ผมเอารูปนี้มาแสดงวันนี้ก็เพื่อเตือนความทรงจำของคนไทยว่า มาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดโควิด-19 นั้นยังไม่มีการประเมินว่าไปถึงไหนอย่างไร
รัฐบาลควรจะต้องออกมารายงานความคืบหน้า (หรือไม่คืบหน้า) แต่ละรายการให้ประชาชนได้รับทราบ
ดูจากตัวเลขการเบิกจ่ายยังมีคำถามว่าในทางปฏิบัตินั้นได้ผลเพียงใด
คุณแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) บอก "ประชาชาติธุรกิจ" เมื่อสัปดาห์ก่อนว่า
ในส่วนเงินกู้โควิด 1 ล้านล้านบาท ล่าสุดกู้ไปแล้ว 3.13 แสนล้านบาท
เบิกจ่ายไปแล้ว 2.95 แสนล้านบาท
ในช่วงนี้จะทยอยกู้ไปตามโครงการที่ผ่านคณะรัฐมนตรี
การเบิกจ่ายล่าช้าทั้งๆ ที่มีความเร่งด่วนนั้นสะท้อนถึงการขาดประสิทธิภาพของผู้รับผิดชอบบริหารทั้งกระบวนการ
ในภาวะวิกฤติเช่นนี้หนีไม่พ้นว่า คนที่จะต้องลงมาสั่งการและติดตามคือนายกรัฐมนตรีเอง
เพราะนี่คือ crisis management ที่สำคัญ และใช้ตัดสินความสำเร็จหรือล้มเหลวของรัฐบาลทั้งชุด
แต่เรายังเห็นกระบวนการบริหารเป็นแบบ business as usual หรือยังทำเหมือนไม่มีอะไรผิดปกติ ว่ากันตามกฎกติกาและจังหวะเดิมๆ ของระบบราชการ
คุณแพตริเซียบอกว่า เรื่องการเบิกจ่ายที่ยังล่าช้านั้นได้หารือกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สคช.) ว่าจะต้องมีมาตรการเร่งรัด
ประเด็นคือสภาพัฒน์จะอยู่ในฐานะไป "เร่งรัด" หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องได้มากน้อยเพียงใด และท่านนายกฯ ได้รับทราบความล่าช้าหรือไม่อย่างไร
ในภาวะวิกฤติเช่นนี้ ประชาชนและธุรกิจมากมายที่รอความช่วยเหลือนั้นกำลังขาดออกซิเจน...หากช้าไปก็จะขาดลมหายใจและตายก่อนความช่วยเหลือมาถึง
ผู้อำนวยการ สบน.บอกว่าวงเงินกู้ในกรอบ 6 แสนล้านบาท (แผน 2) ที่ใช้จ่ายเยียวยาผลกระทบปัจจุบันยังเหลือวงเงินอยู่ 2.5 แสนล้านบาท ซึ่งยังเปิดวงเงินอยู่
หรือหากจะมีการปรับวัตถุประสงค์ก็ทำได้ แค่เปลี่ยนไปใช้กับแผน 1 หรือด้านสาธารณสุขเท่านั้น แต่จะไปใช้กับแผน 3 ที่เป็นการฟื้นฟูเศรษฐกิจไม่ได้
ส่วนวงเงินกู้ 4 แสนล้านบาทในแผน 3 ปัจจุบันมีโครงการที่ ครม.อนุมัติให้ใช้เงินกู้ไปแล้ววงเงิน 4.42 หมื่นล้านบาท
แต่เพิ่งเบิกจ่ายไปแค่โครงการด้านฟื้นฟูการท่องเที่ยว 250 ล้านบาทเท่านั้น
คุณแพตริเซียบอกด้วยว่าโครงการฟื้นฟูต่างๆ ตอนนี้ที่ผ่าน ครม.ไปแล้ว และมีแผนจะเบิกจ่ายในช่วงเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม (ผ่านมาแล้ว) ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องถูกบี้หมดแล้วเพื่อให้เงินลงไปให้ถึงท้องถิ่น ถ้าไม่ลงทุกคนก็กังวลเรื่องนี้ ก็มีการไล่แก้ปัญหาทุกจุดว่าติดอยู่ที่ส่วนไหน
นี่คือปัญหาที่รุนแรงมาก เพราะแสดงให้เห็นว่า "นโยบาย" กับ "ภาคปฏิบัติ" ไม่ได้ไปในทิศทางเดียวกัน
ทั้งๆ ที่นี่คือ "สงคราม" และการจะชนะสงครามได้ต้องทำงานแบบ "War Room" ซึ่งแปลว่าจะต้องมีความชัดเจนในคำสั่ง และเมื่อสั่งแล้วจะต้องปฏิบัติตามนั้นทันที
หลังจากลงมือปฏิบัติแล้วก็ต้องรายงานผลอย่างทันสถานการณ์ เพื่อจะได้ปรับแก้แผนหากมีปัญหาหรือแก้ไม่ตรงจุด
แต่ความเป็นจริงวันนี้คือ สั่งไปแล้วหน่วยที่ต้องเอานโยบายไปทำให้เกิดเป็นจริงกลับไม่ได้ลงมืออย่างจริงจังและรวดเร็วเท่าที่ควร
ต้องมีการ "ตามบี้"
ต้องมีการ "เร่งรัด"
ต้อง "ไล่แก้ปัญหาทุกจุด"
นั่นสะท้อนว่ากลไกรัฐล้มเหลวในภาวะวิกฤติโดยสิ้นเชิง การกระทำไม่สอดคล้องกับความเดือดร้อนของประชาชน
จึงป่วยการที่จะถามว่าจำเป็นต้องกู้เงินเพิ่มเกินกว่า 1 ล้านล้านบาทอย่างที่เอกชนบางส่วนได้เสนอหรือไม่
เพราะแค่ 1 ล้านล้านบาทเดิมยังใช้ไม่หมด และไม่รู้ว่าลงไปตรงจุดหรือไม่
ไม่ต้องพูดถึงว่ามีการประเมินผลแล้วเป็นอย่างไร
นี่คือวิกฤติของการบริหารทับซ้อนวิกฤติโควิดอย่างน่าอดสูยิ่ง.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |