การประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ กรุงเทพฯ เน้นความเรียบง่ายและประหยัด
สภาองค์กรชุมชนตำบลจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551 เพื่อเป็นเวทีประชุมปรึกษาหารือการพัฒนาหรือแก้ไขปัญหาต่างๆ ในตำบล หรือนำข้อมูลไปเสนอแนะการแก้ไขปัญหาและแนวทางการพัฒนาต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง
โดยจะมีการจัดประชุมสภาองค์กรชุมชนตำบลระดับชาติอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ซึ่งในปี 2563 นี้จะมีการจัดประชุมในระดับชาติ ระหว่างวันที่ 9 -10 กันยายนนี้ ที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ถนนนวมินทร์ เขตบางกะปิ กรุงเทพฯ โดยมีผู้แทนสภาองค์กรชุมชนตำบลและหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประมาณ 450 คน
จัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลทั่วประเทศแล้ว 7,825 แห่ง
พระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2551 เหตุผลในการประกาศใช้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ มีเนื้อหาตอนหนึ่งว่า....
“ด้วยชุมชนเป็นสังคมฐานรากที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ มีวิถีชีวิตวัฒนธรรมแตกต่างและหลากหลายตามภูมินิเวศน์ แต่การพัฒนาประเทศที่ผ่านมาก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจและการเมืองอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ชุมชนอ่อนแอ ประสบปัญหาความยากจน เกิดปัญหาสังคมมากขึ้น ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมของชุมชนถูกทำลาย...จึงเห็นสมควรส่งเสริมและสนับสนุนให้ชุมชนและประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงจําเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้”
ในเดือนพฤษภาคม 2551 มีการประชุมสภาองค์กรชุมชนตำบลครั้งแรกของประเทศไทยที่ตำบลศรีสว่าง อ.โพนทราย จ.ร้อยเอ็ด หลังจากนั้นขบวนองค์กรชุมชนในตำบลต่างๆ ทั่วประเทศจึงได้จัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลขึ้นมา จากหลักสิบกลายเป็นร้อย จากร้อยเพิ่มเป็นพัน
จนถึงปัจจุบัน (กันยายน 2563) พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชนมีอายุย่างเข้า 12 ปี มีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลทั่วประเทศแล้วจำนวน 7,825 แห่ง มีกลุ่มองค์กรต่างๆ ที่ร่วมจัดตั้งสภาฯ กว่า 140,000 กลุ่ม โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ มีหน้าที่ในการส่งเสริมกิจการของสภาองค์กรชุมชนตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ (ดูรายละเอียด พ.ร.บ. และขั้นตอนการจัดตั้งสภาฯ ได้ที่ http://web.krisdika.go.th/data/law/law2/%CA77/%CA77-20-2551-a0001.pdf)
การประชุมสภาองค์กรชุมชนตำบลในพื้นที่ต่างๆ ส่วนใหญ่จะใช้ที่ประชุมของโรงเรียน อบต. ศาลาเอนกประสงค์ หรือใช้สถานที่ของวัดเป็นที่ประชุม
วิริยะ แต้มแก้ว หัวหน้าสำนักประสานเครือข่ายสภาองค์กรชุมชน สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ กล่าวว่า เจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชนตำบลฯ คือการส่งเสริมและสนับสนุนให้ชุมชนและประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ รวมทั้งส่งเสริมให้องค์กรชุมชนในตำบลเกิดความเข้มแข็ง สมาชิกองค์กรชุมชนและประชาชนทั่วไปในตำบลสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน โดยใช้สภาองค์กรชุมชนตำบลเป็นเวทีในการประชุมเพื่อปรึกษาหารือ หรือวางแผนพัฒนาและแก้ไขปัญหาในชุมชนท้องถิ่น
ทั้งนี้ตาม พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชนฯ (มาตรา 21) กำหนดให้สภาฯ มีภารกิจต่างๆ เช่น (1) ส่งเสริมและสนับสนุนให้สมาชิกองค์กรชุมชนอนุรักษ์หรือฟื้นฟูจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะหรือวัฒนธรรมอันดีของชุมชนและของชาติ
(2) ส่งเสริมและสนับสนุนให้สมาชิกองค์กรชุมชนร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานของรัฐในการจัดการ การบํารุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่จะเป็นประโยชน์ต่อชุมชนและประเทศชาติอย่างยั่งยืน
(3) เผยแพร่และให้ความรู้ความเข้าใจแก่สมาชิกองค์กรชุมชน รวมตลอดทั้งการร่วมมือกันในการคุ้มครองคุณภาพสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน
(4) เสนอแนะปัญหาและแนวทางแก้ไขและการพัฒนาต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อนําไปประกอบการพิจารณาในการจัดทําแผนพัฒนาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
(5) เสนอแนะปัญหาและแนวทางแก้ไขหรือความต้องการของประชาชนอันเกี่ยวกับการจัดทําบริการสาธารณะของหน่วยงานของรัฐหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
(7) จัดให้มีเวทีการปรึกษาหารือกันของประชาชนเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการให้ความคิดเห็นต่อการดําเนินโครงการหรือกิจกรรมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือหน่วยงานของรัฐหรือเอกชนที่มีผลหรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติ สุขภาพอนามัย คุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชน ทั้งนี้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือหน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นผู้ดําเนินการหรือเป็นผู้อนุญาตให้ภาคเอกชนดําเนินการต้องนําความเห็นดังกล่าวมาประกอบการพิจารณาด้วย ฯลฯ
วิริยะ กล่าวด้วยว่า สภาองค์กรชุมชนตำบลแต่ละแห่งจะต้องจัดประชุมอย่างน้อยปีละ 4 ครั้ง ต้องมีสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่ การลงมติของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก ถ้ามีคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมมีสิทธิออกเสียงชี้ขาด ที่ผ่านมาสภาฯ มีบทบาทในด้านต่างๆ เช่น
จังหวัดน่าน ประชาชนส่วนใหญ่มีปัญหาความไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน เนื่องจากชุมชนตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนฯ ป่าต้นน้ำ สภาองค์กรชุมชนตำบลในจังหวัดน่าน 34 ตำบล ได้ร่วมกับ อบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน จัดทำข้อมูลเรื่องปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย เพื่อนำไปสู่การวางแผนแก้ไขปัญหาร่วมกันทั้งจังหวัด โดยเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาต่อทางผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขณะนี้อยู่ในระหว่างดำเนินการแก้ไขปัญหา
จังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่ตำบลป่าร่อน อ.กาญจนดิษฐ์ ชาวบ้านใช้เวทีสภาองค์กรชุมชนเชื่อมโยงกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และทุกหน่วยงานในพื้นที่ นำปัญหาเรื่องปากท้องมาพูดคุยและวางแผนแก้ไขปัญหาร่วมกันทั้งตำบล เช่น การแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำด้วยการปลูกข้าวไร่ในสวนยาง ร่วมกันรับซื้อยางพาราเพื่อนำไปขาย ส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์ ฯลฯ
จังหวัดระยอง ที่ตำบลเนินฆ้อ อ.แกลง ใช้สภาองค์กรชุมชนตำบลเป็นเวทีกลางสร้างความร่วมมือกับทุกหน่วยงาน นำไปสู่การวางแผนพัฒนาทั้งตำบล โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน เช่น ส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ แปรรูปอาหาร ผลไม้ จัดตั้งตลาดในชุมชน และเป็นแหล่งเรียนรู้ ‘มหาวิทยาลัยบ้านนอก’ รองรับนักท่องเที่ยวและผู้ที่มาศึกษาดูงานตลอดทั้งปี ประมาณปีละ 1 แสนคน ทำรายได้เข้าชุมชนประมาณปีละ 20 ล้านบาท
จังหวัดมุกดาหาร สระแก้ว ตาก ฯลฯ ซึ่งรัฐบาลได้ประกาศเป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ สภาองค์กรชุมชนฯ ในแต่ละจังหวัดได้ร่วมกับเครือข่ายประชาชนในพื้นที่ศึกษาข้อมูลและผลกระทบจากการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ เช่น ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมจากโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ ปัญหาการแย่งชิงทรัพยากร แหล่งน้ำ ป่าไม้ ที่ดิน แรงงาน ฯลฯ เพื่อนำข้อมูลต่างๆ มาวางแผน นำไปสู่การแก้ไขปัญหาร่วมกัน ฯลฯ
“จะเห็นได้ว่า สภาองค์กรชุมชนตำบลเป็นเวทีหรือเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชนท้องถิ่นด้วยตัวเอง โดยยึดหลักการประชาธิปไตยจากฐานรากที่แท้จริง เพราะสมาชิกจะมาจากตัวแทนของแต่ละกลุ่มในตำบลที่ร่วมกันจัดตั้งสภาฯ และใช้เสียงข้างมากป็นมติของที่ประชุม นำไปสู่การแก้ไขปัญหา หรือเชื่อมโยงหน่วยงานต่างๆ มาพัฒนาชุมชนร่วมกันได้” วิริยะยกตัวอย่างบทบาทของสภาองค์กรชุมชนตำบล
ชาวบ้านตำบลรับร่อ อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร ใช้เวทีสภาองค์กรชุมชนตำบลประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินป่าสงวนฯ ทับที่ทำกินชาวบ้านเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
ชูชาติ ผิวสว่าง ประธานที่ประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบล กล่าวว่า นอกจากภารกิจของสภาองค์กรชุมชนตำบลดังกล่าวแล้ว พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551 มาตรา 32 ระบุว่า “ให้ที่ประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลดำเนินการเรื่องต่างๆ ดังต่อไปนี้
(3) สรุปปัญหาที่ประชาชนในจังหวัดต่างๆ ประสบ และข้อเสนอแนะแนวทางการแก้ไขเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาสั่งการ”
“ในการประชุมสภาองค์กรชุมชนระดับชาติในปีนี้ จะมีการรวบรวมข้อเสนอแนะแนวทางการแก้ไขเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาสั่งการ เช่น การแก้ไขปัญหาฝุ่นควันและไฟป่าภาคเหนือ แผนยุทธศาสตร์การสร้างความมั่นคงทางอาหารของคนอีสาน การส่งเสริมและอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์-พื้นที่วัฒนธรรมพิเศษกะเหรี่ยงและชาวเล การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ข้อเสนอทบทวนโครงการจะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมจังหวัดสงขลา การแก้ไขปัญหาชุมชนในที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นต้น” ชูชาติยกตัวอย่าง
(ผู้ที่สนใจสามารถติดตามข่าวสารและชมการถ่ายทอดสดได้ทาง face book สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน และเว็บไซต์ www.codi.or.th ระหว่างวันที่ 9-10 กันยายนนี้)
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |