสิทธิมนุษยชนทั่วโลก เขียนจดหมายเรียกร้องถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย เรียกร้องให้ยกเลิกข้อหาต่อผู้ชุมนุมทั้ง 31 คน และบุคคลอื่นๆ โดยทันที พวกเขาถูกดำเนินคดีเพียงเพราะใช้สิทธิ์ที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ และยุติความพยายามหรือการดำเนินงานใดๆ ที่มีเป้าหมายเพื่อขัดขวางการเข้าร่วมของสาธารณะในการชุมนุมโดยสงบ หรือการปิดปากเสียงวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและการแสดงความเห็นในประเด็นทางสังคม รวมทั้งแก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิกกฎหมายที่มีเนื้อหากำกวมหรือคลุมเครือ เพื่อให้กฎหมายเหล่านี้มีเนื้อหาสอดคล้องกับพันธกิจของประเทศที่จะเคารพ คุ้มครอง และเติมเต็มสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |