วิชาโยนให้นายกฯ เปิดชื่อแก๊งล้มคดี วิษณุแจกงานปปท.


เพิ่มเพื่อน    

  "วิชา” โยน “บิ๊กตู่” เปิดชื่อตัวละครลับในห้องเปลี่ยนความเร็วรถ ยันต้องล่า “บอส” มาดำเนินคดีให้ได้ เตรียมกำหนดประเด็นปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมต่อ "วิษณุ" เผยเรียก "ป.ป.ท." แจกงานตามคดี ประสานหน่วยงานต้นสังกัด 8 กลุ่ม ส่วนคดีอาญามอบดีเอสไอดำเนินการ ชงกฤษฎีกาเขียนคู่มือข้อปฏิบัติการมอบอำนาจให้ชัดเจน กำหนดหลักเกณฑ์ตำรวจจะแย้งหรือไม่แย้ง

    เมื่อวันพฤหัสบดี นายวิชา มหาคุณ ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในความสนใจของประชาชน กล่าวภายหลังได้แถลงสรุปข้อเท็จจริงกรณีอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือ บอส ที่ขับรถชนตำรวจเสียชีวิตว่า เมื่อคณะกรรมการฯ ได้ส่งรายงานสรุปให้นายกรัฐมนตรีไปเรียบร้อยทั้งหมดแล้ว จากนี้ก็แล้วแต่นายกฯ ที่จะนำข้อสรุปทั้ง 8 ข้อเพื่อรับไปดำเนินการ ซึ่งนายกฯยืนยันหนักแน่นว่าจะรับไปทำอย่างแน่นอน คงต้องใช้เวลา โดยมีสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ที่กำกับดูแล โดยตกลงเป็นที่เรียบร้อยแล้วว่าจะให้ ป.ป.ท.เป็นคนติดตาม และส่งต่อ ซึ่งจะเป็นผู้จัดการและดำเนินการให้เป็นไปตามแนวทางที่คณะกรรมการฯ ได้มีข้อเสนอแนะเอาไว้
    "ภาระคณะกรรมการฯ คือการศึกษาและเสนอแนะเรื่องที่เกี่ยวกับการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้พ้นจากความเสื่อมหรือความไม่แน่นอนที่ผู้คนไม่เชื่อถือ จึงต้องอาศัยการถอดบทเรียนนี้ มาแก้ไขตัวบทกฎหมายในอนาคต กฎหมายใดที่ล้าสมัยหรือจะต้องมีข้อปรับปรุงเปลี่ยนแปลง ก็จะรีบนำเสนอภายใน 30 วัน"
    ผู้สื่อข่าวถามถึงการตั้งเรื่องส่งฟ้องใหม่จะเริ่มต้นอย่างไร นายวิชากล่าวว่า ต้องเริ่มจากตำรวจ เพราะเขาจะต้องเป็นผู้สอบสวนใหม่ แต่ ผบ.ตร.จะเป็นผู้สั่งเพียงคนเดียวไม่ได้ และคาดว่าจะเป็นภาระของ ผบ.ตร.คนใหม่ที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องต่อไป โดยตำรวจจะต้องปรึกษาหารือกับ ป.ป.ท. และนายวิษณุ ที่เป็นผู้กำกับดูแลศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ที่มีผู้เชี่ยวชาญอยู่ในนั้น และ ป.ป.ท.เป็นเลขานุการอยู่
    เมื่อถามว่า ในเอกสารที่คณะกรรมการฯ เผยแพร่กับสื่อมวลชนมีตัวละครที่ไม่ได้ระบุชื่อตัวย่อหรือตำแหน่งของตัวละครที่อยู่ในห้องที่มีการเปลี่ยนแปลงความเร็วรถนายวรยุทธ นายวิชากล่าวว่า ทางคณะกรรมการฯ ได้เอ่ยชื่อชัดเจน และเรื่องนี้อยู่ในมือนายกฯหมดแล้ว คณะกรรมการฯ ได้ระบุชื่ออยู่ในรายงานฉบับเต็มที่ส่งถึงนายกฯ เป็นสิทธิ์ของนายกฯ ดังนั้นขอให้สื่อไปถามจากนายกฯ ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องนี้ เพราะเชื่อว่านายกฯ จะต้องทำให้เกิดความแน่ใจก่อน แต่ในรายละเอียดทั้งหมดอยู่ในรายงานฉบับเต็มบริบูรณ์ ไม่มีขาดตกบกพร่อง
    เมื่อถามถึงกรณีที่นายอรรถพล ใหญ่สว่าง ประธานคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) ให้ข้อมูลว่าอัยการคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องในคดีนี้หลบหนีออกนอกประเทศไทยแล้ว นายวิชากล่าวว่า ตนไม่ทราบเหมือนกัน ซึ่งก็ต้องไปตรวจสอบ โดย ป.ป.ท.ก็จะนำประเด็นนี้ไปตรวจสอบต่อไป
    ส่วนที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าการเปิดเผยรายงานฉบับนี้ดูไม่ชัดเจนในรายละเอียด ทำให้มีความกังวลว่าจะมีแต่ทฤษฎีหรือไม่ นายวิชาตอบว่า “90% คิดว่าทำจริงก็พอแล้ว”
    เมื่อถามว่า ครบรอบ 8 ปีคดีนี้ และต้องเริ่มต้นใหม่ทั้งหมดบ่งบอกอะไรได้บ้าง นายวิชากล่าวว่า สิ่งที่ผิดพลาด ไม่ว่าระยะเวลายาวนานแค่ไหน ถึงแม้จะหมดอายุความไปแล้วทั้งหมด ตนก็ยืนยันว่าการทำให้กระจ่างชัด ทำให้คนรู้ว่าอะไรผิดอะไรถูก เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด เราจะต้องกล้าหาญเพียงพอที่จะยอมรับในสิ่งที่ผิดพลาด อะไรผิดก็คือผิด what is right, what is wrong มันคนจริยธรรมที่สูงสุดของมนุษย์ โดยเฉพาะคนที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรม คนที่อยู่ในระบบบริหารราชการแผ่นดินน่าจะเลี่ยงตรงนี้ได้
    ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า ไม่ว่าผู้ต้องหาอยู่ที่ไหน จะต้องตามตัวมาดำเนินคดีให้ได้ใช่หรือไม่ นายวิชากล่าวว่า “ก็ต้องอย่างนั้น และนายกรัฐมนตรีก็ยืนยันแล้ว เช่นเดียวกับตำรวจที่บอกว่าหากอัยการรับเรื่อง เขาก็จะดำเนินการต่อ เรื่องออกหมายจับกับอินเตอร์โพล”
    ส่วนกรอบการประชุมของคณะกรรมการฯ หลังจากนี้ นายวิชา กล่าวว่า วางกรอบไว้ว่าจะต้องดูทุกเรื่อง ไม่ว่าจะมีผู้เสนอหรือคณะกรรมการฯ เห็นสมควร ก็จะมากำหนดประเด็นว่าเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับองค์กรใด ไม่ว่าจะตำรวจ พนักงานสอบสวน เพราะพนักงานสอบสวนมีทั้งที่อยู่ในตำรวจ ฝ่ายปกครอง อัยการ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ดังนั้นต้องดูในภาพรวมทั้งหมด
     ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 2 ก.ย. ที่ผ่านมา ตนได้เชิญเลขาธิการสำนักงาน ป.ป.ท. และเลขานุการคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายคดีนายวรยุทธ อยู่วิทยา ชุดของนายวิชา มาพบเพื่อตกลงแบ่งงานกัน เนื่องจากคณะกรรมการฯ ชุดนายวิชามีเสนอข้อเสนอแนะเร่งด่วนมา 5 ข้อ ที่ประกอบด้วยการเร่งให้รื้อฟื้นคดีและดำเนินคดีที่ยังไม่ขาดอายุความ โดยเฉพาะคดีขับรถขณะเสพยาเสพติด ซึ่งยังไม่มีการตั้งข้อกล่าวหานี้มาก่อน โดยจะให้ ป.ป.ท.ทำเรื่องส่งไปยังตำรวจ ข้อเสนอที่ 2 การดำเนินการบุคคลที่เกี่ยวข้องกับความรับผิดทางอาญาและวินัย ซึ่งมี 8 กลุ่มที่จะแจ้งไป กลุ่มไหนเป็นตำรวจก็จะแจ้งไปยังสํานักงานตํารวจแห่งชาติ (สตช.) ดำเนินการ ส่วนอัยการก็จะแจ้ง ก.อ.
    นายวิษณุกล่าวอีกว่า ส่วนกลุ่มที่เป็นทนายความก็จะส่งให้สภาทนายความ กลุ่มไหนเป็นบุคคลธรรมดาให้ ป.ป.ท.มีอำนาจในการสอบ และเรื่องใดที่คิดว่ามีมูลก็จะส่งให้ ป.ป.ช.ดำเนินการสอบ และเรื่องใดเป็นคดีอาญาให้ดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษ ซึ่งคาดว่าวันที่ 3 ก.ย. ป.ป.ท.จะออกหนังสือประสานไปยังหน่วยงานเหล่านี้ สำหรับข้อ 3 เสนอแนะว่าบางครั้งไม่ใช่เรื่องความรับผิด แต่เป็นเรื่องความรับผิดชอบที่ไม่สามารถเอาเข้าคุกได้ เพราะไม่ใช่คดีอาญา ซึ่งเกี่ยวกันกับคนที่เป็นนักการเมืองที่เป็นกรรมาธิการ ซึ่งยังไม่รู้ใครเกี่ยวหรือไม่เกี่ยว โดยจะส่งเรื่องไปให้ประธานสภาฯ พิจารณาว่าเรื่องใดดำเนินการได้หรือไม่ได้
     ส่วนข้อเสนอที่ 4 เป็นเรื่องการมอบอำนาจ สังเกตจากคดีนายวรยุทธ ที่ระบุว่าเมื่อมอบอำนาจแล้วเป็นการมอบขาด แต่ความจริงไม่มีการมอบอำนาจขาด แต่ความหมายคือมอบให้ไปทำ แต่ผู้มอบอำนาจยังต้องกำกับดูแลและติดตาม หากผิดก็เรียกมาสั่งใหม่ได้ ไม่ใช่มอบแล้วตัดขาดหายไปเลย ดังนั้นเรื่องนี้จะมอบให้คณะกรรมการกฤษฎีกาเขียนเป็นคู่มือระบุให้ชัดถึงการมอบอำนาจว่าผู้มอบ หรือผู้รับมอบจะมีแนวทางปฏิบัติอย่างไร
    สุดท้ายข้อเสนอที่ 5 การปรับปรุงแก้ไขระเบียบบางอย่าง เช่น อัยการสูงสุดมอบให้รองอัยการสูงสุดคนหนึ่งเป็นผู้รับเรื่องร้องทุกข์ แต่ก็มอบรองอัยการสูงสุดอีกคนหนึ่งทำหน้าที่สั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องแทนอัยการสูงสุด เรื่องนี้ไม่ได้ว่าอะไร แต่คนสองคนนี้ไม่ควรเป็นคนเดียวกันเหมือนที่เกิดขึ้นในคดีนี้ที่เป็นคนเดียวกัน จึงไม่มีการคานอำนาจ ดังนั้นเรื่องนี้เป็นข้อเสนอที่ดีต้องแก้ รวมถึงการใช้ดุลยพินิจของอัยการ ซึ่งเป็นเรื่องของเขา ถือเป็นองค์กรอิสระ แต่ตำรวจที่จะแย้งหรือไม่แย้งต้องมีเหตุผลและหลักเกณฑ์ ซึ่งที่ผ่านมายังไม่มีหลักเกณฑ์นี้
    "ส่วนที่มีการเสนอให้คดีอาญาที่ผู้ต้องหาหลบหนีไม่มีการขาดอายุความนั้น ฟังดูเผินๆ เป็นเรื่องดี และเมื่อดีก็ได้แก้ในคดีทุจริตไม่ให้ขาดอายุความไปแล้ว ซึ่งคดีของนายวรยุทธก็ยังเห็นประโยชน์ แต่ถ้าต้องให้ใช้ในทุกคดีต้องมาคิดอีกที ถ้าให้คดีอาญาอื่นๆ ไม่มีอายุความเลยจะเห็นด้วยหรือไม่นั้น ต้องส่งให้คณะกรรมการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมไปศึกษาทั้งระบบต่อไป โดยจะให้ ป.ป.ท.ติดตามทั้งหมด หากมีรายละเอียดอะไรก็จะรายงานให้นายกฯ รับทราบ ส่วนอะไรที่ต้องแก้ระเบียบทันทีหรืออะไรต้องปฏิรูปก็ต้องดำเนินการ" นายวิษณุกล่าว.
    
   


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"