3 ก.ย.63 - นายปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำคณะก้าวหน้า อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ที่ถูกเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งเป็นเวลา 10 ปีในคดียุบพรรคอนาคตใหม่ ได้วิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม ของส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล ที่ยื่นต่อประธานรัฐสภาเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา
นายปิยบุตร โพสต์บนเฟซบุ๊กส่วนตัว เรื่อง "รูปแบบ สสร. ของรัฐบาล คือ การกินรวบทั้งกระดาน" โดยมีเนื้อหาดังนี้ ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของพรรคร่วมรัฐบาลที่กำลังเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาในวันที่ 23 และ 24 กันยายนนี้ ได้กำหนดให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ ประกอบไปด้วยสมาชิก 200 คน มีที่มา ดังนี้
- 150 คน มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน
- 20 คน มาจากการเลือกโดยรัฐสภา
- 20 คน มาจากการเลือกโดยที่ประชุมอธิการบดี โดยแบ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญกฎหมายมหาชนหรือรัฐศาสตร์ 10 คน และผู้มีประสบการณ์การเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน หรือการร่างรัฐธรรมนูญ 10 คน
- 10 คน มาจากนักเรียน นิสิต นักศึกษา
ดูผิวเผิน ก็เหมือนจะดี ครอบคลุมทุกฝ่าย มี สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงมากกว่าถึง 3/4 ในส่วนอีก 50 คนที่มาจากการคัดสรร ก็มีทั้งเลือกโดยอ้อมผ่านรัฐสภา มีทั้งผู้เชี่ยวชาญ และมีทั้งนักเรียน นิสิต นักศึกษา
อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาลงไปในรายละเอียดถึงวิธีการเลือกตั้งและวิธีการคัดสรรแล้ว พบว่ามีโอกาสสูงมากที่พรรคร่วมรัฐบาลจะยึดกุมกระบวนการได้มาซึ่งสภาร่างรัฐธรรมนูญ
ในส่วนของ สสร. 150 คนที่มาจากการเลือกตั้งนั้น หากนำจำนวนประชากรสิ้นปี 2562 (66,558,935 คน) มาหารกับจำนวน สสร. ที่ต้องมาจากการเลือกตั้ง 150 คน ก็เท่ากับจำนวนประชากร 443,726 คนต่อ สสร. 1 คน การแบ่งสรรจำนวน สสร. ในแต่ละจังหวัดโดยประมาณการจะเป็น ดังนี้
- จังหวัดที่มี สสร. 13 คน รวม 1 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ
- จังหวัดที่มี สสร. 6 คน รวม 1 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา
- จังหวัดที่มี สสร. 4 คน รวม 4 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น, เชียงใหม่, บุรีรัมย์, อุบลราชธานี
- จังหวัดที่มี สสร. 3 คน รวม 12 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี, เชียงราย, นครศรีธรรมราช, นนทบุรี, ปทุมธานี, ร้อยเอ็ด, ศรีสะเกษ, สกลนคร, สงขลา, สมุทรปราการ, สุรินทร์, อุดรธานี
- จังหวัดที่มี สสร. 2 คน รวม 20 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี, กาฬสินธุ์, กำแพงเพชร, ฉะเชิงเทรา, ชัยภูมิ, นครปฐม, นครพนม, นครสวรรค์, นราธิวาส, ปัตตานี, อยุธยา, พิษณุโลก, เพชรบูรณ์, มหาสารคาม, ระยอง, ราชบุรี, ลพบุรี, ลำปาง, สุพรรณบุรี, สุราษฎร์ธานี
- จังหวัดที่มี สสร. 1 คน รวม 39 จังหวัด ได้แก่ กระบี่, จันทบุรี, ชัยนาท, ชุมพร, ตรัง, ตราด, ตาก, นครนายก, น่าน, บึงกาฬ, ประจวบคีรีขันธ์, ปราจีนบุรี, พะเยา, พังงา, พัทลุง, พิจิตร, เพชรบุรี, แพร่, ภูเก็ต, มุกดาหาร, แม่ฮ่องสอน, ยโสธร, ยะลา, ระนอง, ลำพูน, เลย, สตูล, สมุทรสงคราม, สมุทรสาคร, สระแก้ว, สระบุรี, สิงห์บุรี, สุโขทัย, หนองคาย, หนองบัวลำภู, อ่างทอง, อำนาจเจริญ, อุตรดิตถ์, อุทัยธานี
หากมีการเลือกตั้ง สสร. ในกลางปี 2564 จำนวน สสร. ในแต่ละจังหวัด ก็คงไม่หนีไปจากนี้มากนัก
ตามมาตรา 256/5 วรรคท้าย กำหนดให้ใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง และมาตรา 256/6 วรรค 5 กำหนดให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนเลือกผู้สมัครได้ 1 คน จึงเป็นไปได้ว่า ในจังหวัดที่มี สสร. มากกว่า 1 คนนั้น (มี 38 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ ปริมณฑล หลายจังหวัดในภาคเหนือและภาคอีสาน) ลำดับและคะแนนที่ผู้สมัครแต่ละคนจะได้รับจะคล้ายคลึงกับผลการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2543 กล่าวคือ ผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นอันดับหนึ่งในจังหวัดนั้นจะได้คะแนนมากทิ้งขาดผู้ที่ได้รับเลือกตั้งในลำดับที่สองจนถึงลำดับสุดท้ายที่ได้รับเลือกตั้ง
แม้การเลือกตั้ง สสร. จะกำหนดห้ามมิให้พรรคการเมืองมาข้องเกี่ยว แต่ขึ้นชื่อว่าการเลือกตั้งแล้ว เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่าการสนับสนุนผ่านฐานคะแนนของแต่ละพรรคก็ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญ เมื่อระบบการเลือกตั้ง สสร. เป็นเช่นนี้ ย่อมส่งผลให้พรรคการเมืองที่มีคะแนนนิยมทั่วทั้งจังหวัดหรือทั่วทั้งภาคไม่อาจยึดกุมการเลือกตั้ง สสร. ได้ทั้งจังหวัดหรือทั้งภาค
แม้พรรคเพื่อไทยมีคะแนนนิยมในภาคเหนือและภาคอีสาน แต่พรรคพลังประชารัฐ พรรคภูมิใจไทย หรือพรรคอื่นๆ ซึ่งได้คะแนนนิยมรองลงมา อาจเข้าช่วงชิงได้ โดยผู้สมัครที่พรรคเพื่อไทย “เอาใจช่วย” อาจคว้าที่หนึ่งได้ในหลายจังหวัดในภาคเหนือและภาคอีสาน แต่ลำดับรองลงไป ก็จะตกเป็นของผู้สมัครที่พรรคพลังประชารัฐหรือพรรคภูมิใจไทย “เอาใจช่วย” อยู่
เช่นเดียวกัน แม้พรรคประชาธิปัตย์มีคะแนนนิยมในภาคใต้ แต่พรรคพลังประชารัฐ และพรรคภูมิใจไทย ซึ่งได้คะแนนนิยมรองลงมา ก็มีโอกาสเข้าช่วงชิงได้ ผู้สมัครที่พรรคประชาธิปัตย์ “เอาใจช่วย” อาจได้ที่หนึ่งในหลายจังหวัดในภาคใต้ แต่ลำดับรองลงไป ก็จะตกเป็นของผู้สมัครที่พรรคพลังประชารัฐหรือพรรคภูมิใจไทย “เอาใจช่วย” อยู่
ในขณะที่จังหวัดที่มี สสร. ได้ 1 คน มี 39 จังหวัด ส่วนใหญ่แล้ว พรรคฝ่ายรัฐบาลมีคะแนนนิยมยึดกุมไว้อยู่ จึงเป็นไปได้ว่า ผู้สมัครที่พรรครัฐบาล “เอาใจช่วย” จะชนะเลือกตั้งได้เป็น สสร.
ด้วยระบบเช่นนี้ หากพรรครัฐบาลวางแผนแบ่งสรรพื้นที่กันอย่างเป็นระบบ ก็เป็นไปได้ว่า ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็น สสร. ที่พรรครัฐบาล “เอาใจช่วย” จะได้รับเลือกตั้งเข้ามาเกือบ 100 คน
ในส่วนของ สสร. 20 คน ที่มาจากการเลือกโดยรัฐสภานั้น มาตรา 256/7 กำหนดให้ “รัฐสภาดำเนินการคัดเลือกโดยให้มีจำนวนตามหรือใกล้เคียงกับอัตราส่วนของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา”
เมื่อคำนวณตามสัดส่วนแล้ว สสร. 20 คน จะมาจากการคัดเลือกโดย
- ส.ส. เลือก สสร. 13 คน
- ส.ว. เลือก สสร. 7 คน
ในส่วนที่ ส.ส. คัดเลือก เมื่อแบ่งตามสัดส่วนที่นั่ง ส.ส. ที่แต่ละพรรคการเมืองมีอยู่ ก็จะได้ดังนี้
- พรรคร่วมรัฐบาลเลือก สสร. 7 คน ได้แก่ พรรคพลังประชารัฐ 3 พรรคภูมิใจไทย 2 พรรคประชาธิปัตย์ 1 พรรคอื่นๆ 1
- พรรคร่วมฝ่ายค้านเลือก สสร. 6 คน ได้แก่ พรรคเพื่อไทย 4 พรรคก้าวไกล 1 พรรคอื่นๆ 1
เท่ากับว่า พรรคร่วมรัฐบาล + (พรรค) วุฒิสภา จะได้เลือก สสร. 14 คน !!!
ในส่วนของ สสร. 20 คน ที่ที่ประชุมอธิการบดีเลือกมานั้น ดังที่ทราบกันดีว่า โครงสร้างของผู้บริหารมหาวิทยาลัยของประเทศไทยเป็นเช่นไร โอกาสที่นักวิชาการกฎหมายมหาชน รัฐศาสตร์ของฝ่ายประชาธิปไตย ที่ต่อต้านระบอบ คสช. มาโดยตลอด จะได้รับการคัดเลือกให้เป็น สสร. คงมีน้อยเต็มที หรือ ถ้าหลุดรอดเข้าไปได้ ก็คงมีจำนวนน้อยนิดกลายเป็น “เครื่องประดับ” ให้พวกเขาเอาไปอ้างเอาความชอบธรรม ตรงกันข้าม สสร. 20 คนในส่วนนี้ เราจะได้ “นักยกร่างรัฐธรรมนูญของปี 2550 และ 2560” และผู้เชี่ยวชาญในแวดวง “อุตสาหกรรมการปฏิรูป” เข้ามาร่างรัฐธรรมนูญใหม่อีกรอบหนึ่ง
ในส่วน สสร. 10 คน ที่เป็นนักเรียน นิสิต นักศึกษา ปรากฏว่า ในมาตรา 256/8 วรรคสอง กำหนดให้ “คณะกรรมการการเลือกตั้งคัดเลือกนักเรียน นิสิต นักศึกษา” นั่นหมายความว่า ต่อให้มีนักเรียน นิสิต นักศึกษา ที่เข้าร่วมการชุมนุมในเวลานี้ สนใจสมัครเป็น สสร. มากเท่าไรก็ตาม ในท้ายที่สุด กกต. จะเป็นผู้มีอำนาจเด็ดขาดในการออกใบอนุญาตให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา คนใดได้เป็น สสร.
ด้วยโครงสร้างและที่มาของ สสร. แบบนี้ มีโอกาสสูงมากที่รัฐบาลจะยึดกุมชี้นำ สสร. ได้เกินครึ่ง หรืออาจถึง 120-130 คน
สสร. เหล่านี้ก็จะไปเลือกคนมาเป็นคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ
เมื่อคณะกรรมาธิการยกร่างเสร็จ ก็เอากลับมาให้ สสร. ให้ความเห็นชอบ
เมื่อผ่าน สสร. ก็เอามาให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบ
รัฐสภาที่มี พรรครัฐบาล 277 + (พรรค) วุฒิสภา 250 = 527 ให้ผ่าน รัฐธรรมนูญนี้ก็ประกาศใช้ โดยไม่มีการลงประชามติ
นี่คือกระบวนการ “ผลัดกันเขียน เวียนกันอ่าน วานกันชม สุขสมกันเอง” ที่แนบเนียนขึ้นกว่าตอนทำรัฐธรรมนูญ 2560
...
รัฐธรรมนูญ 2560 คือ เครื่องมือในการสืบทอดอำนาจของระบอบ คสช. โดยมี (พรรค)วุฒิสภา 250 คน และพรรคพลังประชารัฐที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี และมีหัวหน้าพรรค ชื่อ พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ เป็นกลไกสำคัญ เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือ กล่องดวงใจของพวกเขา จึงเป็นธรรมดาอยู่เองที่รัฐบาลจะไม่มีเจตจำนงอยากแก้ไขรัฐธรรมนูญตั้งแต่แรก
เมื่อมีกระแสการแก้ไขรัฐธรรมนูญในปีที่แล้ว พรรคฝ่ายค้านทดลองเสนอญัตติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ รัฐบาลก็ไม่สนใจ แต่เมื่อเห็นกระแสสังคมประกอบกับต้องการเข้ามายึดกุมทิศทางการทำงานของคณะกรรมาธิการชุดนี้ พวกเขาจึงตัดสินใจนาทีสุดท้าย ไฟเขียวให้ตั้งคณะกรรมาธิการได้ พร้อมทั้งส่งคนของตนเข้ามาในสัดส่วนพรรครัฐบาลและคณะรัฐมนตรี
เมื่อเข้าสู่ปี 2563 มีการชุมนุมกดดันเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ รัฐบาลก็นิ่งเฉย ไม่คิดจะแก้ไข จนกระทั่งการชุมนุมลุกลามบานปลายไปทั่วประเทศ รัฐบาลก็เกาะ “รถไฟเที่ยวสุดท้าย” ผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่นั่นก็คือ การแก้แบบเสียมิได้ และเมื่อแก้แล้ว ตนเองก็ต้องได้ประโยชน์
ยุทธวิธี “แก้รัฐธรรมนูญให้มี สสร.” ครั้งนี้ รัฐบาลกินรวบ กินทั้งกระดาน กินหมดโต๊ะ 4 เด้ง
หนึ่ง รัฐบาลอ้างได้ว่าตนทำตามข้อเรียกร้องของการชุมนุมแล้ว ลดทอนอารมณ์และความชอบธรรมของการชุมนุม พวกเขาจะบอกว่า “ก็นี่ไง แก้รัฐธรรมนูญแล้ว มี สสร. แล้ว มาทำรัฐธรรมนูญใหม่แล้วไง กลับบ้านไปได้แล้ว เลิกชุมนุมได้แล้ว”
สอง ตามปฏิทิน Timeline ที่วางไว้ กว่าจะได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็กลางปี 2565 กว่าจะมีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญครบถ้วน ก็พอดี รัฐบาลลากยาว อยู่ครบ 4 ปี
สาม โครงสร้างและที่มาของ สสร. เปิดโอกาสให้รัฐบาลเข้ายึดกุมการทำรัฐธรรมนูญใหม่
สี่ ระหว่างการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่นั้น ในระหว่างทาง รัฐบาลสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราได้ตามใจนึก เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ได้เปลี่ยนวิธีการแก้รัฐธรรมนูญ 2560 ให้ง่ายขึ้น โดยใช้เสียง 3 ใน 5 ของรัฐสภา (444 เสียงขึ้นไป) ไม่ต้องอาศัยเสียงฝ่ายค้านร้อยละ 20 ต่อไปหากรัฐบาลต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 บางประเด็น บางมาตรา เพื่อให้ตนเองได้ประโยชน์ ก็ทำได้สะดวกโยธิน ด้วยเสียงของพรรคร่วมรัฐบาล 277 + (พรรค) วุฒิสภา 250 รวมเป็น 527
ทั้งหมด คือ การกินรวบ ไม่สนองตอบต่อข้อเรียกร้องของการชุมนุมอย่างแท้จริง และไม่สามารถยุติการสืบทอดอำนาจของระบอบ คสช. ได้
พวกเขาเอากระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้มี สสร. ครั้งนี้มาชุบตัว พร้อมทั้งยังสามารถกำหนดหน้าตาของ สสร. ได้ และกำหนดหน้าตาของรัฐธรรมนูญใหม่ได้
เมื่อวันที่รัฐธรรมนูญใหม่ประกาศใช้มาถึง พวกเขาก็อ้างความชอบธรรมได้อย่างเต็มเปี่ยม
นี่คือ การฝังระบอบ คสช. เข้าไปในรัฐธรรมนูญอีกครั้งหนึ่ง ชอบธรรมกว่าเดิม แนบเนียนกว่าเดิม ดูดีกว่าเดิม
นี่คือ ผลพวงของรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557
ดังนั้น นอกจากต้องต่อสู้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างและที่มาของ สสร. แล้ว เรายังต้องชุมนุมเรียกร้อง กดดัน ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ในรายมาตรา ในประเด็นยกเลิก ส.ว. สืบทอดอำนาจ 250 คน, ยกเลิก 279, ยกเลิกแผนยุทธศาสตร์ชาติ แผนปฏิรูปประเทศ, แก้ไขที่มาขององค์กรอิสระ, แก้ไขที่มาของศาลรัฐธรรมนูญ
การนิ่งนอนใจ การเฝ้ารอให้มี สสร. การเฝ้ารอให้มีรัฐธรรมนูญใหม่ นั่นคือ การเฝ้ารอความตาย
เมื่อเผด็จการทหารยึดอำนาจ ครองอำนาจ สืบทอดอำนาจแล้ว ไม่มีวันที่พวกเขาจะคืนอำนาจได้โดยง่าย
มีแต่การต่อสู้ของประชาชนเท่านั้น จึงจะได้ชัยมา !!!
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |